×

ทำไม ‘อิฐเก่าๆ แผ่นเดียว’ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงมีค่า

26.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • พระองค์ตรัสไว้ว่า “ข้าพเจ้าได้คิดมานานแล้วว่า โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ของท้องถิ่นใด ก็ควรจะเก็บรักษาและตั้งแสดงไว้ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของจังหวัดนั้นๆ ข้าพเจ้าพอใจที่กระทรวงศึกษาธิการและกรมศิลปากรที่เห็นพ้องด้วย และทำได้สำเร็จเป็นแห่งแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้”
  • แนวคิดของการเก็บและจัดแสดงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์นั้นไม่ต่างไปจากการถือกำเนิดขึ้นของ ‘ประวัติศาสตร์ชาติ’ ที่ทำให้ประวัติศาสตร์ชาติมีความเป็นรูปธรรมผ่านวัตถุ เป็นหลักฐานของการมีตัวตนอยู่จริงของอดีต และแสดงความรุ่งเรืองและความมีอารยธรรมของชาติในอดีตอีกด้วย

เป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสนพระทัยต่องานด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของชาติเป็นอย่างยิ่ง

 

แต่น่าสนใจที่จะตั้งคำถามว่า ทำไมในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงได้ทรงมีพระราชดำรัสเมื่อ พ.ศ. 2506 ความว่า “…การสร้างอาคารสมัยนี้คงจะเป็นเกียรติสำหรับผู้สร้างคนเดียว แต่เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย…”

 

สามกรุงทำให้ประเทศมีความหมาย

เมื่อประเทศสยาม หรือ ไทย ได้กลายเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ที่มีเขตแดน ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ทำให้ต้องมีประวัติศาสตร์ชาติเพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมกันของการเป็นพลเมืองไทย รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งยังทรงผนวชมีพระนามว่า ‘วชิรญาณภิกขุ’ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เดินทางไปยังสุโขทัย และค้นพบจารึกหลักที่ 1 ดังนั้น เมื่อเซอร์จอห์น เบาว์ริง เดินทางเข้ามาทำสนธิสัญญากับประเทศสยาม รัชกาลที่ 4 จึงได้ทรงส่งคำแปลจารึกเท่าที่แปลได้ให้ไป เพื่อแสดงว่าประเทศสยามนั้นมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน เป็นชาติที่ศิวิไลซ์ ไม่ใช่ชาติที่เกิดขึ้นใหม่และล้าหลัง

 

กระแสความตื่นตัวต่อประวัติศาสตร์และโบราณคดีเห็นได้ชัดในพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 5 เมื่อคราวเปิด ‘โบราณคดีสโมสร’ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2450 ในระหว่างที่รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ณ พระที่นั่งชั่วคราวสุริยาสน์อมรินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ในพระราชวังโบราณ อยุธยา

 

พระราชดำรัสในครั้งนั้นได้กระตุ้นให้ผู้มาประชุมช่วยกันเรียบเรียงประวัติศาสตร์ของสยามให้เกิดถึง 1,000 ปี และค้นคว้าประวัติศาสตร์ ‘เมืองหลวง’ ของ “ชาติไทยแต่ต้นเดิมลงมาจนถึงเมืองเชียงแสน เชียงราย เชียงใหม่ สวรรคโลก โศกโขทัย อยุธยาเก่า อยุธยาใหม่ แลเมืองลโว้ ลพบุรี นครไชยศรี นครศรีธรรมราช” (พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ร.ศ.126)

 

นับจากนี้เป็นต้นไปที่ทำให้ความสนใจต่อประวัติศาสตร์และโบราณคดีสยามขยายตัวเรื่อยมา เช่นเดียวกับสุโขทัยได้ค่อยๆ กลายเป็นรัฐในอุดมคติ และจุดตั้งต้นของความเป็นไทย (สนใจรายละเอียด ขอให้อ่านประวัติศาสตร์ ‘สุโขทัย’ ที่เพิ่งสร้าง เขียนโดย วริศรา ตั้งค้าวานิช)  

 

สังเกตได้ว่า โครงร่างของประวัติศาสตร์ไทยที่ก่อตัวขึ้นนี้ เรียงลำดับเมืองจากเหนือลงใต้ แต่ในท้ายที่สุดแล้วก็เน้นที่เมืองหลวงที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก เพราะเป็นเขตที่ชนชั้นนำที่กรุงเทพฯ มีอำนาจอย่างแท้จริงในยุคของลัทธิการล่าอาณานิคม สยามไม่แน่ใจว่าตนเองจะได้ปกครองล้านนาหรือไม่ ไม่แน่ใจว่าตนเองจะได้ดินแดนในเขตแม่น้ำโขงหรือไม่ เช่นเดียวกันกับภาคใต้ อีกทั้งดินแดนเหล่านั้นบางเมืองยังอยู่ในฐานะประเทศราชอีกด้วย

 

ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้เค้าโครงของประวัติศาสตร์ไทยนั้นให้ความสำคัญกับ 3 กรุงเป็นหลักคือ สุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ ผลที่ตามมาคือ ประวัติศาสตร์ไทยก่อนหน้าสุโขทัยจึงเป็นเสมือนกับช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์อันเป็นยุคที่คนไทยอพยพเคลื่อนย้ายลงมาจากจีน แล้วผ่านภาคเหนือลงไปอย่างรวดเร็วแล้วก่อตั้งกรุงสุโขทัยขึ้น พร้อมทั้งขับไล่ ‘ขอม’ ออกไปอีกด้วย เค้าโครงประวัติศาสตร์ชาตินี้เห็นได้ในงานระดับ Monumental Works เช่น พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, ประวัติศาสตร์สากล ในเล่มประวัติศาสตร์ไทย ของหลวงวิจิตรวาทการ

 

ด้วยเหตุนี้เอง ในพระราชดำรัสของพระองค์จึงสะท้อนรากของแนวคิดของชนชั้นนำในอดีตที่มองว่า ‘สุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ’ เป็นเสมือนกับหัวใจของประเทศไทย

 

ความหมายของวัตถุ

นอกจากพระราชดำรัสอันกินใจและเป็นที่จดจำของพสกนิกรผู้สนใจประวัติศาสตร์โบราณคดีข้างต้นแล้ว ในคราวที่รัชกาลที่ 9 ได้โปรดเกล้าฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2504 ยังได้มีพระราชดำรัส ที่น่าสนใจต่อแนวคิดด้านพิพิธภัณฑ์ที่สัมพันธ์กันไปกับประวัติศาสตร์ชาติ ดังความว่า

 

“…โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถานทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นของมีคุณค่าและจำเป็นแก่การศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดี เป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทยที่มีมาแต่อดีตกาล สมควรจะสงวนรักษาให้คงทนถาวร เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล โดยเฉพาะโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษาและตั้งแสดงให้นักศึกษาและประชาชนได้ชมและศึกษาหาความรู้ให้มากและทั่วถึงยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้”

 

ในอดีตนั้นพิพิธภัณฑ์ยังไม่ได้เป็นของสาธารณะที่ประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงได้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2430 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้ย้ายของต่างๆ จาก ‘มิวเซียม’ ในพระบรมมหาราชวังไปจัดแสดงในวังหน้า ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 7 จึงได้กลายเป็น ‘พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร’ ส่งผลทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกว่าของที่จัดแสดงนั้น ‘เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติ’ มากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี โบราณวัตถุชิ้นเด่นๆ ระดับมาสเตอร์พีซก็มักจะถูกรวบรวมเข้ามาไว้ยังกรุงเทพฯ ทำให้ของระดับมาสเตอร์พีซไม่ได้อยู่ประจำท้องถิ่น นักวิชาการบางท่านจึงได้วิจารณ์ว่า การรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์นี้เป็นกระบวนการอย่างหนึ่งในการสร้างรัฐรวมศูนย์ให้เกิดขึ้นโดยสร้างจิตสำนึกในการรับรู้ขอบเขตของชาติผ่านวัตถุ โดยวัตถุนั้นเคลื่อนย้ายมายังศูนย์กลางของชาติคือ กรุงเทพฯ

 

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า รัชกาลที่ 9 ได้ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพที่มองว่า การนำของชิ้นเด่นมาไว้ยังส่วนกลางนั้นมีปัญหา ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า “ข้าพเจ้าได้คิดมานานแล้วว่า โบราณวัตถุและศิลปวัตถุของท้องถิ่นใด ก็ควรจะเก็บรักษาและตั้งแสดงไว้ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของจังหวัดนั้นๆ ข้าพเจ้าพอใจที่กระทรวงศึกษาธิการและกรมศิลปากรที่เห็นพ้องด้วย และทำได้สำเร็จเป็นแห่งแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้”

 

พระราชดำรัสข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า โบราณวัตถุจากท้องถิ่นใดก็ควรจะอยู่ในท้องถิ่นนั้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแสดง ‘ความเจริญรุ่งเรือง’ ของพื้นที่นั้นๆ จนอาจกล่าวได้ว่า แนวคิดข้างต้นของพระองค์มีลักษณะค่อนไปในทาง Decentralize แบบหนึ่ง เพื่อไม่ให้สิ่งของที่สะท้อนความเจริญของท้องถิ่นต้องเข้ามาอยู่ในเมืองหลวง

 

ด้วยความใส่พระทัยต่อความก้าวหน้าของพิพิธภัณฑ์ไทย จากคำบอกเล่าของนายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวไว้ว่า เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง เมื่อ พ.ศ. 2509 หลังจากเสด็จพระราชดำเนิน และทอดพระเนตรบรรดาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่จัดแสดงนานพอสมควรแล้ว พอจะเสด็จฯ กลับ พระองค์ได้ตรัสว่า “…นี่ถ้ากรมศิลปากร ไปสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ไหนนะ ฉันจะไปเปิดให้…”

 

แนวคิดของการเก็บและจัดแสดงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์นั้นไม่ต่างไปจากการถือกำเนิดขึ้นของ ‘ประวัติศาสตร์ชาติ’ โดยมีหน้าที่ช่วยทำให้ประวัติศาสตร์ชาติมีความเป็นรูปธรรมผ่านวัตถุ ซึ่งวัตถุเหล่านี้ได้กลายเป็นประจักษ์พยานอันเป็นหลักฐานของการมีตัวตนอยู่จริงของอดีต และพวกมันยังมีหน้าที่แสดงความรุ่งเรืองและความมีอารยธรรมของชาติในอดีตอีกด้วย

 

ดังนั้น ‘อิฐเก่าๆ แผ่นเดียว’ จึงมีค่าอย่างสูงยิ่ง เพราะมันคือตัวแทนของประวัติความเป็นมาของชาติและชนชาติไทยไปพร้อมกัน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกับการพัฒนาพิพิธภัณสถาน. Available at: www.finearts.go.th/museumkanjanaphisek/pr1. Accessed on: 12th Oct 2018.
  • กรมศิลปากร. 2480. “พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ร.ศ.126,” วารสารศิลปากร, ปีที่ 1 เล่ม 1 (มิถุนายน), น.103-109.
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X