บทสัมภาษณ์ กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรณีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของจีนออกมาต่ำกว่าคาด โดย GDP ขยายตัวได้เพียง 0.4% จากที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 1% ขณะที่ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ขยายตัวที่ 3.9% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 4.1% กำลังสร้างความกังวลให้กับตลาดว่าจีนอาจจะไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวช่วยเศรษฐกิจโลกในยามที่เศรษฐกิจโลกกำลังจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงในปีหน้าได้เหมือนเคย
ล่าสุด กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kobsak Pootrakool โดยระบุถึงประเด็นดังกล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจจีนล่าสุดที่ออกมาถือเป็นสัญญาณเตือนภัยและมีนัยกับระบบเศรษฐกิจโลก เนื่องจากจีนเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจโลก เป็นเสาหลักที่ช่วยให้โลกผ่านวิกฤตต่างๆ มาได้
โดยหากมองย้อนกลับไปในช่วงต้มยำกุ้งจะพบว่าเศรษฐกิจจีนก็ขยายตัวได้อย่างน้อย 6.7% ขณะที่ในช่วง Subprime จีนก็ขยายตัวได้ 6.4% และในช่วงโควิดแรกๆ จีนก็กลับมาขยายตัวได้อย่างรวดเร็วจนมีคนบอกว่า ครึ่งหนึ่งของยอดขายแบรนด์หรูโลกระหว่างโควิดมาจากผู้บริโภคจีน
กอบศักดิ์วิเคราะห์ว่า การที่ GDP จีนขยายตัวได้แค่ 0.4% ส่วนหนึ่งคงมาจากการล็อกดาวน์เมืองต่างๆ แต่เมื่อลองไปดูลึกๆ จะพบว่า การที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวไม่ดีน่าจะมีปัจจัยอื่นๆ อีกเช่นกัน เพราะก่อนที่จะเผชิญโควิดระลอกใหม่ เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำกว่า 5% ถึง 6 ไตรมาส จาก 9 ไตรมาส เป็นหนังคนละม้วนกับช่วงก่อนหน้าที่จีนจะขยายตัวอย่างสม่ำเสมอ 6-8% ระหว่างปี 2012-2018 ขยายตัวอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ 10-15% ระหว่างปี 2003-2007
กอบศักดิ์กล่าวอีกว่า การที่เป็นเช่นนี้เพราะจีนกำลังเผชิญกับวิกฤตอสังหาที่ยังลุกลามบานปลายจาก Evergrande ได้กระจายไปยังบริษัทต่างๆ ล่าสุดบริษัท Shimao ต้องผิดนัดชำระหนี้ กระทั่ง Country Garden ที่เป็นเบอร์ 1 ก็ถูกกดดัน ราคาหุ้นตก ราคาหุ้นกู้ซื้อขายกันอยู่ที่ประมาณ 70% ของหน้าตั๋ว
“ถ้าเบอร์ 1 ยังมีปัญหา ก็หมายความว่าบริษัทอสังหาจีนส่วนใหญ่กำลังลำบาก ลูกค้าเริ่มไม่จ่ายค่างวดบ้านเพราะสร้างไม่เสร็จ เจ้าหนี้ไม่ยอมยืดหนี้ให้ ถ้าจะกู้ใหม่ดอกก็แพงลิ่ว ถูก Downgrade แถมราคาบ้านก็เริ่มลง ทำให้คนชะลอการซื้อออกไป” กอบศักดิ์ระบุ
ทั้งนี้ ภาคอสังหาเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ในจีน เมื่ออสังหาเกิดปัญหาก็จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง นำมาถึงเศรษฐกิจที่หมุนต่อลำบาก พอมาประจวบกับการระบาดของโควิด เจอผลกระทบจากวิกฤตในยุโรปและสหรัฐฯ การคลี่คลายปัญหาของจีนก็ไม่ง่าย ต้องลดดอกเบี้ย (ขณะที่คนอื่นขึ้น) อัดฉีดสภาพคล่อง (ขณะที่สหรัฐฯ เริ่มดูดกลับ)
นอกจากนั้นระหว่างที่สู้กับปัญหาเหล่านี้ ตัวเลขล่าสุดชี้ว่า เด็กที่จบใหม่ของจีน ตกงาน 1 ใน 5 มีแบงก์ล้มในเมืองเล็ก ข่าวเหล่านี้ไม่ใช่ข่าวของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งแต่เป็นข่าวของเศรษฐกิจที่กำลังสู้กับปัญหา ต้องปรับตัว และมีนัยต่อไปว่าจีนจะไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวช่วยเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ช่วงลำบากในปีหน้า จากทุกทีที่จะมีเศรษฐกิจจีนช่วงพยุงเศรษฐกิจโลกในยามคับขัน รอบนี้ผีซ้ำด้ำพลอย จีนจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้วิกฤตข้างหน้าแก้ได้ยากขึ้น
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP