อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรหรือ KKP แถลงผลการดำเนินการของธุรกิจปี 2561 และแนวโน้มธุรกิจปี 2562 โดยปีที่ผ่านมาสินเชื่อทุกประเภทโดยรวมเติบโตได้ดีมากถึง 18.5% เนื่องจากปรับปรุงระบบภายในครั้งใหญ่ รวมทั้งการขึ้นระบบ Core Banking ใหม่รวมถึงระบบป้องกันความเสี่ยงที่ใช้เงินลงทุนพอสมควร ทำให้ปี 2561 ตัวเลขกำไรเติบโตที่ 5% เท่นั้น
สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีสินทรัพย์ขนาดสูงหรือ Private Bank ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การให้คำแนะนำ (Asset Under Advice: AUA) ที่ 30 ล้านบาทขึ้นไป ยังเป็นธุรกิจที่แข็งแรงของ KKP ซึ่งสินทรัพย์ที่ไม่ใช่เงินฝากราว 5 แสนล้านบาท แต่เนื่องจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เกิดการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นตามสภาพของตลาด ทำให้สินทรัพย์ส่วนนี้มูลค่าลดลงที่ 4.7 แสนล้านบาท หากรวมส่วนของเงินฝากด้วยจะมีมูลค่ารวมทั้งหมดแตะ 6.5 แสนล้านบาท และตั้งเป้าทะยานสู่ 1 ล้านล้านบาทในระยะเวลาอันใกล้
อภินันท์ให้ความเห็นว่า KKP เติบโตต่อเนื่องเพราะมีผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนที่หลากหลายและยังสร้างผลตอบแทนได้ดี โดยเฉพาะหุ้นกู้อนุพันธ์ (Structured Note) ที่ออกมาค่อนข้างเยอะ และสลับซับซ้อนมากขึ้น จากนี้จะเพิ่มบริการการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศผ่านกองทุนรวม อย่างน้อย 6-7 แบรนด์ ทำให้การลงทุนไม่จำกัดแค่ภายในประเทศไทยเท่านั้น
ส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมของ KKP จะแตกต่างจากค่าธรรมเนียมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากเป็นค่าบริการการให้คำปรึกษาด้านการเงินเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะได้รับผลกระทบช้าที่สุดจากยุคดิจิทัลและการแข่งขันในตลาดรายย่อยที่รุนแรงของธนาคาร จากปี 2561 ที่ผ่านมา KKP ให้คำปรึกษาลูกค้ารายใหญ่ในการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาขชนเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering: IPO) ถึง 5 ราย ทำให้รายได้จากค่าธรรมเนียมส่วนนี้สูงถึง 822 ล้านบาท ถือเป็นสถิติใหม่ระดับประวัติการณ์
สิ่งที่ KKP ประเมินว่าต้องจับตาและระมัดระวังในการทำธุรกิจคือกลุ่มสินเชื่อผู้บริโภคที่ขณะนี้ส่งสัญญาณไม่สู้ดีนัก จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value: LTV) ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะเริ่มใช้ในต้นเดือนเมษายนนี้น่าจะทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ ลงด้วย อภินันท์เห็นด้วยเรื่องการเข้ามาดูแลเรื่องสินเชื่อบ้านในขณะนี้ เนื่องจากมีตัวเลขชี้วัดที่ชัดเจนมากขึ้นถึงความเปราะบางดังกล่าว และเมื่อพิจารณาจากแนวทางการดูแลเสถียรภาพโดยรวมของระบบเศรษฐกิจ (Macro Prudential) ของแบงก์ชาติแล้ว เป็นไปได้ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในการให้สินเชื่อประเภทอื่นๆ ตามมา เช่น สินเชื่อรถ เป็นต้น ส่วนเป้าหมายปี 2019 ของ KKP ได้แก่ อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (Return on Average Equity: ROAE) อยู่ที่ 14-15% การเติบโตของสินเชื่อ 8% อัตราส่วนของ NPL เชื่อว่าจะน้อยกว่า 4% ขณะที่ต้นทุนทางการเงิน (Credit Cost) อยู่ที่ 1-1.2%
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์