วันนี้ (1 มิถุนายน) ที่ทำเนียบรัฐบาล อนุชา บูรพชัยศรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 จำนวนไม่เกิน 31 ล้านคน จะได้รับสิทธิ์สนับสนุนค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้า และบริการทั่วไปจากภาครัฐไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน โดยแบ่งการใช้สิทธิ์เป็น 2 รอบ รอบละ 3 เดือน รอบละ 1,500 บาท รวม 3,000 บาท ตลอดระยะเวลาโครงการ วงเงินงบประมาณรวม 93,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ สามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์ได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2564 หรือจนกว่าสิทธิ์จะเต็ม โดยสามารถเริ่มใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564 คาดว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 186,000 ล้านบาท ส่งผลให้ GDP ขยายตัวร้อยละ 0.5
โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในรูปแบบบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Voucher) เมื่อชำระเงินผ่าน G-Wallet บนแอปพลิเคชันเป๋าตังกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ติดตั้งแอปพลิเคชันถุงเงิน (ไม่รวมถึงสินค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ) ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2564 โดยจำกัดวงเงินใช้จ่ายสูงสุดที่จะนำมาคำนวณสิทธิ์ ไม่เกิน 60,000 บาทต่อคน และไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน และจะได้รับสิทธิ์สะสมสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคนตลอดระยะเวลาโครงการ กลุ่มเป้าหมายไม่เกิน 4 ล้านคน และต้องไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com หรือ แอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ และยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนที่สาขา หรือตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย หรือแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT รวมวงเงินงบประมาณ 28,000 ล้านบาท
โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โดยช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านค้าธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (ร้านธงฟ้าฯ) และค่าซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 จำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564 รวมเป็นวงเงินไม่เกิน 1,200 บาทตลอดระยะเวลาโครงการ (กรณีมีวงเงินคงเหลือในเดือนใดจะไม่มีการสะสมไปในเดือนถัดไป) กลุ่มเป้าหมาย 13,650,159 คน วงเงินรวม 16,380 ล้านบาท
โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 กลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงผู้ที่ลงทะเบียนด้วยตัวเองไม่สำเร็จ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเราชนะ ไม่เกิน 2,500,000 คน วงเงินงบประมาณรวม 3,000 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล