คีรี กาญจนพาสน์ หอบข้อมูลแจงสื่อ หลัง ป.ป.ช. กล่าวหาร่วมฮั้วประมูล ยืนยันประมูลทุกขั้นตอนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีทั้งที่ปรึกษากฎหมายช่วยดูแล รวมถึงกฤษฎีกา จ่อฟ้องคนที่ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ระบุบริษัทยังแข็งแรง มีเงินพร้อมลงทุนโครงการใหญ่ตามแผน
คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งข้อกล่าวหาอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมกับพวก 13 คน ซึ่งปรากฏชื่อของตนเองและบริษัทฯ ในความผิดสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและความผิดฮั้วประมูล
โดยขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การได้มาของสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้นบริษัทมีการดำเนินการได้มาอย่างถูกต้องทุกขั้นตอน ไม่มีการฮั้วประมูลตามที่ถูกกล่าวหา บริษัทมีการแต่งตั้งที่ปรึกษาทางกฎหมายในการดูแลรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานตลอดในช่วงสมัยของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำนวน 4 คน ก่อนที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน
สำหรับการดำเนินคดีในเรื่องนี้ของ ป.ป.ช. ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 จากการที่ ส.ส. ท่านหนึ่งได้ร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และ ป.ป.ช. กล่าวหากรณีที่ กทม. ทำสัญญาจ้าง BTS เดินรถส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 โดยเบื้องต้นกล่าวหาว่า กทม. ไม่มีอำนาจดำเนินการ เพราะตามประกาศคณะปฏิวัติกำหนดให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษในเวลานั้นได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้น และมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องตนเองและบริษัทฯ เพราะจากพยานหลักฐานไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้อง และพนักงานอัยการก็มีความเห็นไม่สั่งฟ้องไปแล้ว
นอกจากนี้ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลและหลักฐานว่าตนเองและบริษัทฯ ไปร่วมกระทำความผิดอย่างไร ดังนั้นจึงได้พยายามค้นหาความจริง และพบว่าเรื่องนี้มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนมาหลายปีแล้ว ซึ่งมีการสอบปากคำบุคคลและรวบรวมพยานหลักฐานจนเสร็จสิ้นแล้ว และนำเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีความเห็นว่าไม่มีความผิด เห็นควรให้ยุติเรื่อง แต่มีอำนาจบางอย่างไม่ต้องการให้เรื่องนี้จบ และต้องการดึง BTS เข้าไปสู่ขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหาให้ตนเองหยุดเรื่องที่มีการฟ้องร้องโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
“ผมประมูลต่อสู้ด้วยตัวเลขที่แฟร์ๆ ไม่มีการฮั้วกับใคร เรื่องนี้มันมีขบวนการที่ต้องการกลั่นแกล้งให้ BTS ได้รับความเสียหายถึงขนาดให้ล้มละลายเลย ตอนนี้รัฐมีหนี้ค้างเกือบ 50,000 ล้านบาทแล้ว เราต้องการเงินเท่านั้น ไม่ต้องการแลกกับการต่ออายุสัมปทาน มีการสมคบกันเอาข้อมูลของ ป.ป.ช. มาออกข่าว เพื่อหวังให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจและความเชื่อมั่นของ BTS และก็เป็นไปอย่างที่ต้องการ คือเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 มีนาคม) ราคาหุ้น BTS ร่วงลงติดฟลอร์ แต่ด้วยความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เข้าใจเรา ทำให้ราคาขยับขึ้นมายืนที่ใกล้เคียงราคาเดิม ผมพร้อมจะดำเนินคดีกับทุกฝ่ายที่ทำให้บริษัทเสียหาย”
นอกจากนี้ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจที่ยังมีสถานะแข็งแรง รวมถึงมีผู้ถือหุ้น BTS ที่เข้าใจและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยจะยังเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการร่วมทุนในสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก มูลค่ารวมราว 8 แสนล้านบาท รวมทั้งเข้าประมูลเพื่อขอสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572
ด้าน สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นยังคงเป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เท่านั้น และ BTS ยังไม่ถูกฟ้องร้องหรือดำเนินคดีแต่อย่างใด และมีสิทธิที่จะคัดค้านเพื่อแก้ไขข้อกล่าวหาตามกระบวนการของกฎหมาย และทางบริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือตามกระบวนการทางกฎหมายทุกขั้นตอน
ทั้งนี้ บริษัทฯ ทราบว่าก่อนการจ้างในครั้งนี้ ทาง กทม. ได้มีการหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาในปี 2550 ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยโดยสรุปว่า การที่กรุงเทพมหานครมอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคมดำเนินโครงการ และบริษัทกรุงเทพธนาคมมาว่าจ้างเอกชนเดินรถ โดยได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทน ไม่ใช่การร่วมลงทุนกับเอกชน
นอกจากนี้การทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายนี้ได้ผ่านการสอบสวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในปี 2555 แล้ว โดยหลังสิ้นสุดการสอบสวนในปี 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานอัยการสูงสุดได้เห็นควรไม่ฟ้อง BTS
ส่วน สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน BTS กล่าวว่า ปัจจุบัน BTS มีสภาพคล่องดีอยู่ และในปีนี้บริษัทจะเริ่มเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ในเดือนมิถุนายน 2566 และเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงช่วงแคราย-มีนบุรี ในเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งบริษัทคาดว่าจะได้รับรายได้จากการเดินรถทั้งสองสายปีละ 2 พันล้านบาท และได้รับเงินอุดหนุนงานโยธาอีกปีละ 4.7 พันล้านบาท เป็นระยะเวลา 10 ปี
นอกจากนี้บริษัทได้งานบริหารการเดินรถและซ่องบำรุง (O&M) โครงการมอเตอร์เวย์ 2 สาย (สาย M6 และ M81) ซึ่งบริษัทร่วมทุนที่จะเปิดในปี 2568 จะมีรายได้เข้ามารวม 2 สาย ปีละ 2 พันล้านบาท และได้รับเงินอุดหนุนงานติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทาง ปีละ 1 พันล้านบาท (รวม 2 สาย) ระยะเวลา 20 ปี อีกทั้งในปีนี้บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน วงเงินราว 1 หมื่นล้านบาท ในช่วงกลางปี 2566
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กูรูแนะกลยุทธ์นักลงทุนในปี 2023 ศึกษาตลาด อย่าหวั่นไหว และรู้ข้อจำกัดตนเอง
- สินทรัพย์ไหนรุ่ง/ร่วง? เปิด 5 คำทำนายจากผู้จัดการกองทุนต่างๆ สำหรับปี 2023
- โปรดระวังดอลลาร์ ‘กลับทิศ’ กระทบเศรษฐกิจโลก