โคตานิ เป็นโฮมเลส
โฮมเลสผู้ไร้ที่อยู่เป็นหลักแหล่ง…
ที่หน้าตาสดใส และตัวพลุ้ยกว่าโฮมเลสคนอื่นๆ มาก
ตั้งแต่เปลี่ยนมาเลือกอาชีพนี้ โคตานิ น้ำหนักขึ้น 20 กว่ากิโลกรัมแล้ว
เดิมที โคตานิมุ่งมั่นเป็นนักแสดงตลกอยู่ที่โอซาก้ากว่าสิบปี แต่ยังไปไม่ค่อยดีเท่าไร เขาเลยตัดสินใจมาแสวงโชคที่โตเกียวแทน
โคตานิ มาขอรุ่นพี่ตลกชื่อดังอาศัยอยู่ด้วย แต่ดันค้างค่าเช่าบ้านรุ่นพี่ติดกันสองเดือน รุ่นพี่เลยไล่แกมหยอกให้โคตานิลองไปเป็นโฮมเลสดู คนซื่อๆ อย่างโคตานิก็ลองลงมือทำ
โฮมเลสทั่วไปมักทำงานใช้แรงงาน หรือนั่งหน้าสถานีรถไฟ คอยแบมือหาเงิน แต่โฮมเลสโคตานิเลือกใช้วิธีที่แตกต่าง เขาตั้งมูลค่าตนเองไว้ที่ ‘วันละ 50 เยน’ (ประมาณ 20 กว่าบาท)
ใครๆ สามารถขอให้โคตานิช่วยทำอะไรก็ได้ โดยจ่ายเพียงแค่วันละ 50 เยนเท่านั้น (รวมค่าเดินทาง)
มีคนเรียกโคตานิให้ไปช่วยตัดหญ้าในสนามบ้าง ช่วยย้ายบ้านบ้าง ช่วยทาสีบ้าน เล่นซ่อนแอบ ไปคุยกับคนซึมเศร้า หรือเป็นนายแบบนู้ดสำหรับวาดภาพ โคตานิก็รับปากทำหมด และทำด้วยความขยันขันแข็ง
หากต้องจ้างคนทำงานจริงๆ ผู้ว่าจ้างคงต้องจ่ายเงินหลายพันหรือเป็นหมื่นเยนแน่ๆ แต่โคตานิคิดค่าแรงเพียง 50 เยนเท่านั้น เสมือนเขาช่วยเหลือผู้จ้าง ‘ฟรีๆ’ เลย (ลองนึกภาพเราจ้างโคตานิให้ไปช่วยเข้าแถวต่อคิวซื้อตั๋วคอนเสิร์ตตั้งแต่ตี 4 โคตานิก็จะเก็บเงินแค่ 20 กว่าบาท)
ผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่จึงพาเขาไปเลี้ยงข้าว และด้วยความที่โคตานิเป็นคนสนุกสนาน ผู้ว่าจ้างหลายคนก็พาเขาไปดื่มต่อด้วย เมื่อถึงเวลาค่ำ ผู้ว่าจ้างเริ่มสนิทกับโคตานิแล้ว ก็อาจให้เขาค้างคืนที่บ้าน
หากเป็นระบบทุนนิยมแบบปกติ ผู้ว่าจ้างก็แค่ให้เงินค่าจ้าง ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็จบลง และคงไม่ดูแลลูกจ้างดีขนาดนี้ แต่เพราะโคตานิแทบจะทำงานให้ฟรี ทุกคนจึงพูดขอบคุณแล้วขอบคุณอีก แถมซาบซึ้งด้วย
เนื่องจากโคตานิเป็นโฮมเลส เขาไม่ได้ทำงานหาเงิน แต่ใช้วิธีระดมทุนขอความช่วยเหลือจากคนอื่นแทน ที่น่าแปลก คือจนบัดนี้ โคตานิระดมทุนผ่านทางเว็บไซต์สิบกว่าครั้ง
ไม่ว่าจะเป็น ‘ระดมทุนเพื่อแต่งงาน’ ที่เขาสามารถหาเงินได้ 5 แสนบาท (แถมยังสามารถบริจาคเงินเกือบ 3 แสนบาทให้ผู้ประสบภัยในฟิลิปปินส์ เนื่องจากเหลือเงินจากงานแต่ง)
โคตานิจะออกหนังสือ เขาก็ ‘ระดมทุนเพื่อพิมพ์หนังสือโคตานิ’ โดยตั้งงบไว้ 1.5 แสนบาท ภายในสองอาทิตย์มีคนบริจาคเข้ามา 2 แสนกว่าบาท เกินเป้าที่ตั้งไว้ได้มาก โฮมเลสอย่างโคตานิก็เลยมีทุนถ่ายรูป และพิมพ์หนังสือตามที่ใจฝัน
นอกจากนี้ โคตานิยังระดมทุน ‘ค่ารถไฟไปหาเมีย’ ‘ค่าจัดงานคอนเสิร์ตอัจฉริยะการดนตรี’ ฯลฯ และทุกครั้ง ก็สามารถระดมทุนได้ตามเป้าเสมอ
โคตานิ เป็นคนดังหรือเปล่า? หากใครดู Account Twitter ของโคตานิ จะเห็นว่ามีคนฟอลโลว์แค่เก้าพันกว่าคนเท่านั้น
หากเทียบกับดาราตลกชื่อดังอีกคน… ‘ทามุระ อัตสึชิ’ พิธีกรชื่อดังแห่งรายการ London Hearts ทามุระ มีผู้ติดตามในทวิตเตอร์ถึง 2.5 ล้านคน ต่างกับโคตานิเกือบสามร้อยเท่า
เขาต้องการสร้างบริการอัดคลิปวิดีโอสำหรับคนที่อยากฝากข้อความไว้ ให้คนที่เรารักในวันที่เราไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว ทามุระพยายามระดมทุน 3 ล้านบาท บนเว็บเดียวกันกับโคตานิ แต่ผ่านไปเดือนกว่าแล้ว เขายังรวบรวมเงินได้เพียง 6 แสนบาทเท่านั้น เรียกได้ว่ายังห่างไกลจากเป้าหมายอีกเยอะ
ทามุระมีแฟนคลับมากกว่าโคตานิ หน้าตาก็ดีกว่า โปรเจกต์ที่ระดมทุน ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้บริจาคมากกว่าโปรเจกต์เรื่องส่วนตัวอย่างการจัดงานแต่งแบบโคตานิ
ทำไมโคตานิถึงประสบความสำเร็จมากกว่า?
สิ่งที่โคตานิสร้างไว้กับ ‘นายจ้าง’ ของเขาทุกวันๆ คือ ความสัมพันธ์ และความไว้เนื้อเชื่อใจ ด้วยบุคลิกเป็นกันเอง ซื่อๆ คุยสบาย ทุกคนที่ได้สัมผัสเขาล้วนมีความสุข ขณะเดียวกัน ก็ประทับใจที่โคตานิตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่
เมื่อโคตานิคนดีต้องการความช่วยเหลือ เหล่านายจ้างและเพื่อนๆ ของพวกเขาที่เคยได้ยินเรื่องราว จึงพร้อมช่วยเหลือโคตานิอย่างถึงที่สุด
หากเปรียบเทียบกับสินค้า ทามุระอาจเป็นสินค้าแบบแมส ขายปริมาณมากๆ เข้าถึงคนหมู่มาก แต่ก็มิได้มีแฟนๆ ที่รักแบรนด์จนถึงขั้นทำเพื่อแบรนด์นั้น ลูกค้าเอง ก็เข้าถึงแบรนด์ได้ยาก
ในทางกลับกัน โคตานิ เป็นแบรนด์เล็กๆ แต่อบอุ่น เป็นกันเอง เขาพูดคุยและจับมือกับลูกค้าทุกๆ คนที่เจอ ถ่ายทอดเรื่องราวของเขาให้ลูกค้าฟังทีละคนอย่างตั้งใจ และไม่เคยเหน็ดเหนื่อย ลูกค้าทุกคนจึงรักและพร้อมทำเพื่อแบรนด์โคตานิ
ชีวิตคนเรามีหลายทางเดิน ไม่มีทางใดผิด ถูก หรือดีกว่าทางใด แต่อย่างน้อยที่สุด เรื่องราวของคุณโคตานิสอนบทเรียนดิฉันสองประการ
หนึ่ง… กล้าทำอะไรที่แตกต่าง กล้าเป็นโฮมเลส กล้า (+บ้าบิ่น) ขายหนึ่งวันของตัวเองในราคา 50 เยน
สอง… ช่วยเหลือผู้คน ยิ่งช่วยและทุ่มเททำเพื่อผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนเท่าไร สุดท้าย สิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้นกับชีวิตเรา
(มีงานวิจัยพิสูจน์เรื่องนี้แล้ว อ่านได้ในหนังสือ Give & Take โดย Adam Grant สำนักพิมพ์ We Learn นำมาแปลในชื่อ ‘แค่รู้วิธีให้ คนรับได้เท่าไหร่ คนให้ได้มากกว่า : Give And Take’ ค่ะ)
สุดท้ายนี้ ขอจบบทความด้วยคำพูดจากคุณโคตานิค่ะ
“ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผมเป็นโฮมเลสนี้ ผมได้ทำสิ่งที่ตนเองไม่เคยคิดว่าจะได้ทำในช่วง 10 ปีที่พยายามเป็นตลกเลย เอาจริงๆ นะครับ การเป็นโฮมเลสแบบนี้ ทำให้ชีวิตผมมีความสุข และสนุกขึ้นมากเลยครับ”
ปัจจุบัน คุณโคตานิเป็นโฮมเลสเปี่ยมสุขเช่นนี้มาสามปีกว่าแล้ว และยังคงเดินทางสร้างเสียงหัวเราะและความประทับใจให้ผู้คนต่อไปค่ะ
“ผมไม่มีบ้านเป็นหลักเป็นแหล่ง แต่โลก คือ บ้านของผมครับ”
ดูเรื่องราวและภาพต่างๆ ของคุณโคตานิได้ที่: twitter.com/kotanimakoto