×

ปู่คออี้: มายาคติของการแยกคนออกจากป่า

05.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ใจกลางของปัญหาเรื่องปู่คออี้ เกิดจากคอนเซปต์เรื่องที่ดินของรัฐไทยที่อธิบายพื้นที่ป่าให้กลายเป็นสมบัติของรัฐ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิที่ดินตามจารีต (Customary Land) หรือก็คือ สิทธิในการครอบครองที่ดินที่มีมาก่อนกฎหมายของรัฐจะประกาศใช้
  • รากความคิดที่ทำให้รัฐไทยพยายามเอาคนออกจากป่ามาจากเหตุผล 2 ประการหลัก คือ ความเชื่อที่มองว่า ชนพวกอื่นที่ไม่ใช่ไทย เป็นคนที่เพิ่งอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย และอีกเหตุผลคือ มีการอธิบายว่า กลุ่มคนที่อยู่ในป่า เช่น ชาวเขา เป็นต้นเหตุของการทำลายป่าไม้

ระหว่างที่ผมเดินเที่ยวกับชาวญัฮกุรที่ทุ่งดอกกระเจียว อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม เมื่อไม่นานมานี้ พี่พนม ซึ่งผมรู้จักมานานหลายปี ได้เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงติดตลกว่า เมื่อตอนเด็กๆ อยากมาเที่ยวทุ่งดอกกระเจียวกับเขาบ้าง ก็จะเดินตัดป่ามากับเพื่อนๆ เพราะจะได้ไม่ต้องเสียเงินค่าเข้า

 

เรื่องนี้ทำให้ผมตั้งคำถามว่า ทำไมคนพื้นเมืองดั้งเดิมจะต้องเสียค่าเข้าอุทยานแห่งชาติด้วย ทั้งๆ ที่พื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่หากินของพวกเขา และแน่นอนว่า พวกเขาอยู่มาก่อนที่อุทยานจะตั้งขึ้นมาหลายปีนัก

 

เรื่องนี้ก็ทำให้ผมนึกไปถึงเรื่องของปู่คออี้ที่ป่าแก่งกระจาน ผู้นำทางจิตวิญญาณกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่เพิ่งเสียชีวิตลงอย่างสงบในวัย 107 ปี หลังผ่านการต่อสู้เรื่องสิทธิของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่มาอย่างยาวนาน

 

12 มิถุนายนที่ผ่านมา ก่อนที่จะเสียชีวิต ศาลได้ตัดสินให้ปู่คออี้ต้องออกจากผืนป่าที่ที่ปู่กิน ‘น้ำนมหยดแรก’ เพราะปู่คออี้ไม่มีเอกสารหรือหนังสือจากทางราชการยืนยันการครอบครองพื้นที่ แม้ว่าจะชนะคดีและได้รับค่าสินไหมทดแทนจากการที่รัฐสั่งเผาไล่รื้อบ้านเรือน

 

เพื่อย้อนรำลึกถึงการต่อสู้ของปู่คออี้ บทความนี้จะอธิบายมายาคติ 2 ประการว่า อะไรเป็นแรงผลักดันที่กำหนดให้ทางการไทยต้องการเอาคนออกจากป่า

 

เหตุผลแบบมายาคติที่ต้องไล่ชาวเขาออกจากป่า

ผมคิดว่า รากความคิดที่ทำให้รัฐไทยพยายามเอาคนออกจากป่ามาจากเหตุผล 2 ประการหลัก คือ เหตุผลแรก มาจากความเชื่อที่มองว่า ชนพวกอื่นที่ไม่ใช่ไทย เป็นคนที่เพิ่งอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย และอีกเหตุผลคือ มีการอธิบายว่า กลุ่มคนที่อยู่ในป่า เช่น ชาวเขา เป็นต้นเหตุของการทำลายป่าไม้

 

ชนพวกอื่นที่ไม่ใช่ไทย เป็นคนที่เพิ่งอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศ

ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4-5 รัฐบาลสยามต้องเผชิญกับปัญหาดินแดนกับอังกฤษและฝรั่งเศส ต้องเลือกว่า ใครจะกลายมาเป็นพลเมืองของสยาม ด้วยเหตุนี้ ทำให้มีการใช้ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา และภาษาศาสตร์ ในการจัดจำแนกกลุ่มคนว่าใครเป็นไทย ใครไม่ใช่ไทย และใครควรจะรวมเข้ามาสู่ประเทศสยาม

 

ผลจากความคิดข้างต้น ทำให้ระยะนี้เองที่เริ่มเกิดความรู้ในการอธิบายว่า คนในล้านนา คนในอีสาน เป็นไทย ไม่ใช่ลาว – ในความหมายที่หมายถึงคนอื่นอีก – แต่เป็น ‘ไท’ หรือ ‘สยาม’ ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะถ้าไม่อธิบายเช่นนั้น ก็อาจเป็นข้ออ้างให้ฝรั่งเศสหรืออังกฤษอ้างสิทธิเหนือดินแดนได้

 

ขณะที่กลุ่มคนอื่นที่ไม่พูดภาษาตระกูลไท ชนชั้นนำสยามได้จัดให้เป็นกลุ่มคนที่ด้อยกว่าในอารยธรรม และมีบางกรณีที่ถูกคัดเลือกว่าสมควรที่จะรวมเข้ามาอยู่ในประเทศสยามหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีไปสำรวจกลุ่มคนในเขตหลวงพระบาง ได้ประเมินว่า กลุ่มคนที่อยู่ในป่านั้นยากที่จะ ‘บำรุงเลี้ยงรักษา’ ทำให้ไม่เลือกที่จะกวาดต้อนคนพวกนี้เข้ามา (เจิม แสงชูโต, 2515)

 

ภาพถ่ายเก่าของชาวกะเหรี่ยง (กร่าง) ที่มณฑลราชบุรี ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2468 (จากหนังสือ สมุดราชบุรี)

 

กระบวนการคัดเลือกชนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ไทยนี้แหลมคมมากขึ้นในช่วงสงครามเย็น (พ.ศ. 2490-2530) เพราะมี ‘ชนกลุ่มน้อย’ อพยพลี้ภัยสงครามเข้ามามหาศาล ไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยง ม้ง มูเซอ ลีซู เมี่ยน ซึ่งทางการไทยไม่ไว้วางใจ เพราะเกรงว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์แฝงตัวเข้ามา ประกอบกับสถานการณ์คอมมิวนิสต์รุนแรงมากขึ้นนับจาก พ.ศ. 2508

 

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ทางการไทยไม่แน่ใจว่า ใครเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมหรือเพิ่งอพยพเข้ามาใหม่ เพราะในสมัยก่อนระบบทะเบียนราษฎรยังไม่ดีพอ ส่งผลให้เกิดความคิดแบบเหมารวมว่า กลุ่มชาติพันธุ์เดิมในไทยเป็นผู้อพยพเข้ามาใหม่ และส่งผลถึงปัจจุบันที่บางกลุ่มไม่ได้รับสัญชาติไทยไปด้วย

 

กลุ่มคนที่อยู่ในป่า เป็นต้นเหตุของการทำลายป่าไม้

ป่าไม้ได้กลายเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าสูงในสมัยอาณานิคม คือเมื่อร้อยกว่าปีก่อน โดยเฉพาะไม้สัก ทำให้พื้นที่ป่าที่มักอยู่ตามภูเขาและพื้นที่สูง ซึ่งเต็มไปด้วยชาวเขาที่ทำการเกษตรแบบเผาป่าเพื่อทำไร่ ถูกชนชั้นนำสยามและชาวต่างชาติ เช่น เฮอร์เบิร์ต วอริงตัน สมิธ เจ้ากรมราชโลหกิจ เมื่อ พ.ศ. 2438 มองว่า เป็นการทำเกษตรกรรมที่ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย “…ผลประโยชน์หรือผลผลิตที่ได้รับเป็นจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับป่าที่ถูกทำลายลงไป” (สมิธ 2544ก: 130)

 

นอกจากนี้ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ความรู้ด้านป่าไม้ยังอธิบายด้วยว่า ชาวเขา เช่น แม้ว กะเหรี่ยง เป็นกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตแบบ ‘เร่ร่อน’ ทำให้ผืนป่าถูกทำลายไปเรื่อยๆ เป็นขนาดกว้าง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ราบ (Cupet 2000: 35; แมคคาร์ธี 2533: 19)

 

ทัศนะดังกล่าวนี้ ไม่ได้ปรากฏเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากยังพบทั่วไปตามประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า อินโดนีเซีย แนวความคิดเช่นนี้สืบทอดมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะในสมัยสงครามเย็นที่ทางการไทยเข้าไปควบคุมชาวเขา และบังคับบางกลุ่มให้ออกจากพื้นที่ป่า และแน่นอนว่า ยังคงปรากฏให้เห็นเป็นมายาคติในปัจจุบันว่า ชาวเขาคือผู้ที่ทำลายป่าไม้

 

กะเหรี่ยงในกิจการทำไม้ในป่าสมัยรัชกาลที่ 6

ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

กะเหรี่ยงไม่ใช่ New Comer แต่เป็นชนดั้งเดิม

ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 70 กลุ่ม แต่ละกลุ่มล้วนมีประวัติศาสตร์ของตนเอง บางกลุ่มเป็นกลุ่มชนดั้งเดิม อยู่อาศัยมาก่อนคนไท บางกลุ่มเพิ่งจะอพยพเข้ามา ด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจและการเมือง

 

แต่ไม่ว่าใครจะเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมหรือมาใหม่ คนไทยก็มักไม่ค่อยรู้ประวัติความเป็นมาของพวกเขา เพราะบ้านเราไม่มีวิชาว่าด้วยประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในระบบการศึกษา ทำให้เกิดความคิดเหมารวมไปว่า ทุกกลุ่มคือคนที่อพยพมาใหม่ไปเสียหมด

 

กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลจีน-ทิเบต เป็นไปได้ว่า เริ่มเคลื่อนย้ายมาในเขตพม่าตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 กอร์ดอน เฮช. ลูซ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่า อ้างว่า จารึกในระยะต้นของพม่าได้กล่าวว่า ชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้บริจาคสิ่งต่างๆ ให้กับวัดในศาสนาพุทธ และบางครั้งก็ถูกเกณฑ์ให้เป็นข้าวัดดูแลพระด้วย

 

ชาวกะเหรี่ยงที่บ้านเมืองแพม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2547

 

แต่ด้วยความขัดแย้งกับปยูและพม่า ทำให้ชาวกะเหรี่ยงต้องเคลื่อนย้ายไปอยู่ในเขตภูเขาที่เป็นรอยต่อระหว่างรัฐใหญ่ในที่ราบ อีกทั้งเมื่อกลุ่มคนไท/ไต เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตประเทศพม่าและไทย ได้เบียดขับให้ชาวกะเหรี่ยงต้องค่อยๆ ขยายตัวไปเรื่อยๆ ตามแนวแม่น้ำสาละวิน และไปตามเทือกเขาถนนธงชัยตะวันตก-ตะนาวศรี (ชารล์ส คาย์ส, 2006) ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ตามแนวพรมแดนไทย-พม่าเป็นหลักนั่นเอง

 

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ระบุว่า กะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในเขตไทย ก่อนที่ชาวไทยจะเคลื่อนย้ายลงมาแหลมสุวรรณภูมิ แต่เป็นจำนวนเล็กน้อย และเข้ามาอยู่ภายหลังพวกลัวะ ดังปรากฏอยู่ในตำนานพระธาตุและพงศาวดารเมืองเหนือหลายฉบับ

 

อำนาจของกะเหรี่ยงเป็นที่ยำเกรงต่อราชสำนักล้านนาเป็นอย่างมาก โดยในสมัยหลัง เมื่อต้องมีการแบ่งเขตแดนในยุคต้นของสมัยราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนคือ เจ้ากาวิละ ทางล้านนาได้ตกลงเขตแดนกับเจ้าเมืองกะเหรี่ยงแดง โดยใช้แม่น้ำสาละวิน ซึ่งทั้งสองฝ่ายยึดเอาเขาควายคนละข้างเป็นหลักฐานของการถือสัตย์ปฏิญาณต่อกัน (สรัสวดี อ๋องสกุล, 2544)

 

ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวกะเหรี่ยงมีบทบาทในอุตสาหกรรมป่าไม้อย่างมาก เพราะชำนาญป่าและเลี้ยงช้าง ในระยะนี้เองที่เอกสารไทยจะบันทึกเรื่องชาวกะเหรี่ยงมากขึ้น ในส่วนของกะเหรี่ยงในเขตกาญจนบุรีและเพชรบุรีได้รับการกล่าวถึงในหนังสือชื่อว่า สมุดราชบุรี (พ.ศ. 2468) ระบุว่า ชาวกะเหรี่ยงเข้ามาอยู่ในเขตนี้ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และเคยมีสถานะเป็นถึงเจ้าเมืองสังขละบุรี

 

ถึงแม้ว่าชาวกะเหรี่ยงจะอาศัยในเขตประเทศไทยมาช้านาน แต่สาเหตุที่ทำให้ทางการไทยมีท่าทีไม่ไว้วางใจ และมองว่าเป็นคนอื่นนั้น หลักๆ แล้วมาจากปัญหาในช่วงสงครามเย็น ที่รัฐบาล เช่น ในสมัยจอมพลสฤษดิ์วิตกกังวลว่า ชาวเขาจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ อีกทั้งยังเกิดความรุนแรงในเขตชายแดนด้านตะวันตกของไทยที่ติดกับรัฐกะเหรี่ยง (กะยา) เพราะต่อสู้กับพม่า เพื่อปลดปล่อยตนเองเป็นอิสระ ทำให้มีกะเหรี่ยงจากพม่าจำนวนมากอพยพเข้ามาในไทย

 

จะว่าไปแล้ว ใจกลางของปัญหาเรื่องปู่คออี้ เกิดจากคอนเซปต์เรื่องที่ดินของรัฐไทย ที่อธิบายพื้นที่ป่าให้กลายเป็นสมบัติของรัฐ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิที่ดินตามจารีต (Customary Land) หรือก็คือ สิทธิในการครอบครองที่ดินที่มีมาก่อนกฎหมายของรัฐจะประกาศใช้ ประกอบกับเป็นผลมาจากมายาคติที่มองว่า ชาวกะเหรี่ยงเป็นคนอื่น เป็นผู้ทำลายป่าไม้นั่นเอง

 

ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้พยายามแยกคนออกจากป่า และปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความรุนแรง ซึ่งในท้ายที่สุด ได้มีการตัดสินให้ชาวกะเหรี่ยงที่บ้านบางกลอยบนต้องออกจากป่าที่เป็นบ้านเกิดของพวกเขา ในทัศนะของผม ทั้งแนวปฏิบัติของป่าไม้และศาลจะกลายเป็นบรรทัดฐานบางอย่างในอนาคต เราคงมีป่าที่มีแต่ต้นไม้แต่ไม่มีคน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับธรรมชาติมาช้านาน

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • Cupet, Captain P. 2000.  Travels in Laos and among the Tribes of Southest Indochina.  Bangkok: White Lotus Press.
  • ชลธิรา สัตยาวัฒนา. 2546. สิทธิชุมชนท้องถิ่นพื้นเมืองดั้งเดิมล้านนา: กรณีศึกษาชุมชนลัวะ ยวน ลื้อ ปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ในจังหวัดน่าน เชียงราย และเชียงใหม่.  กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
  • ชารล์ส คาย์ส. 2006. กะเหรี่ยงในประวัติศาสตร์ไทย และประวัติศาสตร์ของกะเหรี่ยงในประเทศไทย, แปลโดย คมลักษณ์ ไชยยะ. จาก: https://sopa2006.wordpress.com/ [เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2559].
  • บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. 2545. ชาวเขาในไทย.  กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.
  • แมคคาร์ธี, เจมส์ (พระวิภาคภูวดล). 2533. บันทึกการสำรวจและบุกเบิกในแดนสยาม (Surveying and exploring in Siam), แปลโดย น.ท.หญิง สุมาลี วีระวงศ์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร.
  • สมิธ, เฮอร์เบิร์ท วาริงตัน. 2544.  ห้าปีในสยาม, เล่ม 1. แปลและเรียบเรียงโดย เสาวลักษณ์ กีชานนท์.  กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2544.
  • สมุดราชบุรี. 2550. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สมาคมมิตรภาพญี่ปุ่น-ไทย ด้วยความร่วมมือของสถาบันจักรวาลวิทยา.
  • สุรศักดิ์มนตรี, เจ้าพระยา, (เจิม แสง-ชูโต). 2515. ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาค 5 : ว่าด้วยชาวป่าชาติต่างๆ.  ใน ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ, เล่มที่ 1. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บรรณาคาร.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising