×

ขอนแก่น จังหวัดแห่ง ‘เซลส์แมน’ ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพ แต่ที่ยังมีไม่มากคือการสนับสนุนจากรัฐ

10.04.2024
  • LOADING...
ขอนแก่น จังหวัดแห่ง เซลส์แมน

ด้วยขนาดที่ใหญ่กับจำนวนประชากรที่มากที่สุดราว 1 ใน 3 ของประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือ ‘อีสาน’ ถือเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยโอกาสในแง่ของแรงงานและพื้นที่ที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาวกับกัมพูชา แต่กลับถูกมองข้ามในอดีตมาหลายครั้งจากภาพจำแบบเดิมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเดิมที่พึ่งพาเกษตรเป็นหลัก

 

แต่มาวันนี้ภาคอีสานได้เปลี่ยนไปแล้ว นำโดยจังหวัดขอนแก่นที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหัวเมืองหลักของภูมิภาคนี้ ซึ่งกำลังขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ให้กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากธุรกิจเพื่อกระจายโอกาสให้ทั่วถึงคนนอกเมืองหลวงได้มากขึ้น

 

แล้วขอนแก่นมีกลยุทธ์อย่างไร มีอะไรที่พวกเขาได้ลงมือทำกันไปแล้วเพื่อที่จะมุ่งหน้าไปสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจที่กระจายตัวออกจากกรุงเทพฯ?

 

สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ผู้ที่เป็นหัวเรือสร้างบริษัท เคเคทีที ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ในประเด็นของโอกาส ความท้าทาย และศักยภาพของคนในจังหวัดขอนแก่นไว้ได้น่าสนใจทีเดียว

 

เริ่มจากจักรกลสำคัญอันดับแรกคือทรัพยากรมนุษย์ โดยสุรเดชมองว่าคนขอนแก่นทุกคนคือ ‘เซลส์แมน’ ที่แต่ละคนมีหน้าที่เป็นของตัวเองในฐานะตัวแทนผู้โปรโมตจังหวัด เพราะทุกครั้งที่พวกเขาออกไปหาโอกาสทางธุรกิจ ทุกคนพร้อมใจพูดถึงขอนแก่นด้วยความหวัง ซึ่งความหวังเหล่านี้ก็มาจากต้นทุนเดิมที่คนในจังหวัดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่มาโดยตลอด ผู้ที่ออกในศึกษาต่อทั้งในกรุงเทพฯ และต่างประเทศจนนำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด หรือกระทั่งกลุ่มคนที่เห็นช่องว่างเชิงธุรกิจก็ได้เริ่มเข้ามาลงทุนแล้วจากเครือข่ายระหว่างคนนอกและคนในที่เชื่อมถึงกันด้วยอินเทอร์เน็ต

 

พอเป็นแบบนี้คำถามที่ตามมาในยุคปัจจุบันนั้นคงจะหนีไม่พ้นเรื่องของเทคโนโลยีที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก แล้วขอนแก่นมีแบบแผนการพัฒนาและคว้าโอกาสในเรื่องนี้ให้ทันโลกอย่างไร?

 

ต้องบอกว่าขอนแก่นค่อนข้างเตรียมพร้อมในเรื่องนี้มาก เนื่องจากที่ผ่านมาไม่นานเคเคทีทีได้ยื่นขอให้ขอนแก่นกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษดิจิทัล ซึ่งจะไปรวมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ให้ทั่วถึงคนไทยในทุกภูมิภาค แต่ในส่วนของขอนแก่นจะเน้นไปที่การยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัล

 

“นักพัฒนาโปรแกรมอยู่ที่ขอนแก่นค่อนข้างเยอะ เรามีโปรเจกต์ด้านเทคอยู่หลายราย เช่น โปรเจกต์ KGO (Knowledge Governance Token) โปรเจกต์ NFT (Non-Fungible Token) และเมตาเวิร์สที่เป็นโครงการนำร่องให้ผู้คนในภูมิภาคได้เรียนรู้ ทำความคุ้นเคยและเข้าใจกับโลกดิจิทัลให้มากขึ้น” สุรเดชกล่าว

 

นอกจากนี้ ในส่วนของปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังก้าวเข้ามาดิสรัปต์ธุรกิจหลายด้านก็เป็นหนึ่งในทักษะที่เคเคทีทีได้ร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อเริ่ม Upskill และ Reskill คนของตัวเองแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม เส้นทางการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นนั้นก็มิใช่ว่าจะทำได้โดยปราศจากอุปสรรค เพราะหลายครั้งที่สุรเดชมีโอกาสพูดคุยแผนงานกับหน่วยงานรัฐ หนึ่งในความท้าทายที่มักจะต้องเจอคือการปิดกั้นแนวคิดที่เจ้าตัวมองดูแล้วคล้ายกับว่าเป็นการยื้อให้อยู่ที่จุดเดิมทั้งๆ ที่โลกเดินไปข้างหน้าแล้ว เมื่อการมองจากส่วนกลางเป็นแบบนี้ แน่นอนว่ามันก็สะท้อนกลับมาในงบประมาณหรือความพยายามสนับสนุนที่ไม่เพียงพอตามไปด้วย

 

อีกหนึ่งอุปสรรคที่มีต้นตอมาจากประเด็นการปิดกั้น คือคำพูดที่ว่า “เคยลองมาแล้ว แต่มันไม่เวิร์ก” หรือ “ไม่มีทางหรอก เป็นไปไม่ได้หรอก” แต่สุรเดชยังย้ำว่าคนที่เคยพูดคำนี้กับเขาคือคนที่ลองทำเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว แต่ในอดีตกับปัจจุบันมันต่างกัน โครงสร้างพื้นฐานต่างกัน ฉะนั้นการทำงานร่วมกันต่อจากนี้ควรจะเป็นไปในแนวที่นำเสนอข้อผิดพลาดและข้อจำกัดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพื่อให้เกิดการถกด้วยเหตุผลและร่วมมือกันพัฒนาเมืองให้ดีกว่าเดิม

 

แม้ว่าการพยายามจะยกระดับขอนแก่นให้กลายเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจจะเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่ข้อคิดสุดท้ายที่สุรเดชฝากทิ้งท้ายเอาไว้จากความตั้งใจของเขาคือ “วิสัยทัศน์มีไว้ให้เดินตาม ไม่ใช่มีไว้เพื่อไปให้ถึง”

 

สำหรับเขาแล้ว การตั้งบริษัทพัฒนาขอนแก่นเริ่มต้นมาจากความต้องการที่อยากเห็นสถานที่แห่งนี้เจริญขึ้น แม้ว่าปลายทางจะสำเร็จหรือไม่คงไม่มีใครบอกได้ แต่หัวใจสำคัญคือในท้ายที่สุดพวกเขาได้ลงมือทำกันแล้ว เพราะทั้งตัวเขาและทีมงานต่างไม่อยากตกอยู่ในสถานะที่เต็มไปด้วยความรู้สึกเสียดาย เสียดายกับคำว่าถ้ารู้งี้เลือกลงมือทำซะดีกว่า เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยติดกับดักของคำว่า ‘รู้งี้’ มามากพอแล้ว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X