×

‘ราชรถ ราชยาน’ เครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ น้อมส่งเสด็จสู่แดนสรวง

12.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ราชรถ ราชยาน เป็นหนึ่งในเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงฐานานุศักดิ์ของผู้ใช้ สืบแต่อยุธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์
  • พระมหาพิชัยราชรถ กรมศิลปากรได้ทำการซ่อมแซมแล้วเสร็จร้อยละ 95 กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนนี้

     ราชรถ ราชยาน เป็นหนึ่งในเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงฐานานุศักดิ์ของผู้ใช้ การใช้ราชรถ ราชยาน ในราชสำนักนั้นมีมาแต่ครั้งโบราณกาล ปรากฏหลักฐานชัดเจนในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นราชประเพณีสืบเนื่องต่อมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์

     การอัญเชิญพระบรมศพจากพระมหาปราสาทไปสู่พระเมรุมาศ หรืออัญเชิญพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศมาสู่พระบรมมหาราชวัง พระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุหรือลอยพระอังคาร ตามโบราณกาลจะอัญเชิญด้วยขบวนพระราชอิสริยยศ ซึ่งเรียกว่า ‘ริ้วขบวน’ โดยแต่ละริ้วขบวนมีคนหาม คนฉุดชักจํานวนมาก พร้อมด้วยเครื่องประกอบพระอิสริยยศ

     การจัดริ้วขบวนเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีขบวนพระบรมราชอิสริยยศ จำนวน 6 ริ้วขบวน โดยมีการบูรณะตกแต่งราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ เพื่อให้พร้อมสำหรับการอัญเชิญพระบรมศพ พระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคาร รวมทั้งซักซ้อมการเคลื่อนขบวนให้งดงามประหนึ่งราชรถเคลื่อนบนหมู่เมฆส่งเสด็จสู่สวรรค์

     THE STANDARD ได้มีโอกาสติดตามชมการบูรณะตกแต่ง ราชรถ ราชยาน ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานเต็มกำลังความสามารถของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อถวายพระเกียรติยศสูงสุด

 

 

ความหมายของราชรถ ราชยาน

     ราชรถ หมายถึง พาหนะแห่งพระมหากษัตริย์ ในสมัยโบราณน่าจะพัฒนามาจากเกวียนขนาดเล็กที่นั่งได้เพียงคนเดียว และเทียมด้วยม้าหรือสัตว์อื่น เช่น วัว ลา ล่อ หรือแม้แต่คน

     ในสมัยโบราณ การเดินทางไปในที่ต่างๆ จะใช้พาหนะในรูปแบบต่างๆ ตามฐานะของผู้ใช้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว พาหนะนั้นๆ จะเป็นเครื่องหมายแสดงตำแหน่งทางราชการของผู้เป็นเจ้าของ ราชรถมีทั้งที่เทียมด้วยม้าและลากด้วยกำลังคน ซึ่งราชรถที่เทียมด้วยม้ามักเป็นรถศึก และรถที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้เมื่อเสด็จประพาสในที่ต่างๆ นอกพระราชวัง สำหรับราชรถที่ลากด้วยคน จะมีขนาดใหญ่ และใช้ในการพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีพระบรมศพ

     ราชยาน หมายถึง พาหนะสำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ คำว่า ยาน ตามที่บัญญัติไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง เครื่องนำไป หรือพาหนะต่างๆ เช่น รถ เกวียน เรือ เป็นต้น เมื่อนำมาสมาสกับคำว่า ราช ซึ่งหมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน จึงหมายถึงพาหนะสำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ ได้แก่ ราชรถ (รถพระที่นั่ง) ราชยาน พระคชาธาร (ช้างพระที่นั่ง) ม้าต้น และเรือพระที่นั่ง ราชยาน เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ ส่วน ยาน เป็นเครื่องประกอบยศของบุคคลชั้นสูงในสังคมสมัยโบราณ แสดงให้เห็นฐานะและอำนาจอันแตกต่างจากสามัญชนทั่วไป

 

 

โบราณราชประเพณีแห่งการถวายพระเพลิงพระบรมศพ

     ตามโบราณราชประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพ เพื่อน้อมส่งเสด็จพระมหากษัตริย์สู่สวรรคาลัย จะมีการอัญเชิญพระบรมโกศจากพระบรมมหาราชวังสู่พระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง เริ่มจากอัญเชิญพระบรมโกศลงจากพระแท่นสุวรรณเบญจดล ออกจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางมุขประตูด้านตะวันตก ประดิษฐานบนพระเสลี่ยงแว่นฟ้า แล้วอัญเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคานที่หน้าประตูกำแพงแก้วด้านตะวันตก เคลื่อนออกทางประตูศรีสุนทรและประตูเทวาภิรมย์ เข้าประจำกระบวนพระบรมราชอิสริยยศบนนถนนมหาราช เคลื่อนไปยังถนนสนามไชย

     อัญเชิญพระบรมโกศจากพระยานมาศสามลำคานขึ้นเกรินบันไดนาคประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ กระบวนพระบรมราชอิสริยยศเคลื่อนออกจากถนนสนามไชย สมเด็จพระราชาคณะนั่งบนราชรถน้อยนำหน้าพระมหาพิชัยราชรถ กระบวนเคลื่อนสู่พระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง จากนั้นอัญเชิญพระบรมโกศลงจากพระมหาพิชัยราชรถด้วยเกรินบันไดนาค ประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคานเวียนรอบพระเมรุมาศ 3 รอบ แล้วจึงอัญเชิญพระบรมโกศประดิษฐานบนพระเมรุมาศ

     หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว จึงอัญเชิญพระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคารกลับสู่พระบรมมหาราชวัง

 

 

เยี่ยมชมโรงราชรถ งานถวายพระเกียรติยศสูงสุด

     โรงราชรถ ตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษาและจัดแสดงราชรถ พระยานมาศ และเครื่องประกอบพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์

 

 

  • พระมหาพิชัยราชรถ

     มีลักษณะเป็นราชรถทรงบุษบก ทำด้วยไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจกสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ใช้เพื่อการอัญเชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) ออกพระเมรุ เมื่อพ.ศ. 2339 ต่อมาใช้อัญเชิญพระบรมโกศพระมหากษัตริย์ และพระโกศพระบรมวงศ์จนถึงปัจจุบัน

     พระมหาพิชัยราชรถเป็นราชรถที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ด้วยความสูง 11.20 เมตร กว้าง 4.84 เมตร ยาว 18 เมตร และด้วยน้ำหนักถึง 13.7 ตัน จึงต้องใช้พลฉุดชักเพื่อเคลื่อนพระมหาพิชัยราชรถทั้งหมด 216 นาย แบ่งเป็นส่วนด้านหน้า 172 นาย ด้านหลัง 44 นาย และพลควบคุม 5 นาย

     การบำรุงรักษาพระมหาพิชัยราชรถนั้น ขณะนี้ทางกรมศิลปากรได้ทำการซ่อมแซมแล้วเสร็จร้อยละ 95 อยู่ระหว่างประดับกระจกเทพพนมจำนวน 138 องค์ ก่อนนำไปประกอบยังส่วนเกรินของพระมหาพิชัยราชรถ จากนั้นจะเก็บรายละเอียดซ่อมทองบางส่วนที่ชำรุด กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนนี้

 

 

  • พระเวชยันตราชรถ

     มีลักษณะเป็นราชรถทรงบุษบก ทำด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อใช้เป็นรถที่นั่งรอง

     ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ในปี พ.ศ. 2339 และใช้เป็นราชรถสำหรับทรงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระอิสริยศักดิ์รองลงมา

     เมื่อพระมหาพิชัยราชรถชำรุดจนไม่สามารถใช้การได้ จึงใช้พระเวชยันตราชรถเป็นรถทรงพระบรมศพ แต่เรียกในหมายรับสั่งว่า ‘พระมหาพิชัยราชรถ’

 

 

  • พระยานมาศสามลำคาน

     เป็นยานที่มีคานหามขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้จำหลัก ลวดลายลงรักปิดทอง มีพนักโดยรอบ 3 ด้าน และมีคานหาม 3 คาน จึงเรียกว่า พระยานมาศสามลำคาน อยู่ในขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วที่ 1 ใช้สำหรับอัญเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถที่จอดเทียบรออยู่ใกล้พลับพลายก บริเวณทิศตะวันออกของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

     พระราชยานองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อใช้อัญเชิญพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นครั้งแรก

 

 

  • ราชรถปืนใหญ่

     เป็นราชรถที่เชิญพระโกศพระบรมศพ พระศพ ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ที่ทรงรับราชการทหารเมื่อครั้งดำรงพระชนม์ชีพ แทนพระยานมาศสามลำคานตามธรรมเนียมเดิมจากพระบรมมหาราชวัง หรือวังของพระบรมวงศ์ พระองค์นั้นๆ สู่พระเมรุมาศ หรือพระเมรุ และแห่อุตราวัฏ (เวียนซ้าย) รอบพระเมรุมาศ 3 รอบ ซึ่งธรรมเนียมใหม่นี้เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพจอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เมื่อ พ.ศ. 2459 เป็นครั้งแรก

     และครั้งหลังสุดในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เมื่อ พ.ศ. 2493

 

 

  • ราชรถน้อย

     ขณะเดียวกันยังมี ราชรถน้อย 3 องค์ ประกอบด้วย ราชรถน้อย หมายเลข 9782, 9783 และ 9784 มีลักษณะเหมือนพระมหาพิชัยราชรถ และพระเวชยันตราชรถ แต่มีขนาดเล็กกว่า ทำหน้าที่เป็นรถพระนำ หรือ รถสวด สำหรับพระอ่านพระอภิธรรมนำกระบวน และสำหรับโยงภูษาโยงจากพระบรมโกศ

 

Photo: ศูนย์ข้อมูลข่าวสารงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

  • เกรินบันไดนาค

     อุปกรณ์ที่ใช้เชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นหรือลงจากราชรถและพระเมรุมาศ แทนการใช้นั่งร้านไม้ต่อยกสูงแบบสมัยโบราณ ที่ใช้กำลังคนยกขึ้นลงซึ่งมีความยากลำบากไม่สะดวก โดยทำเป็นรางเลื่อนขึ้นลงด้วยกว้านหมุน ลักษณะการใช้งานเหมือนลิฟต์ในปัจจุบัน มีแท่นที่วางพระโกศเพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายขึ้นหรือลง ลักษณะเป็นแท่นสี่เหลี่ยม ขอบฐานแกะสลักลายปิดทองประดับกระจก ท้ายเกรินเป็นพื้นลดระดับลงมา ซึ่งเป็นที่สำหรับเจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้นนั่งประคองพระโกศพระบรมศพ มีลักษณะคล้ายท้ายสำเภา ด้านข้างบุผ้าตาดทอง มีราวทั้งสองข้างตกแต่งเป็นรูปพญานาค จึงเรียกว่า ‘เกรินบันไดนาค’

     เกรินบันไดนาค คิดค้นโดยสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระโอรสในสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2354 ใช้ครั้งแรกในงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ. 2355

     เกรินบันไดนาค มีความกว้าง 1.525 เมตร ยาว 2.365 เมตร สูง 4.40 เมตร ส่วนฐานมีความกว้าง 1.786 เมตร ยาว 3.06 เมตร จำนวนพลในการควบคุม 20 นาย

 

 

     ขณะที่บรรยากาศ ภายในโรงราชรถแต่ละวันละมีจิตอาสาเข้ามาช่วยงานวันละกว่า 30 คน ทั้งงานลงรัก เตรียมพื้นผิวราชรถ งานเย็บผ้าทองแผ่ลวด ทำให้งานบูรณะราชรถคืบหน้าไปมาก นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของเหล่าจิตอาสาที่ได้มีโอกาสถวายงานแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

 

 

อ้างอิง:

  • หนังสือ ราชรถ ราชยาน ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ กรมศิลปาการ สำนักพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ. 2559
  • ศูนย์ข้อมูลข่าวสารงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
  • หนังสือคำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
  • เว็บไซต์พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
  • องค์ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีพระบรมศพ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X