×

สำรวจเกาะกูด ดินแดนแห่งราชอาณาจักรไทย ในวันที่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง โยงเข้าชาตินิยม

โดย THE STANDARD TEAM
18.11.2024
  • LOADING...
เกาะกูด

ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘เกาะกูด’ ซึ่งเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่อันดับ 6 ของไทย ตั้งอยู่ในอ่าวไทย เป็นเกาะสุดท้ายแห่งน่านน้ำตะวันออกไทย ซึ่งมีเนื้อที่ 105 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 65,625 ไร่ มีความยาวของเกาะ 25 กิโลเมตร ความกว้าง 12 กิโลเมตร ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง และถูกปลุกความเป็นชาตินิยมขึ้นมา

 

จากกรณีที่รัฐบาลภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร ประกาศจะตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา (Overlapping Claims Areas: OCA) โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การนำปิโตรเลียมที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนร่วมกันขึ้นมาใช้ประโยชน์ ซึ่งมีการเจรจามาอย่างยาวนานแต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้

 

 

เกาะกูด ตั้งอยู่ในอ่าวไทย 

มีเนื้อที่ 105 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 65,625 ไร่ 

มีความยาวของเกาะ 25 กิโลเมตร ความกว้าง 12 กิโลเมตร

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา 

 

หลายคนทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ต่างแสดงความคิดเห็นว่าการตั้งคณะกรรมการ JTC ไทยอาจเสียเปรียบการปักปันเขตแดนทางทะเลครั้งนี้ และอาจต้องสูญเสียเกาะกูด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนไทยไปด้วย ทำให้นายกรัฐมนตรีและบรรดาแกนนำรัฐบาลต้องออกชี้แจงยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของไทยตั้งแต่สมัยฝรั่งเศส ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงว่าจะเสียดินแดนในส่วนนี้ 

 

จากนั้นบรรดารัฐมนตรีที่ดูแลด้านความมั่นคงก็เร่งลงพื้นที่ ‘เกาะกูด’ เพื่อให้ความมั่นใจต่อประชาชนคนไทยทันที

 

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด กองทัพเรือ ซึ่งเป็นหน่วยเฉพาะกิจของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ที่ตั้งหน่วยบนเกาะกูด ตั้งอยู่ที่แหลมเทียน ทางตอนล่างสุดของเกาะกูด ตั้งเมื่อปี 2521 ต่อมาเมื่อปี 2529 กองทัพเรืออนุมัติเปลี่ยนชื่อจากหน่วยตรวจการณ์พิเศษที่ 1 เป็นหน่วยปฏิบัติการเกาะกูดจนถึงปัจจุบัน 

 

หน่วยปฏิบัติการเกาะกูด กองทัพเรือ 

ตั้งอยู่ที่แหลมเทียน ทางตอนล่างสุดของเกาะกูด 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา 

 

หน่วยปฏิบัติการเกาะกูดมีภารกิจ เช่น การป้องกันการคุกคามทางทะเลและทางอากาศ คุ้มครองเรือประมงไทย สนับสนุนการปฏิบัติการของเรือและกำลังทางบก ปฏิบัติการจิตวิทยา รวมถึงประชาสัมพันธ์กับส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่ เพื่อความสัมพันธ์อันดีและง่ายในการประสานการปฏิบัติงานร่วมกัน

 

1 วันต่อมา ณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นำสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งนั่งเรือจากฝั่งแผ่นดินตราดสำรวจภูมิทัศน์รอบเกาะกูด ซึ่งใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง โดยเฉพาะการสำรวจพื้นที่ที่ตกเป็นข้อพิพาทว่ามีการทับซ้อนของทั้ง 2 ประเทศ โดยให้สื่อมวลชนเห็นด้วย ‘ตา’ ยืนยันจาก ‘ปาก’ ในฐานะพ่อเมืองตราดว่า เกาะเป็นของคนไทย และมีกำลังพลกองทัพเรือที่คอยดูแลทุกข์สุขอยู่เฝ้าชายแดนไทย-กัมพูชาตลอดเวลาเช่นกัน

 

อนุทินนำธงชาติไทยมาทูนเหนือศีรษะ 

ยืนยันว่ารัฐบาลไทยจะไม่ยอมเสียดินแดนไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียว

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา 

 

 

จากนั้น อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขนข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย แต่งเครื่องแบบข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของราชอาณาจักรไทยลงพื้นที่ โดยสถานที่แรกที่คณะของกระทรวงมหาดไทยเดินทางไปคือ ชุมชนบ้านคลองมาด ซึ่งเป็นชุมชนที่เก่าแก่ที่สุดในเกาะกูด 

 

อนุทินเข้าไปรับฟังปัญหาจากปากของ สวงค์ รำไพ ผู้ที่อาวุโสที่สุดบนเกาะกูด ที่สะท้อนปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ไฟฟ้า และน้ำประปา โดยไม่มีเรื่องอ้างสิทธิ์พื้นที่ทับซ้อน เพราะมั่นใจว่าเกาะกูดเป็นของไทยมาตั้งแต่ต้น และก่อนเดินทางกลับอนุทินนำธงชาติไทยซึ่งประดับในทุกบ้านมาทูนเหนือศีรษะ และยืนยันว่ารัฐบาลไทยจะไม่ยอมเสียดินแดนไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียว

 

พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เกิดจากอะไร  

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2516 กัมพูชาประกาศอ้างเขตพื้นที่ไหล่ทวีปทะเลเพียงฝ่ายเดียว โดยวัดจากหลักเขตที่ 73 บ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มีการลากเขตแนวพื้นที่ผ่านเกาะกูดบริเวณทางใต้ ขนานชายฝั่งอ่าวไทย ยาวไปถึงคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา

 

จากนั้นรัฐบาลภายใต้การนำของ จอมพล ถนอม กิตติขจร ไม่ได้ยอมรับการประกาศอ้างเขตพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศ พร้อมประกาศลากเส้นแบ่งเขตของตนเองใหม่ในปี 2517 โดยใช้หลักเขตแดนที่ 73 เป็นจุดตั้งต้นเหมือนกัน แต่ลากเส้นไปคนละทิศ ทำให้เกิดการอ้างสิทธิพื้นที่ทับซ้อนกว่า 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตรกับ 3 ประเทศคือ กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย 

 

แต่ 2 ประเทศหลัง (เวียดนามและมาเลเซีย) ล้วนเจรจาแบ่งเขตสำเร็จ โดยคงเหลือแค่กัมพูชาเท่านั้น โดยหลายฝ่ายเชื่อว่าในพื้นที่ทับซ้อนที่เป็นข้อพิพาทอยู่นั้นมีแหล่งน้ำมันปิโตรเลียมซุกซ่อนอยู่ซึ่งมีมูลค่านับล้านล้านบาท 

 

ทะเลอ่าวไทย 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา 

 

 

ต่อมาในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ได้เปิดโต๊ะเจรจาเพื่อหาทางออกจัดการพื้นที่ทับซ้อนเกาะกูด รวมถึงหาบทสรุปการใช้ทรัพยากรร่วมกัน จนเกิดบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทย-กัมพูชาเกี่ยวกับการอ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย พ.ศ. 2544 (MOU 2544) ที่มีเนื้อหาสาระ 2 ข้อ 

 

  1. พื้นที่เหนือเส้น 11 องศาเหนือขึ้นไป เจรจาเรื่องเขตแดน 
  2. พื้นที่ใต้เส้น 11 องศาลงเหนือมา เจรจาเรื่องผลประโยชน์ร่วม

 

จากนั้นปี 2552 คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิก MOU 2544 และให้นำเรื่องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ 

 

สำหรับเหตุผลที่ต้องการให้ยกเลิก เนื่องจากการที่รัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้ง ‘ทักษิณ’ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ โดยมองว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจรจาภายใต้ MOU 2544 แต่กระนั้นจนถึงปัจจุบัน MOU 2544 ก็ยังไม่ได้ถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการ

 

ต่อมาในปี 2554 รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีท่าทีชัดเจนว่าจะไม่ยกเลิก MOU 44 ยิ่งไปกว่านั้นยังจะเร่งเจรจากับกัมพูชาเพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนดังกล่าว 

 

ขณะที่ความคิดเห็นของประชาชนคนไทยจำนวนมากในขณะนั้นกลับ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการเจรจาตามกรอบ MOU 2544 เนื่องจากเห็นว่าอาจไทยเสียเปรียบ รวมทั้งมีข้อสงสัยและห่วงใยในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองไทยและนักการเมืองกัมพูชา สุดท้ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ถูกรัฐประหารโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปก่อน และทำให้การเจรจาล่มอีกครั้ง 

 

เรือขนสินค้าขณะกำลังแล่นออกจากเกาะกูด 

มุ่งหน้าไปยังบนฝั่งแผ่นดินจังหวัดตราด

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 


ยังคงเป็นเรื่องที่ค้างคามาจนถึงปัจจุบัน และการเจรจาจะถูกสานต่อด้วยอีกครั้งในรัฐบาลแพทองธาร โดยเริ่มมีความเคลื่อนไหวในการเรียกร้องให้ยกเลิก MOU ฉบับนี้ เริ่มต้นที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (ขณะนั้น) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า การที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมายกับกระทรวงการต่างประเทศนำ MOU 2544 ซึ่งไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภา ‘มาใช้ดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยและผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของไทยด้านอ่าวไทยเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญ’ หรือไม่ และขอให้วินิจฉัยยกเลิก 

 

แต่ท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 4 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ไม่รับคำร้องขอวินิจฉัย ด้วยเหตุว่า ไพบูลย์ไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรง

 

จากนั้นพรรคพลังประชารัฐเริ่มเคลื่อนไหวมากยิ่งขึ้น ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ แถลงข่าวที่รัฐสภาว่า ข้อความในเอกสาร MOU 2544 และแผนที่แนบท้าย แสดงให้เห็นว่าทั้งไทยและกัมพูชายอมรับว่ามีพื้นที่พัฒนาร่วมกันเพื่อเจรจาแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียม 

 

แต่แผนที่แนบท้ายของ MOU 2544 ใช้เส้นเขตแดนทะเลที่ประกาศโดยกัมพูชาในปี 2515 ซึ่งเส้นที่พาดผ่านเกาะกูดนั้นขัดกับสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 จึงมองว่า MOU 2544 ทั้งฉบับผิดกฎหมายและอาจส่งผลให้ไทยสูญเสียดินแดน

 

ขณะเดียวกัน ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ มองว่า ‘ทักษิณ’ และ ‘พรรคเพื่อไทย’ ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีประเด็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเป็น 1 ใน 6 ของข้อกล่าวหาด้วย

 

ก่อนจะนำมาซึ่งการปลุกความเป็นชาตินิยมบนโลกออนไลน์ มีการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ เรียกร้องให้ยกเลิก MOU 2544 ใช้เกาะกูดเป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วยการกล่าวอ้างว่าไทยมีโอกาสสูญเสียดินแดน จนส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งมีรายงานข่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว-ชาวบ้านในพื้นที่เกาะกูด แจ้งว่ามีการยกเลิกการเดินทางที่จองมาล่วงหน้าช่วงไฮซีซัน

 

นักท่องเที่ยวแห่ยกเลิกห้องพัก? 

 

THE STANDARD เดินทางไปเกาะกูดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อเท้าของเราเหยียบเกาะกูดครั้งแรก ซึ่งเป็นช่วงเย็นก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดินนั้น พบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ทำกิจกรรมบนชายหาดกว่า 80% ล้วนเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 

 

จากนั้นเราร่วมสนทนากับคนในพื้นที่ และร่วมหาคำตอบว่า แท้ที่จริงแล้ว ‘เกาะกูด’ ได้รับผลกระทบจากข้อพิพาทจากพื้นที่ทับซ้อนของทั้ง 2 ประเทศจนส่งผลต่อการท่องเที่ยวตามที่รายงานข่าวหรือไม่ 

 

นักท่องเที่ยวชาวยูเครนกำลังไกวชิงช้าริมทะเล  

ก่อนที่พระอาทิตย์จะลาลับขอบฟ้า จากหาดตะเภา เกาะกูด เหนืออ่าวไทย

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

 

ประวุฒิ รำไพ เจ้าของสีฟ้ารีสอร์ท เกาะกูด ซึ่งตั้งอยู่ที่หาดอ่าวตะเภา ยืนยันกับ THE STANDARD ว่า ที่พักของตนเองไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ขณะเดียวกันคนบนเกาะไม่ทราบข่าวเรื่องข้อพิพาทเท่าไรนัก คนส่วนใหญ่ต่างใช้ชีวิตของตนเองตามปกติ รวมถึงการยกเลิกที่พักล่วงหน้าด้วย นักท่องเที่ยวยังคงเดินทางเข้ามาพักตามปกติ 

 

กระนั้นเขาก็ยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซันและมีพายุมีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่มากนัก แต่ยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวกับกระแสข่าวครั้งนี้ และขณะนี้เมื่อเข้าสู่ช่วงไฮซีซันห้องพักก็เต็มตลอด 

 

เจ้าของสีฟ้ารีสอร์ท เกาะกูด ยังบอกอีกว่า จากกระแสข่าวดังกล่าว ตนเองเชื่อว่าอาจเป็นการช่วยส่งเสริมให้เกาะกูดนั้นมีชื่อเสียงมากขึ้น เกาะกูดมีน้ำทะเลสวยและใส ที่นี่เหมาะกับคนที่รักสงบ และยังได้สัมผัสธรรมชาติ

 

 

ประวุฒิ รำไพ เจ้าของสีฟ้ารีสอร์ท เกาะกูด

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

 

ขณะที่ผู้ประกอบการอีกรายกล่าวกับ THE STANDARD ถึงกระแสข่าวการยกเลิกการเดินทางที่จองมาล่วงหน้าช่วงไฮซีซันในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนว่า ตนเองพอทราบข่าวเช่นกัน แต่เห็นว่ายังมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาตามปกติ และตนเองก็ยังทำงานตามปกติเช่นกัน การยกเลิกการเดินทางที่จองมาล่วงหน้าเป็นเพียงบางส่วนเมื่อเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน 

 

เชื่อว่าหลังจากช่วงวันที่ 20 พฤศจิกายนเป็นต้นไป เกาะกูดจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ คนไทยจำนวนน้อยประมาณ 10% เท่านั้น ส่วนตัวมองว่าไม่ได้กระทบมากนัก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจ เพราะมองว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน 

 

“สำหรับใครที่กังวลสามารถเดินทางมาได้เลย เกาะกูดไม่ได้น่ากลัว มันเป็นเพียงเรื่องปากต่อปากที่พูดต่อๆ กัน แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่ได้มีอะไร แล้วคนในพื้นที่เองก็ไม่ได้กังวลอะไร”

 

นักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งกำลังทำกิจกรรมพายเรือคายัค

ก่อนที่พระอาทิตย์จะลาลับขอบฟ้าเหนืออ่าวไทย

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

 

ขณะที่ผู้ประกอบการเรือใบให้เช่าและฝึกกีฬาทางน้ำกล่าวกับ THE STANDARD ถึงกระแสข่าวการยกเลิกการเดินทางที่จองมาล่วงหน้าช่วงไฮซีซันว่า ตนเองได้รับผลกระทบเล็กน้อย นักท่องเที่ยวที่ยกเลิกส่วนมากเป็นคนไทย แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมีตามปกติ พร้อมทั้งยืนยันอีกเสียงว่าเกาะกูดมีความปลอดภัย ผู้คนเป็นมิตร และเป็นสุดยอดสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทย เราทุกคนที่นี่ล้วนอยู่ดีมีสุข ใช้ชีวิตเหมือนคนบนฝั่ง ทำกิจกรรมทุกอย่างที่เราต้องการ มีอิสระ จึงอยากที่จะเชิญชวนให้มาร่วมสัมผัสมัลดีฟส์เมืองไทยที่เกาะกูดด้วยกัน

 

สอดคล้องกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราด เปิดเผยข้อมูลว่า​ จากการสำรวจโดยใช้ฐานข้อมูล​ 20 โรงแรม​ในเกาะกูด แบ่งเป็นโรงแรม​ 5 ดาว​ 6 แห่ง​, 4 ดาว 3 แห่ง, 3 ดาว​ 9 แห่ง และ 2 ดาว​ 2 แห่ง รวมทั้งการคาดการณ์นักท่องเที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม​ พบว่า อัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น​ 1% ตามปกติ​ โดยที่อัตราการเติบโตไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด

 

แม้เกาะกูดจะไม่ได้รับผลกระทบจากการถูกดึงเป็นเครื่องมือทางการเมืองในครั้งนี้มากนัก แต่สำหรับปมปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาแล้ว ปัญหานี้จะคลายได้หรือไม่ หนทางนี้ยังอีกยาวไกล

กระนั้นให้จับตาวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายนนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ซึ่งถือว่าเป็น ‘ก้าวแรก’ เพื่อเจรจาเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทย-กัมพูชากับ JTC ของทางกัมพูชาต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising