×

‘ออกทุกข์’ ทำอย่างไร แต่งดำต่อแปลว่าแช่งผู้ยังมีชีวิตอยู่จริงหรือไม่

27.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ‘การออกทุกข์’ หมายถึงการเลิกไว้ทุกข์เพราะหมดช่วงเวลาทุกข์โศกเกี่ยวกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพหรืองานศพทั่วไป เนื่องจากผ่านช่วงขั้นตอนพิธีการพิธีกรรมต่างๆ ไปเรียบร้อยแล้ว
  • การออกทุกข์แล้วยังใส่เสื้อสีขาวดำเทาเพื่อไว้อาลัยต่อไป หมายถึงการแช่งผู้ยังมีชีวิตอยู่ เป็นความเข้าใจแบบผิดๆ เพราะสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชินีในรัชกาลที่ 5 ก็ไม่ได้เลือกออกทุกข์และทรงฉลองพระองค์สีดำตลอดพระชนม์ชีพจนเสด็จสวรรคต
  • สำหรับแนวทางการออกทุกข์โดยทั่วไปสำหรับประชาชนในวันที่ 30 ตุลาคมเป็นต้นไป สามารถใส่เสื้อผ้าโทนสีปกติได้ หรือบางคนอาจจะเลือกแต่งกายโทนสีสุภาพแทน ส่วนงานรื่นเริงสามารถทำได้ แต่อาจจะต้องคำนึงถึงขอบเขตของความเหมาะสม

     กลางดึกของวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา น่าจะเป็นช่วงค่ำคืนประวัติศาสตร์ที่พสกนิกรไทยทั่วประเทศรู้สึกโศกเศร้าอาลัยไม่ต่างกัน หลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ดำเนินไปอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ

     ส่วนพิธีการที่เหลือต่อจากนี้เป็นต้นไปก็จะเป็นพระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิ (27 ตุลาคม),​ บําเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ (28 ตุลาคม), พระราชพิธีเลี้ยงพระ, อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และสิ้นสุดที่พระราชพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรางคารในช่วงเย็นของวันที่ 29 ตุลาคม

     ขณะที่รัฐบาลได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้แล้วว่าให้ประชาชนยังคงไว้ทุกข์ต่อไปจนถึงช่วงเช้าของวันที่ 30 ตุลาคม จึงจะ ‘ออกทุกข์’ ได้

     THE STANDARD รวบรวมข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับการออกทุกข์ผ่านการพูดคุยกับอาจารย์นนทพร อยู่มั่งมี ผู้เขียนหนังสือ ‘ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย’ และข้อมูลจากสมาคมสื่อเพื่อเรียบเรียงให้เป็นข้อมูลอันเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่าน

 

‘ออกทุกข์’ หมดช่วงเวลาทุกข์โศก

     สำหรับความหมายของการออกทุกข์นั้น อาจารย์นนทพรได้อธิบายไว้ว่าหมายถึงการเลิกไว้ทุกข์เพราะหมดช่วงเวลาที่จะทุกข์โศกเกี่ยวกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพหรืองานศพของสามัญชนทั่วไป เนื่องจากผ่านช่วงขั้นตอนพิธีการพิธีกรรมต่างๆ ไปเรียบร้อยเเล้ว

     “ปกติตั้งแต่สมัยโบราณ วันถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ก็จะมีมหรสพแสดงต่อทันที ซึ่งการแสดงมหรสพก็เป็นการสร้างความบันเทิงและความผ่อนคลายให้กับราษฎร และยังหมายถึงการออกทุกข์ไปในตัวด้วย เพราะถือว่าพระสรีระสังขารของพระมหากษัตริย์ได้รับการประกอบพิธีกรรมตามประเพณีแล้ว”

     ส่วนกรณีการออกทุกข์แล้วยังใส่เสื้อสีขาวดำเทาเพื่อไว้อาลัยต่อไป หมายถึงการแช่งผู้ยังมีชีวิต อาจารย์บอกว่าเป็นความเข้าใจแบบผิดๆ และตัวเขาเองก็เพิ่งจะเคยได้ยินความเชื่อแบบนี้เหมือนกัน

     อาจารย์นนทพรบอกว่าการสวมใส่เสื้อผ้าโทนสีดำ ขาว เทา ในช่วงออกทุกข์ไม่ได้หมายถึงการแช่งผู้ที่ยังมีลมหายใจแต่อย่างใด สามารถทำได้ขึ้นอยู่กับอัธยาศัยของแต่ละบุคคล เพราะในอดีตสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้านายบางพระองค์เช่นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชินีในรัชกาลที่ 5 ก็ไม่ได้เลือกออกทุกข์ ท่านทรงฉลองพระองค์สีดำตลอดพระชนม์ชีพจนเสด็จสวรรคต

     “การใส่เสื้อสีดำหรือชุดไว้อาลัยหลังผ่านพ้นช่วงออกทุกข์ขึ้นอยู่กับความศรัทธา ความรักมากกว่า มันขึ้นอยู่กับเราว่าจะแสดงออกแบบไหน หรือถ้าเป็นช่วงที่เพิ่งออกทุกข์ได้ใหม่ๆ เราก็อาจจะเลือกใส่เสื้อผ้าสีสุภาพหน่อยเช่น สีขาวหรือสีโทนอ่อน ไม่ถึงกับขั้นใส่เสื้อผ้าสีฉูดฉาดทันที”

     ด้านแนวทางการปฏิบัติตัวโดยทั่วไปสำหรับประชาชน อาจารย์บอกว่าในช่วงที่ใกล้จะเข้าสู่ช่วงออกทุกข์ ควรจะเลือกใส่เสื้อผ้าโทนสีสุภาพเป็นหลัก เพราะยังไม่ผ่านพ้นช่วงพระราชพิธีฯ ไปนานนัก หรืออาจจะขึ้นอยู่กับความสะดวกและดุลยพินิจของแต่ละคน

     “จริงๆ แล้วต้องคำนึงถึงบรรยากาศรอบข้างพอสมควร ดูบริบททางสังคมอยู่บ้างเล็กน้อย เช่นเขาอาจจะใส่เสื้อผ้าโทนสีสุภาพอยู่ เราก็อาจจะใส่เสื้อผ้าโทนสีสุภาพหรือสีที่อ่อนลงมา ในกรณีที่เราไม่อยากใส่เสื้อผ้าสีขาวดำเเล้ว เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบัน กระแสสังคมค่อนข้างแรง เกิดสมมติในช่วงออกทุกข์ บางคนหยิบเสื้อผ้าโทนสีสันมาใส่ก็อาจจะถูกคนรอบข้างมองไม่ดีก็ได้ ดังนั้นเลยต้องคำนึงถึงเรื่องกระแสเหล่านี้อยู่บ้าง

     “ส่วนงานรื่นเริง ผมว่ามันก็คงจะถึงวาระการใช้ชีวิตตามปกติได้แล้ว (หลังผ่านช่วงออกทุกข์) เพียงแต่ว่าอาจจะค่อยๆ ปรับกันไปเหมือนเรื่องของโทนสีเครื่องแต่งกาย อย่างช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่เพิ่งผ่านช่วงพระราชพิธีถวายเพลิงพระบรมศพได้ไม่นาน อาจจะกินเลี้ยงมีปาร์ตี้ได้ แต่ก็คงจะไม่ถึงขั้นสนุกสุดเหวี่ยงมากมาย ไว้ถึงช่วงปีใหม่อาจจะเหมาะกับกาลเทศะมากกว่า”

 

 

แนวทางการออกทุกข์สำหรับภาคประชาชน

การแต่งกาย และการปฏิบัติตัว

     ในช่วงออกทุกข์ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคมเป็นต้นไป ประชาชนและเจ้าหน้าที่ข้าราชการสามารถแต่งกายโทนสีสันได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องแต่งกายโทนสีขาว เทา ดำเพื่อไว้อาลัยอีกต่อไป

     ส่วนงานรื่นเริงสามารถทำได้ แต่ในช่วงที่ออกทุกข์ใหม่ๆ อาจจะต้องคำนึงถึงขอบเขตความเหมาะสมไม่ให้โลดโผนจนเกินไป

 

สถานที่ราชการ และสถานที่ต่างๆ

     ข้อมูลจากกลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษกรัฐบาลระบุว่าให้สถานที่ราชการ, รัฐวิสาหกิจ, หน่วยงานของรัฐ, สถานศึกษา และสถานที่ทำการของรัฐทั้งในและต่างประเทศลดธงลงครึ่งเสาตั้งแต่วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2560 จนถึงวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2560 รวมเป็นระยะเวลา 17 วัน

     ส่วนผ้าระบายป้าย ‘เสด็จสู่สวรรคาลัย’ ตามสถานที่ต่างๆ ให้เริ่มเก็บได้ตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป

 

แนวทางการออกทุกข์สำหรับสื่อ

     สำหรับสื่อโทรทัศน์วิทยุทั่วไป ก่อนหน้านี้สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย หรือ MAAT ได้แจ้งแนวทางการออกอากาศในระหว่างวันที่ 28-29 ตุลาคม 2560 ไว้ดังนี้

  1. สำหรับโทรทัศน์ที่จะถ่ายทอดสดงานพระราชพิธีสำคัญซึ่งทุกสถานีจะต้องเชื่อมโยงสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.)
  2. การออกอากาศรายการของสถานีนอกเหนือการเชื่อมโยงสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทำได้เฉพาะรายการที่มีระดับความเหมาะสมสำหรับปฐมวัย (ป), สำหรับเด็ก (ด), รายการทั่วไป (ท) และสำหรับผู้ชมที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป (น13) โดยไม่ควรมีเนื้อหาที่มีลักษณะตลกเฮฮา ความรุนแรง เรื่องทางเพศ และการใช้ถ้อยคำหยาบคาย และควรสอดแทรกรายการพิเศษที่เกี่ยวกับการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
  3. สำหรับโฆษณาสามารถทำได้โดยให้ยึดปฏิบัติตามแนวทางเดียวกับระดับความเหมาะสมของเนื้อหารายการที่สามารถออกอากาศ คือไม่ควรมีเนื้อหาที่มีลักษณะตลกเฮฮา ความรุนแรง เรื่องทางเพศ และการใช้ถ้อยคำหยาบคาย

 

สำหรับสื่อออนไลน์

     สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ได้แจ้งกำหนดการและแนวทางปฏิบัติที่สื่อออนไลน์ควรปฏิบัติในช่วงวันที่ 28-29 ตุลาคม 2560 ว่าสามารถโฆษณาได้โดยที่ไม่มีสีสันฉูดฉาดเกินควร และต้องคำนึงถึงลักษณะเนื้อหาไม่ควรมีเนื้อหาที่มีลักษณะตลก เฮฮา ความรุนแรง เรื่องทางเพศ หรือถ้อยคำหยาบคาย และปฏิบัติตามประกาศ หลักเกณฑ์ ตามที่ กสทช. กำหนด

 

 

สำหรับสื่อกลางแจ้ง

     สมาคมป้ายและโฆษณา หรือ ASPA ได้ประกาศแนวทางเผยแพร่ภาพสื่อโฆษณากลางแจ้งในช่วงเวลาพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และช่วงออกทุกข์ไว้ดังนี้

  1. สื่อประเภทป้ายบิลบอร์ด (Static) ขอความร่วมมือปิดไฟป้ายโฆษณาในเวลากลางคืน (ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น.) เป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2560
  2. สื่อประเภทดิจิทัลบิลบอร์ด (Digital Billboard) ขอความร่วมมือให้งดการโฆษณาช่วงระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560 แต่สามารถขึ้นข้อความแสดงความไว้อาลัยโดยให้ปรากฏชื่อของบริษัท หรือหน่วยงานแทนการใช้โลโก้บริษัทและ/หรือเชื่อมสัญญาณถ่ายทอดสดงานพระราชพิธีฯ ในช่วงที่มีการถ่ายทอดสัญญาณรวมการเฉพาะกิจได้

ส่วนช่วงวันออกทุกข์วันที่ 30 ตุลาคม 2560 สามารถโฆษณาได้ตามปกติแต่ไม่ควรมีสีสันฉูดฉาดเกินสมควร และต้องคำนึงถึงลักษณะเนื้อหาที่ไม่มีลักษณะความรุนแรง หรือไม่เหมาะสม

  1. เริ่มเก็บผ้าระบาย หรือป้ายเสด็จสู่สวรรคาลัยตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2560

 

Photo: YE AUNG THU/AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X