×

รัชกาลที่ 9 ผู้นำที่ยิ่งใหญ่

16.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้องค์กรที่ดีกลายเป็นองค์กรที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืนนั้น ส่วนหนึ่งที่สำคัญมาจากตัว ‘ผู้นำ’ ที่ไม่ใช่แค่คนเก่งเท่านั้น ยังต้องเป็นคนที่มีความถ่อมตัว รวมทั้งเห็นแก่องค์กรและคนอื่นมากกว่าตัวเอง หรือพูดง่ายๆ คือเป็นผู้นำที่มีความเป็นผู้ให้ (Giver)
  • รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นผู้นำที่เป็นผู้ให้เช่นกัน งานของพระองค์ไม่ใช่องค์กรธุรกิจ แต่เป็นการช่วยเหลือประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น งานของพระองค์จึงยิ่งใหญ่กว่าผู้นำใดๆ ทั้งปวง
  • พระองค์ทรงทราบดีว่าประชาชนขาดอะไร และยังทรงมองเห็นโอกาสที่จะแก้ปัญหานั้นแบบที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์หมด สุดท้ายโครงการหรืองานของพระองค์ก็ประสบความสำเร็จ

     เราเคยตั้งคำถามกันไหมว่าปัจจัยใดที่ทำให้ประเทศหรือองค์กรใหญ่สามารถยืนหยัดผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเหตุการณ์ทั้งร้ายและดีต่างๆ จนมีความแข็งแกร่งและยั่งยืนได้

     ในหนังสือ Good To Great เล่าว่า ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้องค์กรที่ดีกลายเป็นองค์กรที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืนนั้น ส่วนหนึ่งที่สำคัญมาจากตัว ‘ผู้นำ’ ครับ แต่ผู้นำที่ว่าไม่ใช่แค่คนเก่งเท่านั้น ยังต้องเป็นคนที่มีความถ่อมตัว รวมทั้งเห็นแก่องค์กรและคนอื่นมากกว่าตัวเอง หรือพูดง่ายๆ คือเป็นผู้นำที่มีความเป็นผู้ให้ (Giver)

     เหตุผลก็เพราะว่าผู้นำที่เป็นผู้ให้จะคำนึงถึงประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก ดังนั้นความพยายามในการทำงานและวิธีแก้โจทย์การทำงานของผู้นำแบบนี้จะเป็นไปเพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนที่สุด แม้ว่าตัวเองอาจต้องเสียสละมากกว่าคนอื่นก็ตาม ซึ่งผู้นำที่มีคุณลักษณะแบบนี้ไม่ได้มีแค่ในองค์กรการทำงานเท่านั้นนะครับ

     ส่วนตัวผม ผมยังคิดด้วยว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็ทรงเป็นผู้นำที่เป็นผู้ให้เช่นกัน งานของพระองค์ไม่ใช่องค์กรธุรกิจ แต่เป็นการช่วยเหลือประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น งานของพระองค์จึงยิ่งใหญ่กว่าผู้นำใดๆ ทั้งปวง

     ซึ่งกลยุทธ์การแก้ปัญหาของพระองค์ก็ยังชัดเจนมาก เพราะเป็นการแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดแบบผู้ให้ที่มักจะเน้นแก้ปัญหาโดยดูว่าผู้อื่นต้องการอะไร และเป็นการแก้ปัญหาที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ หรือ win-win situation ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้เกิดการร่วมมือได้ดีที่สุด เพราะทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์

 

1.

     อย่างในหนังสือ The Visionary ได้ยกตัวอย่างไว้หลายเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่า เวลาที่รัชกาล 9 ทรงแก้ปัญหาใดก็ตาม พระองค์จะทรงคิดก่อนว่าผู้อื่นหรือประชาชนต้องการอะไร จากนั้นจึงค่อยคิดหาทางออกที่จะเป็นแบบ win-win กันทุกฝ่าย เช่น การแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นของชาวเขา เป็นต้น

     ในสมัยก่อนชาวบ้านบนดอยนิยมปลูกฝิ่นกัน แต่ปัญหาคือฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แถมยังทำให้ชาวบ้านหลายคนติดฝิ่น พระองค์จึงทรงคิดว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน และทรงคิดต่อว่าแล้วทำไมชาวบ้านถึงปลูกฝิ่นกันล่ะ?

     ข้อหนึ่งคือมันเป็นวัฒนธรรมที่ชาวบ้านปลูกกันมานาน แต่เหตุผลใหญ่ที่สุดคือชาวบ้านยากจนครับ และเผอิญว่าฝิ่นเป็นพืชที่ทำรายได้ได้ดี ชาวบ้านเลยนิยมปลูกกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องปลูกและขายกันแบบหลบๆ ซ่อนๆ ซึ่งก็ไม่ได้มีความสุขเท่าไรนัก

     พระองค์จึงเสด็จฯ เข้าไปสำรวจว่าที่ทางแถวนั้นมีพืชผลอื่นใดที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจทดแทนได้บ้าง และพบว่าลูกท้อที่ชาวบ้านปลูกไว้ เมื่อนำไปขายแล้วได้ราคาพอๆ กับฝิ่นเลย การค้นพบนี้เลยจุดประกายให้พระองค์ทรงริเริ่มโครงการหลวงขึ้นมาครับ ทั้งนี้ก็เพื่อจะชวนให้ชาวบ้านหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่ให้รายได้ดีแทนการปลูกฝิ่น เช่น แอปเปิ้ล สตรอว์เบอร์รี ฯลฯ เมื่อชาวบ้านเห็นว่ารายได้ดีจริง สุดท้ายก็จะค่อยๆ ลดการปลูกฝิ่นลงไปเองโดยที่พระองค์ไม่ได้ใช้วิธีบังคับชาวบ้านใดๆ ทั้งสิ้น แต่ทรงใช้แรงจูงใจเชิงบวกแทน

     วิธีการแก้ปัญหานี้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่มองเห็นทางออกแบบระยะยาวและยั่งยืนของพระองค์ครับ

 

2.

     หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนวิสัยทัศน์และมุมมองการพัฒนาอย่างยั่งยืนของพระองค์ได้เป็นอย่างดีก็คือ ‘โครงการเลี้ยงโคนม’ ครับ

     ในสมัยที่พระองค์เสด็จฯ เยือนต่างประเทศเมื่อ พ.ศ. 2503 โดยเริ่มจากสหรัฐอเมริกาและข้ามไปเยือนยุโรป ในครานั้นพระองค์ได้มีโอกาสเสด็จฯ เยี่ยมชมโรงนมที่ประเทศเดนมาร์ก และทรงมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลว่าโครงการโคนมจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทยรวมทั้งประชาชนในฐานะผู้บริโภค ซึ่งในตอนนั้นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนมยังไม่เป็นที่รู้จักในไทยมากนัก พระองค์จึงทรงเริ่มศึกษาตั้งแต่ตอนนั้น

     ต่อมาใน พ.ศ. 2505 สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 แห่งเดนมาร์ก เสด็จฯ มาเยือนไทยและน้อมเกล้าฯ ถวายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย ซึ่งได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นโครงการ ‘ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก’ รวมทั้งโครงการโคนมสวนจิตรลดา จากนั้นรัชกาลที่ 9 ก็ทรงสนับสนุนและพัฒนาโครงการดังกล่าวให้เป็นต้นแบบ สร้างอาชีพ รวมทั้งรายได้ให้เกษตรกรไทยต่อมา

     โครงการนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนมากครับว่าพระองค์ทรงพยายามแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืน กล่าวอีกอย่างคือพระองค์ไม่ได้ให้ปลา แต่ให้เบ็ดตกปลาและสอนวิธีตกปลา แถมปลาที่พระองค์สอนให้ตกก็ยังสามารถแบ่งให้คนจำนานมากกินได้ด้วย เพราะไม่ใช่แค่เกษตรกรโคนมที่อาชีพสร้างรายได้ให้ตัวเองเท่านั้น แต่ประชาชนผู้บริโภคก็ได้ดื่มนมซึ่งมีประโยชน์อีกด้วย

     ถ้ามองในมุมมองปัจจุบัน ผมคิดว่าสิ่งที่พระองค์ทรงวางแผนและทำก็คือการส่งเสริมอาชีพและธุรกิจในระดับ SME นั่นเองครับ เพราะกิจการแบบ SME นอกจากจะเป็นฟันเฟืองให้เศรษฐกิจในภาพใหญ่แล้วก็ยังเป็นการช่วยให้ประชาชนในระดับปัจเจกมีรายได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

     แต่แน่นอนครับว่าการทำกิจการหรือธุรกิจอะไรก็ตามในยุคนั้น การเริ่มต้นเป็นสิ่งที่ยากมาก ไหนจะเงินทุน ไหนจะ know-how ดังนั้นการที่พระองค์ทรงริเริ่มโครงการต่างๆ ที่มีเงินทุนและให้ know-how แก่ประชาชนที่สนใจจึงนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยให้ประชาชนมีโอกาสเริ่มต้นอาชีพและธุรกิจของตัวเอง หรือพูดอีกอย่างคือช่วยให้ประชาชนสามารถจับปลากินได้เองครับ

     ดังนั้นส่วนตัวผม ผมจึงมองว่าพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมาก หรือถ้าพูดตามภาษาธุรกิจสมัยนี้คืองานของพระองค์นั้นตอบโจทย์ insight และแก้ pain point ของประชาชนอย่างตรงจุดมากๆ ครับ

     กล่าวคือพระองค์ทรงทราบดีว่าประชาชนขาดอะไร และยังทรงมองเห็นโอกาสที่จะแก้ปัญหานั้นแบบที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์หมด สุดท้ายโครงการหรืองานของพระองค์ก็ประสบความสำเร็จ

     ถ้านักธุรกิจสมัยนี้อยากศึกษาใครเป็นต้นแบบในฐานะผู้นำและนักกลยุทธ์ที่เก่งกาจ ผมว่ารัชกาล 9 ทรงเป็นต้นแบบที่น่าศึกษามากๆ ครับ โดยเฉพาะวิธีการแก้ปัญหาที่ท่านเริ่มจากการหา pain point ก่อน แล้วมาคิดต่อว่าจะหาวิธีแก้อย่างไรที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายเห็นประโยชน์และอยากทำตาม จากนั้นก็สร้างต้นแบบหรือโครงการเพื่อทำให้วิธีแก้ปัญหานั้นเกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งถ้าพูดกันในโลกยุคนี้ นี่คือสิ่งเดียวกับการคิดแบบ Design Thinking เลยครับ

     ดังนั้นถ้าจะให้ผมแนะนำผู้นำต้นแบบที่มากความสามารถและมีความเป็นผู้ให้ที่แท้จริงก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล หากแต่เป็นรัชกาลที่ 9 ที่ปวงชนชาวไทยรักนั่นเองครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X