×

KKP Research ห่วงนโยบายสวัสดิการ-แจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น อาจดันระดับหนี้สาธารณะแตะเพดาน 70% ภายใน 10 ปี

29.06.2023
  • LOADING...
หนี้สาธารณะ

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เผยแพร่งานวิจัยโดยประเมินว่ารัฐบาลไทยจะเผชิญความท้าทายเพิ่มขึ้นในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ จากระดับหนี้ที่ปรับสูงขึ้นมากหลังวิกฤตโควิด-19 และการขาดดุลทางการคลังเชิงโครงสร้างตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีแนวโน้มจะแย่ลงจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

ปัญหาการขาดดุลการคลังเชิงโครงสร้าง

รายงานของ KKP Research ระบุว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยมีการขาดดุลการคลังเชิงโครงสร้าง (Structural Deficit) คือขาดดุลมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 15 ปี ซึ่งขนาดของการขาดดุลการคลังทั้งหมดเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2010 อยู่ที่ปีละ 2.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และทำให้ยอดหนี้สาธารณะของไทยเติบโตขึ้นทุกปี ปีละประมาณ 7-8% ซึ่งปัญหาหนี้สาธารณะของไทยอาจแบ่งได้เป็น 3 ข้อ คือ

 

  1. การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลไทยอยู่ในระดับต่ำ จากขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Economy) ที่มีขนาดใหญ่ แรงงานส่วนมากประกอบอาชีพอิสระและอยู่นอกระบบภาษี อัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ค่อนข้างต่ำหากเทียบกับประเทศอื่น

 

  1. สัดส่วนรายจ่ายประจำอยู่ในระดับสูง ขณะที่งบลงทุนมีสัดส่วนเพียง 20% ของงบประมาณทั้งหมดเท่านั้น สะท้อนว่าการจัดสรรงบประมาณของไทยอาจมีส่วนช่วยเสริมศักยภาพเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวได้น้อย

 

  1. การขาดดุลการคลังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทั้งการเก็บรายได้ภาษีของรัฐบาลที่จะลดลง โดยเฉพาะการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล และรายจ่ายของภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายในหมวดสังคมสงเคราะห์

 

ผลกระทบหากไม่มีวินัยการคลัง

KKP Research ระบุอีกว่า จากประสบการณ์ของหลายประเทศในอดีตชี้ให้เห็นว่าปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงและการขาดวินัยทางการคลังอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 3 ด้าน ได้แก่

 

  1. ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายทางการคลัง (Fiscal Space) ลดลง ซึ่งที่ผ่านมาระดับหนี้สาธารณะของไทยไม่เคยปรับลดลงสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตได้เลย และหากเทียบกับช่วงโควิด-19 ที่รัฐบาลต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 20% ของ GDP ก็ทำให้มีความเสี่ยงที่รัฐบาลจะไม่สามารถมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่หากเกิดวิกฤตขึ้นอีกในอนาคต

 

  1. ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลที่อาจปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะรัฐบาลที่มีการก่อหนี้สูง ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และไม่มีแผนการชัดเจนในการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง

 

  1. การไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย การอ่อนค่าของค่าเงิน และการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ โดยเฉพาะประเทศที่มีการกู้ยืมหนี้สกุลต่างประเทศสูงและประเทศที่พึ่งพาการนำเข้ามาก

 

ขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น เร่งปัญหาหนี้สาธารณะ

งานวิจัยของ KKP Research ชี้ว่า นโยบายที่เพิ่มค่าใช้จ่ายและการขาดดุลการคลังเช่นนโยบายการให้เงินอุดหนุน จะยิ่งสร้างต้นทุนต่อภาระทางการคลังและหนี้สาธารณะ โดยถึงแม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่จะสร้างภาระผูกพันระยะยาวให้กับรัฐ ซึ่งทำให้การปรับลดระดับหนี้สาธารณะในอนาคตทำได้ยากขึ้น

 

โดย KKP Research ได้คำนวณผลกระทบของการขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นจากการดำเนินนโยบายสวัสดิการต่างๆ และนโยบายการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นพบว่าการดำเนินนโยบายรูปแบบดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะแตะระดับเพดานหนี้ 70% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ขณะที่การปฏิรูปรายรับรายจ่ายอาจช่วยลดภาระต่อหนี้สาธารณะได้บ้าง แต่ไม่ได้ช่วยให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวได้

 

ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหากใช้จ่ายอย่างเหมาะสม

KKP Research ระบุว่า การก่อหนี้เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจในระยะยาวคือทางออกของการสร้างความยั่งยืนทางการคลังให้เกิดขึ้น โดยถึงแม้ในระยะสั้นการก่อหนี้ดังกล่าวจะทำให้ระดับหนี้สูงขึ้นได้บ้าง แต่ในระยะยาว การลงทุนเพื่อยกระดับผลิตภาพและเพิ่มศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ทยอยปรับลดลงตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่โตเร็วขึ้น และการจัดเก็บรายได้ของรัฐที่ควรปรับเพิ่มขึ้นตามรายได้ของคนในประเทศเช่นกัน

 

การจัดหารายได้เพิ่มและตัดลบงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็นควบคู่ไปด้วยจะช่วยลดปัญหาการขาดดุลการคลังเชิงโครงสร้างของไทยที่มีแนวโน้มจะเลวร้ายลงภายใต้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ โดยการลดขนาดการขาดดุลทางการคลังควบคู่กับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวจะช่วยให้ระดับหนี้สาธารณะปรับลดลงได้เร็วขึ้น

 

โดยประเมินว่าระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ระดับ 57.4% เมื่อเทียบกับกรณีที่มีการจัดสรรงบประมาณใหม่แต่ไม่มีการลดขนาดการขาดดุลทางการคลังเชิงโครงสร้าง ซึ่งระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ที่ 65.6% หรือต่างกันเกือบ 10%

 

ความท้าทายที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ หากมองไปข้างหน้า รัฐบาลไทยจะเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ โดยนอกจากระดับหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 และปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่จะมาซ้ำเติมการขาดดุลการคลังเชิงโครงสร้างแล้ว ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจะยิ่งทำให้ปัญหาหนี้สาธารณะของไทยเลวร้ายลงไปอีก

 

โดยความท้าทายทั้งหมดนี้ล้วนตอกย้ำความสำคัญของนโยบายรัฐที่จะต้องมุ่งเน้นการเพิ่มการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว การลดการขาดดุลเชิงโครงสร้าง รวมถึงควรมีการดำเนินการอย่างทันทีและต่อเนื่อง เพราะปัญหาหนี้สาธารณะอาจมาเร็วกว่าที่คิดและการแก้ปัญหาก็อาจใช้เวลานานกว่าที่หลายคนคาดเช่นกัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X