×

‘งบ 300 ล้านบาท’ แผนการเปลี่ยนคลองขายโอ่งให้เป็นแลนด์มาร์ก กทม.

11.03.2024
  • LOADING...
คลองขายโอ่ง

นับตั้งแต่ปี 2326 ที่คลองโอ่งอ่างถูกขุดขึ้นครั้งแรกเพื่อใช้เชื่อมต่อคลองบางลำพูช่วงปากคลองมหานาคให้ไปสุดที่เชิงสะพานพระปกเกล้า เพื่อใช้เป็นแหล่งค้าขายโอ่ง เครื่องปั้นดินเผาของชาวมอญและชาวจีน

 

ผ่านไปประมาณ 235 ปี ได้มีการทุ่มงบประมาณมหาศาลก้อนแรกกว่า 200 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งการค้าครั้งสำคัญที่มีมาตั้งแต่สมัยขายโอ่งจนขายของเล่น เพื่อให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของกรุงเทพฯ หรือที่เรียกว่าแลนด์มาร์ก

 

THE STANDARD รวบรวมข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่างซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 รวมทั้งสิ้น 325,290,676.75 บาท มาให้พิจารณา

 

การเรียกคืนพื้นที่อย่างเป็นทางการ

 

คลองโอ่งอ่างถูกพูดถึงในเชิงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ครั้งแรกเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2543 โดยคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่ามีมติให้กรุงเทพมหานครรื้อถอนอาคาร และแผงค้าที่รุกล้ำบริเวณคลองโอ่งอ่างซึ่งมีจำนวนประมาณ 500 แผง (ในพื้นที่เขตพระนคร 375 แผง และเขตสัมพันธวงศ์ 125 แผง) 

 

จากที่เมื่อปี 2526 ทาง กทม. เปิดให้เอกชนสัมปทานที่เพื่อทำการค้าเป็นเวลา 10 ปี นับจากนั้นกลุ่มผู้ค้าได้เริ่มสร้างสิ่งก่อสร้างและรั้วเหล็กปิดทับคลองเรื่อยมาจนเป็นที่มาของชื่อตลาดสะพานเหล็ก และแม้จะหมดเวลาสัมปทานก็ไม่มีการคืนที่แต่อย่างใด

 

จนกระทั่งเดือนกันยายน 2558 กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำอย่างจริงจังตามแนวทางของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 11 มกราคม 2502 โดยแจ้งให้ทุกแผงค้ารื้อย้ายแผงค้าภายใน 15 วัน (นับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2558) 

 

ทางสำนักการโยธา, สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์, สำนักงานเขตพระนคร, สำนักการระบายน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงมือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม จนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 

 

พร้อมกำหนดแผนก่อสร้างคลองใหม่เป็นแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) ไม่มีการทำดาดท้องคลอง เนื่องจากกรมศิลปากรต้องการให้อนุรักษ์สภาพพื้นคลองให้เป็นดินเหมือนในอดีต และติดตั้งท่อรวบรวมระบบสาธารณูปโภค ก่อสร้างระบบระบายน้ำเสีย รวมถึงสร้างบันไดลงท่าน้ำ 4 แห่ง 

 

และปรับปรุงสะพานข้ามคลอง 5 แห่ง ประกอบด้วย 

 

  • สะพานดำรงสถิต 
  • สะพานภาณุพันธุ์ 
  • สะพานหัน 
  • สะพานบพิตรพิมุข 
  • สะพานโอสถานนท์ 

 

งบประมาณก้อนแรก 200 ล้านบาท

 

ทีมข่าวได้สืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ตรวจสอบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ‘ภาษีไปไหน’ โดยค้นหาด้วยคำว่า ‘คลองโอ่งอ่าง’ สืบย้อนไปตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 จนถึงปัจจุบัน (ปี 2567) 

 

เฉพาะข้อมูลที่กรุงเทพมหานครเบิกจ่ายมาเพื่อพัฒนา ก่อสร้าง และปรับปรุงคลองโอ่งอ่างอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 สมัย พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 16 ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2559 – 24 มีนาคม 2565) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

งบประมาณปี 2561

 

โครงการ: ประกวดราคาจ้างโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง จากบริเวณสะพานดำรงสถิตถึงบริเวณสะพานโอสถานนท์ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ 

วันที่ทำสัญญา: 8 มิถุนายน 2561

ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง: 252,183,360.00 บาท

ผู้ชนะการเสนอราคา: ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.วาย.เอส.คอนสตรั๊คชั่น

 


FYI:

 

ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.วาย.เอส.คอนสตรั๊คชั่น ปรากฏข้อมูลเป็นผู้ชนะการประกวดราคาโครงการของกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี 2557 อีก 3 โครงการ ได้แก่

 

  1. โครงการจ้างปรับปรุงอาคารทวีวัฒนาอัลฟ่า ก./น., อาคารทวีวัฒนาอัลฟ่า, อาคารหน่วยฝึก ทม.รอ., อาคารหน่วยฝึก ทม.รอ.(เฉพาะส่วน ทม.แลนด์) โดยวิธีพิเศษ ราคาที่ตกลงซื้อ 108,409,490.00 บาท

 

  1. โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างเขื่อนดินชนิดกำแพงกันดิน ค.ส.ล. พร้อมเสริมความแข็งแรงเขื่อนเดิมริมคลองพระโขนง บริเวณซอยเริ่มเจริญ สุขุมวิท 50 ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ราคาที่ตกลงซื้อ 46,440,000.00 บาท

 

  1. โครงการจ้างปรับปรุงอาคารศูนย์รับเลี้ยงเด็กเดิมเป็นห้องสมุด ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน โดยวิธีพิเศษ ราคาที่ตกลงซื้อ 714,785.00 บาท

 

งบประมาณปี 2562-2564

 

งบประมาณปี 2562

 

โครงการ: ประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานซ่อมขอบบ่อพักพร้อมฝาถนนเจริญกรุง จากคลองโอ่งอ่างถึงแยกหมอมี ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์

ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง: 2,050,000.00 บาท

ผู้ชนะการเสนอราคา: บริษัท วิวัฒน์พล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

 

งบประมาณปี 2564 มี 3 โครงการ ได้แก่

 

โครงการ: ประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างและปรับปรุงเขื่อน ค.ส.ล. คลองโอ่งอ่างและคลองบางลำพู จากบริเวณสะพานดำรงสถิตถึงบริเวณป้อมพระสุเมรุ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ 

ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง: 70,100,000.00 บาท

ผู้ชนะการเสนอราคา: บริษัท ซีโก้ทรานสปอร์ต จำกัด

 

โครงการ: จ้างจัดทำระบบไฟฟ้าให้บริการแผงค้าชั่วคราวตลาดถนนคนเดินริมคลองโอ่งอ่าง โดยวิธีเฉพาะเจาะจง

ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง: 497,790.75 บาท

ผู้ชนะการเสนอราคา: บริษัท เจ.พี.อาร์. อินเทลลิเจน ซิสเต็ม จำกัด

 

โครงการ: จ้างงานซ่อมแซมผนังกั้นน้ำแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองผดุงกรุงเกษม, ปากคลองรอบกรุง, และปากคลองโอ่งอ่าง โดยวิธีเฉพาะเจาะจง

ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง: 459,526.00 บาท

ผู้ชนะการเสนอราคา: บริษัท ยูพีอี.เทรดดิ้ง จำกัด

 


 

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน (ปี 2567) ผ่านมาแล้ว 9 ปีที่หน่วยงานหลักอย่างกรุงเทพมหานครพยายามเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของคลองโอ่งอ่างมาโดยตลอด ด้วยการอัดฉีดงบประมาณก้อนโตประมาณ 325,290,676.75 บาท (ไม่นับรวมงบประมาณการจัดงานเทศกาล อาทิ ลอยกระทงในแต่ละปี)

 

ซึ่งไม่ว่าจะทุ่มงบประมาณ แปะประกาศคำสั่งไปอย่างไร ก็ดูเหมือนว่าการเปลี่ยนผ่านจากย่านการค้าที่ผนวกรวมแหล่งที่อยู่อาศัยแห่งนี้เพื่อไปเป็นแลนด์มาร์กหน้าตาของประเทศดูจะไม่สำเร็จบริบูรณ์สักที เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคีย์เวิร์ด ‘คลองโอ่งอ่าง’ นี้ต้องเจอทั้งกระแสข่าวการตรวจสอบงบประมาณ และภาพไม่เหมาะสมที่ทำลายทัศนวิสัยของพื้นที่ที่บูรณะมาตลอด

 

จึงเป็นโจทย์ใหญ่อีกหนึ่งข้อที่ต้องฝากไปถึงพ่อเมืองคนปัจจุบันอย่าง ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ว่าในระยะเวลาดำรงตำแหน่งที่เหลืออยู่อีก 2 ปีนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติที่รับไม้ต่อมาจากผู้ว่าฯ อัศวิน จะทำคลองโอ่งอ่างให้เป็นแลนด์มาร์กในฝันอย่างยั่งยืนได้จริงหรือไม่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X