×

KKP หั่นประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 จาก 3.3% เหลือ 2.8% หลังท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า-เศรษฐกิจโลกชะลอฉุดส่งออก

31.08.2023
  • LOADING...
KKP Research

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจเกียรตินาคินภัทร ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงจาก 3.3% เป็น 2.8% และจาก 3.6% เป็น 3.3% สำหรับปี 2567 หลังตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ออกมาค่อนข้างต่ำ บ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยเติบโตเพียง 1.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนเท่านั้น ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 3.1% ทำให้ตัวเลข GDP ทั้งปีมีความเสี่ยงที่จะโตต่ำกว่าที่ตลาดประเมินมาก โดยตัวเลขเศรษฐกิจปัจจุบันสวนทางกับการคาดการณ์ในช่วงต้นปีว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวได้ดีในปีนี้จากนักท่องเที่ยวตามการเปิดเมืองของจีน

 

ตัวเลข GDP สวนทางกันระหว่างการใช้จ่ายและการผลิต

 

ตัวเลข GDP ในฝั่งการใช้จ่ายเติบโตได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตมาก การใช้จ่ายโดยรวมเติบโตได้ถึง 6.7% โดยเฉพาะการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกภาคบริการ ซึ่งได้รับแรงส่งจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ในขณะที่ภาคการส่งออกสินค้ายังคงมีทิศทางหดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การเติบโตที่สูงนี้เป็นการเติบโตที่สวนทางกับตัวเลข GDP ที่วัดจากฝั่งภาคการผลิตที่ชะลอตัวลงมาอยู่ที่เพียง 1.8% โดยเฉพาะการผลิตในกลุ่มภาคอุตสาหกรรมหดตัวลง 2.1% และภาคเกษตรมีทิศทางที่ชะลอตัวลง โดยขยายตัวเพียง 0.5% ในไตรมาสนี้ ซึ่งการเติบโตที่แตกต่างกันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสินค้าคงคลังและค่าคลาดเคลื่อนทางสถิติที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมากกว่าปกติในช่วงที่ผ่านมา

 

การบริโภคอาจไม่ดีอย่างที่เห็น

 

ตัวเลขการเติบโตของการบริโภคที่โตขึ้นอย่างก้าวกระโดด อาจไม่ได้หมายความว่ารายได้ของผู้บริโภคในภาพรวมฟื้นตัวได้ดี หากมองจากมุมมองของการจ้างงาน การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนถึง 16% ของการจ้างงานทั้งหมด ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการส่งออก ในขณะที่ภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่อาจได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวโดยตรงมีเพียง 11% เท่านั้น ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับตัวเลขการบริโภคที่สำคัญ 2 ข้อ คือ

 

  1. เครื่องชี้การบริโภคหลายตัวมีทิศทางชะลอลง แม้การบริโภคใน GDP จะขยายตัวได้ดี แต่ตัวชี้วัดอื่นๆ ด้านการบริโภคยังฟื้นตัวได้ไม่ดีมากนัก ตัวอย่างเช่น ตัวเลขยอดค้าปลีกของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีทิศทางชะลอตัวลง หรือภาษีที่เก็บได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ปรับตัวลดลง

 

  1. ปัจจัยในระยะข้างหน้ายังคงเพิ่มแรงกดดันทางลบต่อการบริโภค โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและการชะลอการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ จากระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในกลุ่มสูงมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย และสูงกว่าประเทศที่มีระดับรายได้ใกล้เคียงกันอย่างมาก

 

ด้วยเหตุนี้ KKP Research จึงประเมินว่า ตัวเลขการเติบโตของบริโภคในครึ่งหลังของปีจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้ตัวเลขการบริโภคทั้งปีชะลอตัวลงเหลือ 4.5% จากตัวเลขไตรมาส 2 ที่เติบโตได้ถึง 7.8% และในปี 2024 การบริโภคจะยังคงฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ โดยเติบโตประมาณ 3.0%

 

เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลง

 

KKP Research ประเมินว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีการพึ่งพาต่างประเทศค่อนข้างมากในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีวัฏจักรการเติบโตที่สวนทางกัน กำลังสร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น และจะกระทบเศรษฐกิจไทยใน 3 ประเด็น คือ 

 

  1. ภาคการท่องเที่ยวอาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด จากนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นความหวังในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังเป็นกลุ่มที่กลับมาได้ช้ามากที่สุด ส่วนหนึ่งเกิดจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้คนจีนที่ออกมาเที่ยวกลายเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะปานกลางขึ้นไป และอาจไม่ใช่กลุ่มคนที่มองประเทศไทยเป็นจุดหมายหลัก  

 

  1. ภาคส่งออกจะยังฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด สาเหตุหลักมาจากการเติบโตที่ชะลอตัวลงของจีน โครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยมีการพึ่งพาจีนค่อนข้างสูง   

 

  1. อัตราดอกเบี้ยที่ค้างสูงในสหรัฐฯ จะกดดันให้ภาวะการเงินโลกตึงตัว และเป็นข้อจำกัดต่อการลดดอกเบี้ยของนโยบายการเงินไทย ทำให้ไม่สามารถพยุงเศรษฐกิจในประเทศได้เต็มที่ และส่งผลให้ค่าเงินบาทยังมีความผันผวนต่อเนื่องได้

 

ค่าเงินบาทผันผวนต่อเนื่อง ไทยเกินดุลการค้าไม่เท่าเดิม

KKP Research ประเมินว่า ดุลการค้าที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติเป็นผลมาจากการปรับตัวแย่ลงของดัชนีการค้า (Terms of Trade) หรือราคาสินค้าส่งออกหารด้วยราคาสินค้านำเข้า ซึ่งจะพบว่า ดุลการค้าและดัชนีการค้ามีความสัมพันธ์กันอย่างมากในอดีต โดยในช่วงที่ผ่านมาราคาสินค้านำเข้าของไทยปรับตัวสูงขึ้นกว่าราคาสินค้าส่งออก ทำให้ไทยมีมูลค่าการนำเข้าที่สูงขึ้นมากกว่ามูลค่าการส่งออก สาเหตุหลักเกิดจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ดัชนีการค้าปรับตัวแย่ลงและอยู่ในระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ในระยะข้างหน้าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำทั้งในปีนี้และปีหน้า และเป็นอีกแรงกดดันให้ค่าเงินบาทไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้เร็วเหมือนในอดีต

 

เงินเฟ้อชะลอลงเร็ว เศรษฐกิจฟื้นช้า คาด กนง. หยุดขึ้นดอกเบี้ยที่ 2.25%

 

KKP Research ประเมินว่า แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังแสดงความกังวลต่อเงินเฟ้อ และคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่จากข้อมูลเงินเฟ้อและเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาที่ออกมาต่ำกว่าคาดมาก และอาจทำให้ตัวเลขทั้งปีต่ำกว่ากรอบเป้าหมายได้ ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจไม่ได้ฟื้นตัวแข็งแกร่งนักจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยที่ 2.25% นั่นคือจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุมครั้งหน้า เพื่อประเมินความชัดเจนของแนวโน้มเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

 

จับตานโยบายภาครัฐหลังตั้งรัฐบาล

 

แม้ว่าในที่สุดจะมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ยังมีความไม่แน่นอนด้านนโยบายจากการจัดตั้งรัฐบาลผสมถึง 6 พรรค โดยการแบ่งตำแหน่งรัฐมนตรีกระจายไปตามพรรคต่างๆ จะทำให้การผลักดันนโยบายสำคัญๆ มีความท้าทาย

 

อย่างไรก็ตาม KKP Research ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ 3 นโยบายที่คาดว่าจะได้รับการถูกผลักดันทันทีในระยะเวลา 1 ปีแรก และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ได้แก่ 

 

  1. นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งมีต้นทุนประมาณ 5.5 แสนล้านบาท โดยถ้าทำได้จริงประเมินว่าจะทำให้ GDP ในปี 2567 เติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 1-1.2% จากประมาณการในปัจจุบัน 

 

  1. นโยบายพักหนี้เกษตรกร ซึ่งอาจมีต้นทุนถึง 2 หมื่นล้านบาท 

 

  1. นโยบายลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และลดค่าน้ำมันดีเซล เป็นที่น่าสังเกตว่า นโยบายหลักเป็นนโยบายลด แลก แจก แถม มากกว่านโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดทางการคลังถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด โดยปัจจุบันมีวงเงินที่รัฐสามารถกู้เพิ่มจากเพดานการกู้ เพื่อชดเชยการขาดดุลตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ หรือใช้ผ่านรัฐวิสาหกิจ ตามกรอบวงเงินภาระทางการคลังตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ได้อีกไม่มากนัก  

 

นอกจากนี้แม้ว่าระดับหนี้สาธารณะจะที่อยู่ 61% ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าเพดานหนี้ที่ 70% ของ GDP แต่มีความจำเป็นต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการใช้เงินและความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X