วัยรุ่นในเกาหลีใต้ ฮิตดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ จุดกระแส ‘NoLo’ ที่ย่อมาจาก Non-Alcohol พร้อมส่งต่อเทรนด์ไปทั่วโลก คาดอนาคตเบียร์ไร้แอลกอฮอล์จะยึดส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วโลกได้ถึง 10%
สำนักข่าว The Korea Times รายงานว่า จากเดิมแล้วผู้บริโภคที่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงานจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามงานสังสรรค์ต่างๆ แต่ปัจจุบันวัฒนธรรมการดื่มในเกาหลีใต้เปลี่ยนไป หันมาเลือกดื่มเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์เพื่อสุขภาพกันมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
-
- ‘เบียร์ไร้แอลกอฮอล์’ ทางเลือกใหม่ของคนรักสุขภาพโตทั่วโลก ค่ายยักษ์ทุ่มทุนชิงส่วนแบ่งตลาด
- บริษัทเบียร์โล่งอก หลัง ‘เบียร์ไร้แอลกอฮอล์’ โดนใจคน Gen Z จนยอดขายโตระเบิด ท่ามกลางวิกฤตคนรุ่นใหม่ดื่มแอลกอฮอล์ลดลง
- หวั่นต้นทุน-ภาษีทำตลาดสะดุด ‘ไฮเนเก้น’ ค้านรัฐรีดภาษีเบียร์ไร้แอลกอฮอล์เพิ่ม เผยต้นทุนยังพุ่งไม่หยุด อาจเล็งปรับราคาเพิ่มอีกรอบ
จนมีคำพูดใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น NoLo ซึ่งย่อมาจาก Non-Alcohol ซึ่งเป็นคำที่วัยรุ่นใช้พูดกันในกลุ่มเพื่อน ทั้งนี้ เทรนด์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในเกาหลีเท่านั้นแต่กำลังเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมทั่วโลก
จนทำให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องปรับตัวตามไปด้วย ในปีที่ผ่านมาจะเห็นความเคลื่อนไหวของบริษัทเบียร์ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ในเกาหลีใต้พยายามเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์และเน้นการทำตลาดเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่กันอย่างหนัก
หนึ่งในนั้นก็คือ Lotte Chilsung Beverage 1 ใน 3 บริษัทเบียร์ใหญ่ที่สุดของประเทศเกาหลีใต้ เดือนที่ผ่านมาได้เปิดตัว Kloud Non Alcoholic ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยกว่า 1% แต่ยังคงรสชาติแบบดั้งเดิมเอาไว้เพื่อรับโอกาสการเติบโตในอนาคต
เช่นเดียวกับ Lotte Chilsung ได้เปิดตัว Kloud Non Alcoholic ซึ่งเป็นเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ออกมาเป็นทางเลือกใหม่ รวมถึง Oriental Brewery เจ้าของบริษัทเบียร์แบรนด์ Cass ได้เปิดตัว Cass Lemon Squeeze 0.0 โดยเป็นเครื่องดื่มมีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยกว่า 0.05% ในงานแข่งขันโอลิมปิกที่ปารีสเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา
รวมถึงบริษัท Oriental Brewery ระบุว่า ผู้บริโภควัย 20 ปี มีความต้องการเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ที่มีรสชาติที่แตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ และหลายคนต้องการดื่มเพื่อเข้าสังคมแต่ไม่ต้องการเจอกับอาการเมาเหมือนในอดีตซึ่งหลังจากกฎหมายฉบับใหม่ได้อนุญาตให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในร้านอาหารและบาร์ได้ เราก็พร้อมที่จะขยายไปในช่องทางเหล่านี้ครอบคลุมขึ้น
ไม่เว้นแม้แต่ Jeju Beer Company บริษัทเบียร์คราฟต์ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีเริ่มให้ความสำคัญกับตลาดของผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์และในปีนี้มีแผนจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ใหม่อีก 3 รายการ และเตรียมหยุดการผลิตเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์แล้วเปลี่ยนมาลงทุนผลิตเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์แทน
ปัจจุบันบริษัทส่งออกผลิตภัณฑ์ไปมากกว่า 20 ประเทศ รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น รัสเซีย และเนเธอร์แลนด์ สัดส่วนรายได้จากการส่งออกเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์หลักๆ มาจากรัสเซีย วัยรุ่นในรัสเซียเริ่มให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ของเราเพิ่มขึ้น ต่างจากคนรุ่นเก่าที่ยังนิยมดื่มวอดก้า
นักวิเคราะห์ภายใต้ Euromonitor International ระบุว่า ในปี 2023 ตลาดเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ในเกาหลีมีมูลค่า 6.4 หมื่นล้านวอน เติบโตขึ้นกว่า 55% และคาดว่าในปี 2027 จะมีมูลค่าถึง 1 แสนล้านวอน เนื่องจากความนิยมของเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ทำให้มีช่องทางขายผ่านแพลตฟอร์มที่ไม่เพียงแค่ขายเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์จากหลายแบรนด์ออนไลน์เท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้คนที่มีความคิดเหมือนกันสามารถแชร์เรื่องราวและเผยแพร่เนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านออนไลน์ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์กลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรงในตลาดอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่าในญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 10%
ขณะที่ยอดขายเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในสหรัฐอเมริกาปี 2023 เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ถ้าเทียบจากปี 2019 โดยมีการเติบโต 35% ต่อปี แซงหน้าตลาดเบียร์โดยรวมที่มีการเติบโตเพียง 1% เท่านั้น
ภาพ: kadefoto / Shutterstock
อ้างอิง: