สารภาพตามตรงว่าฉันไม่ได้เข้าป่ามานานแล้ว และการเดินป่าในเส้นทางศึกษาธรรมชาติครั้งนี้ก็เรียกได้ว่าเหนื่อยดีเหลือเกิน ระยะทางรวมประมาณ 3 กิโลเมตรเศษๆ ทั้งชันและสูง แม้จะเดินง่ายเพราะมีเชือกอำนวยความสะดวก แต่เส้นทางแนวราบแทบจะหาไม่ได้เลย ทำให้หอบแฮกๆ อยู่หลายหนทีเดียว ทีมงาน THE STANDARD POP เดินทางเยือนกระบี่หลายครั้ง แต่เชื่อไหมว่าไม่มีใครคุ้นชื่ออุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจาเลย อุทยานแห่งชาติทางบกแห่งเดียวของจังหวัดกระบี่มีสภาพเป็นป่าดิบชื้น ทำหน้าที่เป็นดังป่าต้นน้ำของกระบี่ สิ่งน่าสนใจของที่นี่ไม่ใช่เพียงธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ แต่เป็นการร่วมมือกันของคนในชุมชนและภาครัฐในการช่วยกันดูแลสอดส่องผืนป่าที่เปรียบเหมือนบ้านของพวกเขาเอง
ไกด์กิตติมศักดิ์สำหรับการเดินป่าของเราในครั้งนี้เป็นถึงหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา ผู้ซึ่งผลักดันและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงดูแลโครงการต่างๆ จนเป็นอีกหนึ่งในหลายสถานที่ของจังหวัดกระบี่ที่ชาวบ้านและภาครัฐร่วมมือกันดูแลธรรมชาติ เรานัด เนรมิต สงแสง ไว้ตอน 10 โมงเช้า แสงแดดเริ่มสาดส่องขึ้นพร้อมกับเสียงของนกพันธุ์ต่างๆ หลังจากเตรียมอาหาร เครื่องดื่ม และอุปกรณ์เรียบร้อย พวกเราก็เดินตามหลังเนรมิตเข้าป่าไป
เขาพนมเบญจามีเส้นทางศึกษาธรรมชาติหลักๆ 2 รูปแบบ แบบแรกคือเส้นทางระยะยาวที่ต้องค้างอ้างแรมและเดินเท้าหลายสิบกิโลเมตรเพื่อพิชิตยอดเขา กับแบบที่สองคือเส้นทางระยะสั้นประมาณกิโลเมตรกว่าๆ ไปจนถึง 4 กิโลเมตร สำหรับคณะของเราแน่นอนว่าเป็นระยะสั้น บรรยากาศด้านในเงียบสงบ ไร้สุ้มเสียงจากภายนอก มีแต่เสียงใบไม้และสัตว์ป่าคลอเคลียตลอดทาง เส้นทางเดินสูงชันขึ้นไปตามแนวเขา ต้นไม้สองข้างทางรกชัฏ มีทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้เลื้อย ยุงและมดป่าเยอะมากชนิดที่ว่าหยุดพักทีไรต้องโดนกัดสักจุดสองจุด
“ที่นี่เปรียบเสมือนหลังคาของกระบี่” เนรมิตเอ่ยขึ้นระหว่างนำคณะของเราเดินทางสำรวจ “เป็นจุดสูงสุดของจังหวัดกระบี่ เป็นป่าต้นน้ำดั้งเดิมของกระบี่ และบางส่วนก็ไหลลงยังแม่น้ำตาปีของสุราษฎร์ธานีด้วย
“ปกติชาวบ้านจะพาลูกหลานมาเล่นน้ำตก 3 ชั้นแรก เดินเข้ามา 500 เมตรก็ถึง แต่ผมอยากพาคุณไปดูแหล่งต้นน้ำว่าที่นี่อุดมสมบูรณ์เพียงใด”
อุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจามีพื้นที่ประมาณ 53 ตารางกิโลเมตร หรือ 33,125 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภออ่าวลึก และอำเภอเขาพนม ที่นี่ครบเครื่องทุกอย่างที่ป่าสมบูรณ์พึงมี ทั้งต้นไม้ใหญ่หลากชนิด น้ำตก ลำธาร รวมถึงสัตว์หายาก เช่น สมเสร็จ เลียงผา ฯลฯ และนกพันธุ์ต่างๆ ที่มีมากกว่า 218 ชนิด
น้ำตกลำธารสายเล็กๆ ที่มีให้เห็นระหว่างทางสำรวจป่าต้นน้ำ
พันธกิจของอุทยานมีทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ การดูแลป้องกันอนุรักษ์ผืนป่า การศึกษาวิจัยพื้นที่ผ่านงานวิชาการ และการเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวนันทนาการ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องอาศัยการร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งหัวหน้าบอกว่ากว่าจะมาถึงจุดที่ร่วมมือกันได้อย่างทุกวันนี้ต้องผ่านอะไรมามากเหมือนกัน
“ต้องบอกว่าชาวบ้านเขาอยู่กับป่ามาก่อนที่จะเป็นอุทยาน แต่เดิมเขาพึ่งพิงป่า โดยเอาไว้เป็นแหล่งทำไม้ เอาไม้ไปใช้สอย เก็บหาของป่า เก็บน้ำผึ้ง สมุนไพรเพื่อยังชีพ แต่หลังเกิดภัยพิบัติดินถล่มในปี 2554 ทั้ง 3 อำเภอไม่ว่าจะเป็นอำเภอเมือง อำเภออ่าวลึก หรือแม้แต่อำเภอเขาพนมเองต่างบอบช้ำไม่แพ้กัน บวกกับกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติที่เริ่มเข้มข้นในสังคมไทย ชาวบ้านก็เลยเริ่มคิดว่าถ้าเขายังใช้ชีวิตแบบเดิมย่อมไม่ดีแน่ เขาจึงเข้ามาคุยว่าควรทำอย่างไรและทำอะไรได้บ้าง
“เราเริ่มต้นด้วยแนวคิดที่ว่า ‘อุทยานเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน’ เราทั้งสองฝ่ายเริ่มปรับจูนหากันมากขึ้น เราพาชาวบ้านมารับทราบว่าอุทยานมีปัญหาอะไร ส่วนเขาก็เอาปัญหาของตัวเองมาแชร์ให้เราเช่นกัน จากนั้นก็มาหาแนวร่วมว่าเราทำอะไรเพื่อกันและกันได้บ้าง อะไรที่เราจะได้ประโยชน์ทั้งฝ่าย และสุดท้ายก็อย่างที่เห็นในปัจจุบันว่าเรามีชาวบ้านในชุมชนต่างๆ เป็นเจ้าของพื้นที่ในการดูแลรักษาป่า พวกเขาเริ่มรู้สึกหวงแหน เริ่มรู้สึกว่าป่าคือบ้านของเขาอย่างแท้จริง ไม่มีการแบ่งเป็นส่วนอุทยานและส่วนชุมชนอีกต่อไป”
หลังจากเดินขึ้นเขามาได้กิโลเมตรกว่าๆ เราก็เดินอ้อมเขาไปลงอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งหัวหน้าบอกว่านี่เป็นทางขึ้นที่ชาวบ้านนิยมมากัน แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยมีใครขึ้นไปถึงจุดที่เรายืนอยู่ น้ำตกสายเล็กๆ 7 ชั้นไล่ลดหลั่นลงไปเรื่อยๆ เราเดินลงเขา เกาะเชือกตามทางมาเรื่อยๆ สักพักก็มาถึงน้ำตกสายเล็กๆ ที่หัวหน้าบอกว่าเป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำเช่นกัน
“เราต้องเข้าใจก่อนว่าจริงๆ แล้วคำว่าป่าต้นน้ำไม่ใช่พื้นที่ตรงนี้คือตาน้ำแล้วมีน้ำผุดออกมาเหมือนน้ำพุ แต่ป่าต้นน้ำเกิดจากสายน้ำสายเล็กๆ นับร้อยนับพันสายมารวมกันเป็นสายใหญ่ จากรากไม้บ้าง ใต้ดินบ้าง ไหลรวมกันมาเป็นลำธาร กลายเป็นน้ำตกขนาดใหญ่เรื่อยๆ รวมกันเป็นคลอง เป็นแม่น้ำ แล้วลงสู่ทะเล”
น้ำตกสายเล็ก ส่วนหนึ่งของป่าต้นน้ำ
“น้ำตกนี้สะอาดมากนะ กินได้ พวกหน่วยลาดตระเวนหรือนักเดินป่าก็รองน้ำดื่มกันทั้งนั้น” แน่นอนว่าหลังจากได้ยินดังนั้น ที่นี่ก็กลายเป็นแหล่งน้ำดื่มของทีมงาน THE STANDARD POP ทุกคน
น้ำตกไหลแรงใสสะอาด น่าเอาตัวไปแช่คลายร้อนมาก
หน่วยลาดตระเวนแวะทักทายกับทีมงานนิดหน่อยระหว่างพักเหนื่อย
ต้นไม้พร้อมรากไม้ใหญ่ที่ทำให้ตัวเราแลดูเล็กลงถนัดตา
เราใช้ชีวิตอยู่ในอุทยานแห่งชาติตั้งแต่ 10 โมงเช้าจนถึง 5 โมงเย็น ถามว่าเหนื่อยไหม บอกได้เลยว่าขาสั่นไปหมด มีบางช่วงที่ทางเดินสูงชันจนแทบก้าวขาไม่ออก แต่ทุกช่วงเวลานั้นช่างน่าจดจำ เราเห็นนกหลายชนิดในป่า อย่าถามชื่อ เพราะจำได้ไม่หมด ได้แต่ตื่นเต้นตามการชี้ชวนของหัวหน้าอุทยาน เราเห็นต้นไม้ขนาดหลายคนโอบ เห็นรากไม้ขนาดใหญ่ที่ทำให้ร่างเราเล็กลงถนัดตา เห็นธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ สัมผัสกับสายน้ำบริสุทธิ์ที่กลายเป็นต้นน้ำหล่อเลี้ยงคนนับหมื่นนับแสนคน
“อย่างที่ผมพูดเสมอ การหวงแหนกระบี่ก็เหมือนการหวงแหนทรัพยากรบนโลก เรามีทั้งภูเขา ต้นไม้ จนถึงทะเล นักท่องเที่ยวที่มาควรปฏิบัติตามข้อกำหนด ดูแลและปฏิบัติรักษาให้เหมือนกับสถานที่นั้นเป็นบ้านของเรา เราดูแลแล้ว หวงแหนแล้ว ชุมชนหวงแหนแล้ว เราก็อยากให้บุคคลภายนอกที่เข้ามาชื่นชมหวงแหนสิ่งที่เราหวงแหนเช่นกัน”
อุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา
Address: 170 หมู่ที่ 4 ตำบลทับปริก อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่
Comtact: 0 7566 0716 (สำนักงาน), 0 7566 0717 (ศูนย์บริการฯ)
Fanpage: www.facebook.com/อุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา-จกระบี่-2345483535734280
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์