KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยประมาณการผลกระทบของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนต่อเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยน้อยลงเมื่อเทียบกับการระบาดในรอบก่อนๆ โดยมีสาเหตุสำคัญ ดังนี้
- แนวโน้มการระบาดที่รุนแรงแต่น่าจะจบเร็วขึ้น และมีโอกาสในการปิดเมืองลดลง ข้อมูลในต่างประเทศชี้ว่า สัดส่วนของการป่วยเข้าโรงพยาบาลที่เกิดจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีตัวเลขที่ต่ำลง ส่วนหนึ่งเกิดจากอัตราการฉีดวัคซีนโควิดที่เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับการระบาดรอบก่อน
โดย KKP Research ประเมินว่า สำหรับประเทศไทยการระบาดของโควิดรอบปัจจุบันจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและกว้างขวาง แต่น่าจะจบลงเร็วกว่ารอบก่อนๆ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือน
- ภาครัฐมีความเข้าใจต้นทุนข้อจำกัดของมาตรการ และเริ่มเปลี่ยนทิศทางจาก ‘การป้องกันไม่ให้มีโควิด’ กลายเป็น ‘การอยู่ร่วมกับโควิด’ มากขึ้น ระยะหลังเห็นชัดเจนว่าหลายประเทศเริ่มใช้นโยบายเร่งฉีดวัคซีนและไม่ออกมาตรการปิดเมืองที่รุนแรงเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นนโยบายของไทยในช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน
- ประชาชนเหนื่อยล้ากับการปิดเมืองเป็นเวลานาน (Lockdown Fatigue) โดยการได้รับวัคซีนทำให้ประชาชนมีความกังวลลดลง และเริ่มกลับไปใช้ชีวิตในรูปแบบปกติมากขึ้น
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ KKP Research มองว่าในกรณีฐานการระบาดของโอมิครอน แม้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักจากความระมัดระวังของผู้บริโภค และข้อจำกัดจากภาครัฐที่อาจจะมีมากขึ้น แต่จะไม่นำไปสู่การปิดเมืองแบบรุนแรงเหมือนการระบาดในรอบก่อน โดยหากการบริโภคและการลงทุนลดลงพร้อมกัน 1-2% ในระยะเวลา 1 เดือน (เทียบกับรอบก่อนที่ 2-5%) จะกระทบตัวเลข GDP ทั้งปีประมาณ 0.06-0.12% เท่านั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ
ขณะเดียวกันยังคาดว่าการระบาดจะสามารถจบลงได้เร็ว เช่นเดียวกับในประเทศแอฟริกาใต้ อาจจะทำให้การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวชะลอออกไป แต่น่าจะกลับมาเร่งตัวขึ้นเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ และไม่กระทบต่อตัวเลขประมาณการทั้งปีไม่มากนัก
โดยคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2022 จะกลับเข้ามาได้ประมาณ 5.8 ล้านคนในช่วงครึ่งหลังของปี และผลจากการระงับโครงการ Test & Go จะไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการประมาณการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวทั้งปี หากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติได้เร็ว ซึ่งปัจจุบัน ศบค. มีมติให้กลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวผ่านโครงการ Test & Go อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์แล้ว
ในภาพรวม KKP Research จึงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2022 จะเติบโตได้ที่ระดับ 3.9% ซึ่งถือว่าไม่สูงมากเมื่อเทียบกับการหดตัวในปี 2020 ที่ 6.1% และปี 2021 ที่คาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาเพียง 0.9% โดยมีการบริโภคและการท่องเที่ยวเป็นสองปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิดไปตลอดทั้งปี และยังต้องจับตาความเสี่ยงหากสถานการณ์ระบาดยืดเยื้อหรือมีการระบาดรอบใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี
ด้านความเสี่ยงที่ต้องจับตา KKP Research ยังมองว่าแม้ความเสี่ยงจากโอมิครอนจะต่ำ แต่การระบาดที่เกิดได้ง่ายขึ้นอาจสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขได้ในระยะสั้น และนโยบายภาครัฐในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขจะส่งผลสำคัญต่อผลกระทบของการระบาด เช่น หากมีนโยบายให้คนติดเชื้อที่ความเสี่ยงต่ำต้องรักษาในโรงพยาบาล อาจทำให้ระบบสาธารณสุขถึงขีดจำกัดเร็วกว่าที่ควรจะเป็นและมีคนสูงอายุที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้เป็นจำนวนมาก
ดังนั้นในกรณีเลวร้ายที่การระบาดนำไปสู่การปิดเมือง จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก ดังต่อไปนี้
- การบริโภคในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลงอีก และจะส่งผลสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยกลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบหนัก คือ ที่พักและอาหาร การขนส่ง และการค้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลต่อเนื่องต่อการจ้างงานที่จะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นกว่าเดิม
- หากนักท่องเที่ยวไม่สามารถกลับมาเลยในปีนี้ คาดการณ์ว่า GDP สำหรับปี 2022 จะเติบโตได้น้อยกว่า 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ต่ำกว่าตัวเลขการคาดการณ์ในปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ
- แรงกดดันต่อค่าเงินบาทในทิศทางอ่อนค่าจะรุนแรงขึ้นมาก จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังขาดดุล ประกอบกับทิศทางนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักที่เริ่มตึงตัวมากขึ้น