องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนเอกสารจำนวน 74 รายการเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีเอกสารจากประเทศไทยถึง 2 รายการ ได้แก่ ภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก และเอกสารที่เกี่ยวข้อง (The King of the White Elephant and the Archival Documents) และ ต้นฉบับนันโทปนันทสูตรคำหลวง (The Manuscript of Nanthopananthasut Kamlaung)
สำหรับภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก เป็นภาพยนตร์สารคดีที่ผลิตในปี 2483 ซึ่งดัดแปลงจากนวนิยายภาษาอังกฤษในชื่อ The King of the White Elephant เป็นภาพยนตร์ขาวดำขนาด 35 มม. ด้วยฝีมือการกำกับของ สันธ์ วสุธาร ที่อำนวยการสร้างและเขียนเนื้อเรื่องโดย ปรีดี พนมยงค์ ที่เล่าเรื่องราวของพระเจ้าจักรา กษัตริย์อโยธยาผู้เป็นธรรมราชา และโปรดการขับช้าง เมื่อพระเจ้าหงสาส่งกองทัพบุกประเทศบังคับขอช้างเผือกของพระองค์ พระเจ้าจักราได้ยกกองทัพไปสู้รบด้วยพระองค์เองจนชนะศึก และทรงสร้างสันติภาพด้วยการปล่อยชาวหงสาเป็นอิสระ
นับได้ว่าเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ถูกนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษอันสะท้อนถึงความตั้งใจของผู้สร้างภาพยนตร์ที่ต้องการจัดจำหน่ายในต่างประเทศในช่วงก่อนเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเผยแพร่แนวคิดเรื่องสันติภาพให้แก่นานาประเทศ รวมถึงแสดงเจตนารมณ์ว่า คนไทยกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับผู้นำรัฐบาลไทยในขณะนั้นที่นำพาประเทศเข้าสู่สงคราม
UNESCO กล่าวว่า “ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงสันติภาพและการทูต โดยเป็นภาพยนตร์ไทยเพียงเรื่องเดียวที่รอดชีวิตจากยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งให้ข้อมูลเชิงลึกอันล้ำค่าเกี่ยวกับความบันเทิงในยุคนั้น อีกทั้งยังผสมผสานการแสดงแบบดั้งเดิมของไทยเข้ากับภาษาภาพยนตร์ตะวันตกได้อย่างชำนาญ”
อีกหนึ่งเอกสารจากประเทศไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก คือ ต้นฉบับนันโทปนันทสูตรคำหลวง (The Manuscript of Nanthopananthasut Kamlaung) ที่ข้อมูลจากหอสมุดแห่งชาติระบุว่าเป็นหนังสือสมุดไทยขาวที่มีจำนวนหน้าหนังสือ 190 หน้า เขียนด้วยเส้นอักษร 2 ชนิด ได้แก่ อักษรขอมย่อ ใช้บันทึกภาษาบาลี และอักษรไทยย่อ ใช้บันทึกภาษาไทย มีเส้นสี 3 ชนิด ได้แก่ เส้นทอง เส้นชาด และเส้นหมึกในการบันทึก เป็นวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง)
UNESCO กล่าวว่า “เอกสารนี้มีคุณค่าทางศีลธรรมที่ไร้ซึ่งกาลเวลา ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมที่ยาวนานหลายศตวรรษของสมัยอยุธยาในด้านพระพุทธศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม สามารถสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาด้านบรรพชีวินวิทยา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะร่วมสมัย และความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนาระหว่างประเทศ”
โดยนอกจากภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก และเอกสารที่เกี่ยวข้อง (The King of the White Elephant and the archival documents) และ ต้นฉบับนันโทปนันทสูตรคำหลวง (The Manuscript of Nanthopananthasut Kamlaung) ยังมีเอกสารที่ประเทศไทยเป็นผู้เสนอและร่วมเสนอด้วยอีกสองรายการ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก คือ The Birth of the Association of Southeast Asia Nations (ASEAN) (Archives about the Formation ASEAN, 1967 – 1976) (การกำเนิดของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) (เอกสารเกี่ยวกับการก่อตั้งอาเซียน, 1967-1976)) ที่ร่วมเสนอโดย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทยด้วยเช่นกัน
สำหรับประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการ UNESCO ได้เคยประกาศขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกมาแล้ว 5 รายการ ได้แก่
- พ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2546
- เอกสารจดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการบริหารการปกครอง ประเทศสยาม (พุทธศักราช 2411-2453) ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2552
- จารึกวัดโพธิ์ ประกาศขึ้นทะเบียนในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อพุทธศักราช 2551และขึ้นทะเบียนในระดับโลกเมื่อปี 2554
- บันทึกการประชุมคณะกรรมการสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ในรอบ 100 ปี ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2556
- ฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2559
ภาพ: UNESCO Bangkok และสถาบันปรีดี พนมยงค์
อ้างอิง:
- https://www.unesco.org/en/memory-world/register2025
- https://www.nlt.go.th/news/42
- https://finearts.go.th/promotion/view/19927-ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยสมัยอยุธยา-นันโทปนันทสูตรคำหลวง
- https://th.m.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าช้างเผือก_(ภาพยนตร์)
- https://www.facebook.com/photo.php?fbid=757812313039213&id=100064313544809&set=a.307044544782661