×

กอบศักดิ์ชี้ นายกฯ มาจากภาคเอกชนเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย เชื่อเศรษฐานำพาประเทศไปได้อีกระดับ

23.08.2023
  • LOADING...
กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ FETCO มองนายกรัฐมนตรีมาจากภาคเอกชนเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ชี้โจทย์ใหญ่ปีนี้คือการประคองเศรษฐกิจให้ผ่านช่วงที่คับขันที่สุดของเศรษฐกิจโลกไปให้ได้

 

วันนี้ (23 สิงหาคม) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวในงาน Thailand Focus 2023: The New Horizon ว่า ความเสี่ยงสำคัญที่สุดของประเทศไทยคือ ไทยเสี่ยงที่จะสู้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคไม่ได้ เช่น เวียดนาม สปป.ลาว และอินโดนีเซีย ดังนั้นการที่ไทยมีนายกรัฐมนตรีมาจากภาคเอกชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ พร้อมเชื่อว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยจะนำพาประเทศไปได้ในอีกระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

 

“นายกฯ ที่มาจากภาคเอกชน ประการแรก ท่านจะเข้าใจธุรกิจ ประการที่ 2 ท่านจะเข้าใจจุดสำคัญของภาคเอกชนคือ การบริหารให้ความสำเร็จเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว (Execution) สามารถจัดความสำคัญได้ว่าต้องทำเรื่องอะไรก่อน เพราะในจังหวะนี้ไทยต้องการการตัดสินใจเชิงธุรกิจในการเลือกว่าจะดำเนินการเรื่องไหน และทำให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยท่านนายกฯ ที่มาจากภาคเอกชนจะคุ้นเคยกับเรื่องนี้” กอบศักดิ์กล่าว

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความท้าทายในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลผสม ดร.กอบศักดิ์มองว่า จุดแข็งของพรรคเพื่อไทยคือความเป็นมือเก่า โดยเพื่อไทยเป็นรัฐบาลหลายครั้งแล้ว ดังนั้นเพื่อไทยจะรู้ว่าต้องทำอะไร แม้จะไม่ได้มีเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ก็มีข้อดีคือการประนีประนอม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำไปสู่การพิจารณาร่วมกันมากขึ้นในการดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำต้องขึ้นไปเท่าไร เพราะเพื่อไทยไม่ใช่เจ้าของบ้านคนเดียวแล้ว

 

ผู้สื่อข่าวยังถามถึงคุณสมบัติของรัฐมนตรีกระทรวงการคลังที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบัน ท่ามกลางบางกระแสข่าวที่ว่า เศรษฐา ทวีสิน อาจดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังควบเอง ดร.กอบศักดิ์ระบุว่า “ไม่เป็นไรเลย ตอนนี้เราต้องการคนที่ตัดสินใจ คนที่ Execute ได้ คนที่ตัดสินใจสิ่งต่างๆ ได้ นี่คือหัวใจ บางครั้งนักเศรษฐศาสตร์อาจไม่ใช่คำตอบ นอกจากนี้เพื่อไทยยังมีคนที่เคยดูแลกระทรวงการคลังมาแล้วหลายคน มีทีมที่ปรึกษาหลายคน ผมไม่หนักใจเลย”

 

ดร.กอบศักดิ์ยังแสดงความคิดเห็นต่อ GDP ไทยในไตรมาสที่ 2 ซึ่งออกมาต่ำกว่าคาดไว้ว่า เป็นผลมาจากภาคการส่งออกและภาคการผลิตของไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ดร.กอบศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่า ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญปัญหาในภาคส่งออก โดยเวียดนาม เกาหลีใต้ ไต้หวัน แม้กระทั่งจีน ก็กำลังเผชิญปัญหาส่งออกที่ลึกกว่าไทย 

 

“โจทย์ของเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่ใช่ว่าเราจะต้องโตให้ได้ 5% หรือ 6% แต่โจทย์ของปีนี้คือการที่เราจะต้องประคองเศรษฐกิจให้ผ่านช่วงที่คับขันที่สุดช่วงหนึ่งของเศรษฐกิจโลกไปให้ได้ แล้วปีหน้าเมื่อโอกาสต่างๆ เปิดขึ้น ไทยถึงจะสามารถหยิบฉวยโอกาสต่างๆ ได้ ดังนั้นหาก GDP ไทยทั้งปีนี้โต 3% ผมถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง” 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความเห็นต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ดร.กอบศักดิ์มองว่า ไทยต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจบ้างในช่วงต้นปีหน้า เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2567 น่าจะล่าช้าออกไปประมาณ 3 เดือน ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่น่าจะชะลอตัวลงยิ่งกว่านี้ อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่ไทยเหลืออยู่มีไม่มากแล้ว

 

ส่วนนโยบายส่งเสริมตลาดทุน ดร.กอบศักดิ์เปิดเผยว่า สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเตรียมหารือกับรัฐบาลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ตัวอย่างเช่น การแก้ไขกฎเกณฑ์และกฎหมายต่างๆ, การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ เพื่อทำให้การอนุมัติ การอนุญาต และการติดต่อต่างๆ เป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น

 

สำหรับประเด็นเรื่องภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax) ดร.กอบศักดิ์เปิดเผยว่า ต้องให้รัฐบาลใหม่ตัดสินใจ โดย FETCO พร้อมเข้าไปให้ข้อมูลและดำเนินการร่วมกับรัฐบาลให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ดร.กอบศักดิ์เตือนว่า การเก็บภาษีในภาคส่วนนี้ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกผันผวน จึงต้องพิจารณาถึงเรื่องที่เหมาะสม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising