สายฝนต้นเดือนพฤศจิกายนโปรยปรายลงมาแบบไม่มีใครคาดคิด ทั้งๆ ที่ในเดือนนี้ควรเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเต็มตัวแล้ว แต่นั่นไม่ได้ทำให้บรรยากาศการพูดคุยกันระหว่างเรากับ โปรเข้มข้น ลิมพะสุต และ บอล-กิตติพัฒน์ ลิมพะสุต คุณพ่อของเขา จืดจางหรือหงอยเหงาลงแต่อย่างใด
โดยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา THE STANDARD SPORT มีโอกาสเปิดออฟฟิศของเราย่าน RCA เพื่อสัมภาษณ์ทั้งสองคน หลังจากที่โปรเข้มข้นกลับมาประเทศไทยหลังฤดูกาลของ Korn Ferry Tour ปิดลง
โปรกอล์ฟชาวไทยวัย 28 ปีที่ไปอยู่สหรัฐอเมริกาเพื่อไล่ตามความฝันตั้งแต่อายุ 14 ปี เขาเติบโตขึ้นที่สหรัฐอเมริกาและผ่านระบบกีฬาของชาวอเมริกัน ก่อนที่จะทำตามความฝันด้วยการเข้า Korn Ferry Tour ซึ่งเป็นเสมือน ‘ทัวร์รอง’ ของ PGA TOUR และกำลังไล่ล่าความฝันในการเป็นโปรกอล์ฟใน PGA TOUR
อย่างที่เราทราบกันดีว่าเส้นทางไปสู่ PGA TOUR ของโปรไทยส่วนมากจะเริ่มจากการเล่นกอล์ฟในประเทศก่อนขึ้นสู่ทัวร์ระดับสูง อย่างเช่น Asian Tour หรือ DP World Tour (ชื่อเดิมคือ European Tour) เพื่อทำผลงานให้ดีก่อนข้ามไปสู่ PGA TOUR
แต่โปรเข้มข้นเลือกอีกเส้นทางหนึ่ง ซึ่งเราไม่ค่อยเห็นโปรไทยใช้เส้นทางนี้ในการเข้าสู่ PGA TOUR แต่เป็นเส้นทางปกติของโปรอเมริกันหลายคน
เข้มข้นเล่าให้เราฟังว่า ก่อนจะเริ่มเล่นกอล์ฟนั้นเขาเล่นกีฬามาหลายชนิด ทั้งฟุตบอล ว่ายน้ำ แบดมินตัน และเทนนิส แต่ที่มาจบลงที่กอล์ฟ เนื่องจากเป็นกีฬาที่ไม่ต้องใช้ทักษะในการเคลื่อนไหวร่างกายมากนัก
นอกจากนี้คุณพ่อ (บอล-กิตติพัฒน์ ลิมพะสุต) ก็ยังเปิดเผยด้วยว่า กอล์ฟเป็นกีฬาที่ทั้งครอบครัวเล่นด้วยกันได้ และพอได้ลองหัดเล่นก็เลยลองให้เข้มข้นลงแข่งขันดู
“ผมมีความรู้สึกว่าเด็กทุกคนควรจะต้องมีกีฬาประจำตัว เพียงแต่ว่าจะต้องเล่นซีเรียสขนาดไหน แต่มันควรต้องมีกีฬา เช่น ตอนเด็กๆ เราเล่นเทนนิส เล่นบาสเกตบอล หรืออะไรก็ตาม เพียงแต่ว่าเวลาโตขึ้นเราจะเลิกเล่นแล้ว เพราะว่าเรียนจบหรือจะต้องไปทำโน่น นี่ นั่น แต่ทุกควรจะต้องมีกีฬาประจำตัวสักคนละอย่างน้อย 1 อย่าง” บอล กิตติพัฒน์ กล่าว
ในตอนแรกโปรเข้มข้นก็ไม่ได้รู้สึกอินมากนัก จนกระทั่งไปเจอจุดเปลี่ยนคือการได้เห็นนักกอล์ฟเยาวชนคนหนึ่งอายุน่าจะประมาณ 10-11 ปี ซึ่งโตกว่าตัวของเข้มข้นในขณะนั้นนิดเดียว มาซ้อมเพื่อแข่งขันแบบจริงจัง ทำให้ตัวของเขาในตอนนั้นมีแรงบันดาลใจในการเล่นกอล์ฟต่อไป
หลังจากนั้นเข้มข้นกับคุณพ่อบอลก็ตกลงร่วมกันย้ายไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาด้วยวัยเพียง 14 ปี เพื่อเริ่มเดินหน้าตามความฝัน
โปรเข้มข้นที่ย้ายไปอยู่ที่นั่นก็ถูกเรียกว่า ‘โปรเคเค’ (KK) เพื่อความง่ายต่อการออกเสียงของชาวต่างชาติ เขาเล่าว่า เมื่อย้ายไปอยู่ที่นั่นก็รู้สึกว่าคุณภาพการเล่นกอล์ฟของคนอเมริกันนั้นไม่ธรรมดา ประกอบกับที่สหรัฐฯ เขาสามารถเล่นกอล์ฟไปพร้อมกับเรียนได้ ต่างจากที่ไทยที่อาจจะต้องเทิร์นโปรเมื่อจบ ม.6 ซึ่งทางบ้านลิมพะสุตมองว่าเร็วเกินไป
ในตอนแรกโปรเข้มข้นก็ตั้งคำถามว่า ตอนที่จบ ม.6 แล้วทำไมเขายังต้องไปเรียนมหาวิทยาลัย ทำไมผมไม่เทิร์นโปรไปเลย เพราะตัวเขาเองก็ไม่ได้ชอบเรียนขนาดนั้น แถมเพื่อนทุกคนที่โตมาจากไทยก็มีแผนที่จะเทิร์นโปรกันหมด แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยไปแล้ว ได้คุยกับเพื่อนๆ ที่โน่น พวกเขากลับไม่มีแผนเทิร์นโปรอยู่ในหัวเลย แต่ถึงอย่างนั้นทุกคนก็มีความฝันว่าอยากไป PGA TOUR เหมือนกันหมด ทำให้เขาเริ่มเปิดรับชีวิตมหาวิทยาลัยที่เรียนไปเล่นกอล์ฟไปหลังจากนั้น
เข้มข้นเข้าเรียนที่ University of California, Berkeley หรือ UC Berkeley ที่นั่นนอกจากเขาจะได้ทุนนักกีฬากอล์ฟแล้ว เขายังได้เป็นเพื่อนกับโปรชื่อดังอย่าง คอลลิน โมริกาวะ เพราะทั้งคู่นอกจากจะเล่นร่วมกันในทีมมหาวิทยาลัยแล้ว ยังเรียนคณะเดียวกันด้วยคือคณะบริหารธุรกิจ
สำหรับชีวิตในมหาวิทยาลัยที่อเมริกานั้นเข้มข้นบอกว่าเป็นสิ่งที่สอนเขาได้อย่างดีเกี่ยวกับการมีวินัย เพราะหลายครั้งที่เขาต้องไปแข่งขันกอล์ฟ แต่ก็มีวิชาที่ต้องสอบไปด้วย ถึงขั้นทำข้อสอบกันที่สนามกอล์ฟเลยทีเดียวทั้งที่เพิ่งแข่งขันเสร็จใหม่ๆ ประสบการณ์เหล่านี้สอนให้เขาเห็นความสำคัญของการจัดการเวลาในชีวิต เพื่อเตรียมตัวสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพต่อไป
นอกจากเล่นกอล์ฟกับเรียนแล้ว เข้มข้นยังซึมซับวัฒนธรรมแบบอเมริกันมาหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือคอลเลจฟุตบอล หรือวัฒนธรรมการดูอเมริกันฟุตบอลในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความแน่นแฟ้นกันมาก เขาเข้าไปชมเกมการแข่งขันตั้งแต่ยังดูกีฬาชนิดนี้ไม่เป็น แต่อาศัยการถามเพื่อน ให้เพื่อนอธิบาย จนสุดท้ายก็กลายเป็นหนึ่งในกีฬาที่ชอบรับชม
เขาเล่าด้วยรอยยิ้มว่า ปัจจุบันก็ดู NFL ด้วย แม้ไม่ได้มีทีมที่เชียร์จริงจัง แต่ก็จะเชียร์นักกีฬาทุกคนที่จบจาก UC Berkeley และแม้จะไม่มีทีมที่เชียร์จริงจัง แต่เขากลับเป็นแฟนจริงจังของแฟนตาซี NFL ซึ่งทำให้เขาต้องกลับมาดูการแข่งขันบ่อยๆ ในช่วงที่มีเวลาว่างจนถึงปัจจุบันนี้ด้วย
หลังเรียนจบโปรเคเคก็เดินทางสู่การเป็นโปรกอล์ฟมืออาชีพ โดยปัจจุบันเขาลงเล่นใน Korn Ferry Tour แม้จะเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูแฟนๆ มากนัก แต่หากบอกว่าทัวร์นี้มีชื่อเดิมอย่าง Nationwide Tour หรือ Web.com Tour แฟนๆ กอล์ฟก็น่าจะเคยได้ยินกันมาบ้าง เพราะนี่คือทัวร์ที่จะใช้คัดผู้เล่นเข้าสู่ PGA TOUR ต่อไป
เข้มข้นเล่าว่าเขาเข้าสู่ทัวร์นี้ในปี 2020 หลังเรียนจบในปี 2019 โดยนักกอล์ฟที่มีอันดับท็อป 30 ขึ้นไปจะได้ไป PGA TOUR ในแต่ละปี โดยทัวร์นี้จะเล่นกันฤดูกาลละ 26 สนาม ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม
“คือเขาก็พูดกันหลายๆ คนว่าถ้าคุณสามารถผ่านใน Korn Ferry Tour ได้ คุณก็พร้อมแล้วที่จะไปเล่น PGA TOUR” โปรเข้มข้นกล่าวสรุปไว้อย่างเข้าใจง่าย
โดยในปีที่ผ่านมาโปรเข้มข้นผ่านควอลิฟายไปเล่นในกอล์ฟ PGA TOUR มาแล้วในรายการ THE CJ CUP Byron Nelson ทำให้โปรเข้มข้นสามารถอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างการเล่นใน Korn Ferry Tour และ PGA TOUR ได้ด้วย
เขาอธิบายว่าทักษะของนักกอล์ฟทั้งสองทัวร์นั้นไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ซึ่งบรรดานักกอล์ฟราวท็อป 20-30 อาจจะแตกต่างจากโปรใน Korn Ferry Tour มากก็จริง แต่ถัดจากนั้นลงมาฝีมือไม่ห่างกันมาก
แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือการ Set Up สนาม เพราะการ Set Up สนามของ PGA TOUR จะยากกว่า มีความเป็นแชมเปียนชิปกว่า ซึ่งข้อพิสูจน์ก็คือ สกอร์ของโปรที่เล่นในทัวร์ทั้งสองนั้นต่างกันมาก เพราะใน Korn Ferry Tour แต่ละสัปดาห์ แชมป์หรือหัวตารางสกอร์จะติดลบเยอะมาก ถึงขั้น 20 กว่าหรือเกือบ 30 อันเดอร์พาร์ก็มี แต่ใน PGA TOUR สนามเดียวกัน สกอร์จะติดลบน้อยกว่ามาก อาจจะ 10 ต้นๆ หรือหลักหน่วยก็มี
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเสียดายอยู่บ้างที่ Korn Ferry Tour ไม่ได้มีการถ่ายทอดสดให้แฟนๆ ติดตามกันง่ายๆ เหมือน PGA TOUR แต่โปรเข้มข้นก็มีเพจที่ทำโดยคุณพ่อบอลที่คอยลงข่าวสารเกี่ยวกับโปรเข้มข้นและรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับการแข่งขันให้ผู้ที่สนใจได้ติดตามกันอยู่ นั่นคือเพจ KK – Khemkhon Limbhasut ทาง Facebook
“อยากได้ยินเสียง จิม แนนต์ซ เรียกชื่อ ‘โปรเคเค’ ในการถ่ายทอดสด” ก่อนจบการสนทนากัน เราอวยพรโปรเข้มข้นไว้เช่นนั้น
จิม แนนต์ซ คือผู้บรรยายกีฬาชื่อดังของสหรัฐฯ เขามักจะพากย์กอล์ฟอยู่บ่อยๆ และหลายครั้งที่เขาจะมาพร้อมกับข้อมูลที่น่าสนใจของนักกอล์ฟหน้าใหม่
เราคุยกันเล่นๆ ว่า ถ้าโปรเข้มข้นขึ้นไปสู่ PGA TOUR ได้ จิม แนนต์ซ จะพูดถึงเขาว่าอย่างไร
และเราหวังว่าเราจะได้ยิน จิม แนนต์ซ เรียกชื่อเขาในไม่ช้านี้