×

เคล็ดวิชาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (2) ‘แผนที่ทำมือ’ อาวุธคู่ใจช่วยบำบัดทุกข์ อำนวยสุขให้ประชาชน

โดย THE VISIONARY
02.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • บทความนี้เรียบเรียงจากหนังสือ ‘The Visionary ถอดรหัสกษัตริย์ผู้มองเห็นอนาคต’ จัดทำโดยทีมงานสานต่อที่พ่อทำ
  • ‘แผนที่’ คืออาวุธคู่ใจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่ว่าจะเสด็จฯ ทรงงานหรือเยี่ยมเยียนราษฎรตามหนแห่งใดของประเทศไทย พระองค์ก็จะทรงติดแผนที่ไปด้วยเสมอเพื่อเก็บและอัพเดตข้อมูลให้ใหม่อยู่ตลอดเวลา จนทำให้แผนที่ของพระองค์กลายเป็นแผนที่ที่อัพเดตที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศไทย
  • สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เล่าว่า ไม่ว่าจะเสด็จฯ ไปที่ไหนก็จะมีแผนที่วางอยู่ข้างพระองค์ตลอดเวลา ถ้าประทับเฮลิคอปเตอร์ก็จะทอดพระเนตรสภาพพื้นที่จริงเทียบกับแผนที่ไปตลอดทาง เมื่อถึงที่หมายก็จะอัพเดตข้อมูลในแผนที่จากชาวบ้านว่าข้อมูลทุกอย่างถูกต้องแล้วหรือไม่
  • สิ่งที่ทำให้เเผนที่ของพระองค์พิเศษกว่าเเผนที่ของใครๆ คือ ‘ข้อมูลของประชาชนในพื้นที่’ โดยในแต่ละปีพระองค์จะเสด็จฯ​ ไปเยี่ยมเยียนราษฎรตามพื้นที่ต่างๆ ในต่างจังหวัดเฉลี่ยปีละ 8 เดือน

     จะทำงานให้มีประสิทธิภาพ อาวุธคู่กายต้องเหมาะกับมือและงาน

     หากเป็นพ่อครัวก็ต้องลับมีดเล่มโปรดให้คมเสมอ หากเป็นช่างภาพก็ต้องมีกล้องตัวเก่งคล้องคอไว้ และหากเป็นโปรแกรมเมอร์ ก็ต้องมีคอมพิวเตอร์คู่ใจที่หยิบมาเขียนโค้ดโปรแกรมต่างๆ ได้ตามต้องการ

     แล้วอาวุธคู่ใจของรัชกาลที่ 9 คืออะไร?

 

Personalised Tools

     “คนเขาหาว่าฉันบ้าแผนที่” คือพระราชดำรัสที่พระองค์ตรัสไว้

     รัชกาลที่ 9 ทรงเห็นความสำคัญของแผนที่มาก ทรงรู้ว่าหากใช้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะสามารถแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนได้มากกว่าที่ใครจะคาดคิด

     ด้วยความที่งานของพระองค์กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ​ ดังนั้น ‘เเผนที่’ นี้จึงต้องสามารถพาท่านไปแก้ปัญหาของประชาชนในแต่ละพื้นที่ให้ได้ และเมื่อแผนที่ธรรมดาที่มีอยู่ไม่ตอบโจทย์ พระองค์จึงต้องเริ่มสร้างแผนที่เฉพาะตัวขึ้นมา

     แผนที่ตั้งต้นของพระองค์เป็นของกรมเเผนที่ทหาร มีขนาดมาตรฐาน 5 x 12 เมตร มาตราส่วน 1 : 50,000 ซึ่งถือว่าละเอียดมากๆ แต่จุดอ่อนคือมองได้เป็นบริเวณแคบมาก คล้ายๆ กับเวลาดูแผนที่ในสมาร์ทโฟนแล้วซูมเข้าไปเยอะๆ แม้จะเห็นว่าตรงนั้นมีตึกหรือถนนอะไรอยู่ แต่ก็จะเห็นได้แค่ไม่กี่ตึกในบริเวณนั้นจนกว่าจะซูมออกมาถึงจะเห็นพื้นที่รอบๆ ได้กว้างขึ้น แต่รายละเอียดก็จะลดน้อยลงไปด้วย

     ด้วยความที่ทรงอยากได้แผนที่ความละเอียดสูงที่มองภาพมุมกว้างได้ พระองค์จึงแก้ปัญหาด้วยการนำเเผนที่ความละเอียดสูงจำนวน 9 แผ่น

     มาต่อเข้าด้วยกันจนได้แผนที่ฉบับใหญ่มากๆ

     ใหญ่จนครั้งหนึ่งที่เสด็จฯ ไปภาคเหนือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านเข้าเฝ้าฯ ด้วยความรอบคอบ ผู้ว่าฯ ก็เตรียมเเผนที่ไปด้วยเพื่อถวายรายงานเรื่องน้ำ เมื่อทอดพระเนตรไปได้สักพักก็รับสั่งว่าแผนที่นี้ไม่เหมาะกับการทำงาน เจ้าหน้าที่อาจจะดูแล้วไม่รู้เรื่อง จึงทรงหยิบแผนที่ของพระองค์ขึ้นมากางออกดู ปรากฏว่าแผนที่นั้นใหญ่มากๆ จนกางได้เต็มพื้นห้องเลย

 

Up-to-date Tools

     แผนที่ขนาดใหญ่และรายละเอียดทางภูมิประเทศที่ชัดเจนก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานได้ทั้งหมด

     การลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องทำให้พระองค์ทรงต้องปรับปรุงแผนที่ให้ ‘อัพเดต’ อยู่เสมอ

     นอกจากแผนที่ภูมิประเทศแบบปกติ กรมแผนที่ทหารยังมีการจัดทำแผนที่ทางอากาศถวายด้วย แต่ด้วยเทคโนโลยียุคนั้นกว่าจะทำแผนที่เสร็จสักแผ่นก็ใช้เวลานาน หลายครั้งภูมิประเทศแถบนั้นทั้งถนน เทือกเขา ร่องน้ำ บ้านเรือนก็เปลี่ยนไปหมดจนไม่เหมือนในแผนที่ที่ทรงถือ

     ทำให้การเดินทางแต่ละครั้ง พระองค์ก็จะทรงตรวจสอบแผนที่ด้วยเสมอ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เล่าว่า ไม่ว่าจะเสด็จฯ ไปที่ไหนก็จะมีแผนที่วางอยู่ข้างพระองค์ตลอดเวลา ถ้าประทับเฮลิคอปเตอร์ก็จะทอดพระเนตรสภาพพื้นที่จริงเทียบกับแผนที่ไปตลอดทาง เมื่อถึงที่หมายก็จะอัพเดตข้อมูลในแผนที่จากชาวบ้านว่าข้อมูลทุกอย่างถูกต้องแล้วหรือไม่

     ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงเสด็จฯ ไปหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่จังหวัดนราธิวาส และได้สอบถามชาวบ้านว่าที่นี่ที่ไหน?

     ชาวบ้านคนนั้นตอบว่า ‘บ้านเจาะบากง’ ซึ่งไม่มีชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ปรากฏในแผนที่ ขณะเดียวกันอีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีชื่อในแผนที่ แต่เมื่อไปถึงกลับพบว่าไม่มีอยู่แล้ว เพราะชาวบ้านย้ายถิ่นฐานไปอยู่ใกล้กับถนนที่เพิ่งตัดใหม่กันหมด พระองค์จึงปรับแก้เเผนที่ทันที และรับสั่งให้นายทหารแผนที่จดไว้เพื่อนำไปแก้ไขให้ถูกต้องตอนพิมพ์ครั้งต่อไป

     กล้องถ่ายรูปเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ในหลวงนำมาปรับแต่งแผนที่ให้ใช้งานได้ดีขึ้น พระองค์นำภาพภูมิประเทศที่ถ่ายเก็บไว้มาทำเป็นแผนที่ทางอากาศแบบง่ายๆ โดยเวลาประทับเฮลิคอปเตอร์จะทรงถ่ายภาพพื้นที่แถวนั้นไว้หลายๆ ภาพ แล้วนำมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกันด้วยสก๊อตช์เทปจนกลายเป็นแผนที่ทางอากาศที่อัพเดตและพอจะใช้วางเเผนโครงการพัฒนาพื้นที่คร่าวๆ ต่อไปได้

     วิธีเหล่านี้จึงทำให้แผนที่ของพระองค์อัพเดตที่สุดในประเทศไทย

 

Optimising Tools

     เมื่อได้แผนที่ที่เหมาะแก่การใช้งาน ก็ถึงเวลาเติมสิ่งที่ทำให้เเผนที่ของพระองค์พิเศษกว่าเเผนที่ของใครด้วย ‘ข้อมูลของประชาชนในพื้นที่’

     ในแต่ละปีพระองค์จะเสด็จฯ​ ไปเยี่ยมเยียนราษฎรตามพื้นที่ต่างๆ ในต่างจังหวัดเฉลี่ยปีละ 8 เดือน

     ทุกครั้งจะทรงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เล่าปัญหาชีวิตของตนให้ฟัง หลังจากนั้นจะทรงแวะไปตามวัดวาอารามต่างๆ และถือโอกาสสอบถามปัญหาของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพราะทรงทราบดีว่าพระสงฆ์ย่อมใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด

     และข้อมูลจากประชาชน ข้าราชการ ข้าราชบริพาร และผู้ใกล้ชิดก็จะถูกบันทึกลงในแผนที่เเผ่นนี้ ทำให้นอกจากจะมีข้อมูลทางภูมิศาสตร์และการปกครองอย่างแผนที่ทั่วๆ ไป แผนที่ของพระองค์ยังมีข้อมูลสุขทุกข์ของประชาชนรวมอยู่ในนั้นด้วย

     ด้วยทุกขั้นตอนท่ีกล่าวมา แผนที่ของพระองค์จึงกลายเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความทุกข์ของประชาชนได้ในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ

     ครั้งหนึ่งที่ทรงเสด็จฯ ไปยัง ‘บ้านธิ’ หมู่บ้านเล็กๆ บนรอยต่อจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูนที่แทบไม่มีใครย่างกรายเข้าไป เมื่อมาถึงพระองค์ก็สอบถามความเป็นอยู่กับชาวบ้านจนได้ความว่า ฝนไม่ตกที่หมู่บ้านแห่งนี้มา 3 ปีแล้ว ด้วยความห่างไกลของหมู่บ้าน ทำให้ความช่วยเหลือต่างๆ แทบจะเข้ามาไม่ถึง

     เมื่อทราบสถานการณ์ทั้งหมดจึงถามชาวบ้านถึงถนนหนทางข้างหน้าเพื่อจะเดินต่อไปชายเขา แต่ชาวบ้านก็กราบทูลว่าไม่สามารถไปต่อได้แล้ว

     เมื่อได้ยินดังนั้น พระองค์ก็ทรงก้มลงดูแผนที่สักพักแล้วรับสั่งว่า

     “เดี๋ยวตามฉันมา”

     จากนั้นก็พาชาวบ้านเดินลงห้วยตัดทุ่งนาไปเรื่อยๆ กระทั่งถึงชายเขา แล้วจึงรับสั่งให้ชาวบ้านสร้างอ่างเก็บน้ำตรงบริเวณนี้

     พระองค์ทรงรู้เรื่องราวทุกอย่างได้ด้วย ‘แผนที่’ ของพระองค์นั่นเอง

FYI

KEYS of SUCCESS

  • หาอาวุธที่เหมาะมือ: ใช้เครื่องมือที่เราถนัดและเหมาะกับงาน
  • มีอุปกรณ์เสริม: ถ้าเครื่องมือที่มีไม่ตอบโจทย์ก็ต้องหาตัวช่วย
  • เตรียมพร้อมก่อนใช้งาน: หาข้อมูล ทำทุกอย่างให้พร้อมก่อนลงมือใช้จริง
  • อัพเดตตลอดเวลา: ปรับปรุงและแก้ไขความผิดพลาดเพื่อการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพในครั้งต่อไป
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising