×

‘กอบศักดิ์’ แนะทยอยซื้อหุ้นเทคสหรัฐฯ เชื่อผลตอบแทนในอีก 1-2 ปีข้างหน้าดีกว่าฝากแบงก์

08.03.2023
  • LOADING...

จากงานแถลงข่าวสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โดย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ FETCO ในวันนี้ (8 มีนาคม) ได้มีการอัปเดตผลการสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนแต่ละกลุ่มในตลาดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งโดยรวมแล้วยังอยู่ในเกณฑ์ ‘ร้อนแรง’ แต่ก็เป็นความเชื่อมั่นที่ลดลงจากเดือนมกราคม และใกล้จะกลับเข้าสู่ระดับ ‘เป็นกลาง’

 

ขณะเดียวกัน ดร.กอบศักดิ์ยังได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุนของโลกในปัจจุบัน โดยมองว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ เป็นกลุ่มที่น่าสนใจสำหรับการเข้าลงทุน 


บทความที่เกี่ยวข้อง


“หุ้นเทคสหรัฐฯ ที่เคยขึ้นไปในช่วงเดือนมกราคม ตอนนี้กลับลงมาเยอะแล้ว แต่ไม่มีใครรู้ว่าจุดต่ำสุดจะเกิดช่วงต้นปี กลางปี หรือปลายปี แต่ที่สำคัญคือปีนี้เป็นปีที่เราควรจะซื้อหุ้นในราคาที่เรารับได้ ซึ่งเป็นหุ้นที่เราเห็นโอกาส มีอนาคต และมีเทคโนโลยีที่ต้องใช้ต่อไป เช่น คลาวด์ หรือ AI” 

 

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะประชุมอีกครั้งวันที่ 22 มีนาคม โดยก่อนหน้าการประชุมราว 10 วัน Fed จะไม่มีการส่งสัญญาณใดๆ ออกมา (Silent Period) เพราะฉะนั้นกรรมการแต่ละท่านจะแสดงความเห็นในช่วง 3-4 วันนี้ และในช่วงที่ Fed เงียบ ตลาดจะคาดเดาในเรื่องต่างๆ หลายมุมมอง และตลาดจะปั่นป่วนอีกครั้ง 

 

“หุ้นเทคในเวลานี้เป็นโอกาสที่จะซื้อและถือยาว ระหว่างที่ถือไปก็อาจจะติดดอย หุ้นอาจจะตกต่อเนื่อง แต่ไม่มีใครซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำสุด เราควรซื้อราคาที่พอใจ หลังจากนั้นถือไว้ประมาณ 1-2 ปี ทุกราคาที่ซื้อวันนี้ อีก 1-2 ปีให้หลัง จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากแบงก์” 

 

ในความเป็นจริงแล้ว โอกาสของหุ้นไทยไม่มากเท่าต่างประเทศ เพราะปีก่อนหุ้นไทยลดลงไม่มาก แต่หุ้นต่างประเทศลดลงมาพอสมควร อย่าง Tesla ลดลงเกือบ 60% ขณะที่หุ้น NVIDIA ราคาลดลง 2 ใน 3 

 

“วันนี้มีหุ้นดีหลายตัวที่น่าสนใจที่น่าเข้าลงทุนในปีนี้ แต่การเข้าซื้อไม่ต้องเข้าทั้งหมดทีเดียว ควรทยอยซื้อ และเมื่อเข้าซื้อแล้วก็อย่าซื้อๆ ขายๆ ควรถือในระยะยาว” 

 

นอกจากประเด็นหุ้นเทคสหรัฐฯ ที่น่าสนใจแล้ว ดร.กอบศักดิ์ได้เปิดเผยถึง 4 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในปีนี้ 

 

  1. สงครามของ Fed กับเงินเฟ้อยังไม่จบ และจะสร้างความผันผวนต่อตลาดทุนไปอีกระยะหนึ่ง
     
    หลังจากที่เงินเฟ้อออกมาสูงกว่าคาดในเดือนธันวาคม และยังขึ้นต่อเนื่องในเดือนมกราคม ทำให้ Fed อาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งละ 0.25% นานกว่าที่คาด หรืออาจจะต้องกลับไปขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.5% 
     
    หากดูจากข้อมูลในอดีต Fed เคยขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ติดต่อกัน 17 ครั้ง ขึ้นดอกเบี้ยรวม 4.25% ในช่วงประมาณปี 2005-2006 ซึ่งในเวลานั้นเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 4-5% ขณะที่ครั้งนี้เงินเฟ้อยังคงสูงกว่า 6% ทำให้หากดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในท้ายที่สุดจะไปจบที่ 6% อาจไม่ใช่เรื่องผิดปกติ 

 

  1. โอกาสที่เปิดขึ้นในตลาดทุนอื่นๆ เช่น ตลาดหุ้นจีน ทำให้ความเป็น Safe Haven ของหุ้นไทยลดลง 
     
    หุ้นของประเทศอื่นๆ ดีขึ้น ทำให้เสน่ห์ของไทยลดลง สวนทางกับปีก่อนที่หุ้นไทยแข็งแกร่ง แต่หุ้นหลายประเทศลดลงแรง ทำให้ปีก่อนนักลงทุนวิ่งเข้าหาหลุมหลบภัยอย่างหุ้นไทย แต่ปีนี้ที่โอกาสเริ่มเปิดมากขึ้น ทำให้ทุกคนวิ่งออกไปแสวงหาโอกาส 

 

  1. ผลกระทบจากความซบเซาของเศรษฐกิจโลกกำลังส่งผลกระทบต่อไทย
     
    ตัวเลขการส่งออกของหลายประเทศในเอเชียติดลบในปีนี้ เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง โดยเมื่อเดือนมกราคมการส่งออกของไต้หวัน -21% เกาหลีใต้ -16% อินเดีย -6% จึงไม่น่าแปลกใจที่การส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบไปด้วย 

 

  1. การฟื้นตัวของจีนในปีนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
     
    จีนน่าจะออกจากวิกฤตโควิดแล้ว ขณะที่ตัวเลขคำสั่งซื้อผู้ผลิต (PMI) ของจีนดีขึ้นมาก สูงสุดรอบ 10 ปี ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางออกมามากขึ้นช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่เป้าหมายการเติบโตระดับ 5% น่าจะเกิดขึ้นได้ ทำให้จีนจะกลายเป็นประเทศที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทย 

 

จากบริบทที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนออกมาผ่านความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่แม้จะยังอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรงที่ระดับ 121 แต่ก็ลดลงจากเดือนก่อนหน้านี้ และใกล้จะกลับเข้าสู่ระดับเป็นกลาง หากต่ำกว่า 120 ลงไป

 

ทั้งนี้ ปัจจัยบวกที่นักลงทุนส่วนมากให้น้ำหนักมากที่สุดคือการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการเลือกตั้ง ส่วนปัจจัยที่กังวลคือสถานการณ์โควิด หนี้ครัวเรือน และการเลือกตั้งที่อาจไม่แน่นอน ส่วนกลุ่มหุ้นที่นักลงทุนสนใจมากที่สุดคือกลุ่มธนาคาร ท่องเที่ยว และพาณิชย์ 

 

นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์แนะนำว่ารัฐบาลควรเตรียมการให้เศรษฐกิจไทยมีแรงขับเคลื่อน ผ่านการลงทุนกับภาคท่องเที่ยวให้มากขึ้น เช่น ให้งบประมาณโฆษณากับ ททท. หรือผ่อนคลายเงื่อนไขการเข้าประเทศ เพราะในช่วงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้จะทำให้การใช้เงินงบประมาณของภาครัฐจำกัด 

 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรเร่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ สร้างความชัดเจนเรื่องนโยบายลงทุน โดยเฉพาะกรอบระยะยาวในการส่งเสริมการลงทุนโดย BOI 

 

ส่วนค่าเงินบาทควรจะบริหารจัดการไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป จากระดับปัจจุบันที่ราว 35 บาทต่อดอลลาร์ มองว่ายังสามารถอ่อนค่าได้อีกเล็กน้อย เพื่อช่วยให้การส่งออกประคองตัวอยู่ได้ และยังช่วยสนับสนุนภาคเกษตรและท่องเที่ยวอีกด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising