×

‘หมดเวลาพึ่งพาภายนอก ถึงเวลาช่วงชิงโอกาสครั้งใหม่’ รวมข้อเสนอสำคัญจาก KKP Economic Forum

20.04.2022
  • LOADING...
KKP Economic Forum

เศรษฐกิจไทยไปต่ออย่างไร? นี่คงเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนอยากรู้ 

 

เมื่อไทยยังติดอยู่ในหล่มรายได้ปานกลาง และวังวนแห่งความขัดแย้ง ท่ามกลางโลกที่กำลังเผชิญกับวิกฤตหลายประการ ทั้งการแตกขั้วของการเมืองโลก การพลิกผันของเทคโนโลยีที่เคยเป็นจุดขายของประเทศ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมพลังงานรอบใหม่จากภาวะโลกร้อน 

 

ประเทศไทยที่มีสถานะเป็น ‘นาวาน้อยกลางคลื่นสมุทร’ จะต้องหันหางเสือ กำหนดทิศทางเดินเรือครั้งใหม่อย่าไร เพื่อให้เราสามารถปรับตัวและคว้าโอกาสครั้งใหม่ไว้ได้ทัน 

 

บทความนี้ได้รวบรวมข้อคิดส่วนหนึ่งที่ได้จากการจัดงานสัมมนา ‘THIS IS THE END OF THE LINE สถานีต่อไปของเศรษฐกิจไทย สร้างใหม่อย่างไรดี’ งานเสวนาด้านเศรษฐกิจของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร จัดร่วมกับสำนักข่าว THE STANDARD เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ที่จะเปิดโอกาสให้แก่เศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย 4 เวทีเสวนาของผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน มุ่งแสดงวิสัยทัศน์ และแนวทางออกแบบสถานีต่อไปของเศรษฐกิจไทย 

 

เวทีที่ 1: Welcome Speech THE MAKING OF MODERN THAI ECONOMY โดย บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร 

 

เวทีที่ 2: Keynote Presentation THAILAND’S FINAL CALL โดย ธีระพงษ์ วชิรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ ประธานสายงานวิจัย กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร 

 

เวทีที่ 3: BRACING FOR THE FUTURE I: TECHNOLOGY & CLIMATE CHANGE โดย 

  • ปฐมา​ จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย
  • สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)
  • สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) 
  • สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ แห่ง ‘ป่าสาละ’ 

 

เวทีที่ 4: BRACING FOR THE FUTURE II: GEOPOLITICS & OUR POLITICS โดย

  • ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร 
  • ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
  • ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 


 

KKP Economic Forum

 

“ในมิติของความมั่งคั่ง ประเทศไทยเป็น Developing Country มากว่า 50 ปีแล้ว วันนี้ก็ยังเป็นอยู่ เราตั้งสภาพัฒน์ในปีเดียวกับที่สิงคโปร์ตั้ง The Economics Development Board (EDB) ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญเหมือนกัน มาวันนี้สิงคโปร์มีรายได้ต่อคนต่อปีที่ 54,920 ดอลลาร์ ขณะที่ไทยเรามีรายได้ต่อคนต่อปีที่ 7,040 ดอลลาร์ ห่างกัน 8 เท่า 

 

“ในมิติของความทั่วถึง หากนำรายได้ของคนร้อยละ 20 ข้างบน หารด้วยรายได้ของคนร้อยละ 20 ข้างล่าง จะพบว่า สัดส่วนการกระจายรายได้ของไทยคงที่มาตลอดเกือบ 30 ปี คือห่างกันอยู่ที่ 7-8 เท่าตัว ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอัตราจะอยู่ที่ 4-5 เท่าตัวเท่านั้น บางประเทศอยู่ที่ 3 ถ้าไม่ใช่เพราะคนส่วนบนมีอัจฉริยภาพที่เหนือกว่าโดยกำเนิด หรือคนข้างล่างงอมืองอเท้าอยู่เป็นปกติ ก็ย่อมแปลได้ว่าโอกาสทางการศึกษาหรือโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนและทรัพยากรอื่นๆ ระหว่างคนข้างบนกับคนข้างล่างแตกต่างกันอยู่ถึง 8 เท่าตัว ต้องเรียกว่าล้มเหลวในมิติของความทั่วถึงอย่างสิ้นเชิง 

 

“ท้ายสุด มิติของความยั่งยืนมิตินี้สืบเนื่องมาจาก 2 ข้อก่อนหน้าอยู่แล้ว หากทั่วถึงโดยไม่มั่งคั่งก็ไม่น่าจะยั่งยืน หรือหากมั่งคั่งโดยไม่ทั่วถึง ช้าเร็วก็จะไม่ยั่งยืนเช่นกัน 

 

“เหนือสิ่งอื่นใด ใจความสำคัญของหนังสือ 50 Years: The Making of the Modern Thai Economy อาจไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาข้อเท็จจริงในเล่มอย่างเดียว แต่แสดงอยู่ที่ปกของหนังสือนั่นเองครับ เราตั้งชื่อหนังสือว่า The Making of the Modern Thai Economy เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าเค้กที่เราเห็นวันนี้จะหน้าตาเป็นอย่างไร หรือเราจะเฉือนวินิจฉัยมันในแง่มุมใด สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียง The Making หรือกระบวนการก่อร่างสร้างสรรค์อันยังไม่สิ้นสุดและยังเกิดขึ้นอยู่แม้ในทุกขณะที่เราท่านกำลังพูดอยู่นี้ และเพียงการตระหนักถึงความข้อนี้ผมว่าก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เรามีความหวังสำหรับการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอนาคต หรืออาจใช้คำว่า ‘สถานีต่อไป’ ของประเทศอันเป็นที่รักของเรา ดังที่ยกมาเป็นชื่องาน This Is the End of the Line สถานีต่อไปของเศรษฐกิจไทย สร้างใหม่อย่างไรดี ในวันนี้

 

“คำว่า This Is the End of the Line ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคำพิพากษาที่ตายตัวแต่อย่างใด หากเราทุกท่านใส่ Question Mark และมองประโยคนี้ไม่ใช่ในฐานะประโยคบอกเล่า แต่ในฐานะของประโยคคำถามอันเร่งด่วน และครุ่นคิดหาคำตอบร่วมกัน ประเทศไทยไปต่อไม่ได้แล้วจริงหรือไม่? และหากเราไม่ต้องการให้เป็นอย่างนั้นเราต้องทำอย่างไร? หากเราร่วมคิดค้นโดยความตระหนักถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์อย่างนี้ Next Station, Opportunities ยังน่าจะเป็นไปได้เสมอสำหรับประเทศของเรา”

 

ส่วนหนึ่งของปาฐกถาพิเศษ The Making of Modern Thai Economy

โดย บรรยง พงษ์พานิช 

ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร  


 

KKP Economic Forum

 

“การพัฒนาของเศรษฐกิจไทยไม่ได้เกิดจากนโยบายของประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่การเปลี่ยนแปลงของประเทศต่างๆ ในโลกมีอิทธิพล กระทบ และส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

“ในปี 1960 ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่ความจริงแล้วหลายโครงการไม่ได้กำเนิดโดยประเทศไทย ทั้งการสร้างถนน รวมถึงเขื่อนยันฮี (เขื่อนภูมิพล) ซึ่งสร้างขึ้นจากการที่เราได้เงินกู้ยืมจากธนาคารโลกที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา เพราะในสงครามเย็นเราเป็นโดมิโนตัวสุดท้าย สหรัฐอเมริกาจึงต้องมาสนับสนุนเรา

 

“ยุคโชติช่วงชัชวาลเราเชื่อว่าเป็นของคนไทยใช่ไหมครับ จริงๆ แล้วมันก็ไม่ใช่ เนื่องจากในช่วงทศวรรษ 1970 เกิดวิกฤตน้ำมันที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น บริษัทน้ำมันทั้งโลกจึงพลิกแผ่นดินหาแหล่งน้ำมันใหม่เพื่อทดแทนแหล่งน้ำมันของอาหรับ ประเทศไทยคือหนึ่งในนั้น เพราะฉะนั้นความเชื่อว่าโชติช่วงชัชวาลเป็นของคนไทยอาจต้องเปลี่ยน

 

“ในแง่ของการเปิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในปี 1985 ถ้าไม่มี Plaza Accord (ข้อตกลงพลาซ่า) บังคับญี่ปุ่น ทำให้ค่าเงินเยนแข็งมาก จาก 300 กว่าเยน ต่อ 1 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 200 กว่าเยน ต่อ 1 ดอลลาร์ จนกระทั่งญี่ปุ่นส่งออกไม่ได้ ต้องย้ายฐานการผลิตมาอยู่ไทย คำถามคือ ถ้าไม่มี Plaza Accord เราจะมี Detroit of Asia ไหมครับ เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีผลกระทบสะท้อนจากภายนอก 

 

“ทำอย่างไรเราจะพัฒนาได้ ต้องปรับตัว เพื่อรับความเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในแง่ของพลังงานและเทคโนโลยี การปะทุของปัญหาภูมิศาสตร์ทางการเมืองรอบใหม่ เช่น อเมริกากับจีน หรือรัสเซียกับยูเครน ไม่เพียงแต่ท้าทาย แต่จะกระทบกับรายได้ของเราด้วย

 

“วันนี้หลายคนมักจะบอกว่าต้องไปเอานักลงทุนกลับมาลงทุนในบ้านเรา ผมว่าเราทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว เพราะเปอร์เซ็นต์ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) มีแนวโน้มลดลง ทางออกคือเราจะต้องปรับตัว สร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาเอง ปฏิรูปการศึกษา และส่งเสริมการทำวิจัย ส่วนปัญหาด้านวิกฤตพลังงานก็อาจเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ท้าทายให้ประเทศไทยต้องพิจารณาเรื่องการใช้พลังงานนิวเคลียร์เหมือนที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ใช้กัน”

 

ส่วนหนึ่งของ Keynote Presentation หัวข้อ Thailand’s Final Call 

โดย ธีระพงษ์ วชิรพงศ์ 

กรรมการผู้จัดการ ประธานสายวิจัย กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร 


 

ปฐมา​ จันทรักษ์

 

 

“วันนี้องค์ใหญ่ๆ โดยเฉพาะ Fortune 100 มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในเรื่องของการลดภาวะโลกร้อนแล้ว โดยอยู่ที่ประมาณ 86% แต่ตัวเลขที่สำคัญกว่านั้นคือ มีเพียง 35% เท่านั้นที่นำไปปฏิบัติจริงๆ ส่วนใหญ่จะยังเป็นแค่แผนที่อยู่ในกระดาษเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราจะทำให้เรื่องนี้กลายเป็นวาระเร่งด่วน เราจะต้องมีการตั้งเป้าหมายวัดผลที่ชัดเจน และจะต้องมีการแชร์ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากการนำไปปฏิบัติด้วย 

 

“สำหรับในประเทศไทย อุปสรรคข้อแรกคือ เรามีแผนแต่เราไม่ยอมนำมาปฏิบัติหรือไม่นำมาบังคับใช้ ข้อที่สองคือ เรื่องของการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างจริงๆ จังๆ อย่างเช่น การนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาของการย้ายฐานการลงทุนไปในประเทศเพื่อนบ้านที่แรงงานมีราคาต่ำกว่าไทย

 

“สามคือเรื่องของการบังคับใช้ (Enforcement) โดยขอยกตัวอย่างพร้อมชวนคิดดังๆ ว่า ถ้าวันนี้ประเทศไทยสนับสนุนเรื่องการใช้รถ EV อย่างจริงจัง โดยเปิดโอกาสด้านโครงสร้างพื้นฐานให้รถพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานบริสุทธ์ได้ใช้เลนพิเศษ นี่จะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า เราสนับสนุน ทำให้เกิดขึ้นจริง และมีการโปรโมตอย่างต่อเนื่อง” 

 

“สี่ ถ้าเราตั้งเป้าว่าภายในปี 2050 ประเทศไทยจะไปให้ถึงเป้าหมาย Net Zero ถามว่าวันนี้คนที่ปล่อยก๊าซ ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ได้รับบทลงโทษอย่างไร จริงๆ ต้องบอกว่ายังไม่มี และสุดท้ายต้องบอกว่าเวลาที่เราพูดถึงเรื่องของนวัตกรรมนั้นไม่ใช่การลงเงินแค่ครั้งเดียว แต่การทำวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเฉพาะในองค์กรข้ามชาติใหญ่ๆ อย่างเช่น IBM, Microsoft และ Google เขาพูดกันในระดับตัวเลขพันล้าน เพราะฉะนั้นถ้าประเทศไทยอยากทำให้เกิดขึ้นจริงๆ จะต้องลงทุนทำอย่างต่อเนื่อง” 

 

ส่วนหนึ่งของเวทีเสวนา BRACING FOR THE FUTURE I: TECHNOLOGY & CLIMATE CHANGE 

โดย ปฐมา​ จันทรักษ์
กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย


 

KKP Economic Forum

 

 

“ในยุคที่เทคโนโลยียานยนต์กำลังเปลี่ยนผ่านจากยุค ICE (รถยนต์สันดาป) สู่ยุค EV (รถยนต์ไฟฟ้า) ผมมองว่าประเทศไทยยังมีส่วนที่ได้เปรียบมากกว่าประเทศอื่นๆ เพราะเรามีโครงสร้างพื้นฐานการผลิตที่พร้อมกว่าที่อื่น ทุกวันนี้เราสามารถผลิตรถยนต์ได้แทบจะทั้งคันอยู่แล้ว และการเปลี่ยนไปสู่การผลิตรถ EV นั้นเป็นการเปลี่ยนเพียงแค่ 3 ชิ้นส่วนเท่านั้น ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่จะเข้ามาเป็นคู่แข่งจะต้องสร้างชิ้นส่วนที่เหลืออีกเป็นร้อยๆ ชิ้น

 

“วันนี้คำว่า ‘When’ สำคัญกับประเทศมาก เรามีเวลาเหลือไม่เยอะที่จะช่วงชิงโอกาสนี้ เรามีไฟฟ้าเหลือ เรามีโครงสร้างพื้นฐานการผลิตรถยนต์ที่พร้อม ถ้าวันนี้ประเทศไทยขยับตัวได้ทัน ผมเชื่อว่าภายใน 3-5 ปี อุตสาหกรรมนี้จะยังอยู่ในเมืองไทย แล้วเราจะได้ New S-Curve ตัวใหม่สำหรับประเทศเราต่อไป 

 

“คีย์ของปัญหาในประเทศไทยเริ่มต้นจากมายด์เซ็ต เราไม่พยายามจะทำให้เกิด เราไม่มีข้อผูกมัด (Commitment) ก็จะไม่เกิด ทุกครั้งเวลาที่บริษัท EA ทำอะไรก็ตาม เราจะคิดว่าทำอย่างไรให้เกิดมายด์เซ็ตในการสร้าง Innovation และ Productivity อย่างเช่นตอนที่เราทำโซลาร์ฟาร์ม คนอื่นเลือกทำแบบติดตั้งโดยยึดอยู่กับที่ (Fixed System) แต่พวกเรากลับคิดว่าทำอย่างไรให้ได้ Yield เพราะฉะนั้นเราจึงเลือกทำแบบติดตั้งโดยหมุนตามดวงอาทิตย์ (Tracking System) และเราเลือกทำครั้งละ 90 เมกะวัตต์ ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสมัยก่อนถือว่าเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่ แต่การทำแบบนี้ก็พิสูจน์ให้ได้เห็นว่าเราแตกต่างและพิเศษจากคนอื่นๆ อย่างไร”

 

ส่วนหนึ่งของเวทีเสวนา BRACING FOR THE FUTURE I: TECHNOLOGY & CLIMATE CHANGE

โดย สมโภชน์ อาหุนัย 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

 


 

 

 

“เมื่อประมาณปี 2010 เรามองเห็นว่าสถานการณ์ด้านพลังงานมีความท้าทายมากขึ้น บ้านปูจึงได้กำหนดแผนในการปรับเปลี่ยนสู่ยุคพลังงานยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าเราจะต้องผลิตพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องจัดหามาให้ได้ในราคาที่เหมาะสม และจะต้องเป็นพลังงานที่มีความยั่งยืน

 

“นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนผ่านของพอร์ตโฟลิโอด้านธุรกิจ โดยในปี 2015 เรายุติการลงทุนในธุรกิจถ่านหิน และในระยะเวลาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เงินลงทุนกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ที่เราลงทุนไปนั้น 96% เป็นการลงทุนเกี่ยวกับพลังงานสีเขียวทั้งหมดเลย รวมทั้งยังได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร ลดต้นทุน ลดความซับซ้อนของกระบวนการทำงาน และยังได้นำเอาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ทั้งหมด

 

“ปัจจุบันที่เราเห็นเรื่องของวิกฤตของราคาพลังงานที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน น้ำมัน เราไม่ได้มองว่าราคาจะยืนอยู่แบบนั้นไปตลอด แต่วิกฤตในระยะสั้นนี้เป็นจุดหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าหลายๆ ประเทศจะต้องหันกลับมาพึ่งพาทรัพยากรพลังงานของตัวเอง อย่างเช่นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ แต่การที่จะทำแบบนี้ได้ต้องอาศัยการสนับสนุนในเรื่องของนโยบายด้วย เช่นเรื่องค่าไฟฟ้า หรือการที่ภาคธนาคารเลือกปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ซึ่งนโยบายเหล่านี้จะมีส่วนในการช่วยเปลี่ยนผ่านให้บริษัทต่างๆ หันมาดำเนินธุรกิจโดยใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น” 

 

ส่วนหนึ่งของเวทีเสวนา BRACING FOR THE FUTURE I: TECHNOLOGY & CLIMATE CHANGE

สมฤดี ชัยมงคล

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) 


 

KKP Economic Forum

 

“ปัญหาที่เป็นตัวถ่วงให้ประเทศเราไม่สามารถขยับไปสู่ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ก็คือ อำนาจผูกขาดจากกลุ่มทุนใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาบนความไม่ยั่งยืน ที่มีอิทธิพลในการที่จะตอกตรึงนโยบายไม่ให้เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็น 

 

“ถ้าเราตั้งธงไว้เลยว่าทุกฝ่ายจะต้องหันหน้าเข้าหากันและมาร่วมมือกัน การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ยากมากหรือเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเวลาที่เราพูดถึงเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ถามว่ากลุ่มผลประโยชน์เขามีแรงจูงใจอะไรที่จะเปลี่ยนวิธีคิดแล้วหันมาสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน 

 

“ส่วนตัวคิดว่าอาจจะต้องทำให้เห็นตรงกันก่อนว่า ถ้าเกิดเราปล่อยให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ นโยบายต่างๆ ดำเนินต่อไปในทิศทางที่ทำให้อำนาจหรืออิทธิพลทางเศรษฐกิจกระจุกตัวมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำทวีคูณมากขึ้น สุดท้ายแล้วไม่เพียงแต่การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของประเทศเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของสังคมที่จะแตกร้าว เกิดความขัดแย้งจนขาดเสถียรภาพ และอาจจะนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า ‘รัฐล้มเหลว’ 

 

“ซึ่งแน่นอนว่าถ้ามองไปไกลถึงขนาดนั้น ย่อมไม่มีบริษัทไหนที่จะอยากเห็นสถานการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทุกฝ่ายควรจะช่วยกันก็คือ พยายามกดดัน เรียกร้อง และฉายภาพให้บริษัทที่เป็นกลุ่มผลประโยชน์เห็นอย่างชัดเจนว่าอนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไรถ้าเกิดยังไม่เปลี่ยน และตัวเขาเองจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปอย่างไรบ้าง” 

 

ส่วนหนึ่งของเวทีเสวนา BRACING FOR THE FUTURE I: TECHNOLOGY & CLIMATE CHANGE 

สฤณี อาชวานันทกุล 

กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ แห่ง ‘ป่าสาละ’ 


 

KKP Economic Forum

 

“ประเด็นหลักๆ ที่เราจะต้องถามตัวเองมีอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน หนึ่ง ประโยชน์ที่เราได้รับในการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) ลดลงไปแล้วใช่ไหม แล้วเราควรจะปรับตัวกับตรงนี้อย่างไร เมื่อห่วงโซ่อุปทานโลกกำลังถูกแยกออกเป็นสองขั้ว สอง เราจะหาพลังงานมาใช้ให้เพียงพอได้อย่างไร สาม ประชากรของเราเองก็แก่ตัวลง เราควรที่ปรับตัวจากการเป็นผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมาผลิตบริการด้านสุขภาพหรือยัง

 

“สุดท้าย หลายคนบอกว่าเศรษฐกิจจีนที่มีลักษณะเป็นทุนนิยมแบบบงการโดยรัฐ (State-led Capitalism) โดยที่มีรัฐบาลทำหน้าที่คอยชี้นำ เป็นเศรษฐกิจที่พัฒนาไปได้ดีเหลือเกิน แล้วคุณจะยังยึดถือในทุนนิยมแบบตลาดเสรี (Free-Market Capitalism) ของอเมริกาอยู่ไหม ในช่วง 10 ปีข้างหน้าจึงจะเป็นเวลาที่จะพิสูจน์และตัดสินว่าแนวทางไหนประสบความสำเร็จและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีกว่า

 

“สิ่งที่ประเทศไทยจะเจอข้อแรกคือ เงินเฟ้อยืดเยื้ออย่างมาก สองคือปัญหาเรื่องการนำเข้าพลังงานที่จะแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายเรื่องประชากรสูงวัย ภายใต้ภาวการณ์ที่ขาดประชากรหนุ่มสาว จะดีกว่าไหมที่เราจะผันตัวจากการเน้นอุตสาหกรรมการผลิตไปสู่การเน้นภาคบริการ หรือการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสร้างผลผลิต ซึ่งพึ่งพาการใช้พลังงานและแรงงานน้อยลง” 

 

ส่วนหนึ่งของเวทีเสวนา BRACING FOR THE FUTURE II: GEOPOLITICS & OUR POLITICS 

โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ 

ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร 

 


 

 

KKP Economic Forum

 

“โจทย์แรกคือเรื่องการเมือง เดิมเรารักษาระยะห่างระหว่างคู่ขัดแย้งได้ดี โจทย์ที่สองเรื่องเศรษฐกิจ ที่ผ่านเราส่งสินค้าไปอเมริกา 15%, จีน 14%, ญี่ปุ่น 9%, ยุโรป 9% ที่เหลืออีก 24% ไปอาเซียน ทำให้เห็นว่าเราบาลานซ์พอร์ตได้ดีพอสมควร แต่ในช่วงหลังรัฐประหาร การเมืองเราขยับเข้าไปใกล้จีนเยอะขึ้น บวกกับการที่เศรษฐกิจจีนก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยถูกดูดเข้าวงโคจรของจีน พึ่งพาจีนมากขึ้นเรื่อยๆ สองเรื่องนี้จึงกลายเป็นสิ่งที่เราจะต้องวางตำแหน่งตัวเองให้ถูก

 

“ส่วนเรื่องเทคโนโลยีถือเป็นอีกตัวหนึ่งที่ต้องตัดสินใจ แต่เทคโนโลยีของเราไม่ถึงขั้นที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานของสินค้ายุทธศาสตร์ที่มีปัญหาระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา และโลกตะวันตก อย่างเช่นเทคโนโลยี 5G, 6G, AI หรือ Quantum Computer อะไรต่างๆ พวกนี้เราไม่ถึง เพราะฉะนั้นโจทย์ทางเทคโนโลยีของเราก็คือ เราจะเลือกมาตรฐานของขั้วไหนในอนาคต

 

“ประเทศไทยคงจะมีการเลือกตั้งไม่เกินปีหน้า รัฐบาลใหม่จะต้องเข้าใจภูมิรัฐศาสตร์มากกว่าที่เป็นอยู่มากเลย ผมอยากจะเห็นรัฐบาลใหม่ของไทยรักษาสมดุลของความสัมพันธ์กับมหาอำนาจได้เป็นอย่างดี ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากกลุ่มพรรคการเมืองใกล้ชิดกับทหาร ข้อควรระวังคืออย่าถอยห่างจากมหาอำนาจที่เป็นประชาธิปไตยเสรี ถ้าเป็นรัฐบาลที่เน้นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ต้องระมัดระวังว่าอย่าไปกระทบกระทั่งจีน เพราะถ้าทำให้จีนโกรธ เศรษฐกิจไทยจะเดือดร้อน” 

 

ส่วนหนึ่งของเวทีเสวนา BRACING FOR THE FUTURE II: GEOPOLITICS & OUR POLITICS

โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย


 

KKP Economic Forum

 

 

“เมื่อจีนใหญ่ขึ้นมา เขาต้องการที่จะมีบทบาทและอิทธิพลต่อโลกมากขึ้น เราจึงได้เห็นโครงการที่เขาพยายามจะวางตัวเป็นผู้นำในด้านต่างๆ อย่างเช่น หนึ่งเข็มขัดเศรษฐกิจ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) รวมถึงการเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี แล้วจีนก็มีคุณลักษณะเฉพาะ อย่างการมีการปกครองแบบอำนาจนิยม แต่มีเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่รัฐเป็นผู้นำพา การปีนเกลียวตรงนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเวลานี้ระบบระเบียบที่สร้างขึ้นมาก็เต็มที่ ชนเพดานแล้ว ยิ่งมีโควิด-19 ยิ่งตอกย้ำถึงความตึงเครียด หลังจากนี้จะยิ่งมีความขัดแย้งมากขึ้น และไปสู่ยุคของการอยู่แบบตัวใครตัวมัน 

 

“ด้วยความที่ดุลยภาพโลกเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ไทยจึงต้องมีความกระฉับกระเฉงและต้องดูตาม้าตาเรือให้ดี แต่อย่างน้อยไทยเรามีสินทรัพย์ทางยุทธศาสตร์ที่ไม่มีใครมีก็คือ การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับแทบทุกมหาอำนาจ ซึ่งเราต้องนำจุดนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ เหมือนเช่นในอดีตที่เราใช้ประโยชน์ และทำให้เราอยู่รอดมาได้ 

 

“สำหรับการเมืองไทยในทศวรรษข้างหน้า ประชาชนต้องเป็นใหญ่ เพราะว่าถ้าประชาชนไม่เป็นใหญ่ก็จะมีปัญหา เกิดการประท้วงต่างๆ นานา และทำให้เกิดความตึงเครียดในมิติของการต่างประเทศ ประเทศไทยเป็นเหมือนประเทศที่มีปมด้อย ไปเจอหน้าใครเขาก็ถามว่าเมื่อไหร่จะมีเลือกตั้งรัฐธรรมนูญ ทำไมต้องยึดอำนาจ นักการทูตไทยก็จะต้องใช้เวลากว่าครึ่งมานั่งอธิบายเรื่องเหล่านี้ ถึงเวลาที่ควรจะเห็นได้แล้วว่าความเสียหายตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมานั้นฝังรากลึก ยาวนาน” 

 

ส่วนหนึ่งของเวทีเสวนา BRACING FOR THE FUTURE II: GEOPOLITICS & OUR POLITICS

โดย ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ 

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 

KKP Economic Forum

 

 

“กับดักแรก เรื่องความชอบธรรม เราเสียเวลาทะเลาะกันมานานมากกว่า 10 ปีแล้วในประเด็นที่ว่าอะไรคือระบอบการปกครองที่ชอบธรรม ซึ่งจริงๆ ไม่ควรเสียเวลาเถียงกันนานมากขนาดนี้ ถ้าตัดจีนที่เป็นโมเดลเฉพาะตัว ยากที่ใครจะลอกเลียนแบบ แล้วลองกวาดตามองไปทั่วโลกจะเห็นว่าที่สุดแล้วความชอบธรรมมีแบบเดียวคือ ประชาธิปไตย และการเปิดให้มีการแข่งขันทางการเมือง กับดักที่สอง เรื่องการแบ่งแยกแตกขั้วร้าวลึก สงครามกลางเมือง หรือการแบ่งสีเสื้อที่ยังอยู่ ส่งผลให้สังคมไม่สามารถมีฉันทมติร่วมกันได้เลย 

 

“กับดักที่สาม การนิยมแก้ปัญหาด้วยอำนาจนิยม พอขัดแย้งกันสูง เราก็ใช้การออกคำสั่งแบบ Top Down ทุกคนไม่ต้องมีสิทธิมีเสียงหรือมีส่วนร่วม พอเป็นแบบนี้ก็ไม่ได้เกิดการแก้ปัญหาที่รากฐาน ซึ่งที่เราทะเลาะกันส่วนหนึ่งนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการกระจายทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรมอยู่ด้วย กับดักสุดท้าย รัฐราชการรวมศูนย์ ทั้งที่ราชการมีปัญหาเยอะและสมรรถภาพลดลง แต่ยังนำมาใช้บริหารประเทศ ก็เลยยิ่งไปกันใหญ่ 

 

“ผมอยากจะสื่อสารกับภาคธุรกิจว่า เราไม่สามารถไปต่อไปนี้ได้ เราไม่สามารถคิดว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องไปยุ่งการเมือง ปล่อยมันไป เดี๋ยวภาคเศรษฐกิจก็จะค่อยๆ ปรับตัว ประคองตัวเองแล้วไปต่อได้ ซึ่งผมคิดว่าไม่จริงอีกต่อไป ถ้าเราไม่เริ่มจากการยอมรับความจริงว่า การเมืองแบบที่เป็นอยู่ของไทยมันฉุดรั้งเศรษฐกิจ แล้วภาคธุรกิจไม่พยายามส่งเสียงและเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมือง ผมว่าเราไปต่อลำบาก”

 

ส่วนหนึ่งของเวทีเสวนา BRACING FOR THE FUTURE II: GEOPOLITICS & OUR POLITICS

โดย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ 

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising