การเริ่มต้นปี 2024 ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษดูไม่ค่อยจะสดใสนัก ไม่ว่าจะเป็นการปรากฏข่าวการเข้ารักษาที่โรงพยาบาลของทั้งพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และแคเธอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ในเดือนมกราคม และล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักพระราชวังอังกฤษได้ออกแถลงการณ์ว่า คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาตรวจพบว่าพระเจ้าชาร์ลส์ทรงมีอาการของมะเร็งรูปแบบหนึ่ง และต้องงดการปฏิบัติพระราชกรณียกิจสักระยะ ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ประมุขของประเทศและอนาคตของราชบัลลังก์ขึ้นมาอีกครั้งในเวลาไม่ถึงสองปี ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 2022
แม้อาการประชวรดังกล่าวของพระเจ้าชาร์ลส์จะเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ล่วงหน้า ด้วยพระชนมายุที่สูงถึง 75 พรรษาแล้ว แต่การที่ทรงเป็นประมุขแห่งราชวงศ์วินด์เซอร์ ท่ามกลางสมาชิกพระราชวงศ์ซึ่งสามารถทรงงานได้ (Working Royals) ที่ลดจำนวนลง และเกินกว่าครึ่งหนึ่งก็มีพระชนมายุเกินกว่า 70 พรรษา ทำให้เกิดคำถามถึงทิศทางของสถาบันกษัตริย์อังกฤษในอนาคต เพราะเมื่อเปรียบสถาบันกษัตริย์อังกฤษกับช่วงชีวิตของมนุษย์ในตอนนี้ ก็คงไม่เกินไปนักหากจะเรียกว่าสถาบันกษัตริย์อังกฤษอยู่ในสภาวะโรยราและเปราะบาง
ธรรมเนียมการมีแถลงการณ์เกี่ยวกับการประชวรของราชสำนักอังกฤษ
จากธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมาของราชวงศ์อังกฤษ แม้ว่าสมาชิกพระราชวงศ์จะมีสถานะเป็นบุคคลสาธารณะหรือเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม (Public Servants) แต่ส่วนใหญ่แล้วสำนักพระราชวังจะไม่เปิดเผยข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับการรักษาหรือสุขภาพของสมาชิกราชวงศ์ เนื่องจากต้องการรักษาความเป็นส่วนตัวและความลับในการรักษาพยาบาล เว้นแต่ในกรณีที่การประชวรดังกล่าวกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจสาธารณะ อันทำให้ไม่อาจทรงไปร่วมงานหรือให้มีการเข้าเฝ้าฯ ได้ ซึ่งการต้องเข้ารับการรักษาอาการโรคมะเร็งของพระเจ้าชาร์ลส์นั้นส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ทำให้จำเป็นต้องมีการออกแถลงการณ์อาการประชวรสู่สาธารณะ
นอกจากนั้นแล้ว พระเจ้าชาร์ลส์ยังทรงมีพระราชประสงค์ให้เผยแพร่อาการประชวรของพระองค์ด้วยเพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่ก่อให้เกิดการคาดเดาไปต่างๆ นานา อีกทั้งการระบุถึงอาการประชวรด้วยมะเร็งจะเป็นการกระตุ้นสังคมให้ความสนใจถึงภัยร้ายจากมะเร็ง และเป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคมะเร็ง ในฐานะที่ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์กองทุนและกิจการสาธารณกุศลด้านโรคมะเร็งหลายแห่ง
การมีแถลงการณ์เกี่ยวกับอาการประชวรของกษัตริย์อังกฤษนั้นถือเป็นเรื่องที่มักไม่ค่อยเกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งแถลงการณ์การสวรรคตนั้นไม่ได้ระบุถึงโรคหรืออาการที่ทรงสวรรคตแต่อย่างใด แต่ในกรณีพระเจ้าชาร์ลส์แสดงให้เห็นถึงความพยายามของพระองค์ที่จะปรับเปลี่ยนธรรมเนียมประเพณีของราชสำนักให้ทันสมัย โปร่งใส และเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น
การประชวรของกษัตริย์กับบทบาทประมุขของประเทศ
แม้ในแถลงการณ์เกี่ยวกับการประชวรของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะระบุว่า พระองค์ยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประมุขของประเทศได้ ทั้งการลงพระปรมาภิไธยในเอกสารต่างๆ และสามารถเข้าร่วมประชุมเป็นการส่วนพระองค์ รวมถึงการให้นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานประจำสัปดาห์ได้ตามปกติ แต่การประชวรดังกล่าวก็ทำให้เกิดคำถามว่า หากอาการประชวรเพียบหนักขึ้น หรือมีเหตุที่พระองค์ไม่สามารถปฏิบัติพระราชภารกิจได้แล้ว เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร
ตามธรรมเนียมปฏิบัติอันยาวนานจนมีสถานะเทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญของอังกฤษนั้น กษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติภารกิจในฐานะประมุขด้วยพระองค์เอง อย่างไรก็ตาม อาจมีบางกรณีที่ประมุขไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจนั้นได้ ทำให้ต้องมีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน อันเป็นไปตามหลักการที่ประมุขของประเทศจะต้องพร้อมปฏิบัติหน้าที่อยู่เสมอ เพื่อให้กิจการต่างๆ ของประเทศดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นหากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงพระประชวร หรือมีเหตุอื่นใดที่ทำให้ทรงไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้ กฎหมายอังกฤษได้กำหนดแนวทางไว้ตามพระราชบัญญัติผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (The Regency Act 1937) ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กรณีตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กล่าวคือ
กรณีแรก หากพระเจ้าชาร์ลส์ทรงไม่อาจปฏิบัติพระราชภารกิจได้เป็นการถาวรด้วยเหตุประชวรอย่างร้ายแรง เช่น ประชวรหนักจนไม่มีพระสติ กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (Regent) เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ เสมือนเป็นกษัตริย์ เว้นแต่เพียงการตรากฎหมายเพื่อแก้ไขลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ โดยผู้ที่มีสิทธิที่จะได้รับการแต่งตั้งมักจะเป็นรัชทายาทลำดับแรกของราชบัลลังก์ ซึ่งปัจจุบันคือ เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์
กรณีต่อมา หากพระเจ้าชาร์ลส์ทรงไม่อาจปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้เป็นการชั่วคราว เช่น ประชวรเล็กน้อย หรือกรณีที่เสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศ กฎหมายดังกล่าวได้ให้พระราชอำนาจแก่กษัตริย์ในการแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ในพระราชภารกิจนั้นๆ โดยมีชื่อเรียกว่า ‘Counsellors of State’
โดยการแต่งตั้งดังกล่าวนั้นจะต้องมีการประกาศพระบรมราชโองการที่เรียกว่า ‘Letters Patent’ ซึ่งจะเป็นการกำหนดตัวบุคคลและกิจการที่บุคคลนั้นสามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ ยกเว้นแต่กิจการสำคัญที่กษัตริย์จะต้องทรงกระทำด้วยพระองค์เอง โดยไม่สามารถแต่งตั้งผู้แทนพระองค์ได้ เช่น กิจการของเครือจักรภพ การยุบสภาสามัญ การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี การสถาปนาบรรดาศักดิ์ เป็นต้น
สำหรับผู้ที่สามารถทำหน้าที่ Counsellors of State ได้นั้น ได้แก่ พระราชินี หรือพระสวามีของกษัตริย์หรือพระราชินีนาถพระองค์นั้น และรัชทายาทผู้มีสิทธิในราชสมบัติ 4 ลำดับแรก ซึ่งจะต้องมีพระชนมายุ 21 พรรษาขึ้นไป (ยกเว้นรัชทายาทลำดับแรกที่ใช้เกณฑ์เพียง 18 พรรษา)
ปัจจุบันผู้ที่อยู่ในข่ายจะได้รับการแต่งตั้งเป็น Counsellors of State ตามที่ระบุในเว็บไซต์ทางการของสำนักพระราชวังอังกฤษ (royal.uk) นั้น ได้แก่ สมเด็จพระราชินีคามิลลา, เจ้าชายวิลเลียมแห่งเวลส์ รัชทายาทลำดับแรก, เจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซ็กซ์ (ลำดับที่ 5), เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก (ลำดับที่ 8) และเจ้าหญิงเบียทริซ พระธิดาในดยุกแห่งยอร์ก (ลำดับที่ 9) เนื่องจากพระโอรสและพระธิดาในเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี ซึ่งอยู่ในลำดับรัชทายาทที่สูงกว่า ยังทรงมีพระชนมายุไม่ถึง 21 พรรษา ทั้งนี้ เมื่อปี 2022 ได้มีการตรากฎหมายที่เรียกว่า Counsellors of State Act กำหนดให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเอดินบะระ (ลำดับที่ 14) และเจ้าหญิงแอนน์ มกุฎราชกุมารี (ลำดับที่ 17) พระอนุชาและพระขนิษฐาในพระเจ้าชาร์ลส์ มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ดังกล่าวได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานะเจ้าชายแฮร์รีและเจ้าชายแอนดรูว์ ว่าจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ Counsellors of State ได้อยู่หรือไม่ เนื่องจากเจ้าชายแฮร์รีนั้นทรงประกาศว่าจะไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพระราชวงศ์ชั้นสูง (Senior Royal) และย้ายไปประทับที่ต่างประเทศตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งการไม่ประทับที่ดินแดนของอังกฤษจะทำให้ขาดคุณสมบัติในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ส่วนเจ้าชายแอนดรูว์นั้นทรงมีกรณีอื้อฉาวทางเพศ และประกาศถอนตัวจากการปฏิบัติหน้าที่สาธารณะตั้งแต่ปี 2020 และเจ้าหญิงเบียทริซนั้นไม่ทรงมีสถานะเป็นสมาชิกพระราชวงศ์ที่ทรงงาน (Non-Working Members of the Royal Family) จึงไม่น่าสามารถรับการแต่งตั้งได้
ดังนั้นจึงมีรายงานบางแห่งระบุว่า ผู้ที่อยู่ในข่ายจะได้รับการแต่งตั้งเป็น Counsellors of State ในปัจจุบันจึงมีเพียงสมเด็จพระราชินีคามิลลา, เจ้าชายวิลเลียมแห่งเวลส์ รัชทายาทลำดับแรก, เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเอดินบะระ และเจ้าหญิงแอนน์ มกุฎราชกุมารี
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากข้อความในแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังอังกฤษแล้วจะเห็นได้ว่าพระเจ้าชาร์ลส์ยังทรงสามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะประมุขของประเทศได้ และไม่มีพระราชประสงค์ที่จะแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือ Counsellors of State แต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่ปรากฏข่าวว่าหากทรงมีพระอาการร้ายแรง อาจจะทรงสละราชสมบัติให้แก่เจ้าชายแห่งเวลส์นั้น เรื่องดังกล่าวอาจเป็นไปได้ยากยิ่ง ด้วยธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติของราชวงศ์อังกฤษที่ถือว่าการทำหน้าที่ประมุขของชาติเป็นหน้าที่สำคัญยิ่ง ซึ่งสังเกตได้จากความทรงจำที่ไม่ค่อยดีนักเกี่ยวกับการสละราชสมบัติของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ในปี 1936 ที่ถูกมองว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่เพื่อความรักของพระองค์เอง อีกทั้งในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แม้จะทรงมีพระชนมายุมากและมีปัญหาพระพลานามัย แต่พระองค์ก็ไม่ได้สละราชสมบัติแต่อย่างใด ประกอบกับพระราชดำรัสของพระเจ้าชาร์ลส์เองเมื่อครั้งที่ทรงรับราชสมบัติในปี 2022 ที่ทรงให้คำมั่นสัญญาว่าจะทรงอุทิศทั้งพระวรกายเพื่อรับใช้ประเทศชาติและประเทศ (Promise of Lifelong Service) ทำให้เรื่องการสละราชสมบัติจึงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้
เมื่อสมาชิกพระราชวงศ์เริ่มโรยรา
เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ อย่างเป็นทางการ (Official Engagements) ถึง 425 ภารกิจ ดังนั้นการที่พระองค์ต้องงดการประกอบพระราชกรณียกิจต่อสาธารณะนั้น ทำให้ต้องมีสมาชิกพระราชวงศ์ต้องมารับหน้าที่แบ่งเบาบรรดาพระราชภารกิจและการทรงงานต่างๆ ของพระองค์
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่สมาชิกพระราชวงศ์ทุกคนที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้ เนื่องจากตามธรรมเนียมปฏิบัติของราชสำนัก ผู้ที่จะสามารถปฏิบัติภารกิจต่างๆ แทนประมุขของประเทศได้ ต้องเป็นสมาชิกพระราชวงศ์ที่สามารถทรงงาน (Working Royal) ซึ่งจะมีสถานะสูงกว่าสมาชิกพระราชวงศ์โดยทั่วไปและมีสิทธิพิเศษต่างๆ ที่ต้องแลกมาด้วยหน้าที่และข้อจำกัดบางประการ เช่น ไม่สามารถประกอบธุรกิจหรือแสวงหารายได้ของตนเอง โดยพระเจ้าชาร์ลส์นั้นทรงมีพระราชประสงค์อย่างแน่วแน่ว่าจะทรงลดขนาดของสถาบันกษัตริย์ โดยลดจำนวนสมาชิกพระราชวงศ์ที่ทรงงานได้ลง (Slimmed-Down Monarchy) เพื่อให้สอดรับกับแนวคิดที่สถาบันกษัตริย์จำต้องปรับตัวให้กับค่านิยมสมัยใหม่
สำหรับสมาชิกพระราชวงศ์ที่ทรงงานได้ในปัจจุบันนั้นมีทั้งหมด 11 พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าชาร์ลส์ (75), พระราชินีคามิลลา (76), เจ้าชายวิลเลียมแห่งเวลส์ (41), แคเธอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (42), เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเอดินบะระ (59), ดัชเชสแห่งเอดินบะระ (59), เจ้าหญิงแอนน์ (73), เจ้าชายริชาร์ด ดยุกแห่งกลอเชสเตอร์ (79), ดัชเชสแห่งกลอเชสเตอร์ (77), เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเคนต์ (88) และดัชเชสแห่งเคนต์ (90) ในขณะที่เจ้าชายแฮร์รี ดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ และเจ้าชายแอนดรูว์ ไม่มีฐานะดังกล่าวด้วยเหตุที่ได้กล่าวไปแล้ว
แม้แนวคิดดังกล่าวของพระเจ้าชาร์ลส์จะสอดรับกับแนวทางสมัยใหม่ โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรป แต่หากพิจารณาจากพระชนมายุของสมาชิกพระราชวงศ์ทั้ง 11 พระองค์แล้ว พบว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งมีอายุมากกว่า 70 พรรษา และมีเพียง 2 พระองค์เท่านั้นที่พระชนมายุน้อยกว่า 50 พรรษา รวมถึงหลายพระองค์ยังมีปัญหาด้านสุขภาพอนามัย ทำให้ภารกิจงานต่างๆ จึงตกอยู่กับสมาชิกพระราชวงศ์ที่ยังสามารถทรงงานได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเจ้าหญิงแอนน์ ผู้ทรงงานมากที่สุดถึง 457 ภารกิจตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เจ้าหญิงเคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2023 ว่า แนวคิดการลดขนาดสถาบันกษัตริย์ไม่น่าจะเป็นความคิดที่ดีนัก หากมองจากมุมของพระองค์ (a slimmed down monarchy “doesn’t sound like a good idea from where I’m standing”.)
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่สมาชิกพระราชวงศ์ที่ทรงงานส่วนใหญ่สูงอายุ ย่อมกระทบต่อภาพลักษณ์และการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนความนิยมในสถาบันกษัตริย์อังกฤษ อีกทั้งมีแนวโน้มที่สมาชิกพระราชวงศ์ที่สูงอายุเหล่านั้นต้องลดภารกิจต่างๆ ลง ซึ่งหากพระราชวงศ์ปฏิบัติหน้าที่ต่อสาธารณะลดน้อยลง ย่อมทำให้เกิดคำถามถึงบทบาทและความจำเป็นในการดำรงคงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน
บทบาทของสถาบันกษัตริย์อังกฤษในปัจจุบันนั้นอาจแบ่งได้เป็นบทบาทในฐานะประมุขของรัฐตามรัฐธรรมนูญ (Head of State) เช่น การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี การเสด็จพระราชดำเนินเปิดสมัยประชุมรัฐสภา การลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้กฎหมาย รวมถึงการใช้พระราชอำนาจดั้งเดิม (Royal Prerogative Power) เป็นต้น และบทบาทในฐานะประมุขของชาติ (Head of the Nation)
สำหรับบทบาทในฐานะประมุขของชาตินั้น สถาบันกษัตริย์จะเป็นทั้งสัญลักษณ์ของประเทศ ศูนย์รวมจิตใจ และความภาคภูมิใจของคนทั้งชาติ (National Identity, Unity and Pride) ซึ่งแสดงออกผ่านรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปเยือนต่างประเทศ การต้อนรับผู้นำต่างประเทศที่มาเยือนอังกฤษ การพบปะกับประชาชน คณะบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนบทบาททางสังคมในการเชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ และการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อการสาธารณประโยชน์ผ่านการอุปถัมภ์กองทุนหรือกิจการต่างๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมา ภารกิจที่พระเจ้าชาร์ลส์และสมาชิกพระราชวงศ์ปฏิบัตินั้นมีมากกว่า 3,000 ภารกิจ
เมื่อบทบาทในฐานะประมุขของชาตินั้น ถือเป็นบทบาทที่สำคัญยิ่งของสถาบันกษัตริย์อังกฤษในยุคสมัยใหม่ ดังนั้นหากสมาชิกพระราชวงศ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรือแสดงบทบาทดังกล่าวได้อย่างที่เคยเป็นมาแล้ว ย่อมกระทบต่อสถานะและภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ตลอดจนเกิดคำถามต่อความจำเป็นและการดำรงคงอยู่ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ
ภาระและความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของวิลเลียม
นอกจากปัญหาที่สมาชิกพระราชวงศ์มีจำนวนน้อยลงแล้ว การประชวรและลดพระราชภารกิจของพระเจ้าชาร์ลส์ยังทำให้เกิดคำถามสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ บทบาทนับแต่นี้ต่อไปของเจ้าชายวิลเลียมแห่งเวลส์ รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ ซึ่งจะมีภาระและความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ทั้งในฐานะรัชทายาทที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง และการแบ่งเบาพระราชภารกิจของพระราชบิดา รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการสืบราชบัลลังก์ หากเกิดเหตุการณ์นั้นมาถึง และในฐานะหัวหน้าครอบครัว ซึ่งแคเธอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ พระชายาเพิ่งผ่านพ้นการผ่าตัดบริเวณช่องท้องเมื่อเดือนที่ผ่านมาและอยู่ระหว่างการพักฟื้น ทำให้วิลเลียมต้องลดภารกิจบางอย่างลงเพื่อดูแลทั้งพระชายาและพระโอรสธิดาในช่วงเวลาดังกล่าว
จากการประชวรของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ซึ่งต้องพักฟื้นร่างกายจนถึงเดือนเมษายน และการประกาศเว้นจากพระราชกรณียกิจของพระเจ้าชาร์ลส์ ทำให้วิลเลียมจะต้องเป็นผู้รับแบ่งเบาภาระหน้าที่ส่วนใหญ่ของทั้งสองพระองค์ และเป็นเสมือนผู้นำชั่วคราวแห่งราชวงศ์อังกฤษในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ของสถาบันกษัตริย์
แม้ว่าช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาที่วิลเลียมในฐานะรัชทายาทจะต้องแบกรับภาระในหลากหลายสถานะ แต่สิ่งสำคัญที่เขาจะต้องขบคิดและวางแผนไว้คือหากวันนั้นมาถึง เขาในฐานะกษัตริย์องค์ใหม่แห่งราชบัลลังก์อังกฤษจะนำพาสถาบันกษัตริย์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกนี้ไปในทิศทางใด เพราะหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเขามีแนวทางหรือวิธีปฏิบัติที่แตกต่างไปจากพระราชบิดา ประกอบกับทิศทางหรือแนวโน้มของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เขาต้องพิจารณาและไตร่ตรองเรื่องดังกล่าวไปพร้อมกันด้วย
การเตรียมพร้อมเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ
แม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกันเนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับพระอาการ บ้างก็เห็นว่าเมื่อยังไม่ปรากฏถึงพระอาการอันร้ายแรงและด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน ข่าวการประชวรดังกล่าวจึงยังไม่น่ากังวลนัก ในขณะที่อีกฝ่ายมองว่าการที่สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เช่นนี้ย่อมสื่อถึงสภาวะอันร้ายแรงแล้ว แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ด้วยธรรมเนียมปฏิบัติของสถาบันกษัตริย์อังกฤษที่ต้องพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้มีการกำหนดลำดับการสืบราชสันตติวงศ์อย่างชัดเจน รวมถึงเตรียมแผนการต่างๆ ไว้อยู่เสมอ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านรัชสมัยให้เป็นไปโดยราบรื่นที่สุด
เรื่องดังกล่าวอยู่ภายใต้แนวคิดที่ว่า ความมั่นคงของการปกครองระบอบราชาธิปไตยหรือความเข้มแข็งของสถาบันกษัตริย์นั้นขึ้นอยู่กับการมีผู้สืบทอดที่ชัดเจนแน่นอน เพื่อให้การสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปโดยต่อเนื่องไม่ขาดสายและไม่มีความขัดแย้ง ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมในการทำหน้าที่ประมุขของประเทศให้แก่ผู้สืบทอดนั้น
จากบทเรียนที่ผ่านมาหลายครั้งในอดีตที่ไม่มีการกำหนดผู้สืบราชสมบัติอย่างชัดเจน อันนำไปสู่การเกิดความขัดแย้งและสงครามกลางเมือง เรื่องดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น อันจะเห็นได้จากการกำหนดลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ (Line of Succession) ที่มีมากกว่า 50 ลำดับ รวมถึงมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับรัชทายาทอีกหลายประการ เพื่อป้องกันความคลุมเครือหรือปัญหาที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับราชบัลลังก์ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้มีการกำหนดการสืบราชสันตติวงศ์ไว้อย่างชัดเจนดังได้กล่าวมาแล้ว แต่ปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกพระราชวงศ์ที่เริ่มโรยราและลดจำนวนลงก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษจะต้องเผชิญในอนาคต
ภาพ: Max Mumby / Indigo / Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.royal.uk/role-monarchy
- https://www.royal.uk/counsellors-of-state
- https://www.ucl.ac.uk/constitution-unit/explainers/what-role-monarchy
- https://www.bbc.com/news/uk-23272491
- https://www.bbc.com/news/uk-68208157
- https://www.bbc.com/news/uk-56201331
- https://www.bbc.com/news/uk-68219415
- https://edition.cnn.com/2024/02/05/uk/king-charles-cancer-explainer-intl-gbr/index.html
- https://www.reuters.com/world/uk/who-is-next-line-british-throne-uk-royal-succession-line-explained-2023-09-06/
- https://www.reuters.com/world/uk/britains-king-charles-diagnosed-with-cancer-buckingham-palace-2024-02-05/
- https://www.politico.eu/article/king-charles-iii-cancer-what-happens-next-britain-royal-family/
- https://www.telegraph.co.uk/royal-family/2023/12/09/hardest-working-royals-2023-revealed/
- https://www.express.co.uk/news/royal/1768635/who-are-working-members-royal-family-spt
- https://www.theguardian.com/uk-news/2023/sep/08/what-a-year-of-king-charles-has-shown-us-about-how-he-wants-to-reign
- https://www.theguardian.com/uk-news/2023/may/02/princess-anne-slimmed-down-royal-family-doesnt-sound-like-a-good-idea
- https://www.nytimes.com/2024/02/05/world/europe/king-charles-cancer.html