สำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) รายงานข่าวในวันนี้ (28 กุมภาพันธ์) ว่า คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเร่งปฏิรูปและออกแบบกระบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ท่ามกลางความวิตกกังวลเรื่องปัญหาการขาดแคลนอาหารในเกาหลีเหนือที่กำลังเลวร้ายลงทุกขณะ
คิมจองอึนกล่าวภายในที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7 ของคณะกรรมการกลางพรรคแรงงานเกาหลีชุดที่ 8 ซึ่งจัดขึ้นเป็นวันที่สองเมื่อวานนี้ (27 กุมภาพันธ์) ว่าการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้ได้ตามเป้าหมายมีความสำคัญอย่างมากในปีนี้ พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่มีเสถียรภาพ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านอาหาร และสร้างหลักประกันเกี่ยวกับการเสริมสร้างแนวคิดสังคมนิยมภายในเกาหลีเหนือ
เบื้องต้นยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดที่แน่ชัดว่าเกาหลีเหนือจะดำเนินมาตรการหรือนโยบายใดเพื่อปฏิรูปด้านการเกษตรของประเทศ แต่คิมจองอึนกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงจำเป็นจะต้องเกิดขึ้นภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งพื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่ของเกาหลีเหนือเป็นแบบฟาร์มรวม ที่เจ้าของมักจะเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยมาสร้างผลผลิตทางการเกษตรด้วยการใช้แรงงานร่วมกัน
เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้เผยว่า สถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหารในเกาหลีเหนือดูเหมือนจะยิ่งย่ำแย่ลง โดยนับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมากที่ทางการเกาหลีเหนือจะเรียกประชุมพิเศษเพื่อวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรเช่นนี้ หากสถานการณ์ภายในเกาหลีเหนือยังคงดำเนินไปได้ด้วยดี
ขณะนี้เกาหลีเหนืออยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติอย่างหนักเกี่ยวกับโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ อีกทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศก็ตึงเครียดขึ้นอย่างมาก จากการปิดกั้นพรมแดนประเทศของตนเองอย่างเข้มงวดเพื่อยุติการระบาดของเชื้อโควิดในประเทศตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกก็ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรในเกาหลีเหนือไม่มากก็น้อย
โดยโครงการ 38 North ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ภายในเกาหลีเหนือจากสหรัฐอเมริกา คาดว่าสถานการณ์ความมั่นคงทางด้านอาหารในเกาหลีเหนือกำลังเลวร้ายอย่างมาก นับตั้งแต่วิกฤตข้าวยากหมากแพงในช่วงทศวรรษ 1990
โครงการ 38 North ระบุว่า การแก้ไขปัญหาระยะยาวส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการแก้ไขข้อขัดแย้งเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์และการคว่ำบาตร รวมถึงจะต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศอีกด้วย ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของเกาหลีเหนือ พร้อมเปิดพื้นที่กับตลาดโลกมากยิ่งขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารภายในเกาหลีเหนือได้อย่างยั่งยืน
แฟ้มภาพ: API / Gamma-Rapho via Getty Images
อ้างอิง: