×

‘เศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ’ เกียรตินาคินภัทรแนะนักลงทุนพิจารณากระจายความเสี่ยงในต่างประเทศเศรษฐกิจแข็งแกร่ง

25.07.2023
  • LOADING...
2H2023 Investment Outlook and Opportunities

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • ความกังวลเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ลดลง โดย Bank of America ปรับการคาดการณ์ใหม่ว่าการเติบโตแบบติดลบมีแนวโน้มแค่ 2 ไตรมาส จากเดิมที่ 3 ไตรมาส จากเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่ง
  • ระดับเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ประเทศไทยอยู่ต่ำกว่า 2% ส่งสัญญาณสภาพเศรษฐกิจของจีนและไทยที่ค่อนข้างอ่อนแอเมื่อเทียบกับประเทศฝั่งตะวันตกจากกำลังการบริโภคที่น้อยกว่า
  • เศรษฐกิจไทยปี 2023 มีแนวโน้มเติบโตได้ถึง 3.3% แต่ส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนโดยการท่องเที่ยว ในขณะที่ภาคการบริโภค ส่งออก และการลงทุนยังอยู่ในโหมดชะลอตัว
  • เกียรตินาคินภัทรแนะกระจายความเสี่ยงไปต่างประเทศ โดยให้น้ำหนักไปที่ตลาดหุ้นยุโรปในระยะสั้น ในขณะที่ตลาดสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มดีในระยะยาว ซึ่งกลุ่มที่น่าสนใจได้แก่ Communication Services, Consumer Staples, และ Utilities

‘2H2023 Investment Outlook and Opportunities’ งานสัมมนาที่จัดขึ้นโดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ร่วมบรรยายโดยผู้ที่มีประสบการณ์ในแวดวงการลงทุน แชร์อินไซต์เพื่อประเมินถึงสภาพเศรษฐกิจ และเฟ้นหาโอกาสในการลงทุนสำหรับครึ่งปีหลัง 2023 

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และ ณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการอาวุโส KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เผยถึง 3 ธีมหลักของเศรษฐกิจโลกที่นักลงทุนควรนำไปพิจารณาเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจในการลงทุนครึ่งปีหลังนี้ ได้แก่

 

  1. Economic Divergence: ภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไปคนละทิศละทางระหว่างกลุ่มประเทศตะวันตกและตะวันออก หรือแม้กระทั่งภายในประเทศนั้นๆ เอง
  2. Rates Approaching Peak: อัตราดอกเบี้ยเข้าใกล้จุดสูงสุดเต็มทน
  3. Thailand Fragile Recovery: การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเปราะบางและไม่ทั่วถึง มีแค่การท่องเที่ยวที่ยังเป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย

 

2H2023 Investment Outlook and Opportunities

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย และ ณชา อนันต์โชติกุล ร่วมเสวนามุมมองเศรษฐกิจโลกและไทย

 

อัตราเงินเฟ้อกลุ่มประเทศพัฒนายังสูง ตรงข้ามกับประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจอ่อนแอกว่า

ณ ปัจจุบัน ทั้ง 2 วิทยากรมองว่า สภาวะเศรษฐกิจโลกภาพรวมที่นำโดยสหรัฐอเมริกามีโอกาสเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยค่อนข้างต่ำและน่าจะถูกเลื่อนออกไป โดยหากเกิดขึ้นจริงก็ดูเหมือนว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายเคยกังวลไว้เมื่อต้นปี ส่วนหนึ่งมาจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation) ในสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ระดับเกือบๆ 6% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางที่ 2% อยู่พอสมควร หมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอยู่ในสภาพที่แข็งแรงจากความต้องการบริโภคที่มีสูงอยู่

 

ด้วยเหตุนี้ Bank of America ยังปรับการประเมินสภาพเศรษฐกิจในอนาคตระยะสั้นที่จากเดิมมองว่านับตั้งแต่ไตรมาสนี้ (ไตรมาส 3 ปี 2023) จนถึงไตรมาส 1 ปี 2024 การเติบโตจะติดลบที่ -1%, -2% และ -0.5% ตามลำดับ แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ดูเหมือนจะดีขึ้น จึงปรับผลการประเมินให้การเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาสนี้กลับมาอยู่ในแดนบวกที่ 1% แต่น่าจะไปติดลบใน 2 ไตรมาสแรกของปีหน้า ซึ่งแม้เป็นตัวเลขติดลบแต่ก็ออกมาต่ำกว่าการคาดการณ์ในครั้งก่อน

 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้มีความแข็งแกร่งในทุกมิติ เพราะข้อมูลความต้องการบริโภคสินค้าหมวดอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ที่เป็นตัวชี้วัดภาคการผลิตพบว่ามีกำลังอ่อนตัวลง ผิดกับภาคการบริการที่เข้าไปอยู่ในแดนขยายตัวได้อย่างแข็งแรง ด้วยเหตุนี้ภาคบริการจึงเป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ยังไปต่อได้

 

ในฝั่งประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยและจีน ระดับเงินเฟ้อพื้นฐานของเราได้หันหัวลงมาอยู่ต่ำกว่า 2% แล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณสภาพเศรษฐกิจของจีนและไทยที่ค่อนข้างอ่อนแอเมื่อเทียบกับประเทศฝั่งตะวันตกจากกำลังการบริโภคที่น้อยกว่า ซึ่งสะท้อนออกมาในเรื่องของราคาสินค้าและบริการที่ในสหรัฐฯ ยังพยุงตัวสูงอยู่ ผิดกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยณชาให้เหตุผลว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องของการส่งออกที่น้อยลงจากความต้องการสินค้าหมวดอุตสาหกรรมหดตัวในสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงการบริโภคในจีนและไทยเองก็ยังไม่กลับมาเต็มที่

 

สำหรับเรื่องของดอกเบี้ย ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นอีกแค่ 1-2 ครั้งตามมุมมองของพิพัฒน์และณชา โดยเมื่อขึ้นไปที่จุดสูงสุดแล้ว ดอกเบี้ยน่าจะคงอยู่ในระดับนั้นไปจนถึงกลางปีหน้าเพื่อชะลอการบริโภค ตามตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ยังสูงอยู่ รวมถึงนโยบายที่พยายามดึงการลงทุนกลับประเทศ ก็เป็นปัจจัยที่ว่าสหรัฐฯ น่าจะเลือกรักษาระดับดอกเบี้ยที่สูงไว้ก่อนสักระยะ

 

เศรษฐกิจไทยฟื้นช้า เหลือแค่การท่องเที่ยวที่ฝากไข้ได้ แต่ส่วนอื่นยังซึม

แม้เศรษฐกิจไทยจะมีการฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ในระดับเกือบเท่ากันกับก่อนการระบาดของโควิด แต่ก็ต้องยอมรับว่าบ้านเราฟื้นตัวช้ากว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่โตพ้นระดับก่อนการระบาดไปแล้ว เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นหลัก และในตอนนี้พิพัฒน์และณชาเห็นว่าเป็นเครื่องจักรหลักเดียวที่ช่วยประคองเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้า ซึ่งในปี 2023 ทางเกียรตินาคินภัทรมองว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะมาเป็น 29.7 ล้านคนภายในสิ้นปี ถือว่าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2022 ที่เข้ามาเพียง 11.2 ล้านคน

 

ณชามองว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ถึง 3.3% โดยมาจากการท่องเที่ยวอย่างเดียวประมาณ 4.4% แต่ที่น่าสนใจคือสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยโดยรวมสุดท้ายแล้วลงมาเหลือประมาณ 3.3% เพราะในภาคการส่งออก การบริการ และการลงทุนยังเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย ซึ่งในส่วนของการส่งออกทางวิทยากรทั้งสองท่านก็เข้าใจถึงปัจจัยเศรษฐกิจนอกประเทศที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ส่งผลให้ส่งออกบ้านเราทำได้ไม่ดี และเมื่อการส่งออกชะลอตัวแล้วก็เป็นเหตุทำให้รายได้และกำลังซื้อของคนในประเทศน้อยลงตามไปด้วย

 

นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคือสินเชื่อที่มาจากธนาคารมีการหดตัวลง เนื่องจากความกังวลต่อคุณภาพของสินทรัพย์ค้ำประกันและความต้องการเงินกู้จากนักลงทุนหรือผู้บริโภคเองนั้นหายไป สิ่งนี้ส่งสัญญาณว่าเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี การกู้ยืมเงินเพื่อไปลงทุนก็ลดน้อยลง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่เหนี่ยวรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเอาไว้

 

ในฝั่งของนโยบายการเงินในประเทศ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ของไทยปรับลดลงมาค่อนข้างรวดเร็วจากที่เคยทำจุดสูงสุดเกือบ 8% เมื่อกลางปีที่แล้ว แต่ตอนนี้ลงมาอยู่ต่ำกว่า 0.5% แล้ว อย่างไรก็ตาม พิพัฒน์มองว่า หากประเมินจากการสื่อสารของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ยังคงกังวลถึงเงินเฟ้อที่อาจกลับมาในปลายปีนี้หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว จึงคิดว่าน่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งและไปอยู่ที่ 2.25%

 

การลงทุนต่างประเทศจำเป็นมากขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ

จากปัจจัยทั้งทางเศรษฐกิจโลกและไทยที่ประเมินมาทั้งหมด ทางสองวิทยากรสรุปนัยสำคัญของการลงทุนไว้ดังนี้

 

  • การลงทุนในหุ้นยังจำเป็น แม้จะมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ยังให้ผลตอบแทนดีที่สุดในระยะยาว 
  • ตราสารหนี้ยังให้ผลตอบแทนสูงในช่วงที่มีความเสี่ยงของเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะสกุลดอลลาร์สหรัฐ
  • นักลงทุนควรพิจารณาเน้นการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ต่างประเทศ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนและการกระจายความเสี่ยง เนื่องจากไทยยังมีการฟื้นตัวที่ค่อนข้างช้า และความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่อาจกระทบต่อการลงทุนจากต่างชาติหรือลามไปกระทบภาคการท่องเที่ยวได้ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ และจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของไทย
  • สินทรัพย์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ยังมีความน่าสนใจ จากปัจจัยพื้นฐานระยะยาวที่ดีของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

 

สำหรับหลักทรัพย์ในต่างประเทศ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรได้แบ่งอุตสาหกรรมหุ้นต่างๆใส่ 3 ตะกร้าตามความน่าดึงดูดของอุตสาหกรรมนั้นๆ เพื่อให้นักลงทุนลองนำไปพิจารณาการเลือกลงทุนต่อ ได้แก่

 

  • อุตสาหกรรมที่มองบวก: Communication Services (Google, Meta, Netflix, Other Telecom Companies) เพราะการเติบโตของโฆษณาออนไลน์เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น, Consumer Staples หรือสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพ มีต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงและมูลค่าตลาดถูกกว่าในอดีต, Utilities เนื่องจากแรงกดดันดอกเบี้ยจะลดลงและแนวโน้มการสร้างรายได้ดูดีขึ้น
  • อุตสาหกรรมที่มองกลางๆ: Healthcare, Financials, Industrial, Energy, Materials
  • อุตสาหกรรมที่มองลบ: Information Technology เนื่องจากการตีราคาสะท้อนออกมาว่าแพงกว่าถึง 60% เมื่อเทียบกับตลาด, Consumer Discretionary หรือสินค้ากลุ่มฟุ่มเฟือย

 

นอกจากหุ้นรายอุตสาหกรรมแล้ว กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรยังให้คำแนะนำการจัดพอร์ตหุ้นต่างประเทศ ที่ทางบริษัทมองว่าจะเทน้ำหนักไปให้กับตลาดหุ้นยุโรปมากขึ้น และลดน้ำหนักความสำคัญของหุ้นสหรัฐฯ ลงสำหรับระยะสั้นครึ่งปีหลังนี้ ในขณะที่หุ้นในตลาดญี่ปุ่นและประเทศกำลังพัฒนายังอยู่ในเกณฑ์กลางๆ

 

ท่ามกลางบรรยากาศการลงทุนยังคงมีความท้าทายจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าและความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังมีอยู่ การย้ายเงินไปลงทุนในต่างประเทศตามการวิเคราะห์ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรก็ถือเป็นการกระจายความเสี่ยง และน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อย เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ในระยะนี้

 

อ้างอิง:

  • กลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร: ‘2H2023 Investment Outlook and Opportunities’
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X