×

ฉลุลายวิจิตร ใช้ไม้กว่าหมื่นชิ้น! งานสร้าง ‘หีบพระบรมศพจันทน์-พระโกศจันทน์’ ตามโบราณราชประเพณี

05.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. read
  • การจัดสร้างหีบพระบรมศพจันทน์และพระโกศจันทน์ครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ถือว่ามีความงดงามยิ่งเพื่อให้สมพระเกียรติอย่างสูงสุด
  • ขณะนี้ยังคงเก็บรักษาหีบพระบรมศพจันทน์และพระโกศจันทน์ไว้ภายในอาคารท้องพระโรง กรมศิลปากร เพื่อรออัญเชิญไปประดิษฐานยังพระเมรุมาศ

     พระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม มีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย ทรงได้รับการเทิดทูนเสมอด้วยสมมติเทพตามคติของพราหมณ์ เมื่อเสด็จพระราชสมภพถือเป็นเทพอวตาร คือเทวดาจุติลงมาอุบัติบนโลกมนุษย์ ครั้นเมื่อเสด็จสวรรคตเท่ากับเป็นการเสด็จกลับสู่สวรรค์ พระราชพิธีอันเกี่ยวเนื่องกับพระบรมศพจึงเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศอย่างสูงสุด

     เครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ใช้สำหรับทรงพระบรมศพและพระศพในการพระราชพิธีอันเกี่ยวเนื่องกับพระบรมศพเรียกว่า ‘พระโกศ’

 

(ภาพจากเว็บไซต์ข่าวสด)

 

     พระโกศ เป็นภาชนะเครื่องสูง มีรูปทรงกรวย ยอดแหลม ใช้บรรจุพระบรมศพ เรียกว่า ‘พระบรมโกศ’ ภาชนะที่บรรจุพระบรมศพชั้นนอกทำด้วยโครงไม้หุ้มทองปิดทอง ประดับกระจกและอัญมณี ส่วนชั้นในเรียกสลับไปมากับชั้นนอกว่า ‘โกศ’ หรือ ‘ลอง’ ทำด้วยเหล็ก ทองแดง หรือเงินปิดทอง บางครั้งเรียกทั้งชั้นนอกและชั้นในว่า โกศ มีขนาดและรูปทรงต่างไปตามลำดับพระอิสริยยศ เช่น พระโกศทองใหญ่ที่ประดิษฐานเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดล (พระแท่นเบญจา) ในพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

 

 

     พระโกศจันทน์ สร้างจากไม้จันทน์เพื่อใช้ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อเชิญพระโกศพระบรมศพ ส่วนนอกเปลื้องออกเหลือแต่พระลองใน เจ้าพนักงานจะนำพระโกศจันทน์เข้าประกอบพระลองในซึ่งประดิษฐานบนตะแกรงเหล็กช่วงรัดเอวของพระจิตกาธานเพื่อถวายพระเพลิง

     ทั้งนี้พระโกศจันทน์ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นโกศแปดเหลี่ยม ความสูง 2 เมตร 28 เซนติเมตร เป็นโครงลวดตาข่าย ลวดลายฉลุเป็นลายไม้ซ้อนทั้งองค์ รวมจำนวนชิ้นไม้กว่า 10,000 ชิ้น

 

 

     พระโกศจันทน์ มีโครงภายในเป็นเหล็กไร้สนิมและกรุด้วยลวดตาข่าย ใช้ไม้จันทน์ฉลุตกแต่งลวดลายขนาดใหญ่น้อยให้ได้สัดส่วนที่งดงาม ขัดแต่งผิวลับคมและเส้นให้เรียบ นำลายแต่ละชั้นมาจัดดอกตามชุดโดยแยกสีไม้เนื้ออ่อนแก่ประกอบกันเพื่อให้เกิดมิติที่สวยงาม

     พระโกศจันทน์มีลักษณะพิเศษหรือแตกต่างจากพระโกศองค์อื่นๆ ทั้งหมด คือมีทรวดทรงองค์พระโกศเป็นทรงแปดเหลี่ยมฐานเตี้ย ฝาพระโกศเตี้ยแจ้คล้ายพระโกศลองในซึ่งเป็นทรงกระบอก ฐานพระโกศเป็นลวดบัวฐานสิงห์เกลี้ยงทรงกลม แต่พระโกศจันทน์มีฐานพระโกศเป็นบัวคว่ำติดเป็นชิ้นเดียวกับองค์พระโกศและพระหีบพระบรมศพ ฝาพระโกศจันทน์มักเป็นทรงบัวถลา ทรงเกี้ยว หรือทรงมงกุฎ เช่น ลายบัวถลา ลายดอกจอก ลายดอกไม้ทิศ

     พระโกศจันทน์มีที่มาจากฟืนไม้จันทน์ เมื่อจะถวายพระเพลิงหรือพระราชทานเพลิง พนักงานเจ้าหน้าที่จะเปลื้องพระโกศทองออกเหลือพระลองใน ฝาปริกดูไม่งาม จึงได้มีการคิดประดิษฐ์ฟืนไม้จันทน์ให้มีรูปร่างล้อพระลองใน แต่ประดิษฐ์ลวดลายคล้ายพระโกศทองที่เปลื้องออก ใช้ลวดลายขนาดต่างๆ ผูกเชื่อมต่อกันเป็นโครง แล้วนำแผงลวดตาข่ายผูกกรุตามรูปทรงของหุ่นพระโกศ จากนั้นนำลวดลายที่เรียกว่าลายซ้อนไม้เข้าผูกประดับรอบองค์พระโกศเป็นลายโปร่งทะลุ มองเห็นพระโกศลองในเป็นสีทองรางๆ

 

 

     เหตุที่ใช้ไม้จันทน์เป็นฟืนในการถวายพระเพลิงพระบรมศพ เนื่องจากประเพณีของชนชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอีกหลายภูมิภาคนิยมว่าไม้จันทน์เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์และมีคุณลักษณะพิเศษ เช่น มีกลิ่นหอม เพราะน้ำมันในเนื้อไม้ แก่น และเนื้อไม้มีสีเหลืองสวยงามคล้ายทองคำ เป็นของมีค่าหายาก จึงใช้เป็นฟืนหรือเชื้อเพลิงเพื่อเผาศพบุคคลที่เคารพรักสูงสุด เป็นการให้เกียรติและแสดงออกถึงความเคารพสักการะอย่างสูง เช่น ในคราวถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ณ เมืองกุสินารา กล่าวว่าใช้ไม้จันทน์หอมล้วน ซึ่งถือเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

     สำหรับไม้จันทน์หอม ซึ่งถือเป็นไม้มงคลที่ใช้ประดิษฐ์พระหีบและพระโกศจันทน์ในพระราชพิธีอันสำคัญยิ่งครั้งนี้ตัดมาจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

     สำหรับการจัดสร้างนั้น รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม ได้มอบหมายให้สำนักช่างสิบหมู่เป็นหน่วยงานในการดำเนินการให้สมพระเกียรติอย่างสูงสุด

     พระโกศจันทน์ทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ออกแบบโดย สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่

 

 

     นายพิจิตร นิ่มงาม นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ว่า การจัดสร้างฐานรองพระโกศจันทน์ หรือหีบพระบรมศพจันทน์ และพระโกศจันทน์ ได้ดำเนินการจัดสร้างเสร็จสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วตั้งแต่วันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ถือว่าการทำงานเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด

     ในส่วนของหีบพระบรมศพจันทน์ ใช้ลวดลายประกอบทั้งหมด 24 รูปแบบ ประดับลายซ้อนไม้ประมาณ 30,000 ชิ้น ขณะที่ในส่วนของพระโกศจันทน์ใช้ลวดลายทั้งหมด 46 รูปแบบ ประดับลายซ้อนไม้ประมาณ 10,000 ชิ้น

     ในส่วนของหีบพระบรมศพจันทน์ ใช้ลายเครือเถาครุฑจำนวน 132 องค์ในการประดับตกแต่ง

     และในการจัดสร้างครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ใช้ลายเครือเถาครุฑในการประดับตกแต่งจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อให้หีบพระบรมศพจันทน์มีความงดงามสมพระเกียรติ

 

 

     ส่วนพระโกศจันทน์ ใช้ลายเทพพนมเป็นลายหลักทั้งหมด 64 องค์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์เมื่ออัญเชิญพระโกศขึ้นเทินบนหีบพระบรมศพจันทน์ จะเปรียบเสมือนพระนารายณ์อวตารลงมาโดยใช้ครุฑเป็นพาหนะในการส่งเสด็จ

     ขณะนี้ยังคงเก็บรักษาหีบพระบรมศพจันทน์และพระโกศจันทน์ไว้ภายในอาคารท้องพระโรง กรมศิลปากร เพื่อรออัญเชิญไปประดิษฐานยังพระเมรุมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติยศสูงสุด เพื่อให้ประจักษ์ต่อสายตาชาวไทยและทั่วโลกสืบไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X