×

‘อารมณ์ขันก็เป็นการต่อต้านประเภทหนึ่ง’ คุยกับผู้จัดนิทรรศการ ไข่แมว X กะลาแลนด์

19.11.2018
  • LOADING...

คุยกับอาจารย์บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ หนึ่งในผู้จัดนิทรรศการ ‘ไข่แมว X กะลาแลนด์’ นิทรรศการศิลปะครั้งแรกของไข่แมว การ์ตูนนิสต์ชื่อดังที่มีบทบาทในการวิจารณ์สังคม การเมือง และวัฒนธรรมไทยในความเงียบ 4 ช่อง ที่มีทั้งความน่ารักน่าชังและอารมณ์ขันแบบสายดาร์ก ซึ่งเปิดให้ผู้ชมทั่วไปได้เข้าสู่กะลาแลนด์แล้วผ่านกะลายักษ์หน้าประตูทางเข้าตั้งแต่วันนี้ถึง 22 เดือนพฤศจิกายน

 

ภายในพื้นที่จัดแสดงมีทั้งภาพผลงานการ์ตูนคาแรกเตอร์ลุงไข่ แจ็คแม้ว ตาใส ภาพวาดผืนผ้าใบขนาดใหญ่ การ์ตูนแก๊กต่างๆ และงานประติมากรรม รวมถึงพื้นที่เล่นสนุกกับนิทรรศการอย่างตู้คีบตุ๊กตา และการตามหาแจ็คแม้วที่ซ่อนอยู่ภายในงาน

 

มาเป็น Curator ให้ Exhibition นี้ได้อย่างไร

 

อาจารย์ลลิตา หาญวงษ์ และอาจารย์บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

สองผู้จัดนิทรรศการ

 

จริงๆ เราคุยกันมานาน และอยากจัดมาเป็นปีแล้ว ก่อนไข่แมวหายไปครั้งแรก จนกลับมาอีกรอบหนึ่ง เราก็กลับมาคุยกันอีกครั้ง ใช้ระยะเวลามากกว่าครึ่งปี เพื่อที่จะหาคอนเซปต์ร่วมกัน จะเอาอะไรมาแสดง มีของอะไร สถานที่ที่ไหน แล้วตัวชิ้นงานผลิตที่ไหนอย่างไร ใครเป็นคนดูแลส่วนไหน

 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเราสองคนทำงานฟูลไทม์เป็นอาจารย์ ไม่ได้มีเวลามาก เลยต้องใช้เวลามากกว่าคูเรเตอร์มืออาชีพและคนที่ใช้เวลาอยู่ในแวดวงศิลปะอยู่แล้ว การผลิตบางอย่างก็อยู่นอกการควบคุม เราก็ต้องมีกระบวนการเช็ก ตั้งแต่ตุ๊กตา กระเป๋าผ้า สคัลป์เจอร์ทั้งทองเหลือง ไฟเบอร์ และมันยากตรงที่เราต้องคุยกับตัวไข่แมวด้วยว่าโอเคไหมกับสิ่งที่อยู่ตรงนี้ เพราะเขาอยู่บนโซเชียลมีเดีย เขาไม่ได้ปรากฏตัว มันยากตรงนี้แหละ ต้องขอบคุณ ARTIST+RUN Gallery และอังกฤษ อัจฉริยโสภณ ที่เปิดพื้นที่ตรงนี้ให้เรา

 

ทำไมเลือกที่จะนำเสนองานออกมาเป็น Exhibition

ไข่แมวมีศักยภาพในการเป็นศิลปะ มีความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์สังคม ไม่ได้เป็นแค่การ์ตูนในอินเทอร์เน็ต ในเฟซบุ๊ก หรือในโซเชียลมีเดียเท่านั้น ซึ่งในศิลปินไทยจำนวนหนึ่งมันหายไป และมันมีศักยภาพของการสร้างอารมณ์ขันในยุคที่ประเทศไทยดาร์กที่สุด มืดที่สุด

 

 

งานของไข่แมวมีความประณีตบางอย่างอยู่ และเชื่อว่าคนจะตกใจมากถ้ารู้ว่างานของไข่แมวนั้นทำบนแพลตฟอร์มของมือถือ วาดบนมือถือทั้งหมด ทักษะของเขาในการที่จะจับประเด็นและสามารถผูกเรื่องขึ้นมา เพื่อเล่าเรื่องในสี่ช่องเล็กๆ ทำให้คนรู้สึกหัวเราะ ขำ แล้วไม่ใช่ขำธรรมดามันขำกลิ้ง

 

 

ทีนี้พอขำกลิ้งมันขำอยู่คนเดียวไม่ได้ มันก็ต้องแชร์ พอแชร์ต่อๆ กันก็กลายเป็นปรากฏการณ์ นี่คือเสน่ห์ของไข่แมว ที่ไม่เพียงเล่าเรื่องประเด็นความสนุกสนาน อารมณ์ขัน แต่ยังเป็นการบันทึกสังคมไทย ในช่วงเวลาที่เราผ่านความทุกข์ ความหดหู่ ความขัดแย้ง แล้วการ์ตูนของไข่แมวมันมาในบริบทนี้พอดี

 

ความพิเศษของไข่แมวคืออะไร

เขาก็ลองผิดลองถูกมาพักหนึ่งนะ ความอึดอัดต่อสภาวะบ้านเมือง ไข่แมวก็พูดชัดเวลาให้สัมภาษณ์ในหลายที่ อย่างในประชาไทเขาบอกว่า ไข่แมวเกิดขึ้นหลังจากรัฐประหารปี 2557 รอบล่าสุด คือการรัฐประหารรอบหลังมันทำให้เขาคับข้องใจ หดหู่ใจในประเด็นต่างๆ แล้วเขามีคำถาม แต่เขาถามกับตัวเองแล้วก็ยังหาคำตอบไม่ได้ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย เป็นการตั้งคำถามกับความผิดปกติของสังคมไทย แล้วนำมาวาดเป็นการ์ตูน

 

 

อย่างตัวละครหนึ่งในสามตัวหลักของเพจที่ซ่อนอยู่ในทุกเหตุการณ์ ทุกเรื่องราว แล้วเป็นตัวละครเบื้องหลังที่ราวกับว่าเป็นตัวที่ทำให้เกิดทุกเรื่องราว ต้องไปตำหนิไอ้ตัวนี้ ในดินแดนที่เรียกว่ากะลาแลนด์ เป็นจินตนาการที่ว่าเราอยู่ในกรอบและมีกะลาขนาดใหญ่ครอบอยู่ โดยกระชับ เล่าเรื่องได้สี่ช่อง ไม่ต้องพูดมาก แต่ทุกคนมีประเด็นร่วมกัน หัวเราะร่วมกัน ผมว่าตรงนี้เป็นจุดเด่น

 

 

ในเมื่อจุดประสงค์ของไข่แมวค่อนข้างชัดเจน อาจารย์มองว่างานของไข่แมวเป็นศิลปะแห่งการต่อต้านไหม

แน่นอน นักวิจารณ์หลายท่านบอกว่า ‘อารมณ์ขันก็เป็นการต่อต้านประเภทหนึ่ง’ เราไม่จำเป็นต้องออกไปอยู่บนท้องถนนเพื่อบอกว่าไม่เห็นด้วย เรามีพื้นที่บางอย่างที่เราคิด เราเก็บไว้ในใจว่าเราไม่เห็นด้วยก็ได้ หรือมากกว่านั้นสิ่งที่มันอยู่บนโซเชียลมีเดีย มันเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้คนแชร์ได้ กดไลก์ โกรธ หัวเราะ ซึ่งมันเป็นอารมณ์ปกติที่บังเอิญมันทำไม่ได้ในช่วงเวลาอันแสนยากลำบากในรอบหลายปีมานี้

 

 

โซเชียลมีเดียหรืองานของไข่แมว มีส่วนทำให้อำนาจบางอย่างไม่สามารถแสดงอำนาจได้มากอย่างเมื่อก่อนหรือเปล่า

เพราะว่ามันน่ารัก อย่างอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็บอกว่ามันน่ารัก แล้วเขาอาจจะถามว่า การทำให้เผด็จการดูน่ารัก มันไม่ได้แปลว่าทำให้เขาดูดีขึ้นเหรอ ผมกลับคิดว่า

 

“ยิ่งทำให้เราหัวเราะกับเขาได้ ทำให้เราสามารถที่จะรู้สึกว่าเขาเป็นปุถุชนคนธรรมดาคนหนึ่งที่มีส่วนที่ไม่ได้ทำให้เรายำเกรงในอำนาจที่เขามี”

 

การต่อต้านมันเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นจะต้องไปด่าใครบนท้องถนน ส่วนหนึ่งมันเกิดจากการสร้างกระแสของการรับรู้บางอย่าง อย่างเพลง ประเทศกูมี ไข่แมวเองก็มีคุณภาพบางอย่างที่หาจากที่อื่นไม่ได้ในจุดนี้

 

งานของไข่แมว มีเสรีภาพในการแสดงออกแค่ไหน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าการแสดงออกของเราไม่ไปละเมิดกฎของใคร

ผมว่าคงตอบแทนไข่แมวไม่ได้ แต่เขาคงคิดอยู่เหมือนกันว่าอะไรควรเล่น อะไรไม่ควรเล่น เพราะพื้นที่มันน้อย อะไรที่ลงไปแล้ว ได้ไม่ได้ ควรไม่ควร ชอบไม่ชอบ มีการไตร่ตรองแน่ๆ เพราะเป็นการแสดงออกในสี่ช่อง ต้องกระชับ เร็ว

 

 

การที่จะหยิบประเด็นไหนออกไปแล้วไม่แป้ก ผมว่ามันก็ไม่ง่าย สำหรับศิลปินหรือใครก็ตาม เพราะฉะนั้นการที่เขาเลือกประเด็นพูด คงมีบางจุดที่อาจจะไม่ได้ไปปะทะโดยตรงบ้าง อาจจะพูดอ้อมบ้าง โดยเฉพาะการ์ตูนเขาไม่มีคำพูด ตัวอากัปกิริยาของการ์ตูนจะเป็นตัวบอกแทนเองว่าคนคนนี้รู้สึกอย่างไร เขาคับข้องใจตรงไหน คนเขาก็รู้ทันทีว่าหมายถึงอะไร

 

 

งานที่เราเลือกมาจัดแสดงก็เป็นชุดงานที่คนสามารถเข้าใจได้ ไม่ต้องใช้เวลาในการตีความมาก ภาพนี้สัมพันธ์กับเรื่องนั้น ภาพนั้นสัมพันธ์กับเรื่องนี้ เลือกงานที่หลุดจากบริบทแล้วมันยังมีความหมายอยู่ สำหรับคนที่มาดูงานแล้วเขาผูกพันกับประเด็นนี้ เขาเห็นด้วยหรือเขาไม่เห็นด้วย เขาสามารถเชื่อมโยงได้ ก็จะเป็นจุดที่เขาอาจจะสนใจ ถ่ายรูปไปเก็บไว้

 

 

สิ่งหนึ่งที่เราคุยกันเรื่องนิทรรศการนี้คือ การจะทำอย่างไรให้สิ่งที่อยู่ในโซเชียลมีเดียถูกนำออกมาในโลกความเป็นจริง เอฟเฟกต์มันจะออกมาแบบเดียวกันหรือเปล่า งานนี้ก็เลยเรียกได้ว่าเป็นความท้าทาย จากเดิมที่กดไลก์ กดแชร์ กดอะไรก็แล้วแต่ มาเป็นมาดูของจริงสิ ดูแล้วปฏิกิริยาเป็นอย่างไร

 

คุณภาพของงานบนโซเชียลมีเดีย จะมีคุณภาพทัดเทียมกับงานศิลปะได้หรือไม่ ซึ่งผมคิดว่าคนที่มาดูคงจะรู้

 

______________________________________

 

ดูภาพจากงานนิทรรศการเพิ่มเติมได้ที่ : https://thestandard.co/khai-maew-x-kalaland

นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ 7-22 พฤศจิกายน 2561 เวลา 13.00-18.00 น.

เปิดนิทรรศการวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2561 เวลา 18.00 น.

ที่ Gallery Artist + Run ซอยทวีวัฒนา (นราธิวาส 22)

ดูรายละเอียดได้ที่ www.facebook.com/events/365368514022142

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X