‘รวมกันเรารอด’ น่าจะเป็นคำที่สองสายการบินยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ต้องหยิบขึ้นมาใช้ในห้วงเวลาที่อุตสาหกรรมการบินกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดย Korean Air ได้เตรียมเงินกว่า 1.8 ล้านล้านวอน หรือ 4.9 หมื่นล้านบาท สำหรับเข้าซื้อกิจการคู่แข่งอย่าง Asiana Airlines
ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นการสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ที่สุดในแวดวงการเดินทางทางอากาศของเกาหลีใต้ แต่ก็ถือเป็นเส้นทางที่ดีที่สุดแล้วในเวลานี้ เพราะจะทำให้ทั้งคู่มีโอกาสมากขึ้นในการหลีกเลี่ยงชะตากรรมของสายการบินหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตสุขภาพ จนทำให้หลายสายการบินต้องล้มละลายอย่างเลี่ยงไม่ได้
ทั้ง Korean Air และ Asiana Airlines ต่างดิ้นรนกับรายได้ที่ย่ำแย่และหนี้สินจำนวนมากก่อนที่จะเกิดโรคระบาด โดย Korean Air มีผลขาดทุนสุทธิ 6.195 แสนล้านวอน หรือราว 1.7 หมื่นล้านบาทในครึ่งปีแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 4.82 แสนล้านวอน หรือราว 1.3 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว
ขณะที่ผลขาดทุนสุทธิของ Asiana Airlines อยู่ที่ 6.333 แสนล้านวอน หรือราว 1.72 หมื่นล้านบาทในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน เพิ่มขึ้นจาก 3.78 แสนล้านวอน หรือราว 1 หมื่นล้านบาท
มีการประเมินว่า การเข้าควบรวมกิจการของทั้งคู่จะทำให้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นสายการบินท็อป 10 ของโลก ขณะที่ข้อมูลจาก International Air Transport Association ระบุว่า ทั้งคู่จะขึ้นมาเป็นสายการบินลำดับที่ 15 ของโลก เมื่อวัดจากจำนวนกิโลเมตรที่บินและได้รับเงินจากผู้โดยสาร โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 28 ของ Korean Air และอันดับที่ 42 สำหรับ Asiana Airlines
โดยนักวิเคราะห์รายหนึ่งให้ความเห็นว่า การเข้าควบรวมของสายการบินยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ถือเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลอย่างมาก เพราะก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของโรคโควิด-19 ก็มีคู่แข่งที่มากเกินไปอยู่แล้ว และยิ่งมากขึ้นไปอีกในเวลาเช่นนี้
การเข้าควบรวมคาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2021 โดยยังไม่มีการยืนยันถึงชะตากรรมของพนักงานว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ที่แน่ๆ “เมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้ว แบรนด์ของ Asiana Airlines ก็จะหมดไป” โฆษกหญิงของ Korean Air กล่าวกับ Reuters
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: