×

สวนสัตว์นครราชสีมาเปิดตัว ‘ลูกพญาแร้ง’ ตัวแรกของไทย หลังรอคอยนานกว่า 30 ปี

โดย THE STANDARD TEAM
12.04.2023
  • LOADING...
ลูกพญาแร้ง สวนสัตว์นครราชสีมา

เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา อรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ธนชน เคนสิงห์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา ร่วมกันเปิดตัวสมาชิกใหม่ ‘ลูกพญาแร้ง’ หลังจากพญาแร้งน้อยลืมตาดูโลก และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์มาระยะหนึ่งแล้ว 

 

ทั้งนี้ แม่พญาแร้งออกไข่ใบแรกมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 และทางเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์ได้นำเข้าตู้ฟักเมื่อวันที่ 25 มกราคม โดยธรรมชาติพญาแร้งจะออกไข่ครั้งละ 1 ฟองเท่านั้นต่อฤดูผสมพันธุ์ แต่เพื่อเพิ่มโอกาสในการเพิ่มประชากร ทางเจ้าหน้าที่โดยคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ จึงนำไข่มาฟักในตู้ฟักเพื่อเพิ่มอัตราการฟักเป็นตัวมากยิ่งขึ้นและเพื่อเพิ่มประชากร โดยหวังให้แม่พญาแร้งออกไข่ใบที่สอง 

 

ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทยที่แม่พญาแร้งสามารถออกไข่ใบที่สอง ซึ่งใบนี้จะปล่อยให้แม่พญาแร้งฟักเองเพื่อยังคงสัญชาตญาณตามธรรมชาติ ซึ่งเราอาจได้รับข่าวดีในเร็วๆ นี้ โดยลูกพญาแร้งจากไข่ใบแรกฟักออกมาเป็นตัวเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งใช้เวลาการฟักในตู้ฟักประมาณ 50 วัน นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทย หลังรอมานานกว่า 30 ปี 

 

จากข้อมูลพบว่าในโลกมีแร้งทั้งหมด 23 ชนิด ในประเทศไทยพบได้ 5 ชนิด รวมถึงพญาแร้ง ซึ่งเป็นแร้งประจำถิ่นของประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยไม่พบแร้งประจำถิ่นในธรรมชาติอีกเลย โดยพญาแร้งฝูงสุดท้ายพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้วกว่า 30 ปี จากการโดนยาเบื่อที่พรานล่าสัตว์ป่าใส่ไว้ในซากเก้งเพื่อล่าเสือโคร่ง 

 

ความสำเร็จในครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย เพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติของประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ร่วมกันดำเนินงานโครงการการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย

 

สำหรับพญาแร้งถือเป็นนกเทศบาลประจำผืนป่า พญาแร้งแม้จะเป็นนกนักล่า แต่วิธีการหาอาหารของแร้งไม่เหมือนกับนกล่าชนิดอื่น พญาแร้งไม่ฆ่าสัตว์อื่น แต่จะรอเวลาให้สัตว์ตายแล้วก็กินเนื้อจากซากสัตว์เหล่านั้น เพราะฉะนั้นมันจึงมีหน้าที่สำคัญในระบบนิเวศ เป็นนกเทศบาลประจำผืนป่า นอกจากการมีอยู่ของพญาแร้งจะแสดงให้เห็นถึงความครบครันของธรรมชาติแล้ว การกำจัดซากสัตว์ของพญาแร้งย่อมเป็นการตัดวงจรการขยายพันธุ์ของโรคระบาดที่เกิดขึ้นและอาศัยอยู่ในตัวสัตว์ป่านั้นๆ ซึ่งหากมองในมุมด้านสุขอนามัย พญาแร้งจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในฐานะผู้ดูแลสุขภาพของผืนป่าให้ปลอดภัยปราศจากโรคร้าย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X