×

เปิดตำนานหม้อแกงเมืองเพชร ทำไม ‘แม่’ ทั้งหลายถึงเยอะจัง… แม่กิมไล้ กิมลั้ง กิมลุ้ย และอีกหลากหลายแม่

12.08.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ขนมหม้อแกงเจ้าแรกของเพชรบุรีคือ ‘ร้านแม่ปิ่น’
  • ถ้าถามคนเฒ่าคนแก่ที่อาศัยอยู่เพชรบุรี หรือคนเพชรบุรีเอง ทุกคนย่อมตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า แหล่งขายขนมหม้อแกงแสนอร่อยดั้งเดิมของเมืองเพชรอยู่บริเวณเขาวัง 
  • แม่กิมลั้งกับแม่กิมไล้เป็นพี่น้องกัน แม่กิมลั้งเป็นพี่และแม่กิมไล้เป็นน้อง

ความหวานหอมของขนมหม้อแกงเมืองเพชร ทำให้หลายคนติดใจจนกลายเป็นสินค้าเด่นขึ้นชื่อประจำจังหวัด ชนิดที่ว่าใครมาใครไปต้องแวะชิมให้หายอยาก ทุกครั้งที่ขับรถเส้นทางเพชรเกษมลงใต้ผ่านเมืองเพชรบุรี ระหว่างทางคุณจะเห็นร้านขายหม้อแกง (ร้านขายของฝาก) ตั้งเรียงรายอยู่ริมถนน ไม่ว่าจะเป็นแม่กิมลั้ง แม่กิมไล้ แม่กิมลุ้ย ไปจนถึงแม่ต่างๆ เราเชื่อว่าทุกคนต่างติดใจและสงสัยเหมือนกับเรา พวกเขาเป็นอะไรกัน และขนมหม้อแกงเจ้าไหนอร่อยที่สุด คำตอบอยู่ในบทความนี้

 

เปิดตำนานหม้อแกงเมืองเพชร

แม้บรรดาร้านของฝากชื่อติดหูอย่างแม่กิมไล้ แม่กิมลั้ง แม่กิมลุ้ย หรือบ้านขนมนันทวันจะเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยว จนเราเผลอคิดว่าต้องมีสักแม่ในนี้แหละที่เป็นร้านออริจินัลดั้งเดิม ชนิดที่ว่าเป็นเจ้าแรกยุคบุกเบิกที่เปิดขายหม้อแกงจนกระฉ่อนเลื่องลือ เราเอาประเด็นนี้ไปถามกับ ชมพู มฤศโชติ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี ถึงประวัติขนมหม้อแกงเมืองเพชรแล้วได้ข้อสรุปว่า ขนมหม้อแกงเจ้าแรกของเพชรบุรีคือ ‘ร้านแม่ปิ่น’

 

ร้านแม่ปิ่นตั้งอยู่ในอำเภอเมือง ทางโค้งสะพานดำ ระหว่างตลาดเมืองเพชรกับจวนผู้ว่า เป็นร้านขนมหวานดั้งเดิมที่เปิดมานานกว่า 80 ปี ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีคุณย่าปิ่น พูลสวัสดิ์ เป็นเจ้าของสูตรสมัยแรกเริ่มเปิดร้าน แม่ปิ่นเป็นคนชอบทำอาหาร แต่ไม่มีผู้สอน อาศัยครูพักลักจำ ทำขนมขายเพียงสองชนิดคือ ขนมวุ้นมะพร้าวอ่อนและวุ้นสังขยา หาบขายไปเรื่อยจนมาปักหลัก ณ บริเวณศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี เนื่องจากข้าราชการและคนในละแวกนั้นชื่นชอบขนมแม่ปิ่นจนขายหมดทุกวัน

 

 

เมื่ออุดหนุนนานเข้า ‘คุณหลวง’ หรือ ร.ท. ถวิล ระวังภัย ข้าราชการผู้เป็นลูกค้าประจำบอกกับแม่ปิ่นว่า ขนมของแม่ปิ่นนั้นหอม หวาน มัน อร่อย แต่ติดอยู่ที่ขนมนั้นเหมือนเดิมทุกวัน อยากให้แม่ปิ่นเปลี่ยนขนมอย่างอื่นบ้าง เช่น ขนมหม้อแกง แต่เธอก็ปฏิเสธไปโดยให้เหตุผลว่าเธอทำไม่เป็น และถ้าเสียหายขึ้นมาจะขาดทุนเอาได้

 

“ช่วงแรกแม่ปิ่นก็ยังไม่ยอมทำขนมแบบใหม่หรอก แต่สุดท้ายเมื่อถูกคะยั้นคะยอมากเข้าเธอก็เลยนำสูตรที่คุณหลวงให้กลับไปลองทำ” – ชมพู มฤศโชติ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี กล่าว

 

แม่ปิ่นหยุดขายขนมไป 4-5 วัน ครั้นพอกลับมาคุณหลวงก็ถามว่า ขนมที่สั่งให้ทำไหม้แล้วเหรอ ถึงไม่มีทุนมาทำของขาย แต่แม่ปิ่นกลับตอบว่า ขนมที่ทำนั้นหวานหอมมันอร่อยมาก วันแรกทำขายเพียงถาดเดียวขายหมด วันที่สองที่สามเธอจึงทำเพิ่มอีก ปรากฏว่าขายหมดอีก เหตุที่ไม่ได้มาขายขนม ณ ศาลากลางจังหวัด เพราะขนมเธอขายดีมากก่อนมาถึงคุณหลวง

 

แน่นอนว่าวันนั้นแม่ปิ่นนำขนมหม้อแกงที่เธอทำให้คุณหลวงชิม แม้คุณหลวงจะพยายามจ่ายเงินค่าขนม แต่แม่ปิ่นก็ไม่ยอมรับ พร้อมบอกว่า ขนมหม้อแกงนี้ทำขึ้นได้เพราะบารมีคุณหลวงที่เคี่ยวเข็ญให้ทำ ขนมถาดนี้เธอตั้งใจจะมามอบให้จริงๆ แต่สุดท้ายแม่ปิ่นก็รับค่าขนมของหม้อแกงถาดนั้น เนื่องจากคุณหลวงให้เหตุผลว่า เงินจำนวนนี้คือเงินขวัญถุง เป็นเครื่องรางทำให้เธอค้าขายเจริญ จากนั้นมาขนมของแม่ปิ่นก็ลือเลื่องในหมู่ข้าราชการและชาวบ้านที่เคยซื้อ ทำให้ขนมขายดิบขายดี และเธอยังมีโอกาสทำขนมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ขณะเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ณ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระนครคีรี จำนวน 4 ถาดด้วย

 

 

จากเขาวังสู่ถนนเพชรเกษม

ถ้าถามคนเฒ่าคนแก่ที่อาศัยอยู่เพชรบุรี หรือคนเพชรบุรีเอง ทุกคนย่อมตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า แหล่งขายขนมหม้อแกงแสนอร่อยดั้งเดิมของเมืองเพชรอยู่บริเวณเขาวัง 

 

“ไม่มั่นใจว่าใครเป็นเจ้าของสูตรเจ้าแรก แต่คนเพชรบุรีส่วนใหญ่มีสูตรทำหม้อแกงเป็นของตนเอง แต่มาบูมมาก ในปี 2529 เมื่อมีการบูรณะพระนครคีรีให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ชาวบ้านในละแวกนั้นทำขนมหม้อแกงออกมาจำหน่าย ทำให้ขนมหม้อแกงเป็นขนมที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบุรี” ชมพูให้ข้อมูล

 

แจ็ค หรือที่รู้จักกันในนามของ UncleJack Luckchai เจ้าของเว็บไซต์ art of travel เป็นคนเพชรบุรีแท้ดั้งเดิม นักเขียน และช่างภาพอิสระ ผู้คร่ำหวอดในวงการท่องเที่ยวมานานไม่ต่ำกว่า 20 ปี เล่าให้เราฟังว่า

 

“จำได้ว่าตอนเด็กๆ สมัยรถรางยังไม่มี ข้างล่างเขาวังมีร้านขายขนมหม้อแกงเยอะมาก แต่ละเจ้าอร่อยๆ ทั้งนั้นเลย แม่กิมไล้ก็เป็นหนึ่งในนั้น นักท่องเที่ยวใครจะกินขนมหม้อแกงต้องแวะเขาวังเท่านั้นถึงจะได้กิน แต่ผ่านมายุคหนึ่ง จำไม่ได้ว่าเจ้าไหนเป็นเจ้าแรก น่าจะเป็นแม่กิมไล้ ย้ายไปเปิดยังถนนเพชรเกษม แล้วขายดีมาก ทำให้เจ้าอื่นๆ ตามไปเปิดอย่างที่เราเห็น มีทั้งแม่กิมไล้ แม่กิมลั้ง แม่กิมลุ้ย ฯลฯ จนตาลายไปหมด” 

 

UncleJack Luckchai เจ้าของเว็บไซต์ Art of Travel

 

ร้านแม่กิมไล้ เป็นอีกหนึ่งในตำนานขนมหวานและขนมหม้อแกงเมืองเพชร โดยมีเจ้าของสูตรเป็น กิมไล้ เธอเริ่มต้นทำขนมขายจากกล้วยที่ชาวบ้านนำมาเป็นของฝากให้สามีผู้เป็นตำรวจชั้นผู้น้อยเพื่อหารายได้พิเศษ ก่อนปรับปรุงสูตรตามคำแนะนำจากแม่ค้าขนมหวานในจังหวัดเพชรบุรี ขยันทำ ขยันหา ขยันพัฒนา จนสามารถทำขนมไทยหลากประเภท ไม่ว่าจะเป็นขนมกล้วย ขนมตาล ขนมสอดไส้ ขนมมันสำปะหลัง ข้าวต้มมัด รวมถึงขนมเชื่อมอีกหลายชนิด หาบเร่ขายชาวเพชรและนักท่องเที่ยวบริเวณสถานีรถไฟ 

 

กระทั่งปี พ.ศ. 2515 ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีคือ เอนก พยัคฆ์พันธ์ ได้จัดการการประกวด ‘การทำขนมไทยเมืองเพชร’ ขึ้น ปรากฏว่ากิมไล้ชนะเลิศขนมหม้อแกง จังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่นั้นมาขนมหม้อแกงสูตรแม่กิมไล้ก็ขายดิบขายดี จนเป็นที่รู้จักของคนเพชรบุรีและนักท่องเที่ยว จากเดิมที่ขายอยู่ข้างเขาวัง จึงขยับขยายสาขาออกสู่ถนนเพชรเกษม กลายเป็นแหล่งซื้อของฝากสำหรับผู้เดินทางสัญจร 

 

และแน่นอนว่าเมื่อเจ้าหนึ่งดัง เจ้าอื่นๆ ก็ตามมา เราคงไม่ต้องบอกแล้วว่าต่อไปบรรยากาศถนนเพชรเกษมเป็นอย่างไร

 

 

ขนมหม้อแกงเจ้าไหนอร่อยสุด?

ผู้เขียนไม่ขอฟันธงแล้วกันว่าเจ้าไหนอร่อยที่สุด เพราะคิดว่าเป็นเรื่องของความชอบและรสนิยม บางคนชอบหวานมาก บางคนหวานน้อย บางคนชอบหวานมันพอดีกลมกล่อม อีกทั้งขนมหม้อแกงที่เพชรบุรีก็มีหลากหลายเจ้าชนิดกินทุกวันยังไม่หมด

 

“คนเพชรบุรีมีนิสัยอยู่อย่างหนึ่ง เขาจะกินและนิยมร้านที่อยู่ในถิ่นที่เขาเกิด เช่น อย่างเราเกิดที่อำเภอท่ายาง ร้านที่เรากินมาตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบันคือแม่บุญล้น เป็นร้านที่ชาวท่ายางกิน ขนมบ้าบิ่นอร่อยมาก และหมดตั้งแต่เที่ยงวัน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีนักท่องเที่ยวก็ตาม ถ้าเป็นในเมืองก็อาจถูกปากกับสงวนโพธิ์พระ ร้านขนมในจังหวัดเพชรบุรีเยอะมาก และแต่ละร้านก็มีเอกลักษณ์ต่างกันไป” 

 

ศรัณยู นกแก้ว 

นักเขียนและบรรณาธิการอิสระ สายไลฟ์สไตล์

 

แม่กิมไล้ แม่กิมลั้ง แม่กิมลุ้ย และอีกหลายแม่กิม เป็นอะไรกัน?

คำถามยอดฮิตที่คนไทยทุกคนสงสัยระหว่างนั่งรถผ่านถนนเพชรเกษมขาขึ้นว่า เอ๊ะ! ร้านขายของฝากแม่กิมไล้ แม่กิมลั้ง แม่กิมลุ้ย และอีกหลายแม่กิม เขาเป็นอะไรกัน หรือแท้จริงแล้วเขาไม่เกี่ยวข้องกันเลย?

 

คำถามนี้เรายกหูโทรศัพท์ติดต่อไปยังร้านแม่กิมไล้ ซึ่งผู้ที่รับสายและให้ข้อมูลเราคือ โหน่ง หลานของกิมไล้ ซึ่งตอนนี้เป็นหนึ่งในผู้แลร้านขนมแม่กิมไล้ด้วย

 

“แม่กิมลั้งกับแม่กิมไล้เป็นพี่น้องกันครับ แม่กิมลั้งเป็นพี่และแม่กิมไล้เป็นน้อง แต่ถ้าถามเรื่องร้านขนม ร้านขนมแม่กิมไล้เปิดก่อน แล้วตามด้วยแม่กิมลั้ง ส่วนแม่อื่นๆ นั้นไม่เกี่ยวข้องอะไรกัน” โหน่งตอบ

 

 

แม้ปัจจุบันขนมหม้อแกงเมืองเพชรบุรีจะพัฒนาจากเตาแบบเดิมมาเป็นเตาอิฐมอญฉาบปูน ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นเตาอบขนมขนาดใหญ่ที่สามารถอบขนมหม้อแกงได้ทีละมากๆ อย่างทุกวันนี้ แถมยังมีหน้าเยอะมาก ทั้งหน้าถั่ว หน้าหอมเจียว รวมไปถึงหน้าผลไม้ต่างๆ และหีบห่อก็ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนของหม้อแกงเมืองเพชรคือ ‘น้ำตาลโตนด’ ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่ทำให้หม้อแกงเพชรบุรีกลายเป็นของอร่อยและขึ้นชื่อของจังหวัด

 

“หม้อแกงเป็นขนมง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่เคล็ดลับที่ทำให้หม้อแกงเพชรต่างจากที่อื่นเลยคือน้ำตาลโตนด ซึ่งทำให้หม้อแกงมีรสชาติ หวาน หอม และหวานละมุนมากกว่าการใช้น้ำตาลทรายหรือน้ำตาลมะพร้าว ดินที่ใช้ปลูก ไหนจะน้ำกร่อยที่มีในพื้นที่ เลือกเจ้าที่คุณชอบมาสักเจ้า แล้วลองชิม เราเชื่อว่าคุณจะชอบหม้อแกงเมืองเพชรเหมือนที่เราชอบ” ชมพูกล่าวปิดท้าย

 

 

ภาพ: Shutterstock

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • เอกสารประวัติหม้อแกงเมืองเพชร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี
  • www.maekimlai-raisom.com/about.html

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X