×

KKP ชี้ 3 อุตสาหกรรมเคยรุ่ง ‘ภาคการผลิต-ค้าปลีก-โรงแรม’ เสี่ยงดิ่งหากรัฐไม่ออกมาตรการตรงจุด

16.03.2021
  • LOADING...
KKP ชี้ 3 อุตสาหกรรมเคยรุ่ง ‘ภาคการผลิต-ค้าปลีก-โรงแรม’ เสี่ยงดิ่งหากรัฐไม่ออกมาตรการตรงจุด

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ พบว่าแม้ปี 2563 สัดส่วนหนี้เสียต่อยอดสินเชื่อคงค้าง (NPL Ratio) ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เพราะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยไตรมาส 4/63 NPL Ratio อยู่ที่ 3.11% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/62 ที่อยู่ 2.98% ทำให้ยังไม่เห็นผลกระทบที่แท้จริงบน NPL Ratio ที่จะส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคาร

 

ทั้งนี้ คาดว่าปี 2564 อาจะเห็น NPL Ratio ทั้งระบบเพิ่มขึ้นเมื่อมาตรการช่วยเหลือบางส่วนสิ้นสุดลง ที่สำคัญจากข้อมูลพบว่าความสามารถชำระหนี้ของภาคธุรกิจไทยมีความเปราะบางมาตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด-19 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต การค้า และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจในระดับอุตสาหกรรม (Industry-wide risk) มากกว่าที่จะเป็นผลมาจากพฤติกรรมของลูกหนี้หรือปัญหาความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้แต่ละราย (Individual Credit Risk) 

 

โดยแบ่งเป็น 3 ธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เพราะมีความเปราะบางมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 และยังได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้แก่

 

  1. อุตสาหกรรมการผลิต ที่มีสัดส่วนกว่า 27% ของ GDP และมีการจ้างงาน 14% ของผู้มีงานทำในไทยทั้งหมด แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวกลับปรับลดลงต่อเนื่องจาก 2 ส่วน ได้แก่
    1) ปัจจัยภายนอก ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลัก
    2) ปัจจัยภายใน จากการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันของไทย ทั้งจากสินค้าและระบบโครงสร้างการผลิตที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนไป ต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น และเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า 

 

เมื่ออัตราการขยายตัวต่ำลง และรายได้ที่หายไป ยังส่งผลกระทบต่อการปิดกิจการของโรงงาน หรือการย้ายฐานการผลิต (Relocation) ออกจากไทยไปยังประเทศอื่นที่มีความพร้อมมากกว่า เช่น เวียดนาม โดยเห็นได้ชัดในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้แรงงานเข้มข้น ขณะเดียวกัน การย้ายฐานการผลิตนี้กำลังเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกหลักของไทย รวมแล้วคิดเป็น 49% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 

 

  1. ค้าปลีกค้าส่ง มีสัดส่วน 17% ของ GDP ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) ที่มักเป็นรายใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อรูปแบบต่างๆ เป็นต้น และธุรกิจค้าปลีกค้าส่งดั้งเดิม (Traditional Trade) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรายเล็ก เช่น ร้านค้าปลีกค้าส่งทั่วไป ฯลฯ ซึ่งกลุ่มหลังนี้เองที่มี NPL เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (นับจากปี 2558) คิดเป็น 3 ใน 4 จากกลุ่มค้าปลีก เพราะเจอแรงกดดันจากรายใหญ่ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซในช่องทางออนไลน์

 

ทั้งนี้ ธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กไม่สามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้ มาจากหลายสาเหตุ เช่น กลุ่มโมเดิร์นเทรด มีการขยายสาขาเชิงรุกทั่วประเทศ หรือการควบรวมค้าปลีกรายใหญ่ที่สร้างอำนาจการต่อรองในตลาดสูงขึ้น เศรษฐกิจที่ชะลอทำให้ตลาดยังลดลง และช่องทางออนไลน์ที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง

 

  1. อุตสาหกรรมโรงแรมและที่พัก ในปี 2559-2563 ที่ผ่านมา แม้ห้องพักจะขยายตัวสูงแต่กลับเห็นภาวะ อุปทานล้นตลาด เห็นได้จากอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) ที่ชะลอตัวลง ทำให้ในตลาดมีการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น ซึ่งราคาห้องพักที่ลดลงอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 จึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการกลุ่มนี้มากขึ้น

 

ทั้งนี้ มาตรการของรัฐบาลทั้งความช่วยเหลือต่อผู้ประกอบการ และการเปิดประเทศจะส่งผลต่อสถานการณ์ธุรกิจไทย โดยเฉพาะหากไม่สามารถเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ สถานการณ์ธุรกิจโรงแรมในภาพรวมอาจจะน่าเป็นห่วงขึ้นเรื่อยๆ จากภาระค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ที่ต้องแบกรับมาเกือบหนึ่งปีเต็ม เพราะการใช้จ่ายของคนไทยกันเองไม่สามารถชดเชยผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากรายได้ที่สูญเสียไปจากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติได้หมด 

 

อย่างไรก็ตามมองว่า มาตรการให้สภาพคล่องมีความจำเป็นในระยะสั้นเพื่อประคับประคองภาคธุรกิจและการจ้างงาน แต่เมื่อธุรกิจแต่ละประเภทได้รับผลกระทบ และมีสถานการณ์การฟื้นตัวที่ต่างๆ กัน ดังนั้นรัฐควรออกมาตรการที่ชัดเจนในการปฏิรูปโครงสร้างธุรกิจ ที่เอื้อต่อการพัฒนา ต่อยอดนวัตกรรม และเทคโนโลยี รวมถึงการปรับกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจเพื่อลดอำนาจตลาดของรายใหญ่ สร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียมกันและเป็นธรรมมากขึ้น 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising