×

เปิดกรุภาพถ่ายรัชกาลที่ 9 ที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน

03.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • THE STANDARD พูดคุยกับนักสะสมซึ่งมี ‘พระบรมฉายาลักษณ์ต้นฉบับ’ อยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นภาพที่หาดูได้ยาก เนื่องจากพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 ที่เห็นกันทั่วไปจนคุ้นตาโดยมากเป็นสำเนา
  • พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 ที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหน คือ 1 ใน 3 ภาพที่นักสะสมผู้นี้รักมากที่สุด

     ภาพถ่ายน่าจะเป็นของไม่กี่สิ่งบนโลกที่สามารถหยุดและย้อนกาลเวลาได้ เมื่อเวลาผ่านไปภาพถ่ายอาจช่วยบอกเล่าเรื่องราวในอดีต ชวนเรานึกย้อนเรียกรอยยิ้มไปจนถึงน้ำตา

     ยิ่งเป็นภาพถ่ายของคนที่เรารัก ยิ่งมากคุณค่าและเรื่องราว

     เราจึงอยากหาใครสักคนที่สะสมพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลากหลายอิริยาบถ เพื่อให้เขาบอกเล่าเรื่องราวและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในภาพถ่ายที่เราอาจไม่เคยรู้

     นี่คือความตั้งใจเดิมที่เราคิดไว้

     แต่เมื่อเราเดินทางมาพบ นน-ทิพากร สมคะเน และ วัชรพล เรืองปลอด (หลานของนน) นักสะสมภาพเก่า เรากลับพบว่ามีอะไรที่มากกว่าที่เคยคิด

     เริ่มต้น ‘นน’ ชอบงานศิลปะ สะสมของเก่า และรูปภาพเก่า โดยเฉพาะพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 ที่มีมากจนหากนำมาติดฝาผนังบ้าน 3 ชั้นก็ยังไม่หมด

     จากเดิมที่สะสมพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 หลากหลายแบบ ในช่วงสิบปีหลัง นนหันมาสะสมภาพถ่ายแนวพอร์เทรตโดยเน้น ‘ภาพต้นฉบับ’

     นนบอกว่า เพราะภาพถ่ายพอร์เทรตต้องได้รับพระราชทานอนุญาตโดยตรง หรือช่างภาพผู้ถ่ายรูปเป็นผู้ล้างฟิล์มและอัดรูปเท่านั้น

     “บางภาพที่เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ แต่หากเป็นภาพต้นฉบับค่อนข้างหายาก ขณะที่บางภาพถึงขั้นแทบพลิกแผ่นดินหาก็มี”

     อีกอย่างภาพถ่ายต้นฉบับพอร์เทรตหายากและมีน้อยกว่าภาพต้นฉบับที่เป็นภาพพระราชกรณียกิจหลายเท่า เนื่องจากเวลาเสด็จพระราชดำเนินในยุคนั้น ช่างภาพท้องถิ่นสามารถทำเรื่องขอถ่ายภาพพระองค์ได้

     นนจึงเลือกสะสมภาพพระราชกรณียกิจบางภาพที่ชอบและเกี่ยวข้องกับเกาะสมุยหรือไม่ก็จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นชุมชนที่เขาอยู่

     “สะสมรูปถ่ายพระองค์มากมายขนาดนี้ ชอบรูปไหนเป็นพิเศษ?”—เราถาม

     นนตอบว่า มี 3 ภาพที่ผมรักที่สุด และผมจะให้คุณดู…

 

ภาพที่ 1: ภาพที่ไม่มีใครเคยเห็น

 

 

     ภาพนี้นนใช้คำว่า “รักที่สุด” เพราะภาพหันข้างของพระองค์ที่เราเห็นกันทั่วๆ ไปไม่ใช่ภาพนี้

     การฉายพระรูปทรงหันข้างทุกๆ วาระถือว่าสำคัญยิ่งเพราะจำเป็นต้องนำไปใช้เป็นต้นแบบในการพิมพ์ เช่น ธนบัตร และต้นแบบนูนต่ำบนเหรียญหมุนเวียน รวมถึงเหรียญตราที่ระลึกต่างๆ

     สำหรับภาพนี้เมื่อนำมาเทียบเคียงทบทวนดูมีแค่ความใกล้เคียงเหรียญช่วงต้นรัชกาลฯ แต่ในตอนนี้ยังไม่พบว่าใช้เป็นต้นแบบบนเหรียญใด

     “นักสะสมคนอื่นๆ ก็บอกว่าไม่เคยเจอภาพนี้ แม้แต่ภาพสำเนาที่คัดลอกไว้ ก็เคยเจอแค่สองภาพเท่านั้น”

     ส่วนภาพที่เห็นอยู่ด้านล่าง คือภาพซึ่งถ่ายในวาระเดียวกัน และนนก็มีภาพต้นฉบับด้วยเช่นกัน

 

 

ภาพที่ 2: ภาพจากฟิล์มส่วนตัวของช่างภาพที่ถวายงานรับใช้

 

 

     พระบรมฉายาลักษณ์ทรงยืนเต็มองค์นี้นักสะสมภาพเรียกสั้นๆ ว่า ภาพทรงชุดทหารเรือ

     นนเล่าความพิเศษของภาพนี้ว่า หากมองผิวเผินอาจเข้าใจผิดคิดว่าคือภาพเดียวกับทรงชุดทหารเรือที่พระราชทานให้เห็นกันโดยทั่วไป แต่หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าเป็นภาพถ่ายที่ศิลปินช่างภาพล้างเก็บไว้

     โดยปกติแล้วช่างภาพจะนำฟิล์มมาล้างเป็นภาพให้ทรงเลือก แล้วก็ถวายทั้งภาพทั้งฟิล์ม และกลายเป็นสมบัติของราชสำนัก แต่ก็จะมีอีกกรณี คือช่างภาพล้างแต่ภาพขึ้นถวายแล้วเก็บฟิล์มไว้เอง ซึ่งสุดท้ายถ้าฟิล์มไม่หาย ก็อาจตายไปกับช่างภาพโดยที่ไม่มีใครรู้

 

 

     จุดสังเกตคือถ้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานทั่วไป (ภาพบนในกรอบรูป) ตุ้มกระบี่จะไม่ตรงแถบกางเกง และถุงมือมีลักษณะห่อๆ

     ส่วนใบที่ชัดกว่าและไม่ได้ใช้พระราชทานโดยทั่วไป ตุ้มกระบี่ห้อยตรงกับแถบกางเกง ส่วนถุงมือจะมีลักษณะบานออก

     แต่ถึงแม้จะชอบพระบรมฉายาลักษณ์บานนี้เป็นพิเศษ แต่นนก็รักพระบรมฉายาลักษณ์ต้นฉบับที่พระราชทานเผยแพร่โดยทั่วไป ซึ่งได้มาสะสมก่อนหน้าด้วยเช่นกัน

 

ภาพที่ 3: ภาพประทับยืนคู่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

 

 

     หากนักสะสมภาพเก่าเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ใบนี้ จะทราบดีว่าเป็นภาพถ่ายที่สมบูรณ์และชัดเจนสวยงามมาก ซึ่งเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ทั้งสองพระองค์ยืนถ่ายคู่กันจริงๆ ไม่ได้ผ่านการไดคัต

     อีกทั้งโดยปกติแล้วภาพลักษณะนี้ฉลองพระองค์จะต้องเป็นอย่างเดียวกันเช่น แต่งเต็มพระยศแพรแถบสายสะพายต่างๆ ตามธรรมเนียมการแต่งกาย

     แต่การฉายพระรูปทรงยืนคู่ภาพนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ฉลองพระองค์ชุดไทยพระราชนิยมไม่ประดับเครื่องอิสริยาภร์ใดๆ

 

ไขข้อข้องใจ ทำไมพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 หลายภาพจึงเพิ่งถูกเผยแพร่

     สาเหตุที่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 หลายภาพเพิ่งถูกเผยแพร่ เนื่องจากในสมัยก่อน หลังจากศิลปินผู้ถ่ายภาพและล้างภาพเสร็จแล้ว จะมีการถวายพระบรมฉายาลักษณ์ให้พระองค์ท่านอยู่ 3 กรณี คือ

  1. ศิลปินผู้นั้นเป็นผู้เลือกพระบรมฉายาลักษณ์ถวายเอง
  2. ศิลปินเลือกพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับพระองค์
  3. พระองค์ทรงเลือกพระบรมฉายาลักษณ์ด้วยพระองค์เอง

 

     ดังนั้น ศิลปินช่างภาพจึงมีพระบรมฉายาลักษณ์และฟิล์มส่วนที่เก็บไว้ส่วนตัว หลังอาจารย์ ว. เต๊กหมิ่น (วิจิตร วังส์ไพจิตร เจ้าของห้องภาพวิจิตรจำลอง สี่พระยา ช่างภาพที่รัชกาลที่ 9 ทรงให้เกียรติในฐานะศิลปินอาวุโส) เสียชีวิต ทางพระราชวังมีการเชิญช่างภาพจากต่างประเทศมาฉายพระรูปอยู่หลายครั้ง ทำให้ภาพรัชกาลที่ 9 บางภาพที่เราไม่เคยเห็นจึงไปปรากฏอยู่ที่ต่างประเทศ และบางภาพเพิ่งมีการเผยแพร่หลังเสด็จสวรรคต

     เราถามนนว่า ยังมีพระบรมฉายาลักษณ์ต้นฉบับรัชกาลที่ 9 ภาพไหนที่อยากได้อีกไหม?

     นนกดโทรศัพท์มือถือแสดงภาพใบนั้นให้ดู…

 

 

     นนเล่าว่า “ภาพนี้มีภาพเก่าต้นฉบับที่หลุดมาครั้งเดียวใบเดียว และตอนนี้อยู่ที่ใครผมไม่ทราบเลย เป็นภาพต้นฉบับดิบๆ ล้างเต็มฟิล์ม ถ้าสังเกตจะเห็นว่าปีกข้างผ้าฉากยังไม่ตัดทิ้งเลย”

     นน และ วัชรพล ทยอยขุดพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 มาให้ดู ไม่ว่าจะหยิบภาพกี่ใบต่อกี่ใบ ก็ล้วนมีเรื่องราวที่น่าสนใจทั้งสิ้น

     น่าเสียดายที่พระบรมฉายาลักษณ์ส่วนใหญ่ที่เขาสะสมอยู่บ้านพักที่เกาะสมุย ส่วนที่เราเห็นในกรุงเทพฯ นี้ คือรูปถ่ายแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

   พระบรมฉายาลักษณ์เก่าๆ ของรัชกาลที่ 9 เป็นเสมือนเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์ แม้เราจะไม่มีโอกาสติดตามถวายงานใกล้ชิด แต่หลากหลายเรื่องราวของพระองค์ก็ปรากฏผ่านพระบรมฉายาลักษณ์เหล่านี้ได้อย่างดี และมีเสน่ห์ควรค่าแก่การเก็บรักษาเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์

     พระเจ้าแผ่นดินที่สถิตในดวงใจของคนไทยทุกคน.

FYI
  • พระบรมฉายาลักษณ์ทั้ง 3 ใบในบทความนี้ ถ่ายโดย วิจิตร วังส์ไพจิตร (ว. เต๊กหมิ่น) เจ้าของห้องภาพวิจิตรจำลอง สี่พระยา ช่างภาพคนสำคัญที่รัชกาลที่ 9 ทรงให้เกียรติในฐานะศิลปินอาวุโส ซึ่งท่านเคยฉายพระรูปพระบรมวงศานุวงศ์มากมายหลายพระองค์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 เรื่อยมา และโปรดเกล้าฯ ให้ฉายพระรูปในช่วงต้นรัชกาล

ดังนั้นพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 เมื่อต้นรัชกาลโดยมากล้วนมาจากฝีมือท่าน มีภาพถ่ายบุคคลสำคัญๆ ของไทยมากมาย เช่น ภาพถ่ายอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ก็มาจากฝีมือของ ว. เต๊กหมิ่น

  • เสน่ห์ของภาพเก่า ในสมัยก่อนการล้างภาพมีขั้นตอนที่ละเอียดมาก ทั้งเทคนิคการใช้เครื่องอัดขยาย และล้างภาพในห้องมืด เนื้อกระดาษ และสูตรน้ำยาล้างภาพของช่างภาพแต่ละคนที่ต่างกัน

สำหรับพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทาน ก็จะมีลักษณะกระดาษที่ต่างกัน เช่น พระบรมฉายาลักษณ์ที่พระราชทานให้สื่อมวลชนก็จะมีเนื้อกระดาษคุณภาพด้อยกว่าที่พระราชทานให้บุคคลใกล้ชิด หรือเอกอัครราชทูต เป็นต้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X