×

ถอดแนวคิดโปรเจกต์พิเศษ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ 15 ฉบับจาก วัชร วัชรพล

13.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • โครงการ ‘ไทยรัฐร่วมพสกนิกรไทย ส่งใจสู่ฟ้าอาลัยพ่อ’ คือหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษจำนวน 15 ฉบับที่ใช้เทคโนโลยี AR เข้ามาช่วยถ่ายทอดเรื่องราว โดยปกของหนังสือพิมพ์ 14 ฉบับจะเป็นผลงานพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 9 โดยศิลปินชื่อดังในประเทศไทยจำนวน 14 ท่าน
  • หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับประวัติศาสตร์ (ฉบับที่ 21,549) ที่วางจำหน่ายเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 วันการเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยสามารถทำยอดขายได้มากถึง 3 ล้านฉบับ สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การขายของไทยรัฐ
  • เดิมทีวัชรและทีมงานไทยรัฐตั้งใจไว้ว่า โครงการไทยรัฐร่วมพสกนิกรไทย ส่งใจสู่ฟ้าอาลัยพ่อ จะเป็นการทำงานเพื่อถวายงานครั้งสุดท้ายให้กับรัชกาลที่ 9 แต่ไม่นานหลังจากนั้นเขาก็เปลี่ยนทัศนคติใหม่ โดยตั้งใจว่าต่อไปนี้ไทยรัฐจะต้องสืบสานการถวายงานให้กับพระองค์ต่อไปเรื่อยๆ ผ่านการนำคำสอนและพระราชกรณียกิจของพระองค์ให้เด็กไทยรุ่นใหม่ๆ ได้ดูเป็นตัวอย่างสืบต่อไป

 

 

     เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เราเชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศน่าจะมีโอกาสได้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับประวัติศาสตร์ (ฉบับที่ 21,549) หนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษที่จัดทำขึ้นเนื่องด้วยโอกาสครบรอบ 100 วันการเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

     ด้วยการนำเทคโนโลยีจำลองโลกเสมือนจริง AR (Augmented Reality) เข้ามาช่วยร้อยเรียง ความพิเศษในครั้งนั้นของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจึงสะท้อนให้เห็นว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยังคงมีเสน่ห์ที่หาตัวจับยากและมีกลิ่นอายมนต์ขลังที่ไม่เหมือนใครอยู่

 

 

     ในวันที่ความอาลัยและคราบน้ำตายังไม่เคยเหือดหายไป ก้อนเมฆสีหม่นกำลังคล้อยเคลื่อนเข้ามาปกคลุมทั้งประเทศไทยอีกครั้งในเดือนตุลาคม ไทยรัฐจึงมีความตั้งใจจัดทำหนังสือพิมพ์มีชีวิตจำนวน 15 เล่มในช่วงเตรียมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ (13-27 ตุลาคม) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

     เมื่อเห็นว่าโปรเจกต์ใหม่ของพวกเขามีความน่าสนใจมากๆ THE STANDARD จึงติดต่อโดยตรงไปยัง วัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี เพื่อไถ่ถามถึงที่มาที่ไปและความตั้งใจที่มีต่อโครงการ ‘ไทยรัฐร่วมพสกนิกรไทย ส่งใจสู่ฟ้าอาลัยพ่อ’ ฉบับพิเศษบันทึกประวัติศาสตร์

 

14 ปกพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ใช้ AR บอกเล่าเรื่องราวประทับใจ

     สำหรับโครงการไทยรัฐร่วมพสกนิกรไทย ส่งใจสู่ฟ้าอาลัยพ่อ คือหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษจำนวน 15 ฉบับที่รวบรวมเหตุการณ์ตั้งแต่วันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฉบับประจำวันที่ 13 ตุลาคม 2560 ‘365 วันสวรรคต โศกสลดไม่จางหาย’ จวบจนวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ฉบับประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2560 ‘น้อมนบดอกไม้จันทน์กลางธารน้ำตา’ โดยใช้เทคโนโลยี AR เข้ามาช่วยถ่ายทอดเรื่องราว

 

 

     โดยปกของหนังสือพิมพ์ 14 ฉบับจะเป็นผลงานภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 9 โดยศิลปินชื่อดังในประเทศไทยจำนวน 14 ท่าน ในจำนวนนี้รวมถึงอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต และอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติร่วมด้วย ส่วนฉบับที่ 15 จะเป็นการรวบรวมภาพเหตุการณ์ในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

     วัชรเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ให้เราฟังว่า “เมื่อต้นปีในช่วงครบรอบการเสด็จสวรรคต 100 วันของรัชกาลที่ 9 ไทยรัฐก็ทำหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษออกมาแล้วครั้งหนึ่ง ​ซึ่งก็นำเสนอพร้อมๆ กับแอปพลิเคชัน Thairath AR ที่ใช้ควบคู่กับเทคโนโลยี AR

     “หลังจากนั้นเราก็คุยกันในทีมว่าช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระองค์ เราก็อยากจะทำงานถวายให้รัชกาลที่ 9 อีกครั้ง เพราะเห็นว่าจะเป็นช่วงเวลาครบรอบ 1 ปีที่พระองค์เสด็จสวรรคต เราก็น่าจะทำหนังสือพิมพ์ซีรีส์พิเศษ 15 ฉบับโดยต่อยอดจากไอเดียเดิมด้วยการใช้เทคโนโลยี AR มานำเสนอ เพราะคร้ังที่แล้วเราก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมากๆ ครั้งนี้เราจึงอยากตอกย้ำและแสดงศักยภาพของสื่อที่ไทยรัฐมีให้ทุกคนได้เห็นอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือสื่อออนไลน์”

     นอกเหนือจากจะจัดทำหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษแล้ว ไทยรัฐยังมีโปรเจกต์การเป็นตัวแทนสื่อของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย จัดทำกราฟิกต้นแบบที่จะใช้ประกอบการสร้างสารคดีและสกู๊ปข่าวที่จะใช้ออกอากาศในช่วงเวลาดังกล่าว ตลอดจนการยกวัดร่องขุ่น ผลงานการรังสรรค์ภาพวาดและประติมากรรมของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ มาสร้างสรรค์เป็น Virtual Studio ของไทยรัฐทีวีในวันที่ 27 ตุลาคมอีกด้วย

 

 

เพิ่มช่องทางกระจายหนังสือพิมพ์ผ่าน LINE Man ขาย 10 บาทเท่าเดิม เพื่อให้คนไทยทุกคนได้เก็บไว้เป็นที่ระลึก

     เมื่อถามว่าฉบับที่แล้วผลตอบรับดีแค่ไหน วัชรบอกว่า “ดีมากๆ” มากจนทำยอดขายได้ทะลุหลัก 3 ล้านเล่ม! ส่วนในครั้งนี้พวกเขาตั้งเป้าไว้ว่าแต่ละเล่มจะต้องทำยอดขายให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 ล้านเล่ม

     สำหรับฉบับพิเศษ 15 ฉบับนี้ ไทยรัฐได้ดึงเอาพาร์ตเนอร์อย่าง LINE Man เข้ามาช่วยในการกระจายหนังสือพิมพ์ด้วย รวมถึงยังตั้งราคาวางจำหน่ายที่ 10 บาทเท่าเดิม ไม่ได้มีการเพิ่มเติมแต่อย่างใด

     “ปีนี้เรามี LINE Man และ B2S ที่จะร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ในโครงการนี้ นอกจากแผงหนังสือทั่วๆ ไปที่จะมาช่วยในการกระจายหนังสือ ส่วนเรื่องราคาเราก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะอยากให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีโอกาสได้เข้าถึงและครอบครองได้ทั่วๆ กัน” วัชรบอก

 

 

รวบรวมข้อผิดพลาดจากครั้งที่แล้วมาปรับปรุงให้ AR ในครั้งนี้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

     การใช้เทคโนโลยี AR บอกเล่าคอนเทนต์ภายในหนังสือพิมพ์ทั้ง 15 ฉบับนี้ เป็นการทำงานร่วมกันภายใต้โปรเจกต์ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและอุ๊คบี (Ookbee) ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันอ่านหนังสือบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต

     เมื่อใช้แอปพลิเคชันของ Thairath AR ส่องลงไปบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่มีเครื่องหมาย AR กราฟิกต่างๆ จำนวนทั้งสิ้นกว่า 70 ชิ้นงานก็จะโชว์ผ่านมือถือทันที ได้แก่ ภาพกราฟิก 3 มิติพระเมรุมาศ,​ ราชรถ, ราชยาน เส้นทางขบวนพระบรมราชอิสริยยศ 6  ริ้วขบวน หรือกราฟิก 360 องศาของราชรถและยานยนต์

     แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าใครเคยได้ลองใช้งานแอปพลิเคชันไทยรัฐ AR เมื่อช่วงต้นปีก็อาจจะพบข้อบกพร่องของการใช้ตัวแอปฯ อยู่บ้าง เช่น การโหลดข้อมูลและการประมวลผลที่เชื่องช้า แต่ในครั้งนี้ สร้างบุญ แสงมณี ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอุ๊คบี และ เนติพิกัติ ตังคไพศาล ทีมสร้างสรรค์ออกแบบของไทยรัฐ ต่างก็ยืนยันโดยพร้อมเพรียงกันภายในงานเปิดตัวว่า แอปพลิเคชันเวอร์ชันใหม่นี้จะถูกปรับปรุงให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นและลดข้อผิดพลาดให้น้อยลง

     ด้านวัชรบอกว่าไทยรัฐได้นำข้อบกพร่องจากครั้งที่แล้วมาพัฒนาใหม่ทั้งหมด อย่างตัวแอปพลิเคชัน ทางอุ๊คบีก็มีการปรับปรุงให้ใช้งานง่ายขึ้น และโหลดข้อมูลได้รวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม

 

 

การถวายงานให้กับรัชกาลที่ 9 ที่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

     วัชรกล่าวถึงความตั้งใจจากโปรเจกต์พิเศษครั้งนี้ของไทยรัฐว่าเป็นไปเพื่อการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์เหตุการณ์ครั้งสำคัญของประเทศไทย พวกเขาจึงอยากนำเสนอคอนเทนต์และข้อมูลต่างๆ ให้กับคนไทยทุกคนได้รับรู้โดยทั่วกัน

     เขาบอกว่า “สิ่งที่เราทำออกไปถือว่าเราได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้แล้ว แล้วผมก็ถือว่ามันประสบความสำเร็จแล้ว แต่มันคงจะดีมากขึ้นไปกว่านี้อีก หากคนไทยได้เห็นว่าหนังสือพิมพ์ 15 ฉบับพิเศษของไทยรัฐที่เรากำลังจะทยอยปล่อยออกมาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อการเก็บสะสม ซึ่งมันคงจะถือเป็นซูเปอร์โบนัสของพวกเราคนทำงานทุกๆ คน”

     นอกจากนี้ภายในงานเปิดตัวที่จัดขึ้นไปอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ช่วงหนึ่งวัชรได้กล่าวไว้ว่า เดิมทีเขามองโปรเจกต์ครั้งนี้เป็นเหมือนการถวายงาน ‘ครั้งสุดท้าย’ ให้กับรัชกาลที่ 9

     อย่างไรก็ดี เขากลับรู้สึกว่าแทนที่จะถวายงานรับใช้พระองค์เป็นครั้งสุดท้าย ในทางตรงกันข้าม ไทยรัฐควรจะนำโอกาสพิเศษในครั้งนี้ถวายงานให้กับพระองค์ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งน่าจะเป็นส่ิงที่เหมาะสมกว่า

     “ตอนแรกเราเคยคุยกันในทีมว่าโปรเจกต์นี้น่าจะเป็นการถวายงานครั้งสุดท้ายแล้ว แต่คิดไปคิดมาเราคงไม่ใช้คำนั้นดีกว่า เพราะในอนาคตไทยรัฐก็ตั้งใจไว้ว่าพวกเราจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่คำสอนต่างๆ หรือคุณงามความดีที่พระองค์ทรงงานไว้ให้แก่เด็กๆ รุ่นใหม่ได้ดูสืบต่อไป เราเลยอยากตั้งใจที่จะถวายงานให้พระองค์ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งงานในครั้งนี้ก็คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอน” วัชรกล่าวทิ้งท้าย

 

 

     สำหรับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับพิเศษ 15 ฉบับนี้จะเริ่มวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วไปตั้งแต่วันที่ 13-27 ตุลาคม 2560 ผู้สนใจสามารถติดตามได้บนแผงหนังสือ หรือช่องทางการจัดส่งอย่าง LINE Man หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากไทยรัฐ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X