ภาคการเกษตรปลูกอ้อยและอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล ขณะนี้กำลังตกเป็นจำเลยของสัมคมว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่พุ่งขึ้น ส่งผลให้ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องออกมาดำเนินการ
ชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและให้ความร่วมมือกับภาครัฐด้วยการลดปริมาณการรับซื้ออ้อยที่ถูกลักลอบเผา และส่งเสริมการใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวอ้อยสดอย่างต่อเนื่อง
“ในฤดูกาลหีบ 2567/2568 บริษัทฯ มีปริมาณอ้อยไฟไหม้เฉลี่ยทั้งกลุ่มอยู่ที่ 17.85% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 3.4 ล้านตันในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ภายในกรอบอัตราไม่เกิน 25% ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม อีกทั้งสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐในการลดฝุ่น PM2.5 ในฤดูเก็บเกี่ยวจากการเผา” ชลัชกล่าว
อย่างไรก็ตาม มาตรการของภาครัฐที่ออกมา ถึงแม้จะมีส่วนในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บรรเทาผลกระทบให้ประชากรโดยรวมของประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยในเรื่องต้นทุนการเก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น
สำหรับมาตรการภาครัฐที่เพิ่มราคาซื้ออ้อยสด 120 บาทต่อตัน ไม่ได้สะท้อนต้นทุนการเก็บเกี่ยวอ้อยสด 200-250 บาทต่อตัน ในขณะที่อ้อยเผามีต้นทุนการเก็บเกี่ยวที่ 100-150 บาทต่อตัน จึงทำให้ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลดปริมาณอ้อยเผาได้ในทุกพื้นที่
ในขณะที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลกำลังตกเป็นจำเลยสังคมในด้านการสร้างมลพิษทางอากาศ กลับมีข้อมูลจากโครงการขายคาร์บอนเครดิตจากอ้อย เปิดเผยถึงปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อ้อยอายุ 1 ปี สามารถดูดซับอยู่ที่ 5,800 กิโลกรัมคาร์บอนต่อไร่ ถึงแม้ในกระบวนการปลูก ใส่ปุ๋ย ตัดอ้อย และขนส่งถึงโรงงาน จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1,400 กิโลกรัมคาร์บอนต่อไร่ ก็ยังสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 4,400 กิโลกรัมคาร์บอนต่อไร่
“อ้อยสดสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 4,400 กิโลกรัมคาร์บอนต่อไร่ ในขณะที่อ้อยไฟไหม้จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอีก 3,850 กิโลกรัมคาร์บอนต่อไร่ ถึงแม้จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็ยังสามารถดูดซับได้ 550 กิโลกรัมคาร์บอนต่อไร่ ประเทศไทยปลูกอ้อย 10 ล้านไร่ต่อปี สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 40,000 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนต่อปีโดยประมาณ ซึ่งสามารถช่วยลดภาวะเรือนกระจกและช่วยลดภาวะโลกร้อนได้” ชลัชกล่าว
คาดรายได้งวดปี 2567/2568 โต 15% หลังมีอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้น
ชลัชคาดว่า ฤดูการผลิตอ้อยปี 2567/2568 ปริมาณอ้อยในระบบของทั้งประเทศจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 95-100 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 15-22% เมื่อเทียบกับปี 2566/2567 ซึ่งอยู่ที่ 82 ล้านตัน เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น และเกษตรกรหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น
สำหรับบริษัทฯ คาดการณ์ปริมาณอ้อยเข้าหีบปี 2567/2568 จะอยู่ที่ 6.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 23% จากปี 2566/2567 ซึ่งอยู่ที่ 5.4 ล้านตัน อีกทั้งคาดการณ์รายได้ปี 2568 (เดือนพฤศจิกายน 2567 – ตุลาคม 2568) อยู่ที่ 19,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปัจจัยข้างต้น และกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการเริ่มเดินเครื่องจักรโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ของบริษัทฯ ในจังหวัดสระแก้ว
สำหรับราคาน้ำตาลตลาดโลก 2567/2568 ในช่วงครึ่งปีแรก มีแนวโน้มอยู่ที่ 18-20 เซนต์ต่อปอนด์ ลดลง 16% จากงวดปีก่อน 24-26 เซนต์ต่อปอนด์ จากปัจจัยมีสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกเป็นจำนวนมาก และเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังอาจมีปัจจัยบวกเข้ามาหนุนราคาน้ำตาลตลาดโลกให้สูงขึ้น จากกำลังการผลิตน้ำตาลของอินเดียและจีนที่ลดลงในต้นฤดูกาลหีบ 2567/2568
ขณะที่ผลประกอบการในงวดปี 2567 (เดือนพฤศจิกายน 2566 – ตุลาคม 2567) บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 16,442 ล้านบาท ลดลง 11% จากปีก่อนที่ 18,449 ล้านบาท จากปัจจัยภัยแล้ง ทำให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลง
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 918 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อนที่ 904 ล้านบาท จากปัจจัยราคาน้ำตาลตลาดโลกอยู่ในระดับสูง และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนค่า จึงทำให้ในปี 2567 บริษัทฯ มีกำไรใกล้เคียงกับปี 2566 (เดือนพฤศจิกายน 2565 – ตุลาคม 2566)
ในส่วนของการขายไฟฟ้าผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องจากการผลิตน้ำตาล งวดปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้ 1,500 ล้านบาท ลดลง 7% จากปีก่อนที่ 1,600 ล้านบาท จากปัจจัยการปรับลดค่า Ft ของภาครัฐ ซึ่งจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2568 ตามมติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
อย่างไรก็ตาม การประกาศปรับลดดังกล่าวไม่ส่งผลต่อกำไรรวมของบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสัดส่วนรายได้หลักของบริษัทฯ มาจากธุรกิจน้ำตาล 80-90%