×

‘พระองค์ยังประทับอยู่กับเราเสมอ’ มองปรัชญา-พระราชดำริผ่านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

โดย THE STANDARD TEAM
16.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • พินิจภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ เห็นความรักของพระองค์ที่ยังคงแฝงฝังอยู่ในดิน น้ำ ป่าเขา สายฝนที่เย็นฉ่ำ ตลอดจนทุกโครงการในพระราชดำริที่ทรงริเริ่มไว้ และจะทรงเป็นอมตะเสมอไปตราบเท่าที่คนไทยทุกคนร่วมกันสืบสานพระราชปณิธาน

     นับถึงวันนี้ แม้จะเสด็จสู่สวรรคาลัยนานกว่า 1 ปีแล้ว หากความอาดูรสุดประมาณยังคงท่วมท้นในหัวใจคนไทย แต่เมื่อมองกลับไปที่ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เหล่านั้น เราจะพบว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังประทับอยู่กับพวกเราเสมอ

     เพราะความรักของพระองค์ได้แฝงฝังอยู่ในดิน น้ำ ป่าเขา สายฝนที่เย็นฉ่ำ ตลอดจนทุกโครงการในพระราชดำริที่ทรงริเริ่มไว้ และจะทรงเป็นอมตะเสมอไป

     ตราบเท่าที่เราทุกคนร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานและทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อไป…

 

“ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้”

“…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำ น้ำบริโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้…”

พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ณ​ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

17 มีนาคม พ.ศ. 2529

 

     โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีทั้งหมดกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งหากนำมาระบุลงในแผนที่ประเทศไทย จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงงานครอบคลุมทุกพื้นที่ตั้งแต่ยอดดอยจรดชายฝั่ง และกว่า 3,000 โครงการล้วนเกี่ยวพันกับการพัฒนาน้ำทั้งสิ้น เช่น ฝนหลวง, กังหันน้ำชัยพัฒนา, โครงการแก้มลิง, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ฯลฯ สะท้อนชัดถึงความห่วงใยในพระราชหฤทัยเกี่ยวกับปัญหาเรื่องน้ำที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นไปในมิติที่แตกต่างกัน ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค, น้ำเพื่อการเพาะปลูก, พลังงานน้ำ, การบริหารจัดการน้ำบรรเทาอุทกภัย, รักษ์น้ำในแหล่งป่าต้นน้ำ

 

‘‘ปลูกต้นไม้ในใจคน”

“…ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง…”  

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่

31 ธันวาคม พ.ศ. 2502

 

     ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทรงเห็นสภาพป่าไม้เสื่อมโทรม และทรงตั้งพระราชปณิธานจะหาแนวทางฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้

     โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นหนึ่งในโครงการตามแนวพระราชดำริเพื่อสร้างวิถีที่ยั่งยืนระหว่างคนกับป่า ขณะที่ศูนย์การศึกษาพัฒนาห้วยทราย ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้รับการจัดตั้งให้เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์ หลังจากพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2526 และทรงพบสภาพป่าเสื่อมโทรม ศูนย์แห่งนี้มีการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและปลูกป่า ทั้งไม้โตเร็ว ไม้ผล และไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างสมดุลทางธรรมชาติของป่าให้คืนสู่สภาพเดิม

 

“เดิมพันคือบ้านเมือง”

“…ความจริงมันน่าท้อถอยหรอก…บางเรื่องมันน่าท้อถอย…แต่ว่าฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือบ้านคือเมือง…คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

มีพระราชกระแสตอบหลังจากหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ทูลถามพระองค์ว่า

ทรงเคยเหนื่อยหรือทรงท้อบ้างหรือไม่?

(ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ​ ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557)

 

     พระปฐมบรมราชโองการในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ได้รับการพิสูจน์ให้ประจักษ์แก่ใจคนไทยทั่วประเทศ เพราะตลอดรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงห่วงใยพสกนิกรใต้ร่มพระบารมีอยู่มิรู้คลาย นอกจากจะเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พระองค์ยังสนพระทัยศึกษาปัญหาของพื้นที่เพื่อนำกลับไปหาทางแก้ไข เพื่อให้ราษฎรสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลกอีกแล้วที่ทรงงานหนักเพื่อพสกนิกรของพระองค์ได้มากเพียงนี้

 

“ต้องขยัน เชื้อเพลิงจะเกิดขึ้นใหม่”

“ถ้าน้ำมันเชื้อเพลิงหมดแล้ว ก็ยังใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นได้ มี แต่ต้องขยัน ต้องหาวิธีที่จะทำให้เชื้อเพลิงเกิดขึ้นมาใหม่”

พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ​ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา

4 ธันวาคม พ.ศ. ​2548

 

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานต่างๆ คิดค้นพัฒนาเครื่องจักรกลใช้พลังงานทดแทน จนเป็นที่มาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายโครงการ รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำศูนย์พัฒนาปางตอง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะทรงเห็นว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องยนต์ดีเซลมีความลำบากในเรื่องการลำเลียงน้ำมันเชื้อเพลิง และภายในศูนย์พัฒนามีแหล่งน้ำที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างอเนกประสงค์

 

“ไม่โลภอย่างมาก”

“คนเราถ้าพอใจในความต้องการ…ก็มีความโลภน้อย… เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก …คนเราก็อยู่เป็นสุข…”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย

4 ธันวาคม พ.ศ. 2541

 

     โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้ที่ดินและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดทำโครงการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างให้ประชาชนได้นำไปปฏิบัติตาม สนับสนุนเศรษฐกิจแบบพอเพียง ให้ประชาชนได้อยู่อย่างพอมีพอกิน ไม่เดือดร้อน ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจของชาติกำลังอยู่ในภาวะถดถอย

 

“อยู่ดีมีสุข”

“…ความมั่นคงของประเทศชาตินั้นจะเกิดมีขึ้นได้ก็ด้วยประชาชนในชาติอยู่ดีมีสุข ไม่มีทุกข์ยากเข็ญ ดังนั้นการใดที่เป็นความทุกข์เดือดร้อนของประชาชน ทุกคนทุกฝ่ายจึงต้องถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกันปฏิบัติแก้ไขให้เต็มกำลัง…”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการเสด็จออกมหาสมาคม

ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

 

     หนึ่งในแนวคิดอันเนื่องมาจากพระราชดำริคือให้เน้นการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้แนวทางสำคัญในการส่งเสริมชุมชนหรือการพัฒนาชนบทที่สำคัญๆ คือการที่ทรงมุ่งช่วยเหลือพัฒนาให้เกิดการพึ่งตนเองได้ของคนในชนบทเป็นหลัก โครงการตามแนวพระราชดำริที่ดำเนินการอยู่หลายพื้นที่ทั่วประเทศ ล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การพึ่งตนเองได้ของราษฎรทั้งสิ้น

 

“ระเบิดจากข้างใน”

“…ในการพัฒนาประเทศนั้น จำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐานคือความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อนด้วยวิธีการที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอควรแล้วจึงค่อยสร้างเสริมความเจริญขั้นที่สูงขึ้นตามลำดับต่อไป ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลวและเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จแน่นอนบริบูรณ์…”

พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

19 กรกฎาคม พ.ศ.​ 2517

 

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของ ‘คน’ ว่าสามารถพัฒนาต่อยอดได้ ทรงมีพระราชดำริว่าการพัฒนา ‘ต้องระเบิดจากข้างใน’ หมายถึงชาวบ้านต้องตื่นรู้และมีแรงกระตุ้นจากภายใน ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านหรือชุมชนนั้นมีความเข้มแข็งและพร้อมสำหรับการพัฒนา มิใช่นำความเจริญจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนที่หากยังไม่พร้อมต่อกระแสใหม่ๆ สิ่งที่ตามมาคือการพัฒนาที่ล่มสลาย หรือเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

     แต่การจะกระตุ้นให้เกิดการระเบิดจากข้างในได้ นักพัฒนาจะต้องเข้าใจภูมิสังคมอย่างถ่องแท้เสียก่อน ในช่วงกลางรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในทุกถิ่นที่ ภาพที่เห็นบ่อยครั้งคือพระองค์ประทับร่วมกับชาวบ้านที่มารอเข้าเฝ้าฯ อย่างไม่ทรงถือพระองค์ และทรงซักถามประชาชนของพระองค์ถึงปัญหาและความทุกข์ยากที่พวกเขาต้องเผชิญ ในขณะเดียวกันก็ทรงกำลังเก็บข้อมูลอันเป็นจริงจากบุคคลในพื้นที่ เพื่อจะทรงวิเคราะห์แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด นั่นคือทรงเริ่มจากการศึกษาภูมิสังคม

 

 

     ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้ตามเสด็จฯ และถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาโดยตลอด ได้อธิบายถึงหลักการทรงงานของพระองค์ไว้ในการแสดงปาฐกถาในงานเฉลิมพระเกียรติ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาคนไทยที่สมบูรณ์แบบ’ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า ภูมิ นั้นหมายถึงภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งต่างกันไปในแต่ละท้องที่ ดินอีสานเป็นแบบหนึ่ง ดินทางเหนือเป็นอีกแบบหนึ่ง ปัญหาของคนแต่ละท้องที่ก็ย่อมไม่เหมือนกัน ส่วนอีกคำคือ สังคม หมายถึงคน ซึ่งมีความหลากหลายไม่น้อยไปกว่าดิน น้ำ ลม ไฟ เลย

     เพราะฉะนั้นจึงต้องเคารพคน รู้จักคน เข้าใจคน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X