‘กอบศักดิ์’ คาด Fed ไม่แคร์ภาวะถดถอย เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยถึงระดับ 5% เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ เตือนโลกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยไปด้วยหลังยุโรปและจีนต่างมีปัญหา มองไทยยังฟื้นตัวเปราะบาง ปีหน้าต้องฝากความหวังไว้ที่การท่องเที่ยว
กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวในงานเสวนา เศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้น จัดโดยบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวงว่า แนวทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในช่วงต่อจากนี้จะพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่
- อาการของเงินเฟ้อภายในประเทศ โดย Fed จะนำความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมัน ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ มาพิจารณาควบคู่กับความรวดเร็วในการลดลงของเงินเฟ้อ และความห่างจากเป้าของเงินเฟ้อที่ 2%
- พฤติกรรมของคาดการณ์เงินเฟ้อ โดยหากคาดการณ์เงินเฟ้อยังอยู่สูง การขึ้นดอกเบี้ยจะดำเนินต่อไป
- ระยะห่างจากจุด Neutral Zone หรือความเป็นกลางของดอกเบี้ย ซึ่งในกรณีของสหรัฐฯ จุดนี้อยู่ที่ระดับ 2-3% โดย Fed จะเร่งขึ้นต่อเนื่องหากระดับดอกเบี้ยยังไม่เกิน Neutral Zone แต่จะเริ่มชะลอการขึ้นและเพิ่มความระมัดระวังเมื่อดอกเบี้ยพ้นจากจุด Neutral Zone แล้ว
- ข้อมูลอื่นๆ ที่สะท้อนความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ
กอบศักดิ์ระบุว่า ปัจจุบันตลาดยังคาดการณ์ว่า Terminal Rate ของ Fed จะปรับขึ้นไปถึงระดับ 4.06% แต่ส่วนตัวยังมองว่าระดับดังกล่าวไม่น่าจะเพียงพอในการควบคุมเงินเฟ้อ โดยเชื่อว่า Fed จะต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นไปถึงระดับ 5% เป็นอย่างน้อย
“นโยบายการเงินกับนโยบายการคลังของสหรัฐฯ ไม่ได้เดินไปด้วยกัน ฝ่ายคลังก็มีโจทย์ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะจะมีการเลือกตั้ง ส่วน Fed ก็มีโจทย์ต้องดูแลเงินเฟ้อ โดยทั้งสองฝ่ายจะทำหน้าที่ของตัวเองโดยไม่สนใจปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับอีกฝ่าย ทำให้การจัดการเงินเฟ้อของ Fed จะยากขึ้น และอาจต้องขึ้นดอกเบี้ย Extra อีกเพื่อชดเชยสิ่งที่คลังทำ” กอบศักดิ์กล่าว
กอบศักดิ์กล่าวอีกว่า โจทย์ใหญ่ของ Fed ในเวลานี้คือการจัดการเงินเฟ้อ โดยเชื่อว่าในกรณีที่จำเป็น Fed จะใช้ภาวะถดถอยหรือ Recession เป็นเครื่องมือหรืออาวุธในการจัดการเงินเฟ้อเสียเอง เนื่องจากมองว่าเป็นราคาที่คุ้มจ่าย ดีกว่าปล่อยให้เงินเฟ้ออยู่นาน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายมากกว่า
“ในความพยายามต่อสู้กับเงินเฟ้อ 12 ครั้งที่ผ่านมาของ Fed มีเพียง 3 ครั้งที่ Fed เอาชนะได้ คือ ทำให้เกิด Soft Landing และ Fed ยังมีบทเรียนในอดีตด้วยว่าหากปรับลดดอกเบี้ยเร็วไปเงินเฟ้อจะกลับมา ผมจึงมองว่า Fed จะไม่ลังเลที่จะใช้ Recession จัดการกับเงินเฟ้อ” กอบศักดิ์กล่าว
กอบศักดิ์ระบุอีกว่า ขณะนี้มีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยที่ไม่ใช่การถดถอยทางเทคนิคในต้นปีหน้า หากพิจารณาจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายๆ ตัว เช่น ดัชนี PMI ที่ปรับตัวลดลง และยอดขายบ้านที่ลดลง 50% จากปี 2020 แต่จะถดถอยลึกแค่ไหนจะขึ้นอยู่กับปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นสำคัญ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าความลึกของ Recession ของสหรัฐฯ ในรอบนี้จะกินเวลาประมาณ 4 ไตรมาส
“Fed บอกว่าตลาดแรงงานยังฟื้นตัวดี แต่ PMI และตลาดอสังหาตอนนี้แย่มาก เปรียบเหมือนกับคนที่ติดโควิด ตรวจแล้วยังไม่ขึ้นสองขีดแต่อาการมันใช่ทุกอย่าง รอแค่เวลาเท่านั้น” กอบศักดิ์กล่าว
กอบศักดิ์ยังวิเคราะห์ถึงภาวะเศรษฐกิจของกลุ่ม EU และสหราชอาณาจักรในขณะนี้ว่า มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยคล้ายกับสหรัฐฯ แต่มีปัจจัยเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนเพิ่มเข้ามา โดยมีความเป็นไปได้ที่การสู้รบจะลากยาวเกินไปกว่าปีนี้ เพราะสหรัฐฯ และ EU ต้องการให้ยูเครนต่อสู้ไปเรื่อยๆ จนกว่ารัสเซียจะอ่อนแอเพื่อเปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่ในยุโรป ลดเกรดรัสเซียลง ทำให้ล่าสุดรัสเซียต้องตัดการส่งก๊าซเพื่อตอบโต้
“ราคาก๊าซในยุโรปขึ้นมา 10 เท่าแล้วจาก 2 ปีก่อน หากสถานการณ์ยังดำเนินต่อไปจะทำให้ร้านค้า ร้านอาหาร โรงงานต้องปิดตัว ยิ่งเข้าฤดูหนาวก็จะกระทบภาคครัวเรือนด้วย เรื่องนี้อาจนำไปสู่การประท้วงใหญ่ในยุโรป โดยปัจจุบันยุโรปใช้เงินอุดหนุนค่าพลังงานให้กับประชาชนไปแล้วมากถึง 3.75 แสนล้านยูโร หากยังเดินหน้าต่อคนจะไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ” กอบศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ กอบศักดิ์ยังกล่าวถึงเศรษฐกิจจีนว่า ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีขนาดใหญ่ถึง 25-30% ของ GDP กำลังสุกงอมขึ้นเรื่อยๆ รอวันที่จะระเบิดจนกลายเป็นวิกฤตในที่สุด โดยจีนมีทางเลือกสองทาง คือ จะแก้ปัญหาในรูปแบบญี่ปุ่น คือเลี้ยงปัญหาไว้แลกกับการที่เศรษฐกิจชะลอตัวนับ 10 ปี หรือจะเลือกใช้วิธีแบบสหรัฐฯ และไทย คือ ปล่อยให้ฟองสบู่แตก ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 ปีเพื่อกอบกู้สถานการณ์กลับมา
“ที่ผ่านมาเวลาโลกมีปัญหาจะมีจีนช่วยประคองไว้ แบรนด์เนมจะยังขายได้ในจีน แต่รอบนี้จีนเองก็มีปัญหา ที่น่ากังวลคือการที่หลายประเทศมีปัญหาพร้อมๆ กัน อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย เกิดเป็น Global Recession” กอบศักดิ์กล่าว
สำหรับเศรษฐกิจไทย กอบศักดิ์กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุดยังดูน่ากังวลใจ มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่ออกมาดูดี ทำให้การฟื้นตัวในภาครวมยังเปราะบาง การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยจึงยังต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยในสิ้นปีนี้จะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1.25-1.5% จากนั้นในปี 2023 การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะมีข้อจำกัดมากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย การส่งออกจะเริ่มมีปัญหามากขึ้น
ทั้งนี้ ไทยจะต้องตั้งรับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่จะเกิดขึ้น โดยเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจในปีหน้าอาจต้องฝากความหวังไว้ที่ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีแนวโน้มจะฟื้นตัวมากขึ้นหากจีนปล่อยให้นักท่องเที่ยวออกมานอกประเทศได้ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปีหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 2.5 ล้านคนต่อเดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- ‘อาคม’ เผยต่ออายุลดภาษีสรรพสามิตดีเซลอีก 2 เดือน คลังสูญรายได้ 2 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ปีงบ 66 ที่ 2.49 ล้านล้านบาท
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP