พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง 3 เรื่องที่ต้องลุ้นหรือคอยจับตา ได้แก่
- สถานการณ์การติดโควิด-19 เพราะแม้ในไทยจะไม่มีผู้ติดเชื้อต่อเนื่องกว่า 60 วัน แต่อัตราการติดเชื้อทั่วโลกยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่า 2 แสนคนต่อวัน และปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อรวม 17 ล้านคน ทำให้เกิดความเสี่ยงในบางพื้นที่ อาจจะมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
ขณะที่การพัฒนาวัคซีนที่ใช้ต่อสู้กับการระบาดของโรคน่าจะสำเร็จและเกิดขึ้นหลังต้นปีหรือกลางปีหน้า ยิ่งทำให้เห็นความไม่ชัดเจนว่าสถานการณ์สิ้นสุดเมื่อใด แม้เบื้องต้นอาจคาดได้ว่า เศรษฐกิจโลกโดยรวมน่าจะผ่านช่วงที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว
- เศรษฐกิจไทยอาจจะยังโตต่ำกว่าศักยภาพไปอีกสักระยะหนึ่ง เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงการท่องเที่ยวจากต่างชาติค่อนข้างมาก และการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็น 12% ของ GDP
ขณะที่มาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศย่อมจะกระทบถึงธุรกิจและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว คาดว่าอาจจะมีจำนวนคนว่างงานสูงสุดถึง 5 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลไปถึงความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของทั้งธุรกิจและครัวเรือน จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้
ปัจจุบันมีลูกค้าสถาบันการเงินถึง 12.8 ล้านบัญชี หรือมูลค่าหนี้กว่า 6.9 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ของหนี้รวมทั้งระบบที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้อยู่
- การอัดฉีดของภาครัฐ แม้ในระยะเวลาที่ผ่านมา การช่วยเหลือจากธนาคารกลางและรัฐบาลจะช่วยพยุงสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินได้
แต่ปัจจุบันรัฐบาลทั่วโลกอัดฉีดเงินไปแล้วกว่า 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยเองก็อาจจะเพิ่มจาก 41% ในปี 2562 ไปถึง 60% ในปีหน้า ซึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายในอนาคต
นอกจากนี้มีอีก 2 ปัจจัยเสี่ยงที่ควรต้องระวัง คือความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา กับจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น และการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจจะนำไปสู่ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย และอาจมีผลต่อนโยบายเศรษฐกิจไทย เช่น การตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกของไทย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล