ช่วงกลางปีที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์จำนวนมากตัดสินใจยุติการออกอากาศและยื่นขอคืนใบอนุญาตของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เนื่องจากไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งหลายช่องในนั้นคือฟรีทีวีในหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงคราวอวสานของช่องทีวีเด็กที่กำลังหายสาบสูญจากหน้าจอโทรทัศน์ไทย
ล่าสุด คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวทีสาธารณะ ‘อวสานทีวีเด็กไทย! ยอมแพ้ หรือ ไปต่อ’ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับสื่อโทรทัศน์สำหรับเด็ก โดยเชิญผู้ที่เคยทำงานอยู่ในรายการเด็ก อาทิ ภัทรจารีย์ อัยศิริ นักสร้างสรรค์ (น้านิตแห่ง สโมสรผึ้งน้อย), ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดวงรัตน์ แซ่จิว หนึ่งในผู้ปกครองของเด็กๆ ร่วมพูดคุยและหาทางออกของปัญหาดังกล่าว
จุดเริ่มต้นรายการเด็ก กับเส้นทางที่เต็มไปด้วยอุปสรรคทุกยุคทุกสมัย
ผศ.ดร.มรรยาท ย้อนอดีตของรายการเด็กในหน้าจอโทรทัศน์ไทยว่า เดิมทีรายการของเด็กหรือเยาวชนมีมาตั้งแต่ปีแรกของการออกอากาศทีวีไทย เพียงแต่ยังไม่มีชื่อรายการอย่างเป็นรูปธรรม แต่จะเป็นช่วงเวลาสำหรับเด็กที่มีเวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น เรียกได้ว่ารายการทีวีไทยมีอายุเท่าไร รายการเด็กของเมืองไทยก็มีอายุเท่านั้น หรือคิดเป็นเวลากว่า 60 ปี
ส่วนเส้นทางของรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กในเมืองไทย ไม่มียุคใดที่เป็นยุคทอง เพียงแต่มีช่วงที่เสมอตัวและช่วงที่วิกฤตหนัก บางยุคแม้ดูเหมือนว่ามีโอกาสดีขึ้น เช่น ยุคที่มีการประกาศปีเด็กสากล ที่ทำให้คนไทยสนใจเรื่องสื่อสำหรับเด็กมากขึ้น หรือการมีกฎระเบียบให้จัดช่วงเวลารายการสำหรับเด็ก รวมถึงการเกิดขึ้นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) การเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์บริการสาธารณะแห่งแรกของไทยอย่างไทยพีบีเอส และการเกิดขึ้นของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ก็เป็นแรงสนับสนุนให้รายการเด็กมีพื้นที่ในสถานีโทรทัศน์มากขึ้น
แต่ทั้งนี้หากมองภาพรวมของภูมิทัศน์สื่อแล้ว รายการสำหรับเด็กของไทยก็แทบจะไม่มีพื้นที่ แม้ในปัจจุบันจะมีประกาศของ กสทช. ให้สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีระบบดิจิทัลทุกช่องต้องมีรายการเด็กและครอบครัวทุกวัน อย่างน้อยวันละ 60 นาที แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ใช่เช่นนั้น แม้แต่ในช่องทีวีหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัวเองก็ไม่สามารถมีพื้นที่ให้รายการเด็กของไทยมากอย่างที่หวัง ยิ่งเมื่อโทรทัศน์ต้องต่อสู้แข่งขันในทางธุรกิจที่สูงมาก รายการสำหรับเด็กจึงยิ่งมีสัดส่วนและพื้นที่น้อยลงเรื่อยๆ
ทัศนะต่อรายการเด็กจากอดีตสู่ปัจจุบัน โดย ‘น้านิต’ ผู้บุกเบิกรายการสโมสรผึ้งน้อย
“รายการ สโมสรผึ้งน้อย เกิดจากความต้องการของทีมผู้ผลิตที่จะสร้างผลงานหรือรายการให้เด็กได้ดู” ภัทรจารีย์ หรือน้านิต เปิดเผยถึงที่มาของรายการ สโมสรผึ้งน้อย
ปัจจัยอันดับต้นๆ ที่ทำให้ภัทรจารีย์อยากทำรายการเด็ก เพราะไม่มีรายการให้หลานดู และอีกสิ่งที่เจ็บปวดมากก็คือ เธอได้ไปอยู่สหรัฐอเมริกามา 2 ปีครึ่ง ได้เห็นความใส่ใจของคนอเมริกันที่เขาต้องการเห็นเด็กในประเทศของเขามีรายการเกี่ยวกับเยาวชนดีๆ ให้เด็กได้ดู
“น้านิตทำรายการ สโมสรผึ้งน้อย เพื่อให้เด็กมีตัวตน เพื่อเป็นสัญญาณให้คนในประเทศชาติรู้ว่าคุณต้องดูแลเด็ก ต้องทำให้ผู้ใหญ่ยอมให้พื้นที่เด็ก ซึ่งตอนนั้นเรายอมทำทุกอย่าง และใช้เวลาพิสูจน์มาแล้ว 30 ปี แม้เมื่อก่อนเราจะมีแต่น้ำตาไปบ้าง แต่มาวันนี้น้ำตามันแห้ง มันเหลือแต่รอยยิ้ม เพราะว่าเด็กๆ ผึ้งน้อยในวันนั้น ได้เติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพวันนี้”
นอกจากนี้น้านิตได้ให้ความเห็นต่อการทำรายการเด็กในยุคปัจจุบันว่า การสร้างสถานีโทรทัศน์สำหรับเด็กวันนี้เป็นเหมือนการปลูกเมล็ดไทรลงในดินดีที่มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องรอนานต้นอ่อนก็จะแทงยอดโผล่ขึ้นมาให้เห็น แต่ที่ต้องรอนานหน่อยก็คือการรอวันให้ต้นอ่อนเจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาเป็นต้นไทรใหญ่ที่งดงาม
“พวกเรามีความอดทนและใจเย็นพอที่จะรอดูสถานีโทรทัศน์เด็กเติบโตไปพร้อมกับเด็กของเราไหม” เธอตั้งคำถาม
“เราต้องทำทีวีเด็กให้เป็นเหมือนกับการปลูกต้นไทร ไม่ใช่ปลูกต้นหอมผักชีแบบที่ผ่านๆ มา เปรียบเทียบอย่างนี้พวกเราเห็นภาพเลยไหมว่าการมีสถานีโทรทัศน์ช่องเด็กคือการทำให้เด็กในประเทศนี้มีตัวตน มีความหมายมากขึ้น”
เด็กจะมีความสุขอย่างไร เด็กจะเก่งมากขึ้นได้ไหมหากไม่มีรายการของเด็ก
น้านิตบอกด้วยว่า คนทั้งประเทศจะรู้สึกว่าเรื่องนี้เราต้องให้ความสำคัญไหม แน่นอนว่าพวกเรามองภาพของคำตอบนี้ออก โดยเธอได้ยกตัวอย่างเพิ่มเติมเป็นความเห็นของ ครูชีวัน วิสาสะ นักวาด นักเล่านิทาน และผู้ให้กำเนิดนิทาน ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ ขวัญใจเด็กๆ ว่า
“จอเด็ก จอดี สิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่แค่มีภาพเคลื่อนไหวมาให้เด็กนั่งดู การที่จะเกิดช่องทีวีสำหรับเด็กนั้นต้องเริ่มจากหัวใจอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ผู้ใหญ่ เกิดจากการรวมตัวของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์หลายสาขามาร่วมสร้างสรรค์รายการหลากหลายรูปแบบ เพื่อนำสิ่งดีๆ ผ่านจอสู่เด็กๆ ซึ่งเมื่อส่งต่อสิ่งดีๆ ออกไปถึงบ้าน จอเด็ก จอดีก็จะเป็นจอรวมจิตเชื่อมใจของทั้งครอบครัว ไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้น พ่อแม่ ผู้ใหญ่รับรู้ เรียนรู้เรื่องราวที่สื่อถึงเด็กผ่านวิธีการสื่อสารที่ออกแบบกลั่นกรองอย่างเหมาะสม”
ภาพใหญ่ที่เราจะได้เห็นคือการรวมคน รวมมันสมอง เพื่อสร้างชาติผ่านช่องทีวีสำหรับเด็ก ที่ต้องใช้เวลา ใช้การสั่งสมบ่มเพาะส่งต่อความคิดสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดความดีงามในสังคมทั้งปัจจุบันสู่อนาคต
“อย่าให้เด็กที่โตไปแล้วคิดได้ว่า ทำไมผู้ใหญ่ไม่คิดทำอะไรให้เราเลย?”
มนุษย์ผู้ใหญ่ทั้งหลายลงทุนไปกับโครงสร้างทางวิศวกรรมสังคมเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของผู้ใหญ่ทั้งหลาย โดยไม่มีเด็กอยู่ในสายตามานานมากแล้ว และควรคิดถึงเด็กอย่างจริงจัง อย่างมุ่งมั่นตั้งเป้าว่าจะต้องทำให้ได้ ก็คงไม่มีอะไรมาขวางได้ หากมีความจริงใจไร้ความคิดแฝงในทางร้ายหรือมุ่งแสวงประโยชน์ส่วนตน โปรดช่วยกันคิด ถ้ามนุษย์ผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงมีศักยภาพที่จะทำให้เกิดช่องทีวีสำหรับเด็กไม่สามารถทำให้สำเร็จก็เป็นเรื่องน่าเศร้า
เพราะฉะนั้นสำหรับน้านิต ทีวีเด็กไทยไม่ได้อวสาน แต่ที่อวสานจริงๆ คือ ‘อวสานธุรกิจทีวีเด็กไทย’
“ที่ต้องบอกว่าอวสานธุรกิจทีวีเด็กไทย เพราะประเทศนี้ต้องไม่เอารายการของเด็กมาเกี่ยวข้องกับธุรกิจ เนื่องจากเงื่อนไขการทำธุรกิจมันค่อนข้างชัดเจนมากว่า ถ้ารายการเกิดทำต่อหรือเดินต่อไม่ได้ก็ต้องเลิกไป เราไม่ได้มีรายการเด็กเพื่อมาสร้างให้ใครรวย เพียงแต่เราต้องการสร้างสื่อเด็กให้มีความมั่นคง เพื่อให้เด็กของเราเติบโตมาอย่างมีคุณภาพที่สุด และที่เด็กๆ ยุคนี้ไม่ดูทีวีกันก็เพราะบนจอไม่มีรายการสำหรับพวกเขาให้ดู”
เหตุใด…รายการเด็กจึงยังจำเป็นอยู่
ทางด้านตัวแทนผู้ปกครองอย่าง ดวงรัตน์ ซึ่งเป็นคุณแม่ท่านหนึ่ง ได้ให้ความเห็นว่า ในมุมมองของผู้ปกครองหรือคนเป็นแม่ อย่างแรกเลยเราต้องการให้ลูกของเราเติบโตมาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ อยากให้ลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี รวมไปถึงการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ซึ่งเวลาว่างของเด็กในปัจจุบันนี้ก็คือการใช้สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นหลัก
ซึ่งปัจจุบันนี้พบว่าสื่อทางช่องทางเหล่านี้ไม่ได้มีการคัดกรองที่ดีเท่าที่ควร เด็กได้รับแต่ภาพที่มีความรุนแรง ทัศนคติที่ค่อนข้างเป็นลบ เพราะฉะนั้นเธอคิดว่าการมีสื่อที่ดีสำหรับเด็กผ่านช่องทางโทรทัศน์ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะอย่างน้อยเด็กจะได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รวมไปถึงอยู่ในสายตาของผู้ปกครอง พร้อมทั้งการมีพัฒนาการที่ดีอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ ทำให้มองย้อนกลับไปถึงตัวเอง
“เมื่อในอดีตเราก็เคยเป็นเด็ก และเราพบว่าเราเติบโตมาในยุคที่ได้รับสื่อสำหรับเด็กในแง่มุมดีๆ มีความสุขกับการใช้ชีวิต เช่น ช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ เวลา 8 โมงเช้าคือเวลาที่เราตั้งตารอเพื่อจะได้รับชมการ์ตูน ทำให้เราอยากตื่นเช้าเพื่อมาดูการ์ตูน ซึ่งดูแล้วก็ได้ซึมซับเรื่องดีๆ จนอยากทำตาม ในฐานะแม่ เราจึงอยากให้มีสื่อที่ดีสำหรับลูก ให้เด็กมีพัฒนาการประสาทสัมผัสทั้ง 5 เพื่อที่จะสามารถแยกแยะในการรับสื่อที่ดีและไม่ดีได้ด้วยตนเอง เพื่อที่เขาจะสามารถเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพที่จะช่วยพัฒนาประเทศ เพราะเขาต้องเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าแทนเรา จึงอยากเรียกร้องให้มีพื้นที่สื่อสำหรับเด็ก เพื่อที่จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ” ดวงรัตน์กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม หากมองเป็นภาพรวมของอุตสาหกรรมรายการทีวี โดยเฉพาะกับรายการเพื่อเด็กและเยาวชน แม้ว่าในช่วงแรกอาจดูเป็นเรื่องง่ายในการทำให้รายการเด็กมีอยู่ในสถานีเพียงแค่ซื้อการ์ตูนหรือรายการอื่นๆ มาไว้ในช่องก็อาจทำให้มีรายได้หรือตามมาตรการต่างๆ ที่กำหนดไว้
แต่ในความเป็นจริงผู้ประกอบการต้องเข้าใจก่อนว่า ‘ช่องเด็ก’ คือช่องที่มีไว้เพื่อเด็กและเยาวชน และเนื้อหาก็ควรผลิตเพื่อเด็ก นี่จึงเป็นเหตุผลอันดับต้นๆ ที่ทำให้ที่ผ่านมามีรายการเด็กในประเทศไทยที่น่าสนใจจำนวนมาก แต่ยังขาดการสนับสนุนที่ดี รวมทั้งยังไม่มีมาตรการที่จะจูงใจด้านผลประโยชน์ให้ผู้ประกอบกิจการที่อยากทำช่องดีๆ เพื่อสังคมอย่างช่องเด็ก เช่น การลดภาษี การช่วยแบ่งเบาภาระต่างๆ เป็นต้น
ดังนั้น ถึงตอนนี้เราทุกคนคงต้องตระหนักแล้วว่า วันนี้คือวันที่วิกฤตมากๆ สำหรับรายการเพื่อเด็กและเยาวชนไทยอย่างแท้จริง
เพราะอย่างน้อยที่สุดรายการทีวีสำหรับเด็กก็สามารถเปรียบดั่งประตูบานแรกที่จะนำเด็กๆ เข้าไปเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในแบบที่เราเคยได้เรียนรู้จากรายการประเภทนี้ในแบบสมัยที่เรายังเด็ก
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า