ในปี 2020 ที่กำลังจะจบลงเร็วๆ นี้ ทั่วโลกต่างสะบักสะบอมกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดมากมาย และไม่ใช่แค่ชีวิตจริงที่โหดร้าย ภาพสะท้อนจากซีรีส์เกาหลีก็แสดงให้เห็นบางสิ่งบางอย่างที่พอวิเคราะห์ลึกซึ้งก็พบว่ามันคือการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกที่น่าติดตาม และอ้างอิงเรื่องที่เกิดขึ้นจริงอย่างมีนัยสำคัญ
และนี่คือบทสรุปซีรีส์เกาหลีปี 2020 ที่สะท้อนให้เห็นการเดินทางอันยาวนาน ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นติ่ง เป็นนักเคลื่อนไหว เป็นลูกสาว เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือนักการเมือง เราต่างต้องการพลังใจในการเผชิญหน้ากับความจริงและสู้ชีวิตต่อไป
พระเอกปี 2020 ที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ
พระเอกในซีรีส์เกาหลียุคทอง (2000-2010) ค่อนข้างเป็นภาพจำถึงหน้าตา เงินทอง ฐานะทางสังคม และตัวตนที่งดงามภายใน ซึ่งใช้เป็นต้นแบบให้กับ ‘พระเอกในชีวิตจริง’ หรือเด็กผู้ชายในเจเนอเรชันใหม่ที่จะเติบโตขึ้นมา อย่างเช่น Winter Sonata ลูกชายนักเปียโนชื่อดัง, Full House นักแสดงซูเปอร์สตาร์คนดัง, Autumn in My Heart พี่ชายที่แสนดี นักวาดรูป และอาจารย์มหาวิทยาลัย, My Lovely Sam Soon เจ้าของโรงแรมหรูในโซล, My Girl เศรษฐีหนุ่มเจ้าของโรงแรมที่เกาะเชจู, Coffee Prince นักเรียนนอกที่กลับมาทำธุรกิจร้านกาแฟ
จนมาในยุค 2020 เราได้เห็นความสมจริงที่สะท้อนภาพสังคมเกาหลี รวมไปถึงสังคมโลก พระเอกในยุคนี้มีสถานะทางสังคมที่อยู่ขั้วตรงข้าม Sweet Home เด็กหนุ่มเป็นโรคต่อต้านสังคม เก็บตัวอยู่ในห้องนานนับปี, Flower of Evil พระเอกที่เป็นลูกชายฆาตกรไซโคพาธ, It’s Okay to Not Be Okay พระเอกที่ต้องดูแลพี่ชายออทิสติก และเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลจิตเวช, ภาพยนตร์ Voice of Silence กับพระเอกในอาชีพเก็บกวาดสถานที่เกิดเหตุให้องค์กรอาชญากรรม
จะเห็นได้ว่าชีวิตจริงถูกสะท้อนผ่านงานบันเทิง ภาพฝันที่สร้างรูปแบบผู้ชายเปลี่ยนไป เรายอมรับความจริงมากขึ้น ทั้งสิ่งนี้ยังทำให้เห็นสภาพสังคมที่ขนาดหดเล็กลง จากครอบครัวเอเชียที่มีพื้นฐานครอบครัวขยาย รวมกันอยู่ และมีความสัมพันธ์ค่อนข้างแน่นแฟ้น ในปัจจุบันเราจะเห็นความห่างเหินตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยใหม่ที่ขนาดครอบครัวเล็กลงไปจนถึงระดับครอบครัวตัวคนเดียว
ผ่านพ้นซีรีส์โรแมนติกคอเมดี้ไปสู่เรื่องราวซับซ้อนที่ไม่ต้องมีเลิฟไลน์
ซีรีส์เกาหลีเดินทางมาสู่ยุคใหม่ที่บอกลาพล็อตโรแมนติกคอเมดี้ที่ถูกผลิตซ้ำๆ ในยุคทอง ทำให้ในปี 2020 เราได้เห็นธีมเรื่องแปลกใหม่ที่มุ่งหน้าไปสู่ความดุเดือด สืบสวนสอบสวน สะท้อนปมปัญหาสังคม หลายเรื่องไม่จำเป็นต้องมีพระเอกนางเอก แต่เดินเรื่องด้วยตัวละครสำคัญ
ตัวอย่างเช่น Hot Stove League นัมกุงมิน รับบทเป็นผู้จัดการทีมเบสบอล ที่ทำทุกวิถีทางในการพาทีมกลับสู่ตำแหน่งแชมป์ ซึ่งเราได้เห็นกลเกมในการวางแผน เห็นการทำงานจริงในวงการเบสบอล จิตวิทยาการทำหน้าที่ผู้จัดการที่เฉียบขาด โดยที่ไม่มีเลิฟไลน์และซีรีส์ยังสนุก เรตติ้งดี ผลงานคุณภาพจนได้รับรางวัล Best Drama จากเวที Baeksang Arts Awards ในปีนี้
ซีรีส์ Fly Dragon หรือ Delayed Justice ที่ทวงความถูกต้องให้เหยื่ออธรรม เรื่องของทนายความพิทักษ์สิทธิและนักข่าวที่ชอบขุดเหตุการณ์ซึ่งสื่ออื่นๆ เพิกเฉย ซึ่งซีรีส์ใช้ตัวละครหลักของเรื่องเป็นผู้ชายสองคนมาร่วมมือกันแบบแมนๆ ไปเลย
Stranger 2 ซีรีส์ภาคต่อที่สะท้อนโครงสร้างอำนาจและกระบวนการยุติธรรมที่เจาะลึก เหมือนจริง และแสดงให้เห็นปัญหาระหว่างอัยการและตำรวจที่มีข้อพิพาทกันบ่อยครั้ง ซึ่งซีรีส์ Stranger 2 ยังเลือกวิธีการเล่าเรื่องแบบซีรีส์ต่างประเทศที่แหวกขนบซีรีส์เกาหลี นับเป็นอีกหนึ่งผลงานแห่งปีที่สร้างมาตรฐานสูงลิ่วเอาไว้ในวงการ
หรือซีรีส์ Private Lives ที่ว่าด้วยประเด็น ‘ข้อมูลส่วนบุคคล’ ที่ถูกหน่วยงานรัฐใช้ในการหาผลประโยชน์ ซึ่งน่าสนใจว่าหากผู้สร้างเลือกเส้นทางที่ตัดความสำคัญของเลิฟไลน์ลง แล้วเน้นไปที่ประเด็นการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว น่าจะกลายเป็นซีรีส์สะท้อนความจริงในสังคม เป็นประโยชน์กับคนดูในการใช้ชีวิตโลกดิจิทัลได้มากกว่านี้
โควิด-19 เชื้อไวรัสที่เปลี่ยนโลก
อาจเป็นความบังเอิญที่โรคระบาด สัตว์ประหลาด กลายเป็นธีมภาพยนตร์และซีรีส์หลายเรื่องในปีนี้ เริ่มตั้งแต่ซีรีส์ Kingdom 2 ที่ออนแอร์พร้อมๆ กับการระบาดรอบแรกของโควิด-19 ตามมาด้วยภาพยนตร์ซอมบี้ฟอร์มยักษ์ Peninsula และซอมบี้รุ่นเล็ก #Alive ที่ล้วนพุ่งประเด็นไปที่เชื้อโรคระบาดอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนคนเป็นซอมบี้ และการเอาตัวรอดของผู้คนที่เหลือ ส่วนปลายปีก็มีซีรีส์ Sweet Home ที่เป็นเรื่องของเชื้อโรคที่เปลี่ยนคนให้เป็นสัตว์ประหลาดตามแรงปรารถนาในจิตใจ
แม้ว่าจะเป็นเรื่องในทำนองเดียวกัน แต่สิ่งที่ผู้กำกับรวมถึงผู้สร้างต่างสอดแทรกความหมายเอาไว้ในผลงาน คือการมอบความหวังให้กับผู้ชม รวมถึงถ่ายทอดเรื่องการช่วยเหลือกันและกันของมนุษย์
อย่างที่ผู้กำกับ ยอนซังโฮ ให้สัมภาษณ์ถึงภาพยนตร์ Peninsula ไว้ว่า “ผมคิดว่าความกลัวที่เกิดจากความไม่รู้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ มันมีทั้งโชคดีและโชคร้ายที่คาดไม่ถึง ความวิตกกังวลก็เป็นความรู้สึกที่อยู่คู่ขนานไปด้วยกัน ผมเชื่อว่าความกลัวทั้งหมดนี้คือความไม่เข้าใจ และได้กลายไปเป็นบางสิ่งบางอย่าง ผมต้องการที่จะบอกเล่าความกลัวนี้ที่ทุกคนจะมีประสบการณ์ร่วมไปด้วยกันได้ และผมก็หวังว่าคุณจะได้เห็นเมสเสจที่อยู่ใน Peninsula คือการยังคงมีความหวัง แม้ว่าจะอยู่ในยุคหลังวันสิ้นโลก”
ผู้กำกับ อีอึงบก จากซีรีส์ Sweet Home เองก็ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้เอาไว้ว่า “ครั้งแรกที่ผมได้อ่านเว็บตูนเรื่องนี้เป็นช่วงก่อนจะเกิดโควิด-19 ผมมองท้องฟ้าของกรุงโซลที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 และรู้สึกถึงอารมณ์แบบดิสโทเปีย ณ ตอนนั้นมันทำให้ผมอยากเห็นท้องฟ้าที่เป็นสีฟ้าจริงๆ แต่พอโควิด-19 กลายเป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้คำถามนั้นปรากฏขึ้นมาอีกครั้งว่า ท้ายที่สุดแล้วมนุษย์จะสามารถช่วยมนุษย์กันเองไว้ได้หรือเปล่า”
หนุ่มสาวจงมีความหวังอยู่เสมอ
ชีวิตมันโหดร้าย การดูซีรีส์ที่โหดร้ายกว่าก็ช่วยบรรเทา ในปี 2020 เราได้เห็นซีรีส์ที่ดันดราม่าไปสุดทางอย่าง A World of Married Couple, The Penthouse ซึ่งเรื่องราวดุเดือด ติดเรต และเต็มไปด้วยความรุนแรงในแบบที่คนดูส่วนหนึ่งใช้เพื่อบำบัดอารมณ์ที่กดดันเคร่งเครียดจากชีวิตจริงในช่วงล็อกดาวน์
อีกด้านหนึ่งเป็นซีรีส์ที่เน้นให้กำลังใจหนุ่มสาวในการสู้ชีวิตต่อไป ไม่ว่าจะเป็น Record of Youth, Itaewon Class, Start-Up, It’s Okay to Not Be Okay เป็นต้น และจากทุกเรื่องที่ยกตัวอย่างมา จะมีตัวละครนำที่เป็นวัยหนุ่มสาว และตัวละครสูงวัยที่มาช่วยเป็นผู้ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ ในแบบที่เชื่อมโยงความห่างเหินระหว่างกันในครอบครัวให้กลับมาอีกครั้ง ดังจะเห็นได้จากคำคมคุณย่าชเววอนด็อกในซีรีส์ Start-Up ที่กลายเป็นถ้อยคำจำอยู่ในใจของหลายคนไปแล้ว
“ดัลมี แกคือดอกคอสมอส ตอนนี้ยังเป็นฤดูใบไม้ผลินะ ถ้ารอไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็จะเบ่งบานอย่างงดงามในฤดูใบไม้ร่วง ดังนั้นอย่ารีบร้อนไปเลย” – ชเววอนด็อก
“ถ้าเราจะตัดขาดจากทุกคนด้วยเหตุผลมากมาย สุดท้ายก็จะไม่เหลือใครเลย เพราะแบบนั้นในวัยฉันการให้อภัยเลยง่ายขึ้น” – ชเววอนด็อก
เมื่อคอนเทนต์เกาหลีคือ Now Normal
ด้วยความทะเยอทะยานและทำงานหนัก ทำให้เกาหลีก้าวสู่วงการบันเทิงโลกในปี 2020 ภาพรวมต้องเรียกได้ว่าสร้างมาตรฐานใหม่ๆ ให้งานซีรีส์และภาพยนตร์ เริ่มต้นจากความสำเร็จเกินความคาดหมายของภาพยนตร์ Parasite ที่ทำให้เกาหลีขึ้นไปยืนบนจุดสูงสุดของเวทีออสการ์ ซึ่งตามความจริงแล้วมีภาพยนตร์เกาหลีอีกมากมายทีเดียวที่อยู่ในมาตรฐานเดียวหรืออาจดีกว่า Parasite แต่ด้วยไทม์มิ่งที่เหมาะสม และตัวผู้กำกับบงจุนโฮที่มีผลงานระดับสากลมาอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้คอนเทนต์จากเกาหลีถูกมองเห็นและยอมรับมากยิ่งขึ้น
ประกอบกับการที่เทคโนโลยีดิจิทัลที่เชื่อมโลกทั้งใบไว้ด้วยกัน และแพลตฟอร์มสตรีมมิงที่รวบรวมคนทั้งโลกในการรับชมคอนเทนต์แบบ World Audience ดูได้จากภาพยนตร์ระดับบล็อกบัสเตอร์ที่เข้าฉายพร้อมกันทั่วโลก เป็นกระแส ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ สปอยล์แบบเรียลไทม์ ดูคลิปสัมภาษณ์นักแสดงได้พร้อมกันทั่วโลก
Top List ของ Netflix ตลอดทั้งปีนี้ โดยเฉพาะในเอเชียเราจะเห็นการมีอยู่ของคอนเทนต์เกาหลีแทบจะตลอดเวลา ตั้งแต่ซีรีส์การต่อสู้บนเส้นทางธุรกิจของ Itaewon Class ตามมาด้วยซีซัน 2 ของ Kingdom ที่ขึ้นเป็นซีรีส์เกาหลีที่มีผู้ชมสูงสุดของ Netflix ในปี 2020 ส่วนซีรีส์แนวโรแมนติกอย่าง The King: Eternal Monarch และ It’s Okay to Not Be Okay มีผู้ชมสูงสุดอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ ปิดท้ายด้วย Start-Up ปรากฏการณ์ซีรีส์เพื่อวัยหนุ่มสาวที่เพิ่งจบไปไม่นานนี้
ด้วยความนิยมของซีรีส์เกาหลีไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่รวมไปทั่วภูมิภาคเอเชีย ทำให้แพลตฟอร์มสตรีมมิงต่างผลักดันความแข็งแรงด้านคอนเทนต์เกาหลี ทั้ง Viu ที่เริ่มทำออริจินัลคอนเทนต์เรื่อง My Bubble Tea หวานน้อยรัก 100% ที่ได้ นิชคุณ หรเวชกุล มานำแสดง และซีรีส์ Voice in The Rain เสียงรักในสายฝน ที่กำลังออกอากาศในตอนนี้, WeTV จากค่าย Tencent ที่ดึงเอาซีรีส์เกาหลีน่าสนใจที่จบไปแล้วหลายเรื่องมาฉาย, Apple TV ก็เริ่มมีการสร้างซีรีส์เกาหลีเรื่อง Pachinko โดยดึงเอา อีมินโฮ มาเป็นนักแสดงนำร่วมกับนักแสดงนานาชาติ
iQIYI ที่ทำรายการเรียลิตี้ Youth With You ซีซัน 2 มีลิซ่า BLACKPINK ไปเป็นรุ่นพี่คอยให้คำแนะนำน้องๆ ผู้เข้าแข่งขัน ทั้งยังซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์เกาหลีในกระแสหลายเรื่องไปฉาย เช่น 18 Again, Graceful Friends, Search, More Than Friends และซีรีส์ฟอร์มยักษ์ในปี 2021 เรื่อง Mount Jiri ทาง iQIYI ก็ได้รับสิทธิ์ในการฉายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่าอุตสาหกรรมซีรีส์และภาพยนตร์เกาหลีในปี 2021 ที่รออยู่จะเข้มข้นและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อะไรอีก
อ่านต่อ
- 20 ซีรีส์เกาหลีแห่งปี 2020 https://thestandard.co/20-korean-dramas-2020/
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า