เกิดอะไรขึ้น:
เย็นวานนี้ บมจ. ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/63 ที่ 1.48 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% YoY สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.26 พันล้านบาท โดยกำไรสุทธิที่เติบโตอย่างโดดเด่นเกิดจาก
1) สินเชื่อที่ขยายตัวได้ดี 6% YoY จากสินเชื่อหลายประเภท เช่น สินเชื่อบรรษัทขยายตัว 12% YTD, สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 9% YTD, สินเชื่อเช่าซื้อขยายตัว 1.8% YTD, สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัว 4.5% YTD, สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัว 3.6% YTD และสินเชื่อ Micro SMEs ขยายตัว 1.6% YTD ขณะที่สินเชื่อ SMEs หดตัวลง 1.1% YTD
2) ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) กว้างขึ้น 30 bps เกิดจากต้นทุนเงินลงทุนที่ลดลงจากการปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูลงจาก 0.46% สู่ 0.23%
3) รายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย (Non-NII) เพิ่มขึ้น 48% YoY เกิดจากกำไรจากธุรกรรมเพื่อค้าและเงินลงทุน
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (21 เมษายน 2563) ราคาหุ้น KKP ปรับขึ้นทำจุดสูงสุดระหว่างวันที่ 43.00 บาท สวนทางตลาดหุ้นไทยที่เคลื่อนไหวในแดนลบตลอดทั้งวัน โดยราคาปิดวันนี้ที่ราคา 42.50 บาท เพิ่มขึ้น 3.66% DoD
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดว่าผลประกอบการของ KKP จะเริ่มเห็นผลกระทบจากโควิด-19 ที่ชัดเจนมากขึ้นในไตรมาส 2/63 ซึ่งจะสะท้อนในแง่คุณภาพของสินทรัพย์ที่อาจแย่ลง ส่งผลให้ต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) เพิ่มขึ้น
แต่อย่างไรก็ดี SCBS มองว่าราคาหุ้นได้สะท้อนปัจจัยลบดังกล่าวนี้แล้ว โดยราคาหุ้น KKP ได้ปรับตัวลงมาแล้วกว่า 35.6% YTD
มุมมองระยะยาว:
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการตลอดทั้งปี 2563 ของ KKP SCBS คาดว่าจะหดตัว 31% YoY สู่ระดับ 4.13 พันล้านบาท โดยปัจจัยกดดันหลักๆ คือ การตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนผลคุณภาพสินทรัพย์ที่แย่ลงจากผลกระทบของโควิด-19 รวมถึงมีผลขาดทุนจากทรัพย์สินรอการขายก้อนใหญ่ ซึ่งจะทำให้ KKP รับรู้ผลขาดทุนดังกล่าวในปี 2563 นี้
ข้อมูลเพิ่มเติม:
% YTD คือ % การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน
% QTD คือ % การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นไตรมาสจนถึงปัจจุบัน
% YoY คือ % การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเดียวกันเทียบกับปีก่อนหน้า
% QoQ คือ % การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเดียวกันเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
1 Basis Points หรือ bps เท่ากับ 0.01%
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์