×

เคล็ดวิชาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (4) ลงทุนกับสิ่งที่มีค่าที่สุด

โดย THE VISIONARY
07.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ปัญหาของน้ำไม่ใช่เรื่องกำไร-ขาดทุนเหมือนกับตัวเงิน แต่คือการจัดสรรให้ในแต่ละพื้นที่มีน้ำอย่างพอดี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพบว่า ความไม่สมดุลของน้ำคือปัญหาหลักที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมาก โครงการจัดการน้ำจึงถือกำเนิดขึ้น
  • พระองค์ทรงตัดสินใจทำตามวิธีของพระองค์ ด้วยการสร้างคันดินเพื่อกั้นน้ำทะเลไม่ให้ไหลเข้ามาในคลองน้ำจืด โดยพระราชทานเงินส่วนพระองค์ 60,000 บาท แม้โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่าจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นและบทเรียนสำคัญที่นำไปสู่โครงการอื่นๆ ในอนาคต
  • พระองค์ทรงเข้ามาดูแลปัญหาน้ำเสียและพบว่า ผักตบชวา วัชพืชที่ไม่มีใครเห็นค่า มีคุณสมบัติช่วยกรองน้ำและดูดซึมความสกปรกออกไปจากน้ำได้ หลังจากทดลองกับบ่อน้ำทิ้งที่สวนจิตรลดาจนเห็นผลว่าทำได้จริง พระองค์ก็นำไอเดียนี้ไปดำเนินการ

     สิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับประเทศไทยคืออะไร?

     หลายคนอาจมีหลายคำตอบที่แตกต่างกันออกไป เพราะคำตอบที่นึกได้อาจไม่ใช่สิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับทุกคนในประเทศจริงๆ

     แต่สำหรับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แล้ว คำตอบคือ ‘น้ำ’

     ด้วยความที่น้ำเป็นทรัพยากรจำเป็นที่ต้องใช้กับทุกกิจกรรมของชีวิต ตั้งแต่การใช้ในครัวเรือนไปจนถึงใช้งานในภาคธุรกิจ หากเปรียบประเทศเป็นบริษัท น้ำก็คงไม่ต่างอะไรจากเงินทุนที่คอยหล่อเลี้ยงธุรกิจส่วนต่างๆ ให้เดินหน้าต่อไปได้

     แต่แน่นอนว่าทรัพยากรบนโลกนี้มีอยู่อย่างจำกัด น้ำที่เรามีก็ต้องการการลงทุนและบริหารจัดการไม่ต่างจากเม็ดเงินในธุรกิจ

 

สมดุล

     ปัญหาของน้ำไม่ใช่เรื่องกำไร-ขาดทุนเหมือนกับตัวเงิน แต่คือการจัดสรรให้ในแต่ละพื้นที่มีน้ำอย่างพอดี เพราะจากการเสด็จฯ เยี่ยมประชาชนหลายพื้นที่ พระองค์พบว่า ความไม่สมดุลของน้ำคือปัญหาหลักที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมาก พื้นที่บางแห่งที่ขาดน้ำก็จะแห้งแล้ง แต่บางแห่งมีน้ำเกินสมดุลก็เกิดอุทกภัย หรือบางพื้นที่ก็เจอทั้งปัญหาน้ำขาดดุลและเกินดุลจนท่วมสลับกันไปมา

     โครงการจัดการน้ำจึงถือกำเนิดขึ้น โดยเริ่มต้นครั้งแรกในสถานที่ที่ไม่มีใครนึกว่าจะมีปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างที่บ้านเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

     เมื่อพูดถึงพื้นที่ขาดแคลนน้ำ หลายคนคงนึกถึงภาคอีสาน แต่ความเป็นจริงปัญหานี้มีอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ เพราะการขาดแคลนน้ำไม่ได้หมายถึงเฉพาะความแห้งแล้ง แต่ยังรวมถึงภาวะที่น้ำเค็มไหลเข้ามาแทนที่น้ำจืดจนไม่สามารถนำไปใช้งานได้อีกด้วย

     ชาวบ้านเขาเต่าก็ประสบปัญหาน้ำทะเลหนุนเช่นเดียวกัน จนต้องหาบน้ำจืดมาจากพื้นที่ที่ห่างไกลออกไปเพื่อนำมาใช้ในหมู่บ้าน

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีโอกาสขับรถเสด็จพระราชดำเนินที่นี่อยู่เสมอ ด้วยความที่อยู่ใกล้กับวังไกลกังวล จึงมีพระราชดำริว่าจะสร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่าขึ้น ด้วยการสร้างคันดินเพื่อกั้นน้ำทะเลไม่ให้ไหลเข้ามาในคลองน้ำจืด และยังสามารถเก็บน้ำฝนเอาไว้ใช้ได้อีกด้วย

     แต่อธิบดีกรมชลประทานในขณะนั้นไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าสุดท้ายแล้วน้ำที่กักเก็บไว้จะกลายเป็นน้ำกร่อย ใช้ประโยชน์ไม่ได้ จึงเสนอโครงการสร้างเขื่อนที่ใช้งบประมาณหนึ่งล้านบาทแทน

     แต่พระองค์ทรงตัดสินใจทำตามวิธีของพระองค์ โดยพระราชทานเงินส่วนพระองค์ 60,000 บาท และรับสั่งว่า “หกหมื่นบาทก็ถือว่าไม่น้อย แต่ถ้าทำได้ประโยชน์ดี ก็นับว่าเป็นประโยชน์มหาศาล ถ้าทำแล้วก็ไม่ได้ประโยชน์ ก็ยังไม่เสียหายมากนัก และเงินงบประมาณไม่ได้เสียเลย”

     และก็คงเหมือนนักลงทุนหน้าใหม่ที่ยังขาดประสบการณ์ เพราะเมื่อใช้การไปสักพัก น้ำในอ่างเก็บน้ำกลายเป็นน้ำกร่อยจริงๆ สุดท้ายพระองค์ก็ต้องให้กรมชลประทานเข้ามาช่วยปรับปรุงและสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่ไกลออกไปจากหมู่บ้าน เพื่อส่งน้ำจืดกลับมา ส่วนอ่างเก็บน้ำเขาเต่าก็ใช้เป็นที่เลี้ยงปลาในกระชังของชาวบ้านแทน

     แม้โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่าจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นและบทเรียนสำคัญที่นำไปสู่โครงการอื่นๆ ในอนาคต

     หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงศึกษาการทำชลประทานมากขึ้น ทั้งเรียนรู้จากเจ้าหน้าที่ชลประทานที่ตามเสด็จฯ ศึกษาจากตัวอย่างทั้งในและต่างประเทศ หรือถ้ามีจุดไหนที่ทรงเสนอแล้วเจ้าหน้าที่ชลประทานทักท้วงก็จะรับฟัง ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้พระองค์ชำนาญเรื่องการจัดสรรน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ

 

คุ้มค่า

     หนึ่งในหลักการสำคัญที่พระองค์ทรงยึดถือในการจัดสรรน้ำก็คือ ความคุ้มค่า

     เพราะเงินที่จะใช้นั้นเป็นงบประมาณของประเทศ ดังนั้นเวลาที่ใครมากราบทูลขอให้ทรงสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อน พระองค์จะทรงซักถามโดยละเอียดว่าสร้างแล้วจะเลี้ยงไร่นาไปได้นานแค่ไหน สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากน้อยเพียงใด พร้อมกันนั้นทรงทำแผนระยะสั้นและยาว เพื่อให้จัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

     ซึ่งหากพิจารณาแล้วพบว่าคุ้มค่า พระองค์จะทรงรีบลงมือทันที ไม่รอช้า

     นั่นเพราะค่าเสียโอกาสคืออีกหนึ่งปัจจัยความคุ้มค่าที่ทรงพิจารณา

     จะเห็นว่าแม้บางโครงการจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และอาจมีมูลค่าสูง หากเทียบกับการประกวดราคาที่อาจต้องใช้เวลาดำเนินการนานกว่า แต่ได้โครงการที่งบประมาณไม่สูงเท่า พระองค์ก็จะทรงเลือกทางที่คุ้มค่า ไม่ใช่ในทางตัวเลข แต่คือคุ้มค่ากับความสุขของประชาชน

     ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือโครงการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สมัยก่อนชาวบ้านบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักมักประสบปัญหาเรื่องการเกษตร พอถึงหน้าน้ำ น้ำก็มามาก แต่พอถึงหน้าแล้งก็แล้งสุดขีด พระองค์จึงสั่งการไปยังกรมชลประทานให้หาทางแก้ปัญหาด้วยการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บและระบายน้ำ แม้จะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการร่วมสองหมื่นล้านบาท แต่ถ้าเทียบกับความเสียหายและค่าเยียวยาปีละเกือบหมื่นล้านบาทแล้วก็ถือว่าคุ้มค่า

     แต่กับบางโครงการ พระองค์ก็แทบไม่ต้องใช้งบประมาณเลย เพียงแค่ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่มาบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดก็เพียงพอ

     อาทิ การสร้างฝายชะลอน้ำ หรือ check dam ที่เป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูป่าของพระองค์

     หลักการฟื้นคุณภาพป่า คือ ต้องสร้างความชุ่มชื้นแก่พื้นที่ให้มากที่สุด พระองค์จึงให้เจ้าหน้าที่หาร่องห้วยต่างๆ แล้วสร้างอ่างเก็บน้ำเล็กๆ ไว้เหนือร่องห้วยเหล่านี้ จากนั้นจึงสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อกักน้ำไว้เป็นชั้นๆ แบบง่ายๆ ด้วยวัสดุที่หาได้แถวนั้น ไม่ว่าจะเป็นกิ่งไม้ ก้อนหิน ฯลฯ เมื่อน้ำไหลช้าลงเพราะถูกอ่างเก็บน้ำและฝายกักไว้ ก็ทำให้น้ำซึมลงในดินมากขึ้น ความชุ่มชื้นก็กลับมา ป่าก็ฟื้นคืน

     นอกจากนี้ฝายที่สร้างง่ายๆ นี้ยังช่วยกักให้เมล็ดพันธุ์พืชมาติดจนหยั่งรากเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ได้อีกด้วย ครั้นพอมีป่ามีน้ำ ทั้งป่าก็กลายเป็นพื้นที่ช่วยเก็บน้ำ เรียกได้ว่าพระองค์ทรงใช้กลไกธรรมชาติให้ทำงานโดยแทบไม่ต้องลงงบประมาณหรือลงแรงมากมายอะไรเลย

     หรือใครจะคิดว่าปัญหาน้ำเสียจะแก้ได้ด้วยเครื่องมือง่ายๆ อย่าง ผักตบชวา

     เรื่องก็คือ ตอนนั้นน้ำในบึงมักกะสันที่มีพื้นที่ประมาณ 103 ไร่ เกิดเน่าเสียแทบทั้งหมด ก่อให้เกิดความเดือดร้อนตามมาอีกมาก ด้วยความที่น้ำในบึงนี้จะไหลลงสู่คลองลาดพร้าวและกระจายไปทั่วเมือง

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเข้ามาดูแลปัญหานี้และพบว่า ผักตบชวา วัชพืชที่ไม่มีใครเห็นค่า มีคุณสมบัติช่วยกรองน้ำและดูดซึมความสกปรกออกไปจากน้ำได้ หลังจากทดลองกับบ่อน้ำทิ้งที่สวนจิตรลดาจนเห็นผลว่าทำได้จริง พระองค์ก็นำไอเดียนี้ไปดำเนินการ

     วิธีการก็คือ พอนำผักตบชวาไปลงน้ำที่บึงมักกะสัน ผ่านไป 40 วัน ผักตบชวาจะขยายพันธุ์เป็น 3 เท่า ให้นำไม้ไผ่มากั้นเป็นคอกผักตบชวา แล้วผักตบชวาจะทำหน้าที่ดูดซับความสกปรกออกจากน้ำเอง จากนั้นทุกๆ 10 วัน จะต้องดึงต้นแก่ออกไปทิ้งทำปุ๋ยเพื่อให้ต้นใหม่ขึ้นมาดูดซับต่อ และให้กอผักตบชวาไม่หนาแน่นเกินจนแสงแดดส่องไม่ถึงใต้น้ำ

     พอทดลองแบบนี้ไปได้สักระยะปรากฏว่า น้ำในบึงมักกะสันเริ่มใสขึ้น เริ่มมีปลามาอาศัยอยู่ รวมทั้งมีพืชพันธุ์อื่นๆ เจริญเติบโต ทั้งผักบุ้ง ผักกระเฉด เห็นดังนี้พระองค์ก็โปรดฯ ให้นำเครื่องพ่นอากาศเข้ามาช่วยเติมออกซิเจนในน้ำ ผลคือน้ำสะอาดขึ้นแบบไม่ต้องสร้างโรงงานบำบัดน้ำเสียมูลค่ากว่า 200 ล้านบาทเลย

     จะเห็นว่าความคุ้มค่าที่พระองค์ทรงคำนึงถึงไม่ใช่การใช้งบประมาณทุ่มลงไปเพื่อแก้ปัญหา หรือประหยัดเงินลงทุนเสียจนอัตคัด แต่คือการพิจารณาความเหมาะสม นำปัจจัยต่างๆ มาชั่ง ตวง วัด ถ้าโปรเจกต์ใดต้องการงบมากก็ทุ่มมาก โปรเจกต์ใดมีต้นทุนดีอยู่แล้วก็จัดสรรให้ดี

     นั่นจึงเรียกว่าความคุ้มค่า

 

ครบวงจร

     จากแรงบันดาลใจเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ที่พระองค์ทรงสังเกตการเคี้ยวอาหารของลิงว่า ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือกเอากล้วยนั้นเข้าปากไปเก็บไว้ในกระพุ้งแก้มจนเต็ม แล้วค่อยทยอยเอาออกมาเคี้ยวและกลืนทีหลัง

     แล้วโครงการแก้มลิงก็ถือกำเนิดขึ้น

     โดยใช้หลักการเดียวกับการเก็บอาหารของลิงก็คือ เราจะสร้างพื้นที่เก็บกักน้ำไว้ตามจุดต่างๆ เมื่อน้ำหลากเราก็ผันน้ำเข้าพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วม และเมื่อน้ำแล้งก็สามารถนำน้ำที่เก็บไว้มาใช้ได้ หรืออาจใช้ระบายลงในคูคลองเพื่อทำให้น้ำเน่าเสียเจือจางลงก็ได้

     เรียกว่าเพียงโครงการเดียวก็สามารถบริหารจัดการน้ำได้ครบวงจร

     หนึ่งในแก้มลิงที่เป็นตัวอย่างได้ชัดเจนคือที่ทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยความที่อยุธยาเป็นเมืองอุตสาหกรรม เต็มไปด้วยโรงงานน้อยใหญ่ ถ้าเกิดน้ำท่วมขึ้นมาจะเสียหายเป็นมูลค่านับหมื่นล้านบาท ในช่วงนั้นเพิ่งมีการก่อสร้างทุ่งมะขามหย่องเป็นสวนสาธารณะใหม่ๆ ปลูกต้นไม้สวยๆ ไว้เต็มไปหมด

     ในช่วงปี 2538 เกิดอุทกภัยขึ้นที่อยุธยา แต่ด้วยความที่ราชการเห็นว่าสวนสาธารณะทุ่งมะขามหย่องเป็นโครงการของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เลยพยายามกันไม่ให้น้ำท่วมสวนนี้ จนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชกระแสรับสั่งผ่านไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดว่า ให้ใช้พื้นที่ทุ่งมะขามหย่องเป็นแก้มลิง ส่วนต้นไม้ดอกไม้ที่เสียหายนั้นพระองค์จะทรงไปขอโทษสมเด็จพระราชินีเอง

     เรียกได้ว่าโครงการแก้มลิงเป็นการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร เพราะเมื่อน้ำมามาก ก็ผันน้ำเข้าสู่พื้นที่รับน้ำแก้มลิงเพื่อป้องกันน้ำท่วมได้ และเมื่อน้ำแล้ง เราก็สามารถนำน้ำที่กักเก็บไว้มาหล่อเลี้ยงพื้นที่ให้มีชีวิตชีวาต่อไปได้

     ความจริงแล้วพระองค์ยังทรงลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับน้ำอีกมาก พูดได้เต็มปากว่าพระองค์ลงทุนกับน้ำมากกว่าโครงการด้านอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด เพราะทรงเห็นว่าหากทรัพยากรน้ำถูกจัดสรรได้ดี ประเทศก็จะมีกำไรมหาศาลอย่างแน่นอน

     ซึ่งกำไรและผลตอบแทนที่ได้ไม่ได้หมายความเพียงแค่ตัวเลขเท่านั้น

     แต่มันรวมถึงความสุขที่เกิดขึ้นจากความกินดีอยู่ดีของประชาชนชาวไทยด้วยนั่นเอง

FYI

Keys of Success

  • เรียนรู้จากข้อผิดพลาด ความผิดพลาดไม่ใช่ความล้มเหลว แต่เป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้
  • ลงทุนแบบมองอนาคต การลงทุนที่ตั้งเป้าหมายระยะยาว อาจขาดทุนในช่วงแรก แต่ผลกำไรมหาศาลจะรออยู่ในอนาคต
  • คิดให้ครบวงจร มองปัญหาให้รอบด้าน เพื่อแก้ปัญหาแบบรวบยอด
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X