×

ถอดบทเรียนสงกรานต์ที่ถนนข้าวสาร ผู้ว่าฯ คนใหม่ควรรับมือกับโควิดอย่างไร?

18.04.2022
  • LOADING...
ถนนข้าวสาร

เทศกาลสงกรานต์ 2565 ผ่านไปแล้ว แต่ภาพถนนข้าวสารที่แน่นขนัดไปด้วยนักท่องเที่ยว รวมถึงภาพนักท่องเที่ยวเล่นสาดน้ำที่ถนนข้าวสารในวันที่ 13 เมษายน ยังค้างคาใจของใครหลายคนอยู่ แน่นอนว่าถ้ามองในมุมของ ‘บุคลากรทางการแพทย์’ ภาพดังกล่าวเต็มไปด้วยความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน แต่ในมุมกลับกัน ‘นักท่องเที่ยว’ ก็ยอมรับความเสี่ยงได้ และ ‘ผู้ประกอบการ’ ก็ต้องการให้ถนนข้าวสารกลับมาคึกคักอย่างที่เคยเป็น

 

ภาพเหล่านี้สะท้อนความอัดอั้นของพวกเขาที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันโรคโควิดมานานกว่า 2 ปีแล้ว บทความนี้จึงอยากชวนย้อนกลับไปทบทวนในมุมที่กว้างขึ้น ขณะเดียวกันในช่วงนี้กำลังจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็อาจเรียกว่าในมุมของ ‘ผู้ว่าฯ’ ที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างด้านสาธารณสุขและสังคม-เศรษฐกิจควบคู่กัน อีกทั้งผู้ว่าฯ ยังเป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อด้วย เทศกาลสงกรานต์ที่ถนนข้าวสารควรเป็นอย่างไร

 

เทศกาลสงกรานต์ตามประกาศของ ศบค.

 

แบบแรกคือยึดตามประกาศของ ศบค. เนื่องจากรัฐบาลยังประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคโควิดอยู่ ซึ่งล่าสุดขยายเวลาไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 การจัดงานเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้จึงต้องอยู่ภายใต้มาตรการหลักของ ศบค. 2 ข้อ คือ มาตรการตามระดับพื้นที่สถานการณ์ (พื้นที่สี) ซึ่งปัจจุบัน กทม. เป็นพื้นที่สีฟ้าหรือจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว และมาตรการเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ที่เหมือนกันทั่วประเทศ

 

การจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม ใน ‘พื้นที่สีฟ้า’ สามารถจัดกิจกรรมได้ตามความเหมาะสม ไม่มีการจำกัดจำนวนผู้ร่วมงานเหมือนพื้นที่สีส้มและสีเหลือง ที่ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 500 คน และ 1,000 คน ตามลำดับ ซึ่งหากเกินจำนวนให้คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. พิจารณา ส่วนร้านอาหารเปิดได้ตามปกติ แต่จำกัดเวลาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านไม่เกิน 23.00 น. และให้คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. พิจารณากำหนดมาตรการและเวลาเพิ่มเติมได้ตามสถานการณ์ของพื้นที่ได้

 

สำหรับมาตรการ ‘กรณีเฉพาะเทศกาลสงกรานต์’ ศบค. กำหนดไว้ 4 ข้อหลัก ดังนี้

 

1. พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์

ผู้จัดงานจะต้องดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อน รวมทั้งมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) กล่าวคือ

  • การเล่นน้ำหรือกิจกรรมตามวัฒนธรรมประเพณี เช่น การสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว การละเล่นตามประเพณี การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ หรือการแสดงดนตรี สามารถทำได้
  • ห้ามเล่นประแป้งและปาร์ตี้โฟม 
  • ห้ามจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดกิจกรรม 
  • จัดจุดคัดกรองบริเวณทางเข้าออก และให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากพื้นที่จัดกิจกรรม 
  • ควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ให้แออัด เกณฑ์ไม่น้อยกว่า 4 ตร.ม./คน

 

2. พื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ซึ่งไม่ได้รับอนุญาต ห้ามการเล่นน้ำ เล่นประแป้ง ปาร์ตี้โฟม หรือกิจกรรมใดๆ ที่เป็นความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค

 

3. การจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่หมู่บ้านหรือชุมชน สามารถทำได้ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาอนุญาต

 

4. สถานที่หรือการจัดกิจกรรมใดๆ ที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ให้ผู้ประกอบการดำเนินมาตรการความปลอดภัยตามที่ราชการกำหนด

 

กทม. ได้นำมาตรการของ ศบค. มากำหนดเป็น ‘ประกาศกรุงเทพมหานคร’ เรื่อง กำหนดสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่สามารถดำเนินการได้เป็นกรณีเฉพาะเพื่อการจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2565 โดยรายละเอียดที่เพิ่มขึ้นคือผู้จัดงานที่มีผู้ร่วมงานไม่เกิน 1,000 คน ต้องขออนุญาตสำนักงานเขตพื้นที่ แต่ถ้าเกิน 1,000 คน ต้องขออนุญาตสำนักอนามัย กทม. เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดมาตรการป้องกันควบคุมโรคและการคัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรม

 

ทั้งนี้ สถานที่จัดกิจกรรมควรจัดในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศระบายได้ดี หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมในพื้นที่คับแคบหรือในพื้นที่ห้องปรับอากาศ ส่วนการคัดกรองผู้ร่วมกิจกรรม กทม. ได้กำหนดเกณฑ์เพิ่มเติมคือ ให้เข้าร่วมได้เฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์เท่านั้น

 

และยังต้องดำเนินการตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 51) ลงวันที่ 14 มีนาคม 2565 คือ สถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ถ้าจะเปิดบริการต้องปรับรูปแบบเป็นร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม และหากจะจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะต้องผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในระดับ SHA Plus และให้ดื่มในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น.

 

ดังนั้นถนนข้าวสารเป็นพื้นที่สาธารณะ หากจะจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ต้องขออนุญาตจากสำนักงานเขตพื้นที่/สำนักอนามัย กทม. ก่อน โดยจะต้องกำหนดมาตรการป้องกันควบคุมโรคและการคัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามแนวทางข้างต้น ซึ่งจะออกมาในรูปแบบของ ‘ข้าวสารแห้ง’ เล่นน้ำแบบริน รด พรม ห้ามใช้ปืนฉีดน้ำ ไม่มีการเล่นประแป้ง จำกัดจำนวนคนให้เดินแบบ 1 คนเว้น 2 คน (4 ตร.ม./คน) ซึ่งจะต้องคำนวณพื้นที่ถนนข้าวสารออกมาแล้วกำหนดเป็นจำนวนผู้ร่วมงานทั้งหมด

 

ส่วนการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีความลักลั่นตรงที่ ศบค. อนุญาตให้นั่งดื่มในร้านได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่สีฟ้า แต่ห้ามดื่มในพื้นที่จัดกิจกรรม ซึ่งอาจเป็นบริเวณถนนด้านหน้าร้าน (ตอนนี้ประเทศไทยมีพื้นที่สีส้ม 20 จังหวัด ซึ่งรวมจังหวัดปริมณฑล 3 จังหวัดที่ยังห้ามนั่งดื่มในร้านอยู่) 

 

เทศกาลสงกรานต์แบบอยู่ร่วมกับโควิด

 

แบบถัดมาคือตามแนวคิดอยู่ร่วมกับโควิด (Living with COVID) อาจนิยามด้วย 3 แนวทาง คือ 

 

  1. เป็นแนวคิดที่อยู่ตรงข้ามกับ ‘โควิดเป็นศูนย์’ (Zero COVID) ซึ่งตั้งเป้าหมายในการควบคุมโรคให้จำนวนผู้ติดเชื้อให้ต่ำที่สุดหรือเป็นศูนย์เหมือนที่ประเทศจีนยังใช้อยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่การอยู่ร่วมกับโควิดมีเป้าหมายให้จำนวนผู้ป่วยไม่เกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงหรือที่มีอาการรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือห้องไอซียู

 

  1. เป็นแนวคิดที่เน้นสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยโพสต์เฟซบุ๊กถึงแนวคิด ‘การควบคุมโรคแนวใหม่ที่สมดุลกับการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยจากโควิด’ (Smart Control and Living with COVID-19) เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2564 นำมาสู่การผ่อนคลายมาตรการและการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันฝั่งสาธารณสุขได้กำหนดมาตรการ COVID Free Setting เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดด้วย

 

  1. เป็นแนวคิดที่สหราชอาณาจักรประกาศใช้ในการตอบโต้โควิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 ประกอบด้วย 4 หลักการ คือ
    • การอยู่ร่วมกับโควิด (Living with COVID-19) หมายถึง การยกเลิกมาตรการควบคุมโควิดภายในประเทศและส่งเสริมสุขอนามัยส่วนบุคคลผ่านคำแนะนำทางสาธารณสุขเหมือนกับโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่น 
    • การปกป้องประชาชนกลุ่มเปราะบางต่อโควิด หมายถึง การฉีดวัคซีนและการตรวจหาเชื้อตามกลุ่มเป้าหมาย
    • การคงไว้ซึ่งความยืดหยุ่น (Maintaining Resilience) หมายถึง การเฝ้าระวัง การวางแผนและความสามารถในการรื้อฟื้นความสามารถหลัก เช่น การฉีดวัคซีนจำนวนมาก และการตรวจหาเชื้อในภาวะฉุกเฉิน
    • การสร้างความปลอดภัยผ่านนวัตกรรมและโอกาส จากการตอบโต้โควิด ซึ่งรวมถึงการลงทุนในวิทยาศาสตร์สุขภาพ

 

ถ้าเป็นไปในแนวทางนี้ ผู้ว่าฯ กทม. น่าจะร่วมพูดคุยและสร้างพื้นที่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ (Stakeholder) แลกเปลี่ยนจนได้ข้อสรุปถึงแนวคิดนี้ว่า กทม. จะอยู่ร่วมกับโควิดอย่างไร หากจะตั้งเป้าหมายไม่ให้จำนวนผู้ป่วยเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุขก็ต้องทบทวนความพร้อมของโรงพยาบาลทุกสังกัดและทุกสิทธิการรักษาใน กทม. แล้วกำหนดเป็นระดับการเตือนภัยตามอัตราป่วยรายใหม่และอัตรารักษาตัวในโรงพยาบาล และทบทวนความครอบคลุมของวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง แล้วดำเนินการเชิงรุกมากกว่าตั้งรับ

 

หากจะสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ ก็ต้องทบทวนมาตรการควบคุมโรคว่ามาตรการใดที่ยังจำเป็นหรือควรยกเลิก เช่น มาตรการ DMHTT การสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่นอกอาคาร การตรวจอุณหภูมิและการสแกนไทยชนะยังจำเป็นอยู่หรือไม่ กิจกรรมที่ยอมรับความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคได้มากขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และมีมาตรการลดความเสี่ยง เช่น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น การจำกัดจำนวนผู้ร่วมงาน การตรวจ ATK ก่อนร่วมงาน

 

ถึงแม้การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยยังอยู่ในระดับสูง แต่มีแนวโน้มคงที่ เทศกาลสงกรานต์ที่ถนนข้าวสาร รวมถึงสถานที่อื่นๆ ใน กทม. ในปีนี้อาจจัดได้ใกล้เคียงกับปกติมากขึ้นหากมีข้อตกลงร่วมกัน ข้อมูลและเกณฑ์ที่ชัดเจนประกอบการตัดสินใจที่มากกว่านี้ บางคนกล่าวถึงเทศกาลสงกรานต์นี้ว่า “ไปให้สุด แล้วหยุดที่การกักตัว” ซึ่งอาจจะจริง แต่กระทรวงสาธารณสุขก็กำลังทบทวนเรื่องการลดวันกักตัวลงอีกเช่นกัน (จาก 7+3 วัน เหลือ 5+5 วัน)

 

เทศกาลสงกรานต์แบบโรคประจำถิ่น

 

แบบสุดท้ายคือตามแนวคิดโรคประจำถิ่น ซึ่งในทางวิชาการหมายถึงโรคที่เกิดขึ้นคงที่และคาดการณ์ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่รุนแรง อย่างไข้เลือดออกที่เป็นโรคเขตร้อนก็มีผู้เสียชีวิตเป็นประจำทุกปี ส่วนในทางการเมือง กระทรวงสาธารณสุขผลักดันแผนการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิดสู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ให้ ศบค. เดินหน้าเต็มที่ โดยมีเป้าหมายว่าจะเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post Pandemic) ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565

 

ภาพนักท่องเที่ยวที่แน่นขนัดถนนข้าวสารที่ผ่านมาคือ ‘ภาพอนาคต’ ที่เราทุกคนจะต้องเผชิญในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ การย้อนกลับไปทบทวนการจัดงานเทศกาลสงกรานต์จึงเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับโควิดในมุมมองที่ต่างไปจาก 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อถึงเวลานั้น ศบค. น่าจะ ‘กระจายอำนาจ’ ให้แต่ละจังหวัดตัดสินใจอย่างเต็มรูปแบบ ประชาชนเองก็ต้องตัดสินใจเช่นกัน ปกติแล้วเราประเมินและจัดการความเสี่ยงในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้คือการจัดการความเสี่ยงในระดับชุมชน-จังหวัด 

 

ถ้าท่านเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะจัดเทศกาลสงกรานต์ที่ถนนข้าวสารอย่างไร

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X