×

ถาม ดร.กอบศักดิ์ 4 ปี คสช. ปฏิรูปกฎหมายเพื่อประชาชนไปถึงไหน คนไทยได้อะไรบ้าง

20.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 mins. Read
  • รัฐบาลภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้จับเรื่องการปฏิรูปอีกหน โดยกฎระเบียบเกี่ยวกับการอนุมัติ อนุญาต เป็นหนึ่งในประเด็นที่ให้ความสำคัญ  
  • ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นคีย์แมนคนสำคัญ ผ่านการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน
  • เป้าหมายคือมุ่งลดภาระประชาชน และอุปสรรคการประกอบอาชีพ โดยจะประหยัดงบประมาณ เวลา และลดช่องว่างการแสวงหาผลประโยชน์ของราชการ ตั้งเป้าสะสางระเบียบขอใบอนุญาต จาก 6,000 ฉบับให้เหลือ 1,000 ฉบับ

ปัญหาการคอร์รัปชันในการออกใบอนุญาต (License) และการหยอดน้ำมันหรือจ่ายสินบน เพื่อได้รับการอำนวยความสะดวกในการติดต่อราชการเป็นหนึ่งในปัญหาของประชาชนที่มักประสบกับความล่าช้าของระบบราชการ เพราะระบบราชการมีกฎระเบียบมากเกิน และในแต่ละขั้นตอนของระเบียบก็ให้อำนาจอนุมัติ อนุญาต ที่ขึ้นอยู่กับการพิจารณา หรือที่เรียกว่าดุลพินิจของเจ้าหน้าที่แต่ละราย

 

ซึ่งหากการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ทำอย่างตรงไปตรงมา ตามกรอบกฎเกณฑ์ที่เขียนไว้คงไม่มีปัญหามากนัก แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้น ทำให้ระเบียบจำนวนมากที่หวังดีอยากให้เกิดการตรวจสอบควบคุมแต่ละขั้นตอนเพื่อคุ้มครองประโยชน์ประชาชน ประโยชน์ของชาติ กลับเป็นช่องทางแสวงประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ในแต่ละขั้น

 

จึงนำมาสู่ความพยายามในการทบทวนตรวจสอบความจำเป็น ความเหมาะสมอยู่เป็นระยะๆ ดังเช่นการปฏิรูประบบราชการภายหลังจากจัดให้มีเวทีระดมความคิดเห็น เมื่อปี 2544 โดยรัฐบาลทักษิณ ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทำให้การปฏิรูปกฎระเบียบการบริหารราชการล้มลุกคลุกคลานมาเรื่อยๆ จนในวันนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้จับเรื่องการปฏิรูปอีกหน โดยกฎระเบียบเกี่ยวกับการอนุมัติ อนุญาต เป็นหนึ่งในประเด็นที่ให้ความสำคัญ  

 

เพื่อการนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาหลายคณะ เช่น คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน โดยมี ‘ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นคีย์แมนคนสำคัญ

 

และต่อไปนี้คือการฉายภาพการดำเนินงานด้านปฏิรูปกฎระเบียบ การอนุมัติ อนุญาต ที่มุ่งลดภาระประชาชน และอุปสรรคการประกอบอาชีพภายใต้รัฐบาลนี้

ในเมืองไทยเรามีกว่า 7 แสนคู่มือการอนุญาต จากทุกหน่วยงานท้องถิ่นทั่วประเทศไทย ต่อไป ก.พ.ร. ตั้งใจว่าจะเอาใบอนุญาตของท้องถิ่นออกให้หมด เหลือแต่ของหน่วยงานราชการส่วนกลาง ซึ่งมีประมาณ 6 พันใบอนุญาต โดย ก.พ.ร. ตั้งใจลดให้เหลือ 1 พัน

 

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า ได้รับผิดชอบเรื่องของกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน ซึ่งจะดำเนินการทั้งปี โดยในช่วงแรกจะเน้นที่ EoDB (Ease of Doing Business) การจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ เป็นดัชนีที่ธนาคารโลกวัดความยากง่ายในการทำธุรกิจ ซึ่งทำมา 4 เดือนเมื่อช่วงปีที่แล้ว และมีข้อเสนอเรียบร้อย จะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ของประเทศ และทำงานกับทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ โดยเอากรอบคำถามของธนาคารโลกเป็นจุดเริ่มต้น ก่อนจะคุยกันทั้งเอกชนและรัฐรวม 16 ครั้ง ดูข้อเสนอว่าอะไรอยู่ในวิสัยที่รับได้และประชาชนอยากได้ โดยมีข้อเสนอ 4 กลุ่ม

 

1. ข้อเสนอการแก้ไขกฎระเบียบของหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องขอมติ ครม. เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับ เช่น กฎระเบียบว่าต้องสร้างโกดังเก็บของ-สร้างบ้าน ที่ต้องมีขั้นตอนร้อยกว่าวันในการดำเนินการต่างๆทั้งขออนุญาตเรื่องแบบ เรื่องท่อน้ำทิ้ง ขออนุญาตเรื่องไฟฟ้า ประปา แต่ตอนหลังสามารถตัดลดลงให้เหลือ 36 วันจากร้อยกว่าวัน เป็นข้อเสนอที่เข้าสู่ ครม. ต่อไป

 

2. ข้อเสนอที่ต้องการมียกร่างกฎหมาย หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนนำเสนอ ครม. คสช. เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

 

3. กลุ่มที่ต้องขออำนาจศาลในการทำ ในเรื่องศาลแผนกคดีพาณิชย์ ศาลอาจไม่ตั้งเป็นหน่วยงานศาลแยกออกมา แต่เป็นแผนกเพื่อให้การดำเนินการของธุรกิจมีกระบวนการชัดเจน

 

4. การปฏิรูปกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ที่ต้องแก้ไขให้ดีขึ้น

กฎหมายพวกนี้ยังมี เราก็จะเปลี่ยนเรื่องพวกนี้ให้มันเป็นเรื่องของสิ่งที่สะท้อนยุคสมัยสามารถดำเนินการได้

 

“นั่นคือสิ่งที่เราทำไป ต่อไปเราจะปฏิรูประบบใบอนุญาตต่างๆ ในเมืองไทยเรามีกว่า 7 แสนคู่มือการอนุญาต จากทุกหน่วยงานท้องถิ่นทั่วประเทศไทย ต่อไป ก.พ.ร. ตั้งใจว่าจะเอาใบอนุญาตของท้องถิ่นออกให้หมด เหลือแต่ของหน่วยงานราชการส่วนกลาง ซึ่งมีประมาณ 6 พันใบอนุญาต โดย ก.พ.ร. ตั้งใจลดให้เหลือ 1 พัน ซึ่งเราตั้งใจว่าตั้งแต่เดือน พ.ค. จะนำกฎระเบียบต่างๆ มาทบทวน เช่น กฎเกณฑ์เรื่องของ Work Permit, วีซ่า ใบอนุญาตทำงาน ซึ่งเป็นอุปสรรคของชีวิตเขา เราจะช่วยดูว่า ปกติวีซ่า 1 ฉบับต้องใช้เอกสารประกอบ 25 รายการ ทำไมต้องเยอะขนาดนั้น ส่วน Work Permit อีก 20 รายการ กว่าจะได้ทำงานต้องใช้เอกสารเยอะมาก เราก็จะทำให้ง่ายขึ้น โดยเราได้ชวนกลุ่มนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) หรือข้าราชการพันธุ์ใหม่ช่วยเป็นทีมงาน ตอนนี้ได้ประมาณ 7 คน ซึ่งจะเริ่มมาทำงานกับเรา เป็นคนจากกระทรวงต่างๆ โดยให้ทำงานข้ามกระทรวง เพื่อมิให้ปกป้องกฎเกณฑ์กระทรวงของตน อย่างกระทรวงพาณิชย์ก็ทำของกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังทำของกระทรวงเกษตร แล้วเราก็จะเอาเอกชนเข้ามาช่วยด้วย รวมถึงอาจารย์ต่างๆ”

 

 

ทีมนี้จะมีอำนาจตัดสินใจได้แค่ไหน

ทีมนี้จะเสนอมาแล้วทางทีม อ.บวรศักดิ์ และทางผมจะเคลียร์ให้ และก็มีกระทรวงต่างๆ ที่อยากจะเปลี่ยนแปลง เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงศึกษาธิการ ในบางส่วนน่าจะคุยได้ โดยเริ่มจากกระทรวงที่ง่ายต่อการแก้ก่อน ต่อจากนั้นก็จะเป็นกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้พอได้ยินแล้วจะรู้สึกว่า โห เป็นไปได้อย่างไร เช่น อยากจะทำร้านปิ้งย่าง ต้องขอใบอนุญาตหลายใบมาก อย่างน้อยต้องขอใบอนุญาตการปิ้งย่างหอย ปลาหมึก กุ้ง การไปขอปิ้งย่างหมู เนื้อต้องไปขอกรมปศุสัตว์ ผักนี่ต้องไปขอกรมเกษตร ทำไมต้องยุ่งยากขนาดนั้น

 

การจะทำธุรกิจมันยากมากในประเทศไทย หรือหลายๆ อันที่จำเป็นเช่น มีการลงทะเบียนสัตว์ เอาสัตว์ที่เราเลี้ยงไปลงทะเบียนตามกฎหมายสาธารณสุขแล้วก็มีคำสั่งให้ทุกท้องถิ่นประกาศเกณฑ์เรื่องนี้มา แต่ทุกคนไม่มีใครรู้เรื่องนี้ คนทำผิดกฎหมายไปครึ่งจังหวัด เพราะว่าทุกคนถ้าไม่มีหมาก็มีแมว หรือมีแมวจรจัดมาอยู่ที่บ้าน ทุกคนไม่ลงทะเบียน แต่เขาบอกให้ลงทะเบียนทุกอันเลย แล้วก็มีการบังคับใช้ต่างๆ เรารู้เพราะเราไปถาม กทม. มีคนมาลงทะเบียนต่ำกว่าสิบคน มันก็ไม่ได้ใช้ แล้วจะมีกฎหมายทำไมล่ะ ซึ่งพวกนี้เราตั้งใจจะดำเนินการ ซึ่งทีมงานที่เราช่วยกันทำจะเอาพวกนี้มาอ่านแล้วปรับปรุงให้ดีขึ้น อะไรไม่จำเป็นตัดทิ้งไป ประชาชนจะได้อยู่ง่ายขึ้น

 

 

อีกอันที่เราดูคือมันถูกต้องตามกฎหมายอยู่หรือเปล่า เพราะบางข้อกฎหมายเลิกไปแล้ว แต่คำสั่งอธิบดียังอยู่ บางอย่างอธิบดีไม่มีอำนาจ ก็ออกคำสั่งไปโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับชัดเจนว่าต้องมีระเบียบข้อนี้ก็กำจัดได้ง่าย บางอย่างมีกฎหมายแต่ไม่จำเป็นแล้ว เช่น การขอใบอนุญาตทำโรงงานผลิตชิ้นส่วนการบิน กฎหมายการบิน (พระราชบัญญัติการเดินอากาศ) นี่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2497 ประมาณ 64 ปี มันควรจะหมดอายุไปหลายปีแต่ยังใช้อยู่ กฎหมายบอกว่าใครอยากจะทำชิ้นส่วนการบินในประเทศไทยต้องเป็นคนไทยเท่านั้น คือต้องเข้าใจว่า ปี พ.ศ. 2497 เครื่องบินลำหนึ่งก็คือความมั่นคงของชาติ เพราะฉะนั้นน็อตที่ใช้ก็คือความมั่นคงของชาติ คนทำก็คือคนไทย เพราะไม่อย่างนั้นจะทำเครื่องบินแล้วมาข่มขู่ แต่ทุกวันนี้ แอร์เอเชีย เวียดนามแอร์ไลน์ แอร์สารพัดอย่าง แล้วน็อตหนึ่งน็อตไม่ใช่เรื่องความมั่นคงแต่อย่างใด แต่กฎหมายพวกนี้ยังมี เราก็จะเปลี่ยนเรื่องพวกนี้ให้มันเป็นเรื่องของสิ่งที่สะท้อนยุคสมัยสามารถดำเนินการได้

 

และสุดท้ายคือมันเป็นอุปสรรคการทำธุรกิจหรือเปล่า เช่นการขออนุญาตทำแบบบางอย่างต้องใช้เอกสารถึง 96 ชุด พิมพ์เขียวต่างๆ เป็นต้นทุนขนาดไหน ทำไมเราไม่สั่งชุดเดียว อย่างตอนนี้นายกฯ สั่งแล้วว่าไม่ต้องสำเนา โดยเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. (คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/ 2560 ลงวันที่ 4 เมษายน 2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ) เพราะข้อมูลรัฐมีอยู่แล้วเดี๋ยวจะดูให้ มาติดต่ออะไรต่างๆ ซึ่งอันนี้ดีมาก ทำให้เราประหยัด อย่างตอนนี้พี่น้องประชาชนไปติดต่อทางการ ไม่ต้องเอาเอกสารราชการไปแล้ว

 

ปัญหาทางปฏิบัติยังมีอยู่คืออะไร

ตอนนี้ข้าราชการเขาทำอย่างนี้ เขาบอกคุณป้าที่มาติดต่อว่า ถ้าจะให้หนูไปเอาไปหาเอง คุณป้าก็รอไป 3 สัปดาห์หรือเป็นเดือนก็แล้วแต่ แต่หนูจะขอให้ แต่คุณป้าเห็นไหม ตรงนั้นมีเครื่องถ่ายเอกสารอยู่ ถ้าคุณป้าไปถ่ายเอกสารตรงนั้นเอามาให้ คุณป้าได้เลย คือการขัดขืนคำสั่งหัวหน้า คสช. แบบนี้เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ คือแทนที่จะบอกว่าอนุมัติไปได้เลย เอกสารตามมาทีหลัง แต่เขาบอกว่าต้องได้เอกสารแนบก่อนถึงจะเดินเรื่องได้

เราจะแก้ไขกฎหมายอำนวยความสะดวกฯ ให้ดีขึ้น เช่นเรื่องการจะไปจับใครว่าคนนั้นผิด เราจะให้กฎเกณฑ์พวกนั้นต้องขึ้นเว็บไซต์ก่อน ให้ประกาศเป็นการทั่วไป

 

ส่วนปัญหาในด้านระบบเราก็ไม่ดีพอ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เรายังไม่มี ซึ่งรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์จะมีข้อมูลที่ต้องขอรัฐบาลทุกอย่างเป็นถังกลาง รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเรื่องของใบประกาศนียบัตรจากสถาบันการศึกษา ถ้าเราสามารถเอามหาวิทยาลัยมารวมด้วยได้ พอกดปุ๊บจะไหลมาหมดว่าข้อมูลต่างๆ ต้องใช้อะไร ซึ่งเราเห็นตัวอย่างของสิงคโปร์ เขาเรียก License One ซึ่งกดปั๊บ กรอกข้อมูล ข้อมูลที่เคยกรอก 400 กว่าช่อง ที่กรอกซ้ำไปซ้ำมาก็จะเหลือ 200 ช่อง ก็ประหยัดไปได้เยอะ แล้วหลังจากนั้นเอกสารที่ต้องใส่ ถ้าเป็นเอกสารทางการมันก็จะดูดมาเอง แต่ของเราตอนนี้ให้อัปโหลดไปก่อน ดังนั้นตัวของกระบวนการเหล่านี้จะทำให้พี่น้องประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น

 

แก้ไขกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อต่างๆ

เราจะแก้ไขกฎหมายอำนวยความสะดวกฯ ให้ดีขึ้น เช่นเรื่องการจะไปจับใครว่าคนนั้นผิด เราจะให้กฎเกณฑ์พวกนั้นต้องขึ้นเว็บไซต์ก่อน ให้ประกาศเป็นการทั่วไป เพราะทุกวันนี้มีคนเดินไปหาเถ้าแก่ว่า เถ้าแก่ผิดแล้วนะ ต้องจ่าย 20,000 แล้วล่ะ เถ้าแก่ก็ถามว่ากฎเกณฑ์ก็ทำถูกต้องหมดแล้ว แล้วเขาผิดตรงไหน เขาบอกนายเพิ่งเซ็นคำสั่งใหม่ อยู่ในลิ้นชักนาย เถ้าแก่ผิดเรียบร้อยแล้ว ขอโทษนะ มันผิดได้อย่างไร คุณยังไม่ได้ประกาศ แล้วเขาจะทำถูกต้องได้อย่างไร

 

ดังนั้นในอนาคตก็จะมีกฎหมายออกมาว่าการจะบังคับใครเป็นโทษกับใครต้องประกาศให้ทราบทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนเท่านั้น

 

หรืออย่างการจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตต่างๆ เมื่อได้ใบเสร็จถือเป็นหลักฐานการต่ออายุใบอนุญาตได้เลย ไม่ต้องไปรออนุมัติ  

 

อีกอันที่ทำไปแล้วคือตรายาง เราออกกฎเกณฑ์ว่าทุกบริษัทที่ตั้งไม่ต้องมีตรายางแล้ว หรือว่าแต่ก่อน ถ้าจะตั้งบริษัทต้องมีเกณฑ์เรื่องการดูแลแรงงาน พอมีแล้วต้องส่งให้กรมแรงงานเก็บไว้ ในปัจจุบันเราบอกว่าไม่ต้องส่ง แต่ถ้าไปตรวจแล้วไม่เจอจะลงโทษ ทำให้ทุกคนเริ่มต้นธุรกิจได้ตั้งแต่วันแรก ไม่ต้องรออนุมัติซึ่งต้องรอไม่รู้กี่วัน

 

 

คนจะตาย บริษัทจะล้มละลาย ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป

สิ่งเหล่านี้เป็นกฎเกณฑ์ที่แต่ก่อนมันโอเค แต่เดี๋ยวนี้มันไร้สาระ แล้วบางอันเป็นกฎเกณฑ์ที่ทำให้เกิดต้นทุน หรืออีกอันเขาพูดกันเวลาคนตายห้ามตายที่บ้าน ให้ไปตายที่โรงพยาบาล เกิดปุ๊บปั๊บใครตายไปเขาบอกว่าให้รถพยาบาลมารับ ยังไม่ตาย มารับเสร็จให้พาไปตายโรงพยาบาล เพราะว่าถ้าตายที่บ้านมันต้องตรวจสอบ แต่ถ้าตายโรงพยาบาลถือว่าอยู่ใต้อาณัติหมอ แค่นี้จะตายก็ตายไม่ได้ง่ายๆ เป็นภาระอย่างยิ่ง พวกนี้เราต้องหาดูว่าอะไรจะผ่อนได้

 

หรืออย่างการล้มละลาย อันนี้ใช้เวลานานปีครึ่ง เวลาที่ใช้ 6 เดือนใช้ไปกับการที่ไม่สามารถลงราชกิจจานุเบกษาได้ คือศาลสั่งแล้ว แต่การจะเป็นคนล้มละลายที่แท้จริง ต้องประกาศลง แล้วมันมีคิว คือศาลเขาจะส่งชื่อมา แล้วมีกว่า 300 ชื่อ ต้องรอคิวเรื่อยๆ จนกระทั่งประกาศคิวก่อนหน้าหมดแล้วประมาณ 5-6 เดือน ระหว่างที่รอ สินทรัพย์เราก็เน่าหมดแล้วเพราะรอ แต่เรายังไม่เป็นคนล้มละลาย ซึ่งเรารู้จากการหารือ เราจึงประชุมกับทางราชกิจจาฯ กับกรมบังคับคดี จนทำให้เสร็จแล้วก็จะประกาศ และกลุ่มเดิมที่ค้างอยู่ก็จะปล่อยทีเดียวสัก 5,000 ชื่อ

เราอยากไปจัดการให้มีสำนักงานอีกสำนักงานดูแลเรื่องการออกกฎระเบียบ ส่วนระดับกฎหมายให้กฤษฎีกาดูไป ชั้นรองลงมาให้สำนักงานที่ตั้งขึ้นมา โดยสำนักงานปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนเป็นตะแกรงร่อน ดำเนินการ 5 ส. สะสางกฎหมายที่เป็นปัญหาต่อประชาชน

 

ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จแล้ว

ที่ผ่านมาก็มีการเปลี่ยนแปลงของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่นการแลกเปลี่ยนเงินตรา ที่สมัยก่อนต้องเอาเอกสารต่างๆ พาสปอร์ต เอกสารรับรองการเรียน หลังจากนั้นต้องไปนั่งรอ กว่าจะได้เงินมาต้องเซ็นเอกสารหลายอย่าง แต่ทุกวันนี้เดินไปขอก็ได้แล้ว การแก้ไขกฎหมายแลกเปลี่ยนเงินตรากฎหมายเดียวสามารถประหยัดเงินไปได้ถึง 1,000 ล้านบาท โดยในเกาหลีการดำเนินการด้านการลดกฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้ สามารถลดได้ถึง 150,000 ล้านบาทในปีแรก ปีถัดมาถึง 300,000 ล้านบาทจากการปฏิรูปกฎหมาย ทำให้ตัวของต้นทุนมันลดลงไป

 

ตั้งหน่วยงานรับผิดชอบ

ประเทศไทยมีกฤษฎีกาอ่านดูกฎหมายว่าเหมาะสมหรือไม่ ต้องแก้ไขหรือไม่ แต่กฎหมายที่กฤษฎีกาดู ดูแค่กฎหมายที่เข้ารัฐสภา แต่กฎหมายลูก กฎกระทรวง เพียงผ่านรัฐมนตรีก็จบ เราอยากไปจัดการให้มีสำนักงานอีกสำนักงานดูแลเรื่องการออกกฎระเบียบ ส่วนระดับกฎหมายให้กฤษฎีกาดูไป ชั้นรองลงมาให้สำนักงานที่ตั้งขึ้นมา โดยสำนักงานปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนเป็นตะแกรงร่อน ดำเนินการ 5 ส. สะสางกฎหมายที่เป็นปัญหาต่อประชาชน ส่วนกฎหมายใหม่ที่จะมีมาเพิ่มก็จะต้องมีกฎเกณฑ์พิจารณา หรืออาจมีคณะกรรมการพิจารณาว่าควรมีกฎหมายใหม่ออกมาหรือไม่ แต่ตรงนี้จะเป็นรูปแบบใด ยังพิจารณากันอยู่ว่าใครจะเป็นคนทำ

 

 

กระบวนการนี้จะเสร็จเมื่อใด

เนื่องจากจะเริ่ม 1 พ.ค. แล้วกระบวนการแบ่งเป็น 3 ลอต ลอตแรกนำสิ่งสำคัญมาทำก่อน มีปริมาณสูงๆ มาทำก่อน หลังจากนั้นพอปลายปีจะทำอีก 1,000 ใบอนุญาตที่สำคัญๆ เราจะเลือกทำ 1,000 อันแรก โดยมีสัก 20 อันที่คนต้องใช้ตลอด ซึ่งเกือบเป็นร้อยละ 80 ของทั้งหมด แล้วก็ทำเสร็จจะเอาขึ้นเว็บไซต์ ในขณะนี้จะทำ Digital Portal สำหรับการทำระบบอนุญาต เหมือน License One ของสิงคโปร์ แต่ว่าตัวของ Digital Portal เราคุยกันแล้วว่าถ้าเอากฎเกณฑ์ปัจจุบันไปทำใส่ระบบมันก็ยังแย่อยู่ เราต้องเอากฎเกณฑ์มาสะสางก่อน แล้วพอเสร็จเอารูปลักษณ์ใหม่ไปใส่ในระบบก็จะเวิร์ก นี่คือที่ทำกับ ก.พ.ร. อยู่ ก.พ.ร. ลงทุนในการทำคู่มือ การพิสูจน์ตัวตน เราทำในเรื่องกฎหมาย

 

20 อันที่คนต้องใช้ตลอด มีตัวอย่างไหม

เช่น ใบขับขี่ บัตรประชาชน พาสปอร์ต ในการแก้กฎหมายอำนวยความสะดวก เราจะแก้เรื่องการแจ้งหาย ซึ่งแต่เดิมอย่างบัตรประชาชนหาย เราต้องไปแจ้งตำรวจก่อน แล้วเอาใบแจ้งตำรวจไปที่อำเภอขอใบใหม่ ตอนนี้เราจะเปลี่ยนว่าการแจ้งที่อำเภอถือเป็นการแจ้งที่ตำรวจพร้อมกัน

 

การลดขั้นตอนพวกนี้มันช่วยลดค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง

ลดได้เยอะเลย อย่างถ้าทำบัตรหายไม่ต้องไปหาตำรวจก่อน ลดทีหนึ่งได้เป็นร้อยบาท  หรือพาสปอร์ต ที่วันหนึ่งไปดำเนินการ อีกวันหนึ่งไปรับ ก็เสียค่าเดินทาง 2 รอบ ทำไมเราไม่ให้เสร็จเรียบร้อยเลย ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันมันทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ทั้งเรื่อง Cloud, Database

 

 

ที่ผ่านมาการร้องเรียนเกี่ยวกับใบอนุญาตจะเป็นเรื่องอะไรมากที่สุด

ถ้าเป็นฝรั่งจะเป็นวีซ่า, Work Permit อย่างการรายงานตัว เขาถามว่าทำผิดตรงไหนต้องคอยรายงานตัวทุก 90 วัน  

 

ตอนนี้ในแง่ของคนปฏิบัติงานเข้าใจใช่ไหม

เขากำลังจะเข้าใจ เพราะเรากำลังเริ่มดำเนินการ ในส่วน EoDB (Ease of Doing Business) เข้าใจแล้ว แต่เรื่องของการสะสางกฎหมายกำลังดำเนินการ

 

มันเหมือนเขามีอำนาจ แต่เราไปตัดอำนาจของเขา

ไม่รู้ทำไง แต่เราต้องอาศัยความตั้งใจ ในกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องทบทวนในกี่ปีๆ เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีต้องดำเนินการไม่อย่างนั้นผิดกฎหมาย อย่างใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4) เมื่อก่อนอนุมัติง่ายเกินไปจึงมีคนหัวใสให้มาจดที่หน้าโต๊ะรัฐมนตรีก็แล้วกัน เลยมีกฎเกณฑ์ใหม่ต้องให้รัฐมนตรีดูจากแต่ก่อนไม่ต้อง นั่นคือที่มาว่าทำไม ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4) ติดเป็นปี ประตูจึงเปิดไม่ออก หรือเคส อย. และทรัพย์สินทางปัญญาก็จะทำ

ตอนนี้เราก็จะขอให้ทุกคนเข้าสู่ในระบบเดียวกัน เอาข้อมูลมาชนกัน ก็จะเห็นตั้งแต่เกิดจนตาย มีสวัสดิการเท่าใดบ้าง ทีหลังเราทำเสร็จก็จะให้เอาใบมรณบัตรมาเช็กด้วย เช่นเดียวกับ National Digital ID Infrastructure หรือระบบเพื่อให้บริการยืนยันตัวตนและดูแลรักษาความถูกต้องของข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

 

กฎหมายที่ทำให้ดีขึ้น จะทำให้คนในราชการทำงานได้สอดรับกับระบบหรือวิธีการใหม่อย่างไร

เราไปแก้ เราจะไปติดป้ายในทุกอำเภอก็ได้ว่ามีคำสั่งว่าข้าราชการห้ามทำอย่างนี้ๆ ให้ประชาชนที่ไปติดต่อราชการชี้เลยว่ามีคำสั่งเหล่านี้อยู่แบบนี้ก็ได้ แต่เรากำลังทำระบบให้เขาดึงข้อมูลได้ เอาบัตรประชาชนเสียบแล้วก็กดว่าต้องการมาขอใบอนุญาตใด ก็ไปดูตามลิ้นชักต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ก็ดึงได้ทันที กุญแจลิ้นชักคือบัตรเรา พอถึงเวลาก็สามารถดึงข้อมูลได้ เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ใช่

 

อย่างทุกวันนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่มีปัญหาตอนนี้ ก็เพราะไม่มีใครเช็กได้ว่าใครได้สวัสดิการเท่าใด แม้กระทั่งอยากรู้ว่ากอบศักดิ์ได้สวัสดิการกี่อย่างในประเทศไทยยังไม่รู้เลย เพราะมันมีกี่โครงการ แต่ละโครงการก็มีข้อมูลแต่ละตัว ข้อมูลบางคนมีเลขประจำตัวประชาชน บางอันไม่มี บางอันอยู่ในกระดาษ

 

ตอนนี้เราก็จะขอให้ทุกคนเข้าสู่ในระบบเดียวกัน เอาข้อมูลมาชนกัน ก็จะเห็นตั้งแต่เกิดจนตาย มีสวัสดิการเท่าใดบ้าง ทีหลังเราทำเสร็จก็จะให้เอาใบมรณบัตรมาเช็กด้วย เช่นเดียวกับ National Digital ID Infrastructure หรือระบบเพื่อให้บริการยืนยันตัวตนและดูแลรักษาความถูกต้องของข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทั้งของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งก็ดำเนินการอยู่

 

 

และนี่คือส่วนหนึ่งจากการฉายภาพของรัฐมนตรีกอบศักดิ์ ภูตระกูล ถึงความพยายามที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทุกภาคส่วนคงต้องจับตากันต่อไปว่าจะสำเร็จได้จริงดังหวังหรือไม่

 

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งปัญหาระดับผู้ปฏิบัติและปัญหาเชิงระบบ ตลอดจนความพร้อมของกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลที่จะปกป้องการล่วงล้ำนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด ก็ยังไม่สามารถเข็นออกมาได้ และการคอร์รัปชันก็ไม่ได้มีเพียงการเรียกสินบนเพื่อเร่งรัดการอนุมัติ อนุญาตเท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบอื่นๆ มากมาย ที่หากมีรัฐบาลดิจิทัลเกิดขึ้น ก็ต้องหาทางอุดช่องโหว่ต่อไป ไม่ว่าการลักลอบขายข้อมูล การปรับเปลี่ยนข้อมูลในสารบบออนไลน์เพื่อประโยชน์ของบุคคลที่สาม หรือภัยคุกคามใหม่ๆ ที่รัฐบาลไทยต้องปรับตัวให้เท่าทัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X