×

‘กอบศักดิ์’ เตือนตั้งรับ Perfect Storm กระหน่ำเศรษฐกิจ ตลาดเกิดใหม่เสี่ยงเผชิญวิกฤตอีกรอบ

27.04.2022
  • LOADING...
กอบศักดิ์ ภูตระกูล

‘กอบศักดิ์’ เตือนมรสุมกระหน่ำเศรษฐกิจโลกอาจนำไปสู่วิกฤตในกลุ่ม Emerging Market คาดมีหลายประเทศเสี่ยงเดินตามรอยศรีลังกา แต่ยังเชื่อไทยไม่เกิดวิกฤตจากพื้นฐานที่แข็งแกร่ง แนะภาครัฐเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

 

กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ วิเคราะห์ถึงแนวโน้มและทิศทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่หรือ Emerging Market (EM) ในรายการ WEALTH IN DEPTH ของ THE STANDARD WEALTH ว่า ความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่เกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน ได้แก่ การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สงครามรัสเซีย-ยูเครน และการระบาดของโควิดในจีนที่มีโอกาสนำไปสู่ปัญหา Global Supply Shock ในขณะนี้ อาจส่งผลให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจขึ้นกับกลุ่มประเทศ EM หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีความเปราะบางและอ่อนแอเป็นทุนเดิมตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิดอยู่แล้ว

 

“เศรษฐกิจโลกเวลานี้กำลังเข้าสู่เฟสใหม่ หลังจากใช้มาตรการผ่อนคลายลดดอกเบี้ย กู้ยืมเงินมาอัดฉีดเพื่อประคองเศรษฐกิจจากโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อเรากำลังออกจากโควิด ยาต่างๆ ที่เคยให้คนป่วยไว้ก็ต้องถูกถอนออกเพื่อกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้เกิดเป็นความผันผวนที่รุนแรงในตลาดการเงินโลก ซึ่งคาดว่าเฟสใหม่ทางเศรษฐกิจนี้อาจกินเวลา 2-3 ปี” กอบศักดิ์กล่าว

 

กอบศักดิ์ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจโลกในรอบนี้มีความต่างไปจากวัฏจักรทางเศรษฐกิจปกติ เพราะในอดีตที่ผ่านมา เมื่อประเทศต่างๆ ออกจากวิกฤตทางเศรษฐกิจจะมีเวลาเก็บเกี่ยวเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเองเพื่อเตรียมพร้อมรองรับวิกฤตครั้งใหม่ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้กลับเป็นภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤต คือเมื่อพายุลูกเก่าผ่านไป ลูกใหม่ก็เข้ามาต่อในทันที โดยที่หลายประเทศยังไม่มีเวลาเก็บเกี่ยวทางเศรษฐกิจ

 

“สถานการณ์ตอนนี้มีความใกล้เคียงกับ Perfect Storm เข้าไปทุกทีแล้ว เรากำลังเจอกับทอร์นาโดหลายลูกติดๆ กัน อันที่จริงแค่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยอย่างเดียวก็หนักแล้ว แต่นี่ดันมีสงครามที่กระทบราคาพลังงานและเงินเฟ้ออีก ขณะที่การล็อกดาวน์ของจีนก็อาจนำไปสู่ปัญหาห่วงโซ่การผลิตในโลก กดดันเงินเฟ้อเข้าไปอีก” กอบศักดิ์กล่าว

 

กอบศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลจากความแปรปรวนของตลาดการเงินโลกในเวลานี้คือวิกฤตทางเศรษฐกิจที่จะตามมา โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ EM ที่มีความเปราะบางและมีหนี้สูงอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด เมื่อเกิดโควิด ดอกเบี้ยในโลกปรับลดลง ประเทศเหล่านี้ก็ยิ่งกู้เพิ่มเข้าไปอีก ทำให้เมื่อดอกเบี้ยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประเทศเหล่านี้จะได้รับผลกระทบที่หนักกว่าเดิม

 

“หนังตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดคือ ศรีลังกา เลบานอน และเชื่อว่ายังมีอีกหลายประเทศที่มีอาการใกล้เคียงกัน เช่น อาร์เจนตินา ฮังการี โคลอมเบีย แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ เนปาล บราซิล ประเทศเหล่านี้ก่อนเกิดโควิดเปรียบเหมือนคนกำลังจะจมน้ำ พอมีโควิดมาดอกเบี้ยลงก็เหมือนน้ำลดช่วยให้เขาพอหายใจได้ แต่เวลานี้น้ำกำลังจะกลับมาขึ้นแล้ว แต่การที่ประเทศเหล่านี้จะลอยตัวขึ้นมาหายใจก็ยิ่งทำได้ยากเพราะมีโซ่ตรวนพันธนาการเพิ่มจากหนี้ที่ก่อในช่วงโควิดอีก” กอบศักดิ์กล่าว

 

กอบศักดิ์ระบุว่า สัญญาณที่จะบ่งชี้ว่าประเทศใดมีความเสี่ยงจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตามมา คือระดับหนี้และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยประเทศที่มีการกู้ยืมเยอะในช่วงที่ผ่านมา มีหนี้สูงและมีการขาดดุลเดินสะพัด จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาตามมา 

 

อย่างไรก็ดี หากมองกลับมาที่ประเทศไทยจะพบว่าระดับหนี้สาธารณะของไทยยังสูงกว่า 60% เพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สูงมาก ขณะที่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็เชื่อว่าจะดีขึ้นได้เมื่อภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมา

 

“ผมคิดว่าไทยโชคดีที่ 2 ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้กู้เยอะและยังมีทุนสำรองสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่ใช่ทุกประเทศที่จะมีเงินสำรองเหมือนเรา ในภาพรวมจึงเชื่อว่าไทยจะผ่านมรสุมลูกนี้ไปได้ แต่ในระยะสั้นอาจโดนหางเลขความผันผวนในตลาดการเงินบ้าง เพราะนักลงทุนจะเหมารวมว่า EM ไม่ดี จึงเอาเงินออก แต่ในระยะยาวนักลงทุนจะเริ่มกลับมามองดูในรายละเอียดว่ามีประเทศใดเสถียรภาพดีและจะกลับเข้ามา” กอบศักดิ์กล่าว

 

กอบศักดิ์กล่าวอีกว่า ในปี 2565 นี้ไทยอาจจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการหาเครื่องยนต์ขับเคลื่อนใหม่ๆ เช่น การเร่งลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามา เนื่องจากเครื่องยนต์เดิมอย่างการส่งออกและการกระตุ้นการบริโภคผ่านมาตรการรัฐ เช่น คนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกันเริ่มอ่อนแรงแล้ว 

 

“ขณะนี้ถือเป็นโอกาสอันดีของอาเซียนและไทย เพราะนักลงทุนที่อยากเข้ามาเอเชียมองว่าจีนยังเข้าได้ยาก ขณะที่อินเดียก็ดูโน้มเอียงไปทางรัสเซีย อาเซียนจึงน่าสนใจ ถ้าเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม นักลงทุนก็จะเข้ามา เกิดเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศ ซึ่งหากภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาได้ด้วย เศรษฐกิจไทยก็น่าจะมีแรงขับเคลื่อนไปได้ถึงปลายปี” กอบศักดิ์กล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising