×

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กับพระราชดำรัสในวันคริสต์มาส: ความเป็นมาและการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

25.12.2024
  • LOADING...
king-charles-iii-christmas-speech-2024

ในอีกไม่กี่ชั่วโมงนับจากนี้ ประชาชนชาวอังกฤษและประชาชนในเครือจักรภพจะได้ร่วมรับชมการมีพระราชดำรัสอวยพรวันคริสต์มาส (the King’s Christmas Message) ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 (King Charles III) อันเป็นการอำนวยพรและแสดงความปรารถนาดีต่อประชาชนจากประมุขของประเทศ ทั้งยังสะท้อนถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาในรอบปี และสื่อถึงทิศทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย 

 

หากมองย้อนกลับไปตลอดช่วง 70 ปีแห่งรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Queen Elizabeth II) นอกจากคำอวยพรดังกล่าวแล้ว รายละเอียดต่างๆ ในการมีพระราชดำรัสในวันคริสต์มาสแต่ละปี เช่น การแต่งกาย สิ่งของบนโต๊ะทรงพระอักษร หรือสถานที่ที่ทรงประทับเพื่อถ่ายทอดพระราชดำรัสก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจ

 

พระราชดำรัสในวันคริสต์มาสปี 2024 นี้เป็นครั้งที่ 3 ในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ ซึ่งมีความพิเศษยิ่งกว่าปีก่อนๆ ด้วยพระองค์ทรงตัดสินพระทัยให้ใช้โบสถ์น้อยฟิตซ์โรเวีย (Fitzrovia Chapel) ซึ่งเคยเป็นโบสถ์ของโรงพยาบาลมิดเดิลเซ็กซ์ (Middlesex Hospital) เป็นสถานที่ในการมีพระราชดำรัส แตกต่างจากปกติที่มักจะมีขึ้นในพระราชฐานที่ประทับ เช่น ปราสาทวินด์เซอร์ (Windsor Castle), พระราชวังบักกิงแฮม (Buckingham Palace) อันสะท้อนถึงความพยายามและปณิธานของพระเจ้าชาร์ลส์ในการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ให้สอดคล้องกับยุคสมัย

 

ข้อเขียนนี้จึงชวนไปย้อนดูความเป็นมาของการมีพระราชดำรัสในวันคริสต์มาส ซึ่งมีเหตุผลและที่มาทางประวัติศาสตร์และการเมือง ตลอดจนมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ อันแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

 

การปรับตัวของสถาบันกษัตริย์อังกฤษในยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง

 

ย้อนกลับไปในทวีปยุโรปภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1918) แนวคิดอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายและแนวคิดนิยมสาธารณรัฐได้ทวีความรุนแรงขึ้น อันนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายประเทศ โดยครั้งสำคัญคือการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 และการสังหารหมู่พระเจ้าซาร์ และสมาชิกราชวงศ์โรมานอฟในปีต่อมา รวมถึงการสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์โฮเฮนโซลเลิร์นของเยอรมนีและการปฏิวัติในฮังการี

 

เหตุการณ์เหล่านั้นสะท้อนถึงทิศทางของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และเกิดการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมหรือความชอบธรรมของระบอบการปกครองเดิม ทำให้บรรดาผู้ปกครองประเทศต่างๆ ต้องดำเนินการปรับตัวเพื่อความมั่นคงและความอยู่รอดโดยเฉพาะที่อังกฤษ

 

ในขณะนั้นประมุขของอังกฤษคือ พระเจ้าจอร์จที่ 5 (King George V) ซึ่งทรงเป็นกษัตริย์ที่มุ่งเน้นการทรงงานและไม่สนใจในงานสังคม ตลอดจนงานรื่นเริงใดๆ ยิ่งไปกว่านั้นทรงยึดมั่นในหลักการทางรัฐธรรมนูญ (Constitutional Convention) อย่างยิ่ง โดยจะไม่ปฏิบัติพระองค์นอกเหนือจากกรอบแห่งกฎหมายและประเพณี รวมถึงการไม่แทรกแซงหรือมีบทบาทใดๆ ทางการเมือง

 

แต่เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนั้นที่ล่อแหลมและสถานะของราชวงศ์มีความสุ่มเสี่ยง พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยดำเนินการเพื่อเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในราชวงศ์อังกฤษ เป็นต้นว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 พระองค์และสมเด็จพระราชินีเสด็จออกเยี่ยมทหารและประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในยามสงคราม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีกษัตริย์อังกฤษองค์ใดทำมาก่อน หรือกรณีที่ทรงให้เปลี่ยนชื่อราชวงศ์จาก ‘ซักซ์-โคบูร์ก-โกทา’ (House of Saxe-Coburg and Gotha) อันเป็นชื่อภาษาเยอรมัน มาเป็นราชวงศ์ ‘วินด์เซอร์’ (House of Windsor) เพื่อลบภาพลักษณ์ความเป็นเยอรมัน ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งในสงครามออกจากสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

 

ขณะนั้นแนวคิดการโค่นล้มราชวงศ์ หรือความต้องการที่จะปฏิวัติสังคมในอังกฤษนั้นมีมากขึ้น ถึงขนาดที่ว่าพระเจ้าจอร์จต้องทรงเปลี่ยนพระทัยไม่รับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 (Tsar Nicholas II) และครอบครัวโรมานอฟ พระญาติสนิทของพระองค์ (ทรงมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน) ให้มาลี้ภัยที่อังกฤษภายหลังการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 จนเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่พระเจ้าซาร์และครอบครัว เนื่องจากทรงเกรงว่าจะเกิดกระแสต่อต้านและจะทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในอังกฤษ

 

ดังนั้นบทบาทของสถาบันกษัตริย์อังกฤษภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงจากการเป็นสถาบันหลักที่มีส่วนร่วมในการปกครองไปสู่การเป็นประมุขของชาติ โดยคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในขณะนั้นด้วย

 

จุดเริ่มต้นของการมีพระราชดำรัสในวันคริสต์มาส

 

จากเรื่องดังกล่าวทำให้เกิดแนวความคิดของการมีพระราชดำรัสอำนวยพรวันคริสต์มาส ซึ่งเป็นเทศกาลอันสำคัญยิ่งของชาวอังกฤษ อันจะทำให้สถาบันกษัตริย์ได้เข้ามาใกล้ชิดกับชีวิตของประชาชนมากขึ้น โดย จอห์น รีท (John Reith) ผู้อำนวยการบริษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ (BBC) เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดที่จะให้กษัตริย์อังกฤษทรงมีพระราชดำรัสต่อประชาชนผ่านทางวิทยุกระจายเสียงในโอกาสวันคริสต์มาส

 

แต่อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวมาแล้วว่าพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงเป็นผู้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม พระองค์จึงทรงไม่เห็นด้วย เนื่องจากทรงคิดว่าการจะมีพระราชดำรัสทางวิทยุกระจายเสียงในวันคริสต์มาสนั้นอาจเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม แต่สุดท้ายแล้วด้วยคำกราบบังคมทูลแนะนำอย่างต่อเนื่องของ จอห์น รีท และการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากสมเด็จพระราชินีแมรี (Queen Mary) และนายกรัฐมนตรี แรมซีย์ แมคโดนัลด์ (Ramsay MacDonald) ทำให้พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงยอมเปลี่ยนพระทัยที่จะมีพระราชดำรัสผ่านทางวิทยุกระจายเสียงในที่สุด

 

ในปี 1932 ณ พระตำหนักซานดริงแฮม (Sandringham House) พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสทางวิทยุกระจายเสียงออกอากาศไปทั่วทั้งอังกฤษและทุกประเทศในเครือจักรภพเป็นครั้งแรกในวันคริสต์มาส อันเป็นการแสดงออกซึ่งบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ

 

พระราชดำรัสในวันคริสต์มาส: จากการกระจายเสียงสู่การถ่ายทอดทางโทรทัศน์

 

ธรรมเนียมดังกล่าวสืบทอดต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งพระองค์ทรงสืบทอดธรรมเนียมการมีพระราชดำรัสในวันคริสต์มาสนี้ต่อมานับแต่ขึ้นครองราชย์ในปี 1952 โดยในการมีพระราชดำรัสครั้งแรกจากพระตำหนักซานดริงแฮมนั้น พระองค์ทรงประทับบนโต๊ะทรงพระอักษรเดิมที่พระเจ้าจอร์จที่ 5 พระอัยกา และพระเจ้าจอร์จที่ 6 (King George VI) พระราชบิดาทรงเคยใช้

 

สำหรับพระราชดำรัสครั้งแรกนั้น พระองค์ทรงขอบใจประชาชนทั้งหลายที่ได้มอบความจงรักภักดีให้แด่พระองค์ และทรงแสดงถึงพระราชประสงค์อย่างมุ่งมั่นที่จะทรงงานเพื่อหลอมรวมความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาติดังเช่นในรัชกาลก่อน

 

เมื่อกาลเวลาหมุนไปย่อมนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง การมีพระราชดำรัสทางวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ก็ต้องมีเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยอีกครั้งหนึ่ง

 

ต่อมาในปี 1957 ลอร์ดอัลทรินแฮม (Lord Altrincham) เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์ถึงการดำรงอยู่สถาบันกษัตริย์อย่างรุนแรง รวมถึงเขียนกระทบถึงสมเด็จพระราชินีนาถด้วย แม้ว่าบทความดังกล่าวจะได้รับการตำหนิหรือการคัดค้านจากบุคคลสำคัญหลายฝ่าย แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าประชาชนบางส่วนก็เห็นด้วยและคล้อยตามสิ่งที่บทความดังกล่าวนำเสนอ คือสถาบันกษัตริย์อังกฤษนั้นจำกัดตนอยู่เฉพาะในสังคมชั้นสูงและทำตัวเหินห่างจากประชาชน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์และสภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในขณะนั้น


เรื่องดังกล่าวทำให้สถาบันกษัตริย์จำต้องปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้ง และนำไปสู่แนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการมีพระราชดำรัสจากเดิมที่เผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียงช่องทางเดียวมาเป็นการออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนทุกชนชั้น อันสะท้อนถึงความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการและการแพร่หลายของโทรทัศน์ด้วย

 

แม้ว่าสมเด็จพระราชินีนาถจะทรงเห็นด้วยกับการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ แต่การตัดสินพระทัยที่จะมีพระราชดำรัสออกอากาศทางโทรทัศน์นั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งสำหรับพระองค์ เนื่องจากทรงคิดว่าพระองค์อาจไม่เหมาะสมกับการออกอากาศ และทรงปฏิบัติพระองค์ไม่ถูกเมื่ออยู่หน้ากล้องโทรทรรศน์ เหมือนกับที่สมัยหนึ่งที่พระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของพระองค์ทรงมีปัญหาในการพูดต่อที่สาธารณะและมีอาการประหม่าเมื่อต้องมีพระราชดำรัสทางวิทยุกระจายเสียง (รายละเอียดในเรื่องนี้หาชมได้จากภาพยนตร์เรื่อง The King’s Speech)

 

แม้จะทรงได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากเจ้าชายฟิลิป พระสวามี ซึ่งทรงให้กำลังใจและช่วยตรวจแก้ร่างพระราชดำรัสหลายครั้ง แต่ในวันที่ทรงบันทึกเทปออกอากาศมีผู้บันทึกว่า พระองค์ทรงมีอาการวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัดและทรงขยับพระหัตถ์อยู่เสมอ

 

อย่างไรก็ตาม การมีพระราชดำรัสผ่านการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ครั้งแรกในปี 1957 ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี และได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชน โดยข้อความตอนหนึ่งของพระราชดำรัสในปีนั้นแสดงถึงการต้อนรับประชาชนชาวสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพเข้าสู่พระราชวังอันเป็นบ้านของพระองค์ เพื่อเปิดเผยถึงชีวิตความเป็นอยู่ในราชสำนัก และแสดงให้เห็นว่าที่พระราชวังก็มีการประดับตกแต่งในวันคริสต์มาสเช่นเดียวกับทุกๆ บ้านในสหราชอาณาจักร อันเป็นการเปิดเผยเรื่องราวในพระราชวังให้ประชาชนเข้าถึงได้

 

แม้ว่าพระราชดำรัสในหลายๆ ครั้งจะมีเนื้อหาในทำนองเดียวกัน แต่สมเด็จพระราชินีนาถจะทรงทุ่มเทเวลาในการคิดถ้อยคำและเนื้อหาให้เหมาะสมในทุกครั้ง ซึ่งทำให้พระราชดำรัสในวันคริสต์มาสนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสของชาวสหราชอาณาจักร ตลอดจนเป็นช่องทางสำคัญในการสื่อสารกับประชาชนของพระองค์โดยตรงด้วย

 

สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ และเหตุผลที่มาของการถ่ายทอดพระราชดำรัสวันคริสต์มาสทางโทรทัศน์ สามารถชมเพิ่มเติมได้จากซีรีส์ The Crown ซีซัน 2: Marionettes

 

พระราชดำรัสในวันคริสต์มาสในฐานะหลักฐานที่สะท้อนประวัติศาสตร์

 

นอกจากการอวยพรเนื่องในโอกาสสำคัญดังกล่าวแล้ว เนื้อหาของพระราชดำรัสในวันคริสต์มาสในแต่ละปียังสะท้อนถึงเรื่องราวหรือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น อันทำให้พระราชดำรัสวันคริสต์มาสมีความสำคัญในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งด้วย

 

ในช่วงที่อังกฤษตกอยู่ในภาวะสงคราม เนื้อหาในพระราชดำรัสจะเป็นการสร้างความรู้สึกร่วมกันของคนในชาติผ่านสถาบันกษัตริย์อันเป็นศูนย์รวมที่หล่อหลอมจิตใจของประชาชนชาวสหราชอาณาจักรและดินแดนในจักรวรรดิเข้าด้วยกัน เช่น ในปี 1939 ซึ่งอยู่ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานกำลังใจให้ประชาชนร่วมกันต่อสู้เพื่อที่จะผ่านพ้นช่วงเวลาอันมืดมนและเลวร้ายในสงครามนี้ไปให้ได้

 

ในบางครั้งพระราชดำรัสนี้เองยังเป็นสิ่งบ่งบอกถึงพระสุขภาพอนามัยของกษัตริย์อังกฤษในขณะนั้น เช่น ในพระราชดำรัสเมื่อปี 1935 ของพระเจ้าจอร์จที่ 5 นั้น ผู้ที่ได้รับฟังต่างระบุว่า พระสุรเสียงของพระองค์ดูอ่อนแรงอย่างยิ่ง อันแสดงถึงพระอาการประชวร ซึ่งพระราชดำรัสครั้งนั้นเองก็เป็นครั้งสุดท้ายในรัชสมัยก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคตในเวลาไม่กี่เดือนต่อมา

 

นอกจากนั้นการมีพระราชดำรัสในวันคริสต์มาสยังสะท้อนถึงเรื่องราวภายในสถาบันกษัตริย์อังกฤษอีกด้วย เช่น การมีพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 2019 ปรากฏว่ามีการตั้งภาพบนโต๊ะทรงพระอักษรจำนวน 4 ภาพ แทนความหมายของพระราชวงศ์ 4 รุ่นคือ ภาพพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดา ภาพเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามี ภาพเจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ กับดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ พระชายา และภาพครอบครัวของเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าไม่ปรากฏภาพของครอบครัวเจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซ็กซ์ บนโต๊ะทรงพระอักษร จึงทำให้ตีความไปต่างๆ นานาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับครอบครัวซัสเซ็กซ์ เพราะช่วงดังกล่าวนั้นเจ้าชายแฮร์รีและ เมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ ต่างมีข่าวในทางลบต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษอยู่เสมอ ก่อนที่เจ้าชายแฮร์รีจะประกาศยุติการทำหน้าที่พระราชวงศ์ในปี 2020 และย้ายถิ่นฐานไปที่สหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา

 

การมีพระราชดำรัสในวันคริสต์มาสนั้นถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อเนื่องในราชสำนักอังกฤษนับแต่ปี 1932 เรื่อยมา โดยมีเว้นว่างบางปีที่มีเหตุการณ์พิเศษ เช่น ในปี 1936 ที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 (Edward VIII) ทรงสละราชสมบัติอย่างกะทันหันในเดือนธันวาคม ก่อนวันคริสต์มาสเพียง 2 สัปดาห์ ทำให้ไม่อาจเตรียมการมีพระราชดำรัสของกษัตริย์พระองค์ใหม่ได้ทัน หรือในปี 1938 ซึ่งอังกฤษถูกกองทัพอากาศเยอรมนีทิ้งระเบิดอย่างหนักในสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ เช่น ในปี 1963 ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงพระครรภ์เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระราชโอรสองค์สุดท้อง ทำให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบการมีพระราชดำรัสกลับไปใช้การถ่ายทอดผ่านวิทยุกระจายเสียงแทน

 

ความเปลี่ยนแปลงของพระราชดำรัสในวันคริสต์มาส: นัยการสื่อความหมายของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

 

การมีพระราชดำรัสในวันคริสต์มาสครั้งที่ 3 ในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ปีนี้ พระองค์ทรงเลือกถ่ายทำที่โบสถ์น้อยฟิตซ์โรเวียในโรงพยาบาลมิดเดิลเซ็กซ์ ซึ่งถือว่ามีความพิเศษที่แปลกแตกต่างไปจากธรรมเนียมการปฏิบัติที่ผ่านมา ดังที่กล่าวไปแล้วว่า นับแต่ปี 1957 เป็นต้นมา การถ่ายทอดพระราชดำรัสหรือการบันทึกวิดีโอการมีพระราชดำรัสจะมีขึ้นที่พระราชฐานอันเป็นที่ประทับ เว้นแต่ในบางปีที่มีเหตุสำคัญทำให้ต้องเปลี่ยนสถานที่ โดยครั้งสุดท้ายที่มีพระราชดำรัสนอกพระราชวังที่ประทับคือ เมื่อปี 2006 ที่มหาวิหารเซาท์วาร์ก (Southwark Cathedral) 

 

โบสถ์น้อยแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 1891 เพื่อเป็นสถานที่สำหรับประกอบศาสนกิจของแพทย์ เจ้าหน้าที่ และผู้ป่วยที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลมิดเดิลเซ็กซ์ โดยมีสถาปัตยกรรมแบบไบแซนไทน์อันเป็นเอกลักษณ์ ก่อนที่ต่อมาโรงพยาบาลดังกล่าวจะถูกรื้อถอนออกไป เหลือแต่เพียงโบสถ์น้อยแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นพื้นที่สำหรับการแสวงหาความสงบในจิตใจ รวมถึงเป็นพื้นที่สาธารณะที่พร้อมเปิดรับความหลากหลายไม่ว่าจะมีความเชื่อแบบใดหรือจะไม่มีความเชื่อก็ตาม

 

การที่ทรงเลือกสถานที่สำหรับแสวงหาความสงบและการเป็นที่พึ่งทางจิตใจเป็นสถานที่ในการมีพระราชดำรัสครั้งนี้ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเกี่ยวพันกับสุขภาพพลานามัยของพระองค์ ซึ่งต้องทรงเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งตั้งแต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และแม้จะทรงเริ่มปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้บ้างแล้ว แต่ก็ยังต้องทรงเข้ารับการรักษาอยู่อย่างต่อเนื่อง

 

รายงานข่าวระบุว่า หลักเกณฑ์ในการเลือกสถานที่ที่จะมีพระราชดำรัสจะต้องเป็นสถานที่ที่มีความเกี่ยวพันกับสุขภาพอนามัย มีความเข้มแข็งในการรวมตัวกันเป็นชุมชนหรือองค์กรที่พร้อมสนับสนุนหรือให้กำลังใจกันและกัน และเป็นสถานที่ที่เปิดให้ทุกคนที่มีความเชื่อแตกต่างกันสามารถแสวงหาความสงบในจิตใจและทบทวนตัวเองได้ ซึ่งโบสถ์น้อยแห่งนี้มีคุณสมบัติดังกล่าวครบถ้วน

 

นอกจากนั้นแล้วยังมีผู้วิเคราะห์ว่า การที่ทรงเลือกโบสถ์น้อยแห่งนี้มีนัยสำคัญที่สะท้อนถึงความสำคัญของบุคลากรด้านสาธารณสุข และสะท้อนถึงการเปิดกว้างและความหลากหลาย อันเกี่ยวพันถึงพระอุปนิสัยและปณิธานของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ทรงให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว รวมถึงโรงพยาบาลแห่งนี้ยังมีความเกี่ยวพันกับพระราชวงศ์ด้วยเหตุที่ว่า พระเจ้าจอร์จที่ 6 พระอัยกา (ตา) ของพระองค์ เมื่อครั้งทรงเป็นดยุกแห่งยอร์กเคยเสด็จพระราชดำเนินมาวางศิลาฤกษ์เปิดอาคารโรงพยาบาลแห่งนี้เมื่อปี 1928 ด้วย

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเนื้อหาสาระหรือรายละเอียดอื่นๆ ในพระราชดำรัสนี้เป็นสิ่งที่ผู้คนทั้งในอังกฤษและทั่วโลกรอคอยติดตาม ดังนั้นนอกจากคำอวยพรแล้วสิ่งที่กษัตริย์อังกฤษเลือกจะสื่อสารในพระราชดำรัส ย่อมเป็นประเด็นสำคัญที่จะได้รับความสนใจจากสังคมด้วย

 

การมีพระราชดำรัสในวันคริสต์มาสปีนี้ของพระเจ้าชาร์ลส์จึงเป็นการแสดงถึงความพยายามของพระองค์ในการปรับปรุงธรรมเนียมประเพณีที่เคยมีมา โดยยังคงสาระของธรรมเนียมดังกล่าวไว้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่าง เพื่อให้การมีพระราชดำรัสดังกล่าวยังคงทันสมัยและเป็นสิ่งใหม่ๆ ในสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

พระราชดำรัสในวันคริสต์มาสกับการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

 

จากเรื่องราวการมีพระราชดำรัสในวันคริสต์มาสดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์อังกฤษในช่วงเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือจุดเริ่มของการมีพระราชดำรัสเป็นไปเพื่อให้สถาบันกษัตริย์สามารถเข้าถึงประชาชน และทำให้สถานะของพระมหากษัตริย์มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับประชาชนมากยิ่งขึ้น อันเป็นเหตุให้พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสในวันคริสต์มาสเป็นครั้งแรกในปี 1932 และต่อมาเมื่อเกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่ยังคงห่างไกลจากประชาชนในวันที่เทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงเป็นการถ่ายทอดผ่านทางโทรทัศน์ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 1957 ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนอีกครั้งในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในครั้งนี้

 

การเปลี่ยนแปลงของพระราชดำรัสในวันคริสต์มาสที่เกิดขึ้นจึงเป็นดังสัญลักษณ์แห่งการปรับตัวและความเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ซึ่งเชื่อว่าจะยังคงมีพัฒนาการต่อไปอีกในอนาคต เพราะสิ่งใดก็ตามที่ไม่ปรับเปลี่ยนตัวเองย่อมไม่อาจดำรงอยู่ต่อไปได้ในสังคมแห่งความเปลี่ยนแปลง

 

แฟ้มภาพ: Aaron Chown / Pool via Reuters

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising