เนื่องในห้วงเวลาแห่งความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทย และเป็นเวลาครบรอบ 1 ปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต
ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตอธิบดีกรมประมง และอดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ซึ่งช่วงหนึ่งของชีวิตในระหว่างรับราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้ ซึ่งได้ถวายงานสนองพระเดชพระคุณใต้เบื้องพระยุคลบาทเป็นเวลา 5 ปี จะได้บอกเล่าพระราชกรณียกิจในส่วนของป่าไม้ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ผ่านถ้อยความตัวอักษร เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
สมเด็จพระภัทรมหาราชเจ้า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับการยกย่องสรรเสริญไปทั่วหล้าว่าเป็นพระมหากษัตริย์เกษตรพระองค์เดียวของแผ่นดิน
ทรงเชี่ยวชาญชำนาญการทางด้านการเกษตร ชลประทาน ประมง ป่าไม้ ปศุสัตว์ และดินอย่างหาที่เปรียบมิได้ ในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ผมได้เคยถวายพระเกียรติยศ เป็นราชสดุดีในเรื่องกิจการประมง ซึ่งผมได้สัมผัสมาในช่วง 13 ปีของการดำรงตำแหน่งอธิบดีและรองอธิบดีกรมประมงมาแล้ว
ในโอกาสอันสำคัญนี้ผมจะขอนำเล่าพระราชกรณียกิจในส่วนของป่าไม้ ซึ่งผมได้ถวายงานสนองพระเดชพระคุณใต้เบื้องพระยุคลบาทในช่วงเป็นอธิบดีกรมป่าไม้อยู่ 5 ปี
‘ป่ารักน้ำ’ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชนีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานเล่าให้เหล่าผู้ตามเสด็จในขณะทรงงานในป่าว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชทานข้อเท็จจริงทางธรรมชาติวิทยาว่า ในประเทศทางตอนเหนือของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป มียอดเขาที่เป็นหิมะ น้ำแข็งเหล่านี้เมื่ออากาศอบอุ่นก็จะละลายกลายเป็นต้นน้ำลำธารหล่อเลี้ยงป่าและแผ่นดินเบื้องล่าง แต่บ้านเรามีอากาศร้อนไม่มีหิมะแต่โชคดีมีฝนตกชุก การจะเก็บน้ำฝนได้ต้องมีป่าทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำ และช่วยชะลอน้ำ ช่วยกักเก็บน้ำ
การนี้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชนีนาถ ในรัชกาลที่ 9 จึงได้มีพระราชเสาวนีย์เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า”
พระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าล้นกระหม่อมทั้งสองพระองค์ผู้เป็นที่รักของปวงชนชาวไทยนั้นมียิ่งใหญ่มากนัก หากมิเช่นนั้น ผมขอยืนยันว่าป่านนี้ป่าเมืองไทยคงจะเหลือน้อยนิด หน้าน้ำน้ำก็จะท่วม หน้าร้อนก็จะเกิดแห้งแล้งทุกข์เข็ญกันไปถ้วนทั่ว
“ปลูกป่าประชาชนต้องได้รับประโยชน์” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตรัสอยู่บ่อยครั้งในเรื่อง ‘การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ได้ประโยชน์ 4 อย่าง’ ป่าสามอย่างก็คือ ป่าไม้ใช้สอย ป่าไม้กินได้ และป่าไม้เศรษฐกิจ สำหรับประโยชน์ที่เพิ่มมาเป็นสี่อย่างก็คือ จะเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ ด้วยทรงมั่นใจว่าประชาชนนั่นแหละจะเป็นผู้ช่วยในการรักษาป่า เพราะทรงเคยถามชาวเขาว่า คิดอย่างไรในเรื่องการรักษาป่าไม้ ชาวเขาได้ถวายความเห็นว่า ต้องมีป่ามิเช่นนั้นจะแห้งแล้งไม่มีน้ำทำการเกษตร
กรณีการปลูกป่าชายเลนก็เช่น ผมจำได้ว่าเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ในการเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีถวายป่าภายใต้โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ครบหนึ่งล้านไร่ของ ปตท. ที่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทรงรับสั่งด้วยความกังวลว่า ป่าชายเลนมักมีชาวบ้านอาศัยหากินอยู่ ทรงทราบว่าชาวบ้านสามารถหาเลี้ยงชีพทางการประมงโดยการจับหอย จับปู จับปลาได้ แต่กลับใช้ไม้โกงกางไม่ได้ ซึ่งผมก็ได้ถวายความจริงไปว่า เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งพระองค์ท่านก็ทรงตรัสตอบโดยทันทีว่า ทรงเข้าใจแต่ก็ต้องหาทางช่วยประชาชน
ผมจำได้มาตลอดและใส่ใจทุกครั้งที่ได้ถวายต้นไม้ให้ทรงปลูก พระองค์จะทรงย้ำเสมอว่าต้องปลูกต้นไม้ให้ประชาชนใช้ได้นะ นี่คือความห่วงใยของพระราชาผู้ประเสริฐที่มีต่อประชาราษฎร์ของพระองค์
‘ทรงห่วงใยและเมตตาต่อชาวเขายิ่งนัก’ เมื่อผมเริ่มเข้ารับหน้าที่อธิบดีกรมป่าไม้ประมาณกลางปี 2541 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชนีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานคำแนะนำที่มีค่ายิ่งต่อการทำหน้าที่อธิบดีกรมป่าไม้ โดยทรงตรัสว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงฝากให้ดูแลชาวเขา ทรงเป็นห่วงชาวเขา ทรงเห็นชาวเขาเป็นเหมือนลูกหลาน เมื่อผมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าจึงได้กราบพระบาทและกราบบังคมทูลไปว่ากรมป่าไม้ขอรับไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทรงตรัสเพิ่มเติมว่าชาวเขาก็ต้องอยู่บนเขา หากินบนเขา การประกาศอะไรในป่าบนเขาต้องระมัดระวัง มิเช่นนั้นก็ไม่รู้ว่าใครรุกใคร ป่ารุกเขา หรือเขารุกป่า ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้กรมป่าไม้ได้น้อมนำมาใช้ทำงานร่วมกับชาวเขาโดยปราศจากปัญหาใดๆ ความห่วงใยต่อพสกนิกรของพระองค์นั้นช่างมีมากมายเหลือคณานับ
เมื่อมาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายรายงานเรื่องน้ำที่โรงพยาบาลศิริราชสองครั้ง แม้มีพระสุรเสียงเบาลงแต่ก็ทรงพยายามเล่าเรื่องต่างๆ ที่ทรงทำ
จึงได้กราบบังคมทูลไปว่าในที่นี้มีอดีตข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เคยถวายงานอยู่สามคน ทุกคนจำได้ดียิ่งว่าทรงมีพระราชประสงค์จะทำอะไร ขออย่าทรงกังวล จำได้แม่นยำว่าทรงยิ้มและตรัสว่า “จำได้นะ”
นับแต่วินาทีนั้นมาจวบจนเสด็จผ่านภิภพไปแล้ว ผมได้ให้สัญญากับตัวเองว่าจะสนองพระเดชพระคุณสืบสานพระราชปณิธานในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุดจนตราบชีวิตจะหาไม่
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า นายปลอดประสพ สุรัสวดี
ผู้เป็นข้ารองพระบาท