กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP ยอมรับว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งหลังปี 2564 น่าจะลดลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาที่เร่งให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น กระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศและผู้ประกอบการภาคธุรกิจเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม KKP ได้เพิ่มเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อทั้งปี 2564 ขึ้นเป็น 8-12% จากเป้าหมายเดิมที่มองการขยายตัวที่ 5% หลังจากที่ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีการเติบโตที่ดีในทุกแขนงธุรกิจ
อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP กล่าวว่า สถานการณ์โควิดในระยะที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดว่าส่งผลกระทบไม่สม่ำเสมอกันสำหรับลูกค้าในแต่ละกลุ่ม จึงยังตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อรวมแบบระมัดระวังในกลุ่มที่มีศักยภาพที่ 8-12% เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสินเชื่อกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ อีกทั้งยังเตรียมพร้อมสำหรับการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่
“ผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรในครึ่งปีแรก โดยรวมมีความแข็งแรงจากแหล่งที่มารายได้ที่หลากหลาย โดยเฉพาะธุรกิจตลาดทุนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดมากเท่าภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นมาตรการเชิงป้องกันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนและอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในอนาคต ธนาคารจึงยังคงตั้งสำรองอยู่ในระดับที่สูง โดยสำหรับไตรมาส 2/64 เป็นจำนวน 1,378 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ได้มีการพิจารณาตั้งสำรองพิเศษ (Management Overlay) รวมอยู่ด้วย” อภินันท์กล่าว
ฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ให้รายละเอียดในส่วนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ว่า ในสถานการณ์โควิด การรักษาการเติบโตในสินเชื่อกลุ่มที่มีคุณภาพและมีความสามารถที่จะชำระหนี้จะช่วยรักษาอัตราผลตอบแทนของพอร์ตสินเชื่อรวมให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ดังนั้นกลยุทธ์ด้านสินเชื่อของธนาคารคือการเติบโตแบบระมัดระวังในกลุ่มที่มีศักยภาพ ควบคู่ไปกับการตั้งสำรองอย่างระมัดระวังสำหรับผลขาดทุนด้านเครดิต และการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นสิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญอย่างมาก ก็คือการให้ความช่วยเหลือกับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ไม่ว่าสินเชื่อรายย่อยหรือสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะภายใต้สมมติฐานว่าสถานการณ์อาจดำเนินติดต่อไปเป็นระยะเวลานาน
ทั้งนี้ธนาคารได้ใช้ข้อมูลการชำระหนี้ของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมาออกแบบมาตรการช่วยเหลือที่ตอบโจทย์ที่สุด โดยปัจจุบันธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าในทุกประเภทสินเชื่อ คิดเป็นกว่า 40% ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร
ด้าน ปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2564 กลุ่มธุรกิจมีกำไรสุทธิเท่ากับ 2,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% จากครึ่งปีแรก 2563 โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 936 ล้านบาท ในส่วนของปริมาณการตั้งสำรองสำหรับปี 2564 มีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 160.1%
นอกจากนี้ธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิรวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 7,624 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 6.6% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 3,726 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.2% จากครึ่งปีแรก 2563 และธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 17.89% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะเท่ากับ 13.51%
ภาพรวมผลประกอบการครึ่งแรกปี 2564 ทั้งกลุ่มธุรกิจเติบโตได้ดี โดยธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจตลาดทุนมีกำไรสุทธิ 2,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับปี 2563 ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อขยายตัวขึ้น 6.6% จากเมื่อสิ้นปี 2563 เนื่องจากเน้นพอร์ตสินเชื่อที่มีหลักประกัน (Collateralized) เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับรายย่อย หรือสินเชื่อสำหรับบรรษัทกลุ่มที่มีเครดิตดี จึงสามารถเติบโตได้ดีท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ตลอดจนการควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เช่นเดียวกัน ในส่วนของธุรกิจตลาดทุนมีผลประกอบการที่ดีในทุกกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ ซึ่งยังคงครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 และได้รับผลดีจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งและธุรกิจจัดการกองทุนที่มีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำหรือการจัดการ เพิ่มขึ้น 13% และ 12% ตามลำดับ ธุรกิจวาณิชธนกิจที่มีรายได้จากค่าธรรมเนียมของการดำเนินการธุรกรรมขนาดใหญ่ในครึ่งปีแรกเสร็จสิ้น และธุรกิจการลงทุนโดยตรงที่มีรายได้เบ็ดเสร็จกว่า 1,103 ล้านบาท