×

สะท้อนความสุขของพ่อ ผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์ และดนตรีแจ๊ซทรงโปรด (ตอนที่ 1)

05.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • เบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) ซูเปอร์สตาร์แห่งวงการเพลงแจ๊ซในยุคนั้น ที่เคยร่วมแจมดนตรีกับพระองค์หลายครั้ง โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2499 เบนนี่ กู๊ดแมน เดินทางมาแสดงดนตรีในงานเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม และอัดการแสดงสดครั้งนี้เอาไว้ ทำเป็นอัลบั้ม Bangkok 1956 ออกขายไปทั่วโลก
  • พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยลเดช ทรงพระราชนิพนธ์เพลง ‘แสงเทียน’ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2489 เป็นเพลงจังหวะบลูส์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงพระนิพนธ์คำร้องภาษาไทย โดยมีเนื้อหาที่ลึกซึ้งสะท้อนสัจธรรมชีวิต ดังเช่นเนื้อร้องท่อนหนึ่งที่ว่า ‘โอ้ชีวิตหนอล้วนรอความตายทุกคน หลีกไปไม่พ้นทุกข์ทนอาทรร้อนใจ’

     เสียงเพลงที่เราได้ยินตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา และโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ คือบทเพลงพระราชนิพนธ์จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยลเดชที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรี บทเพลงพระราชนิพนธ์เหล่านี้สะท้อนความสุขของพระองค์เอาไว้อย่างชัดเจน ตลอดพระชนม์ชีพ ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงเอาไว้จำนวน 48 เพลง ซึ่งเป็นผลงานที่จะคงอยู่นิรันดร์ในจิตใจของประชาชนชาวไทย

     THE STANDARD รวบรวมความรัก-ความทรงจำของรัชกาลที่ 9 ผ่านบทเพลงที่เกิดขึ้นในหลายเหตุการณ์สำคัญ เพลงที่ได้แรงบันดาลใจในการทรงพระราชนิพนธ์จากผู้หญิงอันเป็นที่รัก รวมถึงบทเพลงจากนักดนตรีแจ๊ซทรงโปรด

 

 

แรกรักในดนตรี

     สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือ ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์ พ.ศ. 2539 ถึงจุดเริ่มต้นความสนใจด้านดนตรีของรัชกาลที่ 9 เอาไว้ว่า

     “เมื่อมีพระชนม์ได้ประมาณ 14-15 ปี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปภูเขา ได้ทอดพระเนตรวงดนตรีที่เขาเล่นที่โรงแรมก็โปรด มีพระราชประสงค์จะทรงแตร แต่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไม่ทรงเห็นด้วย เพราะเหตุว่าการเป่าแตรต้องใช้กำลังมาก อาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพได้ จึงทรงผ่อนผันให้เล่นแซกโซโฟนแทน

     “ครูสอนดนตรีชื่อ นายเวย์เบรชท์ เป็นชาวอัลซาส ซึ่งเป็นแคว้นของฝรั่งเศสที่พูดภาษาเยอรมัน… ครูเวย์เบรชท์มาสอนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละครึ่งชั่วโมงต่อพระองค์ เรียนได้สักปีหนึ่งก็เปลี่ยนไปเรียนสัปดาห์ละครั้งเดียว เมื่อพอจะเล่นได้ ครูก็เขียนโน้ตเพลงให้เล่นได้ 3 คนเป็นทริโอ มีคลาริเน็ต 1 แซกโซโฟน 2 เพลงที่เล่นเป็นพวกเพลงคลาสสิก คลาริเน็ตที่ทรงใช้แต่แรกยี่ห้อเลอบลองค์ แซกโซโฟนยี่ห้อ เอส เอ็ม แอล (Strasser Marigaux Lemaire) ส่วนเปียโนไม่เคยทรงเรียนจริงจังจากใคร เล่นเอาเอง ดูโน้ต

     “พระเจนดุริยางค์ เป็นอีกท่านที่กราบบังคมทูลแนะนำเกี่ยวกับการดนตรี ทรงโปรดคุณพระเจนฯ มาก ทรงพิมพ์ตำราที่คุณพระเจนฯ ประพันธ์ขึ้นทุกเล่ม

     “นอกจากทรงเล่นดนตรีแล้ว ยังทรงสอนให้ผู้อื่นเล่นด้วย… ทรงแนะนำวิธีการเล่นดนตรีพระราชทานผู้อื่นที่มาเล่นดนตรีถวายหรือเล่นร่วมวง ดูเหมือนจะเคยมีรับสั่งว่า การเล่นดนตรีทำให้เกิดความสามัคคีว่าเป็นนักดนตรีเหมือนกัน”

 

หนังสือ เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์

 

     ในหนังสือ ‘เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์’ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงนิพนธ์เอาไว้เกี่ยวกับเรื่องดนตรีว่า
     “เมื่อถึงเวลาสนพระทัยแผ่นเสียงก็แบ่งกันอีก รัชกาลที่ 8 ทรงเลือก Louis Armstrong และ Sidney Bechet รัชกาลที่ 9 ทรงเลือก Duke Ellington และ Count Basie เกี่ยวกับการซื้อแผ่นเสียงนี้ ถ้าเป็นแจ๊ซต้องซื้อเอง ถ้าเป็นคลาสสิกเบิกได้”
     น่าสนใจว่าในช่วงเวลาที่รัชกาลที่ 9 กำลังเติบโตนั้น ตรงกับยุคที่ดนตรีสวิงแจ๊ซ หรือแจ๊ซบิ๊กแบนด์กำลังได้รับความนิยม (ช่วง 1930-1940) นอกจากนี้ยังทรงโปรดดนตรีแจ๊ซยุคก่อนหน้าอย่าง New Orleans-Dixieland ในยุค 20s และแจ๊ซในยุคต่อมาอย่าง Bebop ยุค 40s และ Cool Jazz ยุค 50s
     นักดนตรีแจ๊ซที่ขึ้นชื่อว่าอยู่ในพระราชหฤทัย ตัวอย่างเช่น Sidney Bechet นักดนตรีแจ๊ซจากนิวออร์ลีนส์ ที่ได้รับการยกย่องอย่างยิ่งในแวดวงดนตรีแจ๊ซ, Duke Ellington นักดนตรีแจ๊ซยุคสวิงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะเพลง Clarinet Lament (Barney’s Concerto) ที่มีเสียงคลาริเน็ตที่โดดเด่น, Count Basie นักเปียโนจากนิวเจอร์ซีย์ ที่นักฟังแจ๊ซทั่วโลกยกให้วง The Count Basie Orchestra เป็นวงดนตรีระดับต้นๆ, Jack Teagarden นักทรอมโบนสไตล์นิวออร์ลีนส์, Johnny Hodges นักอัลโตแซกโซโฟนที่เคยเป็นสมาชิกวงของ Duke Ellington, Stan Getz ที่สุดของนักดนตรีแจ๊ซอีกคนที่เดินมาในสไตล์ Cool Jazz

 

https://www.youtube.com/watch?v=CRpCI3_eb_k

เพลง Summertime, Sidney Bechet

เพลง Clarinet Lament (Barney’s Concerto), Duke Ellington

 

เพลง Moonlight in Vermont, Stan Getz

     เบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) ซูเปอร์สตาร์แห่งวงการเพลงแจ๊ซในยุคนั้น เขาเคยร่วมแจมดนตรีกับพระองค์หลายครั้ง ทั้งในไทยและเมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2499 เบนนี่ กู๊ดแมนเดินทางมาแสดงดนตรีในงานเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ที่ประเทศไทย และอัดการแสดงสดครั้งนี้เอาไว้ ทำออกมาเป็นอัลบั้ม Bangkok 1956 ออกขายไปทั่วโลก

 

เพลงพระราชนิพนธ์ สายฝน, Benny Goodman

     ไลโอเนล แฮมป์ตัน (Lionel Hampton) ได้รับขนานนามว่าเป็นนักดนตรีร็อกของแจ๊ซ ด้วยแนวทางที่ไม่เหมือนใคร เขาเคยเดินทางมาแสดงในประเทศไทยช่วงสงครามเวียดนาม ปี 1966 ครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแซกโซโฟนร่วมด้วยเป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งไลโอเนลเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ The King of Thailand in World Focus ว่า “He is simply the coolest king in the land”

https://www.youtube.com/watch?v=Pm8zT35WqNM

เพลง Flying Home, Lionel Hampton

 

     The Preservation Hall Jazz Band วงทรงโปรดอีกวงหนึ่ง เป็นวงที่เล่นดนตรีแจ๊ซสไตล์นิวออร์ลีนส์แบบดั้งเดิม ดร. ภาธร ศรีกรานนท์ ได้เชิญวงเดินทางมาเแสดงดนตรีในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2531 ช่วงเวลาการเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ 5 รอบ 60 พรรษา โดยจัดแสดงเป็นการส่วนพระองค์ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และยังเดินทางมาแสดงอีกหลายครั้ง โดยทางวงร่วมกับ ดร. ภาธร จัดทำอัลบั้มในชื่อ Royal New Orleans Jazz Celebration วางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2554 อีกด้วย

 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดนตรีไวบราโฟนร่วมกับวง The Preservation Hall Jazz Band

 

บทเพลงพระราชนิพนธ์ ระหว่างปี พ.ศ. 2489

     ความหลงใหลในดนตรีแจ๊ซ ไม่หยุดอยู่แค่การเป็นนักฟังเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยลเดชทรงทุ่มเทให้กับดนตรีตั้งแต่พระเยาว์ จนเริ่มพระราชนิพนธ์บทเพลงแรกเมื่อพระชนมมายุ 18 พรรษา

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยลเดชพระราชนิพนธ์เพลง ‘แสงเทียน’ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2489 เป็นเพลงในจังหวะบลูส์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงพระนิพนธ์คำร้องภาษาไทย โดยมีเนื้อหาที่ลึกซึ้งสะท้อนสัจธรรมชีวิต ดังเช่นเนื้อร้องท่อนหนึ่งที่ว่า ‘โอ้ชีวิตหนอล้วนรอความตายทุกคน หลีกไปไม่พ้นทุกข์ทนอาทรร้อนใจ’ และใน พ.ศ. 2496 ร.ศ. สดใส พันธุมโกมล ได้ประพันธ์คำร้องเป็นภาษาอังกฤษ

 

นิตยสาร LIFE

 

     ในปี พ.ศ. 2489 ได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้ทั้งสิ้น 6 เพลง คือ แสงเทียน หรือ Candlelight Blues, ยามเย็น หรือ Love at Sundown, สายฝน หรือ Falling Rain, ใกล้รุ่ง หรือ Near Dawn, ชะตาชีวิต หรือ H.M. Blues และ ดวงใจกับความรัก หรือ Never Mind The Hungry Men’s Blues

     เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 5 H.M. Blues เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ และเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีเรื่องเล่าถึงวันที่ทรงเล่นเพลงพระราชนิพนธ์ใหม่เพลงนี้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา โดยเหล่าข้าราชการ นักเรียน และคนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นที่พระตำหนักวิลล่าวัฒนา และมีการขายคำทายใบละครึ่งฟรังก์ เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ ด้วยการให้ผู้ร่วมงานทายชื่อเต็มของเพลง H.M. Blues แต่ท้ายที่สุด ไม่มีใครทายชื่อเต็มของเพลงได้เลย เพราะต่างคิดไม่ถึงว่า H.M. Blues จะหมายถึง Hungry Men’s Blues ตามเนื้อร้องเพลงภาษาอังกฤษที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงพระนิพนธ์เอาไว้ว่า ‘We’ve got the Hungry Men’s Blues. You’ll be hungry too, if you’re in this band.

     ส่วนคำร้องภาษาไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ประพันธ์ในภายหลัง

 

เพลง H.M. Blues

 

 

     อ่านต่อ ตอนที่ 2 สะท้อนความสุขของพ่อผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์และดนตรีแจ๊ซทรงโปรด (ตอนที่ 2)

 

อ้างอิง:

  • หนังสือประมวลเพลงพระราชนิพนธ์ ชุด ‘ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์
  • รายการ Cat Radio แมวนอก www.youtube.com/watch?v=US4tYG7Z8v0
  • หนังสือ ‘เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์’ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
FYI

ลำดับเพลงพระราชนิพนธ์

ข้อมูลจากหนังสือประมวลเพลงพระราชนิพนธ์ ชุด ‘ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์

ในวงเล็บคือปี พ.ศ. ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง หรือออกบรรเลงครั้งแรก

(หรือปี พ.ศ. ที่ผู้ประพันธ์คำร้อง ได้ประพันธ์คำร้องเพิ่มเติมอีกแบบ)

ซึ่งคำร้องสองภาษา อาจได้รับการประพันธ์ขึ้นคนละปี พ.ศ. ก็ได้

 

ลำดับที่ 1 / แสงเทียน (เมษายน 2489) / Candlelight Blues (2496)

ลำดับที่ 2 / ยามเย็น (เมษายน 2489) / Love at Sundown (2489)

ลำดับที่ 3 / สายฝน (พฤษภาคม 2489) / Falling Rain (2489)

ลำดับที่ 4 / ใกล้รุ่ง (พฤษภาคม 2489) / Near Dawn (2489)

ลำดับที่ 5 / H.M. Blues (2489) / ชะตาชีวิต (2489)

ลำดับที่ 6 / Never Mind The Hungry Men’s Blues (2489) / ดวงใจกับความรัก (2489)

ลำดับที่ 7 / อาทิตย์อับแสง (2491) / Blue Day (2491)

ลำดับที่ 8 / เทวาพาคู่ฝัน (2491) / Dream of Love Dream of You (2491)

ลำดับที่ 9 / มหาจุฬาลงกรณ์ (2492) – เพลงประจำสถาบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ลำดับที่ 10 / คำหวาน (2493) / Sweet Words (2493)

ลำดับที่ 11 / แก้วตาขวัญใจ (2493) / Lovelight in My Heart (2493)

ลำดับที่ 12 / เมื่อโสมส่อง (2494) / I Never Dream (2494)

ลำดับที่ 13 / ยิ้มสู้ (2495) / Smiles (2495)

ลำดับที่ 14 / พรปีใหม่ (2495)

ลำดับที่ 15 / Love Over Again (2495) / รักคืนเรือน (2495)

ลำดับที่ 16 / มาร์ชธงไชยเฉลิมพล (The Colours March) (2495)

ลำดับที่ 17 / ยามค่ำ (2496) / Twilight (2496)

ลำดับที่ 18 / มาร์ชราชวัลลภ (Royal Guards March) (2496)

ลำดับที่ 19 / ลมหนาว (2497) / Love in Spring (2497)

ลำดับที่ 20 / ศุกร์สัญลักษณ์ (2497) / Friday Night Rag (2497)

ลำดับที่ 21 / Oh I Say (2498)

ลำดับที่ 22 / Can’t You Ever See (2498)

ลำดับที่ 23 / Lay Kram Goes Dixie (2498)

ลำดับที่ 24 / ค่ำแล้ว (2498) / Lullaby (2498)

ลำดับที่ 25 / สายลม (2500) / I Think of You (2500)

ลำดับที่ 26 / ไกลกังวล (2500) / When (2506) / เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย (2514)

ลำดับที่ 27 / แสงเดือน (2501) / Magic Beams (2501)

ลำดับที่ 28 / Somewhere Somehow (2502) / ฝัน (2502) / เพลินภูพิงค์ (2509)

ลำดับที่ 29 / มาร์ชราชนาวิกโยธิน (Royal Marines March) (2502)

ลำดับที่ 30-32 / Kinari Suite (Nature Waltz + The Hunter + Kinari Waltz) (มโนห์รา) (2502)

ลำดับที่ 33 / Kinari Suite (A Love Story) (2502) / ภิรมย์รัก (2502)

ลำดับที่ 34 / Alexandra (2502) / แผ่นดินของเรา (2516)

ลำดับที่ 35 / พระมหามงคล (2502) – เพลงประจำวงดนตรีสุนทราภรณ์

ลำดับที่ 36 / ยูงทอง (2506) – เพลงประจำสถาบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ลำดับที่ 37 / Still on My Mind (2508) / ในดวงใจนิรันดร์ (2508)

ลำดับที่ 38/ Old Fashioned Melody (2508) / เพลงเตือนใจ (2510)

ลำดับที่ 39 / No Moon (2508) / ไร้จันทร์ (2508) / ไร้เดือน (2512)

ลำดับที่ 40 / Dream Island (2508) / เกาะในฝัน (2508)

ลำดับที่ 41 / Echo (2509) / แว่ว (2509)

ลำดับที่ 42 / เกษตรศาสตร์ (2509) – เพลงประจำสถาบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ลำดับที่ 43 / ความฝันอันสูงสุด (2514)

ลำดับที่ 44 / เราสู้ (2516)

ลำดับที่ 45 / เรา-เหล่าราบ 21 (We-Infantry Regiment 21) (2519)

ลำดับที่ 46 / Blues for Uthit (2522)

ลำดับที่ 47 / รัก (2537)

ลำดับที่ 48 / เมนูไข่ (2538)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X